"บัณเฑาะว์" ลีลาแห่งวิถีธรรม
"บัณเฑาะว์" ลีลาแห่งวิถีธรรม
บัณเฑาะว์ เป็นเครื่องดนตรีประเภทกลองจากอินเดีย มีลักษณะหัวและท้ายใหญ่ ตรงกลางคอด ขนาดประมาณ ๑๕ เซนติเมตร ใช้เชือกผูกกับลูกตุ้ม กลองชนิดนี้ไม่ใช้ตีด้วยไม้ด้วยมือ แต่ใช้มือถือพลิกข้อมือกลับไปกลับมา ให้ลูกตุ้มที่ปลายเชือกกระทบหนังหน้ากลองทั้งสองด้าน
ชื่อบัณเฑาะว์ มาจากคำบาลีว่า "ปณวะ" ในอินเดียเรียกว่า "ฑมรุ" เป็นเครื่องดนตรีที่พบเห็นในหัตถ์ขวาของพระศิวะ บัณเฑาะว์นี้ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของพ่อศิวะ
บัณเฑาะว์เป็นลีลาแห่งธรรม เป็นวิถีการจรของธรรม เป็นตัวแทนแห่งธรรม เป็นตัวแทนลีลาของธรรม
บัณเฑาะว์เป็นตัวแทนของธรรม ออกจากธรรมอีกชั้นหนึ่งเป็นพ่อศิวะ
การสั่นบัณเฑาะว์ จะสั่นเป็นไปตามลีลาแห่งธรรม ที่ออกมาจากธาตุทั้ง ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ
๑. สั่นบัณเฑาะว์แบบธาตุดิน คือ สั่นลักษณะตัวของเราแข็งแต่อ่อนช้อย
๒. สั่นบัณเฑาะว์แบบธาตุน้ำ คือ จะม้วนตัวเคลื่อนไหวใหลไปตามจังหวะบัณเฑาะว์
๓. สั่นบัณเฑาะว์แบบธาตุไฟ คือ จะทำรูปร่างของเราคล้ายกับเปลวไฟ
๔. สั่นบัณเฑาะว์แบบธาตุลม คือ มือ ตัว ร่างกายของเราจะพริ้วไปมา ทั้งเคลื่อนไหวและหยุดนิ่งไปตามจังหวะ
ผู้ที่สั่นบัณเฑาะว์จะต้องกำหนดจิตไปตามลีลาของธรรม ดังนี้
๑. กำหนดธรรม คือ เราจะให้เป็นไปตามลีลาธาตุใด
๒. กำหนดอินทรีย์ของเราเป็นไปตามลีลาธรรมนั้นๆ
๓. สื่อให้คนอื่นรับรู้กิริยาของเราว่าเป็นไปตามลีลาแห่งธรรม ผู้ที่เห็นได้ฟังก็จะเกิดศรัทธามากขึ้น
กลองบัณเฑาะว์มีที่มาจากศาสนาพราหมณ์ ซึ่งนับถือเทพเจ้าหลายองค์ องค์ที่ถือว่าเป็นต้นแบบทางนาฏศิลป์ หรือการร่ายรำก็คือ พระศิวะหรือพระอิศวรในปางศิวะนาฏราช
พระอิศวรปางนี้มี ๔ มือ ๒ มือแรก ด้านขวาจะถือกลองที่มีลักษณะแบบเดียวกันกับบัณเฑาะว์ เรียกว่ากลอง ทมรุ แต่ไม่มียอดแหลมสำหรับยึดลูกตุ้มเหมือนกับลักษณะของบัณเฑาะว์ในปัจจุบัน ด้านซ้ายจะมีพระอัคนี(เปลวเพลิง) อยู่บนฝ่ามือ ส่วนอีก ๒ มือที่เหลือ ใช้สำหรับร่ายรำเป็นท่วงท่าจังหวะที่งดงามไปพร้อมๆกับการใช้ขาและเท้า
เครดิตภาพ https://thaimusicyoume.wordpress.com/2013/07/06/%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-2/%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%93%E0%B9%80%E0%B8%91%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B9%8C-www-sivalaionline-com/
ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกมา
อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์