นิมิตกระแสแห่งปัญญา


นิมิตกระแสแห่งปัญญา


บางครั้งนั่งหรือนอน บางครั้งสติสัมปชัญญะจะไปอยู่กับความฝันหรือนิมิต เกิดขึ้นเพราะเหตุใด?


อย่างนี้แหละ ที่ทั่วไปเขาเรียกว่านิมิต อย่างนี้จะเก๋หน่อย เท่หน่อย แต่ถ้าพูดแบบไม่เก๋ ก็คือ ความคิด ภาพจินตะ ซึ่งสติสัมปชัญญะจะอยู่กับตัวเราอย่างอ่อน น้อยมาก จิตเราจะแบ่งความสนใจ ไปอยู่กับนิมิตนั้น พอจิตเราไปสนใจตรงนั้น สติสัมปชัญญะที่ดูแลตัวเราก็อ่อนลง เพียงแต่ดูแลลมหายใจ อะไรต่างๆ ได้ เพราะถ้าเราไม่สติสัมปชัญญะเราก็ไม่มีลมหายใจแล้ว ตายไปแล้ว เพราะเจตนาเราไปพุ่งอยู่กับตรงนิมิตนั้น นี่แหละเขาเรียกว่า "กสิณ" ได้แล้ว เพราะเราไปพุ่ง พอเราดึงมา เดี๋ยวก็เด้งขึ้นมาใหม่ พอปรากฏภาพนิมิต จิตเราก็ไปอีกแล้ว พอเราสนใจจิตเราก็ไป แต่ถ้าเราไม่สนใจภาพนั้นก็เลือนหายไปเอง


ณ ภาวะตรงนี้ เป็นภาวะที่จะค้นหา เราจึงสนใจภาพต่างๆ ที่ปล่อยขึ้นมา แล้วไม่ปล่อยไป แล้วก็เอามาวิเคราะห์ เอามาดู ถ้าสมาธิอย่างนี้ เรียกว่า "วิตก" "วิจาร" เป็นขั้นสูงขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง จะไม่ปล่อยละ เอามาดู เอามาคิด


เมื่อก่อนเราเห็นปั้บ ไม่มีอะไรก็ปล่อยไป เราก็จะไปสนใจอย่างอื่นไปเลย บางครั้งเราปล่อยให้นึก จิตใต้สำนึกก็จะส่งมา


ถ้าเราทำอย่างนี้ อีกขั้นหนึ่ง จิตใต้สำนึกไม่ต้องส่งเลย จิตเห็นอะไรคิดได้หมด ปรากฏเป็นภาพออกมา เช่น เราเห็นไฟแช็ค คิดว่าไฟแช็คมันเป็นอะไรว่ะ ภาพก็จะปรากฏออกมาเป็นชิ้นๆ ให้ดูเลย นี่แหละ ขั้นนี้ให้ระวัง ถ้าเราไม่ระวังให้ดี เราก็จะคิดว่าเราพิเศษ มีอิทธิฤทธิ์ต่างๆ แล้วเราก็จะบ้า เป็นวิปัสสนูกิเลส


แต่สิ่งเหล่านี้สอนให้เรารู้แล้ว ความคิดเรากำลังจะวิเคราะห์ วิจัย อยู่ในขั้นวิจัย เห็นอะไรก็จะปุ๊บปั้บเข้าใจไปหมด นี่แหละผลแห่งการโยนิโสมนสิการ


นี่แหละ เรามองใครเราจะไม่มองเปล่าๆ ละ เราจะคิดรอบคอบ ในใจเขาคิดอะไร เขาอยู่ในภาวะอะไร ช่วงนี้เราต้องควบคุมให้ได้ ให้ดี จบคือจบ ถ้าไม่จบเราก็จะบ้า เพราะว่าเดี๋ยวนอนไม่หลับ เดี๋ยวจะเอาไปคิดต่อ


เมื่อวานนี้ผมจะพิมพ์ข้อความเกี่ยวกับ การแก้กรรม แต่พิมพ์ไม่ได้เลย เพราะว่า ความรู้ต่างๆ มันพรั่งพรูออกมา ยิ่งเขียนยิ่งลึก คนอื่นจะอ่านไม่ได้ เพราะว่าความเข้าใจสูงเกินกว่าคนทั่วไปจะเข้าใจได้


นี่แหละ เพราะว่าเราไม่ควบคุมตารางว่า เราต้องกำหนดจิตเจตนา


สมมติว่า เราจะเขียนให้กับบัวเหล่าที่ ๑ ขั้นตอน ๑ - ๔ เรากำหนดลงไปเลย เราจะเอาขั้นตอน ๑-๔ ข้อมูลเลยจาก ๔ เราจะเก็บไว้ก่อน แล้วเลยจาก ๔ เขาจะไม่โผล่มาเลย ความรู้ที่ลึกๆ ก็จะไม่โผล่มาเลย


แต่ถ้าเราปล่อยไป เขาก็จะวิเคราะห์ถึงขั้น ๑๒ สูงสุดเลย นี่แหละ เป็นห้วงแห่งการเจริญโยนิโสมนสิการ พอมี ๑ เดี๋ยวจะให้ไปถึงท้าย


ถ้าอินทรีย์เรารับไม่ได้ เราต้องขอ ถ้าเราไม่ขอเป็นอย่างนี้เรื่อยๆ เดี๋ยวเราก็จะนอนไม่หลับ เดี๋ยวจะเป็นบ้า นี่แหละร่างทรง หรือคนทั่วไปที่เป็นบ้า เป็นอย่างนี้ เขาเรียกว่า เจตจำนงค์ เจตนาไว้


เปรียบเสมือนการลงน้ำเชี่ยว เราต้องเอาเชือกผูกเอวไว้ ถ้าไม่ผูกเราก็จะใหลไปตามน้ำจะพาเราไป อันนี้ก็เหมือนกัน เขาเรียกว่า "กระแสแห่งปัญญา" พอเราเข้าสู่กระแสแห่งปัญญาก็พัดเราไปไกล คนพวกนี้เป็นกันเยอะ ทำให้บ้าเลย เวลาถอนถอนไม่กลับเป็นเรื่องเลย


พอคุยกับใครก็ไม่รู้เรื่องละ พอเราคุยกับใครก็คุยในสิ่งที่เราเห็น แล้วคนอื่นไม่เห็นด้วย งงมากๆ เลย เขาก็จะคิดว่าเราบ้า จะต้องไปกินยาระงับประสาท ให้ประสาทนอนหลับ


นี่แหละ ในธรรมเป็นขั้นตอนสกัดคนเก่ง ธรรมต้องการคนเก่ง แต่ต้องการคนซึ้ง คนเก่งมักไม่ซึ้ง


ธรรมจะไม่ต้องการให้เราเก่ง รู้ทันที รู้ทันใด รู้อะไรต่างๆ ธรรมจะให้เราค่อยๆ รู้ ค่อยๆ ฝึก ให้เกิดความซึ้ง เพราะความซึ้งอยู่ได้นาน ความเก่งอยู่ได้แค่แป๊บเดียว


คนเก่งชอบเป็นกบฏ คนซึ้งจะอยู่นาน เพราะว่าคนซึ้งจะรู้บุญคุณจะเป็นคนกตัญญู


เราจะสังเกตได้จาก คนเก่งพอใครช่วยอะไรได้ก็จะเป็นกบฏทันที


แล้วหลวงพ่อท่านเจ้าคุณท่านหนึ่งละ จะมีครูบาอาจารย์ลักษณะยังไงมาสอน


หลวงพ่อท่านเจ้าคุณ ท่านจะใช้หลักครูบาอาจารย์พระพุทธเจ้า เรียนแบบพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้แล้วว่า พระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ท่านใช้หลักเหล่านี้มากำกับ


อย่างเช่นผู้รู้สอนลุงโย ไปนั่งสมาธิจะต้องท่องตัวนี้ประจำนะ ถ้าไม่จะทำให้คุณลุงหลงมิติได้ สมมติว่าเราเจอนางฟ้าคนหนึ่งสวยงามมาก พอโผล่ตัวนี้ขึ้นมาปั้บ กำหนดจิตเลยว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราก็จะถอยทันที ไปเห็นเงินทองเยอะแยะเลย ก็อยากได้มาเสวยสุข เราต้องกำหนดจิต


เวลาเรานั่งสมาธิต้องใช้หลักพระไตรลักษณ์กำกับ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าไม่กำกับบางทีเจอบททดสอบอาจเป็นบ้าก็ได้ เช่นบางสำนักสอนการทำสมาธิ สอนให้นั่งไปเรื่อย ทำสมาธิไปเรื่อยๆ แต่ไม่มีอะไรให้ผู้นั่งสมาธิกำกับ สังเกตได้จากที่คำสอน จะสอนให้ไปเรื่อย ไม่มีตัวอะไรมากำกับ ต้องมีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา


พอมีความรู้กระแสแห่งปัญญาเกิดขึ้นปั้บ ถ้าเรามีตัวอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา "ทุกสิ่งก็แปรเปลี่ยนไปได้หมด เราควบคุมไม่ได้ ฉะนั้น เป็นสุญญตา เราจะไปข้องแวะ เอาจริงเอาจัง เอาเกินไปไม่ได้ เอาเกินกว่าความเป็นจริงนี้ไม่ได้" เห็นมั้ยจะมีข้อกำกับไว้ตลอด สิ่งเหล่านั้นมาจูงเรา เราก็ไม่ไป พูดง่ายๆ ตัวไปแต่เชือกผูกไว้กับหลัก ก็ไปได้ไม่ไกล พอเสาตามเชือกเดี๋ยวก็กลับมา

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์

   

7,674







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย