๛ สรุปมรรคผลตั้งแต่ต้นจนกระทั่งจบ โดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง


<
๛ สรุปมรรคผลตั้งแต่ต้นจนกระทั่งจบ

โดย..หลวงพ่อพระราชพรหมยาน

การเจริญกรรมฐานวันนี้จะขอเวลาให้ยาวสักนิด เพราะว่าจะพูดตามหลักของมรรคผลตั้งแต่ต้นจนกระทั่งจบ สรุปเพียงย่อ ๆ ให้ท่านพุทธบริษัทได้เข้าใจว่า พระอรหัตมรรค พระโสดาปฏิมรรค สกทาคามีมรรค อนาคามีผลและอรหัตผลเป็นอย่างไร จะพูดถึงกฏของฌาน ของสมาธิว่ามีอารมณ์เข้าถึงสมาธิประการใด
สำหรับท่านที่ยังไม่เคยปฏิบัติเลย อันดับแรกให้รู้ลมหายใจเข้าออก เวลาหายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้า เวลาหายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออกด้วยคำภาวนา ด้วยอำนาจพุทธานุสสติกรรมฐาน คือเวลาหายใจเข้านึกว่า พุธ เวลาหายใจออกนึกว่า โธ เวลาหายใจเข้าก็ดี เวลาหายใจออกก็ดี ขอให้บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายปล่อยไปตามสบาย อย่าฝืนลมหายใจ บางทีลมหายใจเบาไปก็อย่าไปบังคับลมหายใจแรง ว่าทั้งนี้เราไม่ต้องการให้บังคับ ลมหายใจแรงหรือเบา ให้เป็นไปตามปกติ เอาแต่เพียงว่า กำหนดจิตให้รู้ว่าเราหายใจเข้าหรือหายใจออก การภาวนาควบอยู่ด้วยหรือเปล่า อันนี้จัดว่าเป็นสมถภาวนา
สำหรับด้านสมถภาวนานี้ ต้องการอยู่อย่างเดียว คือ ควบคุมอารมณ์ให้ตั้งอยู่ ให้มีสติสัมปชัญญะ การนึกรู้ นึกว่าเราหายใจ หรือภาวนาเป็นปกติ ถ้ารู้อยู่หายใจเข้าหรือหายใจออก หายใจสั้นหรือหายใจยาว เป็นจุดเริ่มต้นของการเจริญกรรมฐาน ถึงแม้จะเป็นบทเริ่มต้นก็ตามทีคือว่าอานิสงส์ของการเจริญพระกรรมฐานเพียงเท่านี้ บรรดาท่านพุทธบริษัททำได้คือ ภาวนารู้อยู่บ้าง กำหนดลมหายใจเข้าออกบ้าง ซึ่งขณะหนึ่งก็มีอารมณ์อื่นเข้ามาแทรกก็เปลี่ยนใหม่ ตั้งต้นใหม่ กำหนดรู้ลมหายใจหรือคำภาวนาเสียใหม่ อย่างนี้เรียกว่า "ขณิกสมาธิ" เพียงขณิกสมาธิเท่านี้ ถ้าบรรดาท่านทั้งหลายทำได้ชั่วขณะเดียว ๒ - ๓ นาทีอย่างนี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงสรรเสริญว่าบรรดาท่านนั้นไม่ว่างจากฌาน ก็หมายความว่าจะสามารถทรงความดีของท่านสามารถบันดาลให้พุทธบริษัทมีความสุขใจในชาติปัจจุบันนี้ได้ เมื่อตายจากชาตินี้ไปแล้วก็จะหลีกหนีนรกไปได้ ไปสู่สวรรค์ชั้นกามาวจรบ้าง พรหมโลกบ้าง ตามสมควรแก่สมาธิของผู้ที่มาใหม่
ต่อนี้เป็นเรื่องของผู้มาเก่า คือมรรคผลตามลำดับตั้งแต่พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ บรรดาท่านพุทธบริษัทก็ทราบชัดว่า ระดับจิตเข้าสู่ระดับใดเราเรียกว่าพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี หรืออรหันต์ ทีนี้มาพูดถึงกิเลสที่จะพึงละเพื่อความเป็นอรหันต์ ความจริงก็มีไม่มาก ถ้าบรรดาท่านทั้งหลายเข้าใจ กิเลสที่เราจะตัดจริง ๆ มี ๑๐ ตัว เราเรียกว่า สังโยชน์
สังโยชน์ แปลว่ากิเลสเป็นเครื่องร้อยรัด กิเลสทั้ง ๑๐ ตัวนี้ เป็นเครื่องร้อยรัดบรรดาพุทธบริษัทอยู่ ก็แสดงว่าท่านทั้งหลายไม่สามารถจะก้าวเข้าไปสู่ โลกุตรญาณ หรือเรียกว่าความเป็นพระอริยเจ้าได้ และยังต้องเป็นทาสของกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรมอยู่ จะต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ เต็มไปด้วยความทุกข์ หาความสุขไม่ได้ ถ้าหากว่าเราสามารถทำลายกิเลสทั้ง ๑๐ ประการ หรือเรียกกันว่า สังโยชน์ ๑๐ มี
๑. สักกายทิฏฐิ เห็นว่าสภาพร่างกาย คือ เรา เป็นของเรา เรามีในร่างกาย ร่างกายมีในเรา
๒. วิจิกิจฉา สงสัยในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า สงสัยในคุณธรรมที่เราจะพึงปฏิบัติว่าจะมีผลดีตามที่องค์สมเด็จพระทรงสวัสดิ์ทรงตรัสไว้หรือไม่
๓. สีลัพพตปรามาส รักษาศีลไม่จริง สีลัพพตปรามาสเรียกว่าลูบคลำศีล ถ้าแปลเป็นไทยชัด ๆ ก็คือ รักษาศีลไม่จริง ได้แต่เรียนการรักษาศีล รักษาศีลไม่จริงปล่อยให้ศีลบกพร่อง
๔. กามฉันทะ พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ในด้านกามารมณ์
๕. มีความโกรธ มีความพยาบาท จองล้าง จองผลาญ คิดประทุษร้ายคนและสัตว์อื่น
๖. รูปราคะ ติดอยู่ในรูปฌาน เมื่อมีรูปฌาน และคิดว่ารูปฌาณติดอยู่เป็นของวิเศษ ไม่กล้าปล่อยไป
๗. อรูปราคะ ติดอยู่ในอรูปฌาณ
๘. มานะ คือว่าเราดีกว่าเขา เราเลวกว่าเขา เราเสมอเขา
๙. อุทธัจจะ มีอารมณ์ฟุ้งซ่าน สำหรับอุทธัจจะตอนนี้จะฟุ้งซ่านในด้านกุศล เมื่อน้อมจิตของตนให้ตัดเข้าไปโดยเฉพาะเอกัคตารมณ์
๑๐. อวิชชา ความโง่
คือกิเลสที่เราจะก้าวเข้าไปสู่พระนิพพาน เราตัดแค่เฉพาะ ๑๐ ตัวเท่านั้น ไม่ใช่ตัดเลอะเทอะ ชนิดที่พุทธบริษัทบางท่านต้องการ ที่เขากล่าวกันว่ากิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด แท้จริงก็มีอยู่ ๑๐ อย่าง
วันนี้ตอนต้นจะพูดถึงพระโสดาบัน ในหนังสือไตรภูมิบอกเรื่องราวของนรกได้ชัด แต่ความจริงก็ชัดเพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เนื้อแท้จริง ๆ ยังประมาณ ๙๐ เปอร์เซ็นต์หรือยิ่งกว่านั้น แต่เท่านี้ก็พอแล้ว คิดว่าจะเข็ดหลาบกันเต็มที ถ้าตกนรกขุมใดขุมหนึ่ง คนทั้งหลายเกิดมาในโลกถึงไม่ทำความชั่วจะพ้นนรกก็หาได้ไม่ เพราะเวรกรรมอันนี้เราไม่ทำในชาตินี้ แต่กรรมในชาติก่อน ๆ ที่ตามมาไม่ทันยังมีอยู่ ฉะนั้นองค์สมเด็จบรมครูหรือว่าท่านทั้งหลาย จะชำระหนี้กรรมที่เป็นบาปให้หมดไปแล้วไปนิพพาน อย่างนี้ไม่มีโอกาสแน่ ฉะนั้นทางที่จะพึงแก้คือ หนีกรรมชั่วด้วยการสร้างกรรมดีให้มาก องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้สอนว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เรื่องศีลก็ได้เคยพูดให้ทราบแล้ว ด้านสมาธิก็เคยพูดให้ทราบแล้ว
วันนี้มาพูดถึงเรื่องปัญญาปัญญาที่จะพึงใช้ก็คือการกำจัดกิเลส ๑๐ ประการ ซึ่งเป็นการตัดให้ขาด เป็นสมุจเฉทปหาน คำว่าสมุจเฉทปหาน คือตัดให้มันเด็ดขาดเลย อย่าให้มันพึงเกิดขึ้นมาได้ ใช้สักกายทิฐิตัวเดียว ความจริงการฆ่ากิเลสทั้ง ๑๐ ตัวใช้อารมณ์ ๆ เดียว คือ สักกายทิฐิ แปลว่าความเข้าใจอัตภาพร่างกาย ที่เราเรียกกันว่าขันธ์ ๕ ว่าเราเป็นเรา เป็นของเรา เรามีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ มีในเรา คือว่าร่างกายนั้นเป็นของเรา เรามีในร่างกาย ร่างกายมีในเรา ขันธ์ ๕ คือร่างกาย
》การพิจารณาท่านบอกว่า อันดับแรกทำจิตให้เป็นสมาธิเสียก่อน จะมีสมาธิอันดับไหนก็ช่าง ทำใจให้สบาย ควบคุมจิตให้อยู่ในขอบเขตพิจารณาร่างกายอันดับแรก ความเกิดเมื่อเราเกิดมาแล้ว เวลาที่ทรงอยู่เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ตอนต้นต้องหาทุกข์ให้พบ หากิจการงานต่าง ๆ ที่เราทำหรืออารมณ์ที่เราทรงอยู่เป็นอารมณ์ของความทุกข์ไม่ใช่อารมณ์ของโลกียวิสัย อันนี้ยังไม่อธิบายมีเวลาน้อย ต่อไปเมื่อหาทุกข์พบ การหาทุกข์พบนี่ต้องหากันจริง ๆ หาทั้งทุกข์ในตัวเรา หรือทุกข์ในคนอื่น ถ้าเรายังเห็นว่าใครคนใดคนหนึ่งในโลกที่ยังเดินไปเดินมา ซึ่งมีกิริยาหรือความประพฤติปฏิบัติ หรือว่าทรงชีวิตอยู่ในโลกมีความสุขด้วยอำนาจของร่างกาย ยังใช้ไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่าอารมณ์ยังไม่เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า ความจริงอารมณ์แค่นี้ก็ตามยังไม่ถือว่าเป็นพระอริยเจ้า ต้องเอาอารมณ์คือปัญญาเข้าพิจารณาให้เห็นความทุกข์จริง ๆ ของร่างกาย คือว่าคนที่กำลังทรงร่างกายอยู่นี้มีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา เราก็ตาม เขาก็ตาม หาความสุขอะไรไม่ได้ รวมความว่าโลกทั้งโลกไม่มีจุดใดจุดหนึ่งที่เป็นความสุขเลย อย่างนี้เรียกว่ามีปัญญาเข้าถึงระดับวิปัสสนาญาณ เมื่อเห็นทุกข์แล้วมิใช่ว่าทำใจหดหู่ ต้องแสวงหาเหตุของความทุกข์ ค้นคว้าขึ้นมาเมื่อความทุกข์มีอยู่ เหตุที่จะสร้างความทุกข์ไม่มี มันก็ไม่เกิด มันต้องไม่มี ถ้าไม่มีเหตุผลมันก็มีไม่ได้
ตอนนี้เราก็พบกับตัณหา คือ ความอยาก อยากอะไรก็ช่าง เว้นไว้แต่อยากไปนิพพานอย่างเดียวก็หมดปัญหา อยากรวย อยากสวย อยากดี อยากมีทรัพย์ อยากเป็น อยากมียศฐาบรรดาศักดิ์ เป็นความอยากของโลก อันจัดว่าเป็นอำนาจของตัณหา ตัณหาที่พูดสั้น ๆ เราก็หาทางกำจัดตัณหาด้วยการิพจารณาขันธ์ ๕ ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เมื่อขันธ์ ๕ มันจะพัง มันจะทำลายตัวของมันเอง และอะไรมันจะมีในโลกที่เป็นเราที่เป็นของเรา เมื่อเราพิจารณษเห็นแล้ว โลกเต็มไปด้วยความทุกข์ เราอยู่นี่เราก็มีความเป็นทุกข์ ทุกข์ด้วยอำนาจของตัณหา จนอารมณ์ของเราเกิดเป็น นิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่าย เบื่อที่ร่างกายที่มันไม่ดี เห็นว่าร่างกายนี่เอาดีอะไรไม่ได้เลย มีแต่ความทุกข์ ลืมตาขึ้นมาก็มีแต่ความทุกข์ จนกว่าจะถึงเวลาหลับตาใหม่ ๆ ไม่มีอะไรพ้นจากความเป็นทุกข์ เห็นทุกสิ่งทุกอย่างเต็มไปด้วยความทุกข์ แต่เห็นว่าความทุกข์เป็นของธรรมดาที่มีสังขารทรงอยู่
ฉะนั้นจึงหาทางตัดเหตุของความทุกข์ คือ ความทะยานอยาก ทำใจให้เป็นสันโดษ พอใจในกฏของกรรม คือ การกระทำที่หาได้โดยสุจริต มีจิตน้อมเคารพในกฏของธรรมดา เห็นคนแก่นี่ก็เป็นเรื่องของความเป็นธรรมดาของคนที่เกิด เห็นคนตายก็ถือว่าคนตายเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเกิดมามันก็ตาย การป่วยไข้ไม่สบายก็ถือว่าเป็นเรื่องของธรรมดา ความแก่ ความตาย จะมีกับเราก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ใจสบายไม่เดือดร้อนหวั่นไหว ก็ตกใจบ้างเหมือนกัน แต่ว่ามันปลดออกไปได้ง่าย คือว่าธรรมดา เป็นเรื่องของกรรม และระยะนั้นก็เชื่อมั่นในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอน ว่าการให้ทานและรักษาศีล เจริญภาวนาเป็นของดีแน่ เป็นการแก้อารมณ์ของชาวโลก เป็นการแก้อารมณ์ที่ติดอยู่ภายใต้อำนาจของตัณหา คือว่าคำสอนขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสอนถูกเราไม่สงสัย แล้วก็ตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์ เรารักษาศีลยิ่งกว่าชีวิต คือว่าตายเสียดีกว่าที่จะยอมให้ศีลขาด คือว่ามีอารมณ์เข้มข้นแบบนี้แล้วจิตใจดีเป็นปกติไม่ใช่ฝืนนะ เข้าใจว่ามี ไม่ใช่ขืนใจ มีอารมณ์ถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกที่เข้ามากระทบ จะเหน็ดเหนื่อยด้วยการงานก็ดี หรืออาการป่วยไข้ไม่สบายก็ตามที คือว่าความเจ็บความไข้เข้ามาทับถม หรือว่าความตายเข้ามาหาเราก็ตาม เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา การถูกนินทาว่าร้ายก็เป็นเรื่องธรรมดา ใครเขานินทาเราก็ไม่หนักใจ ใครเขาสรรเสริญเราก็ไม่ดีใจ เราจะดีชั่วได้ก็การกระทำของเรา ไม่ใช่ผู้อื่นมาพูดให้เราดี หรือผู้อื่นมาพูดให้เราชั่ว ทำใจให้สบายมีศีลบริสุทธิ์ พร้อมกันนั้นมีอารมณ์จับอยู่ในพระนิพพานเป็นอารมณ์ อารมณ์อย่างอื่นที่เราต้องการไม่มี ภาระหน้าที่ทำตามหน้าที่ทุกอย่าง ความต้องการของเราต้องการอย่างเดียวคือความไม่เกิด ไม่เกิดเป็นมนุษย์ ไม่เกิดเป็นเทวดา ไม่เกิดเป็นพรหม ต้องการอย่างเดียวคือ พระนิพพาน
นี่โดยย่อกล่าวมา อย่างนี้พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ท่านเข้าถึงพระโสดาบัน อารมณ์ที่เข้าถึงพระโสดาบัน ก็จะมีความรัก ความอยากรวย ยังมีความโกรธ ความหลง ยังต้องการความสวยสดงดงามแต่ก็ไม่เป็นภัย ความรักก็รักอยู่ในขอบเขตของพระธรรมวินัยและกฏหมาย ความร่ำรวยที่เราจะพึงหาได้ก็หามาโดยชอบธรรมไม่ใช่ไปโกงใคร ความโกรธในใจมีอยู่ แต่ไม่ไปประทุษร้ายใคร ความหลงในร่างกาย คือ หลงในความสวยสดงดงามยังมีอยู่ แต่คิดไว้เสมอว่า ร่างกายของเรานี้มันแก่ไปทุกวัน โดยการแต่งตัวให้เหมาะสมกับสังคมเท่านั้น ไม่ใช่คิดว่าการแต่งตัวให้สวย การประดับตัวให้งาม จะทำให้ตัวเองเลอเลิศมีความสุข แต่ก็ยังอายสังคมอยู่ ถ้าแต่งตัวไม่เสมอเขายังไม่ถึงใจ ยังไม่เป็นที่พอใจ อารมณ์ของพระโสดาบันมีอย่างนี้ พระโสดาบันความจริงก็ยังมีความรัก ยังมีการแต่งงาน ยังมีบุตร มีธิดา จะมีสามีภรรยา เพราะกิเลสต่าง ๆ ยังมีครบอยู่ แต่ว่ามีอารมณ์ระงับ มีความรู้สึกตัวอยู่เสมอว่ากายมันจะแก่ มันจะเจ็บ มันจะตาย ความหวั่นไหวในการแก่ ป่วยไข้ไม่สบายมีน้อยค่อย ๆ หมดไป แล้วก็มั่นใจในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มีศีลบริสุทธิ์ มีจิตยอมรับนับถือกฏของธรรมดา แล้วก็มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ นี่ว่ากันว่าเป็นสายของสุขวิปัสโก ถ้าอารมณ์ของ่ทานพุทธบริษัททรงได้ขนาดนี้ เรียกว่า "พระโสดาบัน"
พระโสดาบันตัดอบายภูมิ คือ โทษที่จะทำให้ลงนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานไม่มี ถ้าเป็นพระโสดาบันขั้นหยาบ ก็มาเกิดเป็นมนุษย์อีก ๗ ชาติ ขณะเกิดเป็นมนุษย์ก็ต้องรับเศษของความชั่วที่ทำไว้แต่ปางก่อน ถ้าเป็นพระโสดาบันระดับกลางก็มาเกิดเป็นมนุษย์อีก ๓ ชาติ ถ้าเป็นพระโสดาบันระดับละเอียดก็มาเกิดเป็นมนุษย์อีก ๑ ชาติ ต่อจากนั้นไปรักษาอารมณ์ไว้ตามนั้น คือ พิจารณาขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เรียกกันว่าร่างกาย ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา อารมณ์บางลงไป เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีอะไรเป็นของเรา คำว่า กู ของกู น้อยลงไป มันชักไม่มี มีความรู้สึกมีเหมือนกัน แต่รู้ไว้เสมอว่า มันกับเราไม่ช้าก็จากกัน ความรู้สึกเชื่อมั่นในคุณพระรัตนตรัยมีระดับสูงขึ้น มีอารมณ์ละเอียดมากขึ้น นิดหน่อยก็เกรงอันตรายจะเกิดขึ้นกับใจ และการรักษาศีลมั่นคงยิ่งขึ้น มีอารมณ์ละเอียดยิ่งกว่าพระโสดาบัน แต่สังโยชน์เท่ากัน ๓ อย่างเหมือนกัน ตอนนี้อารมณ์จิตที่เราจะพิจารณาสังเกตได้ง่ายคือกามราคะ หรือว่าความโกรธมันจะมีน้อยเต็มที จะมีโกรธเหมือนกันแต่ว่ามันดื้อเหลือเกิน มันมีความไวน้อย บางทีใครเขาด่าขึ้นก็งง ความโกรธมันไม่เกิด เห็นคนที่เคยสวยสดงดงามที่เคยต้องการมีความปรารถนา แต่ความปรารถนามันไม่เกิด เห็นเป็นเรื่องธรรมดาไป ทีนี้เวลาที่จะกำหนดจิตรู้อารมณ์ตัวนี้จริง ๆอันนี้เรียกว่า สกิทาคามี เอากันให้ชัดก็คือ กามฉันทะ ความต้องการในกามารมณ์ จะมีเหมือนกับกามตายด้าน ไม่มีความต้องการในกามารมณ์เลยอย่างนี้เป็นปกติแม้แต่น้อย บางคนคิดว่าตอนนี้เราเป็นพระอนาคามี อันนี้ต้องระวัง ต้องระวังไว้ เพราะการเจริญวิปัสสนาญาณควบกับอำนาจของสมถภาวนา ในเขตที่พิจารณาขันธ์ ๕ ก็ใช้สมถะไปด้วย การที่คาบคุมใจอยู่ในขอบเขตเป็นอารมณ์สมถะ สมถะกับภาวนานี่แยกตัวกันไม่ออก อารมณ์ที่คุมอยู่มันเข้าถึงระดับฌาน ตั้งแต่ปฐมฌาน ขึ้นไปกำลังใจจึงจะมีอำนาจตัดกิเลส อันนี้อารมณ์ของสมถะ ถ้ามีกำลังนึก ความต้องการในรูป รส กลิ่น เสียง มันจะน้อย ความโกรธหวั่นไหวมันก็น้อย นี่เป็นอำนาจของอารมณ์ของสมถะ แล้วก็มีปัญญษคือ พิจาณณาเข้าด้วย ก็กดกันหนักลงมากขึ้นความรู้สึกน้อยลง บางทีมีระยะตั้งเดือนสองเดือน ความรู้สึกในกามารมณ์ ไม่มีเลยตอนนี้ เรานึกว่าเราเป็นพระอนาคามี เท่าที่ผ่านหลายท่านพระพุทธเจ้าท่านนิพพานไปแล้วก็ไม่รู้จะถามใคร ตอนที่มีอารมณ์เงียบสงัด ตั้งจิตอยู่ในอำนาจของสมาธิและวิปัสสนาในกาลบางครั้ง อารมณ์ในความปรารถนาสวยสดงดงามมันปรากฏ และอารมณ์ของความโกรธความเคียดแค้นก็จะเปิดขึ้นในใจของบุคคลที่ทำใจตั้งนาน ถ้าเกิดแล้วมีความรู้สึกเราก็ระงับได้ทัน อย่างนี้เรียกว่าอารมณ์เป็นอนุสัย ถ้าใจของท่านทั้งหลายเข้าถึงได้ตอนนี้ ท่านเรียกว่า "พระสกิทาคามี" ถ้าถึงขั้นพระสกิทาคามี ตายแล้วถ้าไม่เกิดเป็นเทวดา พรหม ก็ต้องเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้งหนึ่งแล้วก็นิพพาน
ตอนนี้ผ่านพระสกิทาคามีมาแล้ว ตอนนี้เป็นตัวแน่คือ การกำจัดกามฉันทะ พิจารณาขันธ์ ๕ เพียงข้อเดียว คือ สักาายทิฐิ ในที่สุดอารมณ์ความพอใจในกามารมณ์หมดสิ้นไปจากใจ ตอนนี้ความต้องการนิดหนึ่งไม่มี เห็นเนื้อเห็นหนังของคนเหมือนซากศพ หรือเหมือนกับแผ่นดิน เหมือนกับตุ๊กตาซึ่งไม่มีความหมายในการสัมผัส ความต้องการในกามารมณ์นิดหนึ่งไม่มี ถ้าจะสังเกตุง่าย ๆ ท่านกล่าว่าถ้าถึงระดับนี้ น้ำอสุจิแห้งแล้วไม่มีความปรารถนาในกามารมณ์เลย การสัมผัสในระหว่างเพศจะไม่มีความรู้สึกว่าผู้หญิงผู้ชาย มีความรู้สึกอย่างเดียว ความต้องการไม่มี แล้วก็การกระทบกระทั่งในด้านกามารมณ์ ในความโกรธ ใครเขาทำให้ใจกระทบนิดหนึ่งหล่นหายไปเลย คือ หลุดไปทันที อย่างนี้ท่านเรียกว่า "พระอนาคามี" ถ้ามีอารมณ์จิตของท่านถึงตอนนี้ให้ทราบชัดแต่ว่าให้มันแน่นะ ซ้อมไว้ ซ้อมใจ ถ้าไม่มีความรู้สึกในกามราคะ ก็หาวิธียั่วให้มันเกิด มันไม่ต้องการความสวยสดงดงาม ก็เดินเข้าไปหาสิ่งที่เราเคยต้องการในกาลก่อน ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส จะต้องไปหาสิ่งนั้น แสวงหาสิ่งนั้น ดูซิว่าใจมันต้องการไหม ถ้าพิสูจน์เท่าไร ๆ ใจมันไม่ต้องการ ใช้ได้ ถ้าเพียงเราอยู่คนเดียวไม่ต้องการสิ่งนั้น จะถือว่าได้ ไม่ได้ ต้องพบของจริงทีนี้ในด้านของโทสะเหมือนกัน ถ้าอยู่เฉย ๆ ยังไม่มีใครมาด่า ยังไม่มีใครเขามาท้า ทำไมไม่เข้าใจ ว่าหนัก ๆ เราเคยโกรธเราไม่โกรธ เห็นว่าคนแสดงอย่างนั้นมีอารมณ์เหมือนคนบ้า เราไม่ถือคนบ้า ไม่ว่าคนเมา ใจสบาย มีความปกติทางใจ มีความเงียบกริบไม่สลดใจอย่างนี้เราแน่ใจแล้วว่าเราเป็นพระอนาคามี นี่บอกให้สำหรับท่านเข้าสู่สภาวะสุขวิปัสโก สมัยพระพุทธเจ้าท่านต้องบอกเหมือนกัน นี่เรียกว่าตัดสังโยชน์ได้ ๕ ประการ เป็น "พระอนาคามี" ถ้าตายจากความเป็นมนุษย์ จะไปเกิดเป็นเทวดาหรือพรหมก็ตาม จะไม่กลับลงมาเกิดอีก บำเพ็ญบารมีบนนั้นไปนิพพานเลย
》นี่เหลืออีกอย่างคือ อรหัตผล อันนี้ต้องตัดสังโยชน์อีก ๕ ประการ ตัดสังโยชน์ในความผูกผันในรูปฌาน รูปฌานนี้ความจริงเราทิ้งไม่ได้ เราต้องใช้วิปัสสนาญาณควบคุมไว้ตลอด เพื่อเป็นการตัดกิเลส ทำความมัวเมาในรูปฌานให้หมดไป รักษาไว้เป็นการควบคุมใจให้ตัดกิเลสเท่านั้น ไม่ให้ถือว่าดีเลิศเป็นวิเศษ ถ้าหลงถ้าติดเพียงแค่นั้นไปไม่ได้ ทีนี้มานะความถือตัวถือตน ตอนนี้สังเกตุง่าย เรารังเกียจคนที่มีฐานะต่ำกว่าเราบ้างไหม รังเกียจคนที่แต่งกายไม่สะอาดบ้างไหม รังเกียจสัตว์เดรัจฉานประเภทใดบ้าง ถ้ายังมีความรังเกียจอยู่ตัวมานะก็ยังตัดไม่ได้ ถ้าเราไม่มีความรังเกียจ จะถือว่าคนชั้นใดก็ตาม ระดับใดก็ตาม สัตว์ประเภทใดก็ตาม ล้วนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกคนมีสภาะวะเสมอด้วยเรา ความรัก สุข ทุกข์ด้วยกัน มีจิตอย่างเดียว คือ เมตตาปรารถนาจะสงเคราะห์ อย่างนี้เรียกว่าเราตัดมานะได้ อีกข้อหนึ่งคือ อุทธัจจะ ตอนนี้ไม่น้อมไปในอกุศลกรรมแล้ว เหลือแต่กุศลอย่างเดียวเป็นความฟุ้งซ่าน แสวงหาความดีแต่ว่าฟุ้งซ่านเกินพอดีกับขอบเขตที่เราต้องการ เราต้องการอย่างเดียว คือ ตัดกิเลส แต่หมอก็ย่อมคิดสร้างโน่นทำนี่ จะทำดีอย่างโน้นอย่างนี้ไม่คิดทางโทษ คิดทางดีแต่ว่าไม่เลี้ยวเข้ามาหามุมเพื่อพระนิพพาน โดยเฉพาะอย่างนี้ท่านเรียกอุทธัจจะ คือว่ามีอารมณ์ส่ายในด้านกุศล ทีนี้เราพิจารณาใจของตนเป็นอย่างไรตอนนี้ จะมีอารมณ์อย่างเดียวคือ อารมณ์มันเฉยตัดอุทธัจจะได้ จิตมุ่งเฉพาะอย่างเดียวคือ พระนิพพาน จะทำอะไรนิดอะไรหน่อยก็ตาม เราทำเพื่อพระนิพพานอย่างเดียว เราทำเฉพาะ อย่างนี้ท่านเรียกว่าเราทำลายอุทธัจจะได้
ข้อสุดท้าย อวิชชา ความโง่ ที่จริงตัดมาได้ ๙ แล้ว อันนี้ก็ไม่มีความหมาย ชื่อว่าเยื่อใยในโลก จะเป็นคนก็ตาม สัตว์ก็ตาม หรือว่าวัตถุก็ตาม ความพอใจในการเกิดเป็นเทวดาหรือพรหมก็ตาม ไม่มีสำหรับเรา เห็นว่ามนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดียังไม่ดีจริง ยังมีอารมณ์ไม่ละเอียด ยังประกอบไปด้วยอนัตตา, อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีอะไร สิ่งที่เราต้องการนั่นคือพระนิพพานโดยเฉพาะ มีความสุขสดชื่นตลอดเวลา ร่างกายเป็นอย่างไร กิจการจะหนักสักเท่าไรก็ตาม หรือจะมีอารมณ์อะไรมากระทบกระทั่งก็ตาม ความป่วยไข้ เจ็บไข้ก็ตาม ความตายจะมาถึงก็ตาม อารมณ์สดชื่นเห็นเป็นเรื่องธรรมดาของคนที่เกิดมาในโกลนี้ มันเป็นอย่างนี้ เราอยากโง่มาก่อนจึงมาเกิด นี่เรามาเกิดเพราะความโง่ ก็ปล่อยให้ความโง่มันเกิดกับขันธ์ ๕ ไปตามอัธยาศัย มันจะกินใจของเราไม่ได้ มันกัดแค่เปลือก แต่มันไม่ถึงเนื้อถึงใจ จะทุกข์จะร้อนอะไรถ้าเปลือกพังเมื่อไร เรามีความสุขเมื่อนั้น แต่ว่าเราไม่พยายามทำลายเปลือกในร่างกาย
นี่พูดมาในเรื่องของอารมณ์วิปัสสนาญาณโดยเฉพาะ จะให้บรรดาท่านพุทธบริษัททราบว่าอารมณ์ที่จะเข้าถึงพระโสดาบันก็ดี สกิทาคามี อนาคามี อรหัตผลก็ดี มีอารมณ์อย่างไร พูดไว้แต่โดยย่อ ไว้เป็นเครื่องวัดกำลังใจของท่านพุทธบณิษัทว่า เวลานี้อารมณ์เข้าถึงไหนแล้ว ว่าเวลานี้องค์สมเด็จพระประทีปแก้วทรงปรินิพพานไปแล้วไม่มีผู้ใดจะพยากรณ์ได้ เราจะได้อะไรเพียงใด เราต้องพิจารณาเอง แต่ระวังให้ดีถ้าเราเจริญสมถภาวนา ถ้ามีกำลังฌานกล้า กำลังฌานประเภทนี้ทำจิตให้เป็นอุเบกขา บางทีจิตของเราอยู่ในขั้นโลกีย์ แต่ความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันถูกระงับด้วยกำลังฌาน เราอาจเข้าใจว่า เวลานี้เราเข้าถึงภาวะพระนิพพานหรือเป็นอรหันต์เสียแล้วก็ได้ ระวังอารมณ์ตอนนี้มาก ๆ *
โดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง
ธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ ๑๔๕ หน้า ๕๒ - ๕๘
   


ที่มา : โดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง


 6,649 

  ความคิดเห็น


RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย