การแก้กรรม


<
การแก้กรรม

การแก้กรรมของผม ผมแปลว่าอย่างนี้

ที่ว่าแก้กรรม กรุณาอย่าไปเข้าใจว่าการแก้กรรมให้ตรงนั้นหมดไปอย่างนี้ไม่ใช่

คำว่า "แก้กรรม" คือ ไปลดทอนและเปลี่ยนนิสัย

คำว่า "แก้" คือ แก้พฤติกรรม ไม่ใช่แก้กรรมที่ก่อมาแล้ว

การแก้กรรมที่ก่อมาแล้วให้หมดไป อย่างนี้ไม่มี เป็นไปไม่ได้ ไม่มีศาสนาไหนบอกอย่างนี้ด้วย กรุณาเข้าใจให้ถูกต้อง แปลให้ถูก แปลให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เราแปลเอาตามใจความของตนเอง

การแก้กรรม คือ แก้พฤติกรรมที่เคยทำมาอย่างนั้น การที่เราแก้ไขพฤติกรรมที่มาอย่างนั้นแล้ว เขาก็จะไม่ก่อกรรมเช่นนั้นอีก ก็เท่ากับไม่ทำกรรมเพิ่ม ถ้าเขาไม่รู้แล้วไปทำกรรมตรงนั้นอีก ก็เอาแต่เพิ่มกรรมอยู่เรื่อย ต้องให้แก้พฤติกรรมตรงนั้น ไม่ใช่ไปแก้กรรมที่เคยทำมาแล้ว แก้แล้วให้หมดไปอย่างนี้ไม่มี เราไม่ใช่ย้อนอดีตแล้วไปแก้ อย่างนี้ไม่ใช่ แต่เราย้อนอดีตมาเป็นบทเรียน เราไม่ใช่แก้ตรงนั้นให้เปลี่ยนผลอดีตได้ อย่างนี้ไม่ได้ คุณต้องเข้าใจคำอย่างนี้

ถ้าคุณไม่ได้ถามความเข้าใจของเขา ว่าเขาแปลว่าอะไรแล้วคุณก็บอกว่าไม่ใช่ ก็งงนะ ต้องฟังก่อนนะ ว่าเขาแปลกรรม แปลว่าอะไร อย่างไรก่อนนะ ด้วยความเคารพ

ตัวอย่างเช่นในศาสนาคริสต์ ที่ว่าพระเจ้าไถ่บาปให้ คนทั่วไปยังไม่เข้าใจ บางคนที่อยู่ศาสนาก็ยังไม่เข้าใจ

สิ่งที่พระเจ้าไถ่บาป (Redeemer) ให้นั้น หมายความว่า พระเจ้าอนุญาตว่าตรงนั้นให้เราเริ่มต้นใหม่ได้

การสารภาพบาป (confess for a sin ; accept a sin) ก็เช่นเดียวกัน พระเจ้าอนุญาตให้เริ่มทำใหม่ได้ ส่วนบาปนี้คุณต้องได้รับบทเรียนไปแน่นอน เพราะว่าเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าอยู่แล้ว เราจะต้องได้รับบทเรียน เราจะได้จำเป็นบทเรียน เราจะได้ไม่ทำสิ่งนั้นอีก แต่ได้รับโทษหนักเบาก็ว่ากันไปตามสิ่งที่เราทำ แต่คุณยังไงก็ต้องรับ

ถ้าหากว่าไถ่บาปได้แล้วไม่มีเงื่อนไข ก็จบ

การไปไถ่บาปก็ต้องมีเงื่อนไขว่าคุณต้องทำอะไร

หัวใจของการไถ่บาป ก็คือให้โอกาส

เพราะบางคนไปจำว่า ไปทำสิ่งที่ไม่ดี ทำชั่ว เราก็ไม่มีทางที่จะได้ดี เราก็เลยต้องทำชั่วตลอด แล้วจะทำยังไง? ถ้าเขาทำชั่วตลอดแล้วเราจะทำอย่างไร? หรือว่าเราจะให้โอกาสให้เขาว่า เขาอย่าทำชั่วเช่นนี้อีก

นี่แหละ ให้เราฉุกคิดว่าจะเอาอย่างไหน?

แล้วถ้าเขาบอกว่า ไหนๆ เมื่อทำชั่วแล้วก็ต้องทำชั่วตลอด แล้วเราจะทำดีทำไม

ถ้าเราเป็นคนดี เราก็จะมีปัญหาได้ เพราะคนชั่วก็จะไปก่อกวนเราตลอด ถ้าเราให้โอกาส เขาจะได้กลับเนื้อกลับตัวอย่างนี้ไม่ดีกว่าเหรอ เขาจะได้ไม่ต้องไปเบียดเบียนใคร ใช่หรือเปล่า? นี่แหละ เป็นหลักหัวใจของพระพุทธเจ้าเลย

พระพุทธเจ้าเมตตา ให้โอกาสแก้ไขใหม่?

เราลองไปดูเถอะ ทุกศาสนาก็เน้นตรงนี้ทั้งนั้น แต่คนไปตีความผิดทั้งนั้น

พระพุทธเจ้าเกิดมาเพื่อให้คนทั้งหลายไปแก้กรรม เพื่อจะได้แก้ไขอกุศลกรรมต่างๆ แล้วถ้าเราบอกว่าการแก้กรรมไม่ให้มี แล้วจะเป็นไปได้ไหม? ขนาดก่อนที่จะเป็นพระพุทธเจ้า ท่านยังต้องแก้ไขอกุศลกรรมของท่านเลย

ขนาดตอนนั้นพระพุทธเจ้าไปบำเพ็ญทุกรกิริยา อดพระกระยาหาร เป็นการทำผิด เป็นอกุศลกรรม ก็ยังหันกลับมาเสวยพระกระยาหารเลย

แล้วมาบอกว่าแก้กรรมไม่ได้ อย่างนี้ก็จบอีก

การแก้กรรมนี้แก้ได้ แต่ยกเลิกกรรมที่เคยทำมาแล้วนั้นไม่ได้ อย่าเข้าใจผิด "การยกเลิก" กับ "การแก้" นี้ไม่เหมือนกัน

คนทั่วไปคิดว่า การแก้ก็คือยกเลิก ยกทิ้งไปที่เคยทำกรรมที่ไม่ดีตรงนั้น ไม่บาปแล้ว อย่างนี้ไม่ใช่

เช่น อดีตคุณเคยเผามด ปัจจุบันคุณไม่เผามด แล้วดีขึ้นไหม?ล่ะ ลองคิดดู

การแก้กรรม คือ แก้ตรงที่ให้เราสำนึกว่าตรงนั้นเราทำผิด แล้วต่อไปเราจะไม่ทำอกุศลกรรมเช่นนั้นอีกต่อไป มาทำสัญญากันใหม่ ตั้งปณิธานใหม่ เราก็ต้องมาทำสัญญากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สัญญากับเจ้ากรรมนายเวรว่าเราจะไม่ทำอกุศลกรรมเช่นนั้นอีกต่อไป

ถ้าเป็นเช่นนี้ไม่เรียกว่าแก้กรรม แล้วจะเรียกว่าอะไร?

การแก้กรรม ก็คือ การแก้พฤติกรรม เราต้องแปลให้ถูก

ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกมา

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์   




 6,580 

  ความคิดเห็น


RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย