หลักวิธีการเข้าถึงธรรม บรรลุธรรม ด้วยโพชฌงค์ ๗


หลักวิธีการเข้าถึงธรรม บรรลุธรรม ด้วยโพชฌงค์ ๗

โพชฌงค์ (โพด-โชง) คือ การเข้าถึงธรรม รู้ถึงธรรม เป็นไปตามธรรม การบรรลุถึงธรรม การเข้าถึงตัวแห่งการตรัสรู้ ยอมรับแห่งธรรม ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ องค์ธรรมที่ทำให้ตรัสรู้เข้าถึงธรรมแล้วนำธรรมะนั้นมาสั่งสอนประชาชน หรือองค์ธรรมแห่งการตรัสรู้ มี ๗ อย่างคือ

๑. สติ (สติสัมโพชฌงค์) คือ มีความพร้อม ทำอะไรมีความถูกต้องตามธรรม

๒. ธัมมะวิจะยะ (ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์) คือ รู้จักวินิจฉัยธรรมให้กระจ่างแจ้งชัด โดยใช้กระบวนการโยนิโสมนสิการ ด้วยหลัก ๓ว. ๓พ. ๑ย.
๓ วอ.
๑. วิจัย คือ นำข้อมูลมาวิเคราะห์ แยกแยะ จำแนก
๒. วินิจฉัย คือ นำข้อมูลที่วิจัยนั้นมาทำความเข้าใจอย่างปราณีตให้ถ่องแท้และประจักษ์
๓. วิจารณ์ คือ นำข้อมูลที่วินิจฉัยมาเปรียบเทียบ เทียบเคียง วิเคราะห์ความแตกต่างกันว่า ดีหรือไม่ดี ถูกหรือผิดประการใด
๓ พอ.
๑. พิจารณา คือ เราต้องการสิ่งไหน ไม่เอาสิ่งไหน ได้แค่ไหน จะเอายังไง จะทำอย่างไรดี
๒. มหาพิจารณา คือ จะหาข้อมูล ธรรมะ ปรัชญา วิชาการ อื่นๆ มาสนับสนุนหรือบั่นทอน
๓. พิจารณาอย่างรอบคอบ คือ เอาสิ่งที่เราพิจารณานั้นมาทบทวนให้ละเอียดถี่ถ้วน จะส่งผลถึงปัจจุบัน และอนาคตจะเป็นอย่างไร ตรงนี้ควรทำ แค่ไหน อย่างไร
๑ ยอ.
๑. โยนิโสมนสิการ คือ การคิดพิจารณาตั้งแต่ต้นเหตุไปถึงผล ผลไปถึงเหตุ ให้ครบวงจรตามภาวะจริงแท้แห่งธรรม และนำทั้ง ๖ ข้อข้างต้นนี้มารวมกันและทำให้สมบูรณ์

๓. วิริยะ (วิริยสัมโพชฌงค์) คือ ความเพียร พยายาม ซึ่งต้องอาศัยขันติความอดทน และมีตบะอย่างยิ่งยวด หมายถึง อดทนอย่างยิ่งยวด ถ้าไม่มีขันติก็จะไม่มีความต่อเนื่อง

๔. ปีติ (ปีติสัมโพชฌงค์) คือ ความเอิบอิ่มใจ คือ จะต้องยอมรับความเป็นจริงแห่งธรรม มายาธรรม ธรรมชาติแห่งความเป็นไปตามวิถีแห่งธรรม แล้วสรุปตามภาวะแห่งธรรมนั้นๆ จึงจะเกิดความเอิบอิ่มใจ ถ้าไม่มีการสรุป จิตของเราก็จะสืบเสาะ แสวงหา โหยหาจึงไม่เกิดปีติ และมีถ้าเรามีปีติก็จะส่งผลให้เรามีกำลังใจทำต่อ
๕. ปัสสัทธิ (ปัด-สัด-ทิ) (ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์) คือ ความผ่อนคลายสงบเย็นกายใจ คือเราต้องเห็นธรรม ปล่อยเป็นไปตามธรรม จิตใจเราจึงจะเกิดความสงบกายใจ

๖. สมาธิ (สะ-มา-ทิ) (สมาธิสัมโพชฌงค์) คือ สมาธิ แปลว่า ตั้งใจก่อเกิดในขบวนการนั้น ให้ขบวนการนั้นต่อเนื่อง ไม่คลาดเคลื่อน ตั้งใจอย่างต่อเนื่องไม่คลาดเคลื่อน ตั้งใจให้กรรมนั้นๆ อย่างต่อเนื่องไม่คลาดเคลื่อนออกไปจากกรรมนั้นๆ ความมีจิตใจตั้งมั่นจิตแน่วในอารมณ์ คือ เมื่อเรามีจิตใจมุ่งมั่นจะบำเพ็ญ ประพฤติปฏิบัติ หรือจะทำสิ่งหนึ่งประการใด เราจะต้องมีตบะ มุ่งมั่นสืบเนื่องต่อกันไป สิ่งการณ์นั้นถึงจะดำรง ดำเนินต่อไป ย่อมเป็นไปตามวิถีแห่งธรรมนั้นๆ ย่อมเข้าใจวิถีแห่งธรรมนั้นๆ

๗. อุเบกขา (อุเบกขาสัมโพชฌงค์) คือ ความมีใจเป็นกลาง ปัญญาที่รู้เข้าใจธรรมชาติ ยอมรับความเป็นจริงเป็นไปตามวิถีแห่งธรรมนั้นๆ ไม่ยึดมั่นถือมั่นตามธรรมที่เราต้องให้เป็นไปหรือให้อยู่ ให้วางจิตเป็นไปตามภาวะแห่งธรรม คือ ให้ซึ้ง เข้าใจภาวะแห่งธรรมและเหตุปัจจัยของธรรม คือสร้างเหตุให้ถึงพร้อม ถึงจะที่สัปปายะ บรรลุ สำเร็จ

ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกมา

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์

6,670







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย