"มาร" ฆ่าบุคคลให้ตายจากความดีนั้นๆ


<
"มาร" ฆ่าบุคคลให้ตายจากความดีนั้นๆ

มาร มาจากรากศัพท์ มรฺ แปลว่า "ตาย" มารจึงแปลว่า "ผู้ทำให้ตาย" หมายถึง สิ่งใด ๆ ที่ฆ่าบุคคลให้ตายจากคุณงามความดี หรือจากสิ่งที่ประเสริฐ หรือขัดขวางบุคคลมิให้บรรลุถึงผลสำเร็จอันดีงาม ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ได้แบ่งมารออกเป็น ๕ ประเภท ได้แก่

๑. กิเลสมาร คือ นิสัย พฤติกรรม การกระทำ ความประพฤติที่ไม่ดี เป็นกิเลสคอยขัดขวางไม่ให้เราทำความดี

๒. ขันธมาร คือ ขันธ์ ก็คือร่างกายของเราซึ่งมีความบกพร่อง ทำให้เราจะทำอะไรก็มีปัญหา อุปสรรค เช่น ต้องการฟังธรรมะ แต่หูหนวก ไม่สามารถฟังธรรมได้ หรือต้องการเดินทางไปไหว้พระธาตุเจดีย์บนดอย ขาพิการ เป็นง่อย ไปก็มีแต่ความยากลำบาก เรียกว่าร่างกายไม่เอื้ออำนวย เป็นต้น

๓. อภิสังขารมาร คือ ความนึกคิดปรุงแต่ง เกิดยึดมั่นถือมั่น สำคัญผิดในธรรม เป็นตัวปรุงแต่งกรรม ปรุงแต่งไปในทางดี เรียกกุศลกรรม ปรุงแต่งไปในทางไม่ดีเรียก อกุศลกรรม ฉะนั้น มารในที่นี้ก็คือ "ความคิดที่ปรุงแต่งไปในทางมิจฉาที่ไม่ดี"

๔. เทวบุตรมาร คือ หลงในความสุข ความสบาย ความเก่ง หลงในความมียศฐาบรรดาศักดิ์ หลงในในความสุขทำให้เราเพลิดเพลินในความสุขนั้นไม่สร้างความดีเพิ่มเติม ติดแง็กกับความดีนั้น หรือติดศาลาไม่เดินทางต่อไป เป็นต้น

๕. มัจจุมาร คือ อารมณ์ที่เปลี่ยน ความตายที่ตัดโอกาสการทำความดีของเรา เช่น เราจะทำดี แต่อารมณ์เปลี่ยน ไม่ทำดี หรือเราจะทำดีแต่ดันมาตายก่อนเลยไม่มีโอกาสที่จะทำดีนั้นๆ

กลไกล เครื่องมือของมาร มี ๓ อย่าง ดังนี้

๑. มุ่งร้าย คือ มุ่งทำร้าย คิดปองร้ายผู้อื่น สิ่งที่ตรงข้ามกับการมุ่งร้าย คือ ความเมตตา การพยายามมองคนในแง่ดี ในแง่ที่น่าเห็นอกเห็นใจ พยายามหาเหตุผลมาลบล้างความผิดบกพร่องของคนทั้งหลายและการพยายามคิดว่าคนทุกคนเหมือนกัน อกเขาอกเรา ก็ย่อมไม่มีการมุ่งร้ายต่อกันเป็นธรรมดาความปรารถนาดีต่อกันย่อมมีได้ง่าย

๒. มักง่าย คือ เวลาทำอะไร เรามักเอาความสะดวกเข้าว่า เอาความง่าย ๆ ขอไปที ไม่พิถีพิถัน ไม่เคารพกฎเกณฑ์ ไม่เคารพข้อบังคับไม่คำนึงผลที่จะตามมา

๓. มั่ว คือ ทำอะไรอย่างไม่มีหลักการ กฎเกณฑ์ ระเบียบแบบแผน

ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกมา

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์   




 6,455 

  ความคิดเห็น


RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย