การพิจารณาอสุภะนำสู่ธรรม


<
การพิจารณาอสุภะนำสู่ธรรม

การพิจารณาอสุภะ โดยใช้ชีวิต ร่างกาย สังขารเป็นนิมิตหมายในการพิจารณา เพื่อเข้าถึงหลักแห่งความจริงในธรรม ซึ่งปกติเป็นเช่นนี้ ซึ่งมีหลักในการพิจารณาตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง จนถึงเบื้องปลาย มีดังนี้ คือ


หลักแห่งการพิจารณาโยนิโสมนสิการ


๑. ความเป็นจริง ณ ภาวะนี้
๑.๑ เกิดอะไรขึ้น
๑.๒ มีเหตุอะไรถึงเกิดเช่นนี้
๑.๓ ต้นตอแห่งเหตุ
๑.๔ หาความจริงแห่งเหตุต้นตอนั้นๆ
๑.๕ "จริง" มีอะไรแท้ จึงต้องมาเป็นจริงอย่างนั้น

หมวด A การเกิด ตั้งอยู่ เปลี่ยนแปลง

๑. การเกิด

๑.๑ การเกิดก็มีวิบากกรรม บางคนเกิดมาพิการก็มี ครบถ้วนก็มี ทั้งสวยงาม ไม่สวยงาม หล่อ ไม่หล่อ ตามวิถีแห่งวิบากกรรม

๑.๒ สิ่งที่เป็นอยู่นี้มีเหตุเนื่องด้วยวิบากอะไรมา

๑.๓ เนื่องในเหตุวิบากมาจากไหน? อยู่ดีๆ มีวิบากนั้นได้ยังไง? ที่มาแห่งเหตุ เช่น เขาชอบทรมานสัตว์ให้ขาเป๋ เขาจึงมีวิบากแห่งขาเป๋ จึงเกิดมาแล้วขาเป๋ ฯลฯ



๒. มีขันธ์เป็นไปตามขณะภาวะปัจจุบัน

๒.๑ เกิดมาเป็นรูปธรรมมีพิการ ขาเป๋ สวยงาม ไม่สวยงาม

๒.๒ เราก็จะเกิดนิวรณ์ ชอบอย่างนี้ ไม่ชอบอย่างนี้ มีอคติ มีความยึดมั่นถือมั่น อยากให้เป็นไปตามใจเราต้องการ

๒.๓ สิ่งที่เราชอบไม่ชอบ อยากให้เป็นไปตามใจเราต้องการ อคติมาจากไหน



๓. มีการดำรงรักษาขณะปัจจุบัน

๓.๑ ทนุบำรุงรักษาทั้งรูปขันธ์และนามขันธ์ยังไง อยู่ให้เป็นยังไง อยู่ให้เข้าใจยังไง จึงทำให้ภาวะขณะปัจจุบันของเรานี้ดำรงอยู่ได้

๓.๒ เราต้องวิเคราะห์ถึงต้นตอแห่งเหตุนั้นๆ ของแต่ละส่วน เราอยากมีชีวิตอยู่ต่อ เราต้องมาดูที่ต้นเหตุอยู่ตรงไหน ต้องทำยังไง ต้องมาวิเคราะห์ถึงต้นตอแห่งเหตุ ถ้าเราเข้าใจตรงนี้เราก็อยู่ได้ยาวกว่า ทนุบำรุงแห่งเหตุนั้นๆ ถ้าเราไม่ทนุบำรุงเหตุดีนั้นไว้ ชีวิตก็ไม่ยืนยาว เช่น ป่วยไข้แต่ไม่ยอมไปหาหมอ ไม่ยอมกินยา หรือรอให้เป็นหนักแล้วถึงไปหาหมอ บางครั้งก็สายเกินแก้ เช่นการป่วยเป็นมะเร็ง ต้องรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ รอให้ถึงขั้นสุดท้ายไปหาหมอก็ป่วยการ

๓.๓ ทนุบำรุงรักษาแห่งเหตุนั้นๆ แก้ไขเหตุได้ก็จะสามารถดำรงอยู่รักษาได้นาน บางคนมีอายุได้อยู่ได้แค่ ๑๐ ปี ก็ตาย บางคนก็มีอายุยืนยาว ๗๐-๑๒๐ ปีก็มี

ขจัดเหตุนั้นได้ แต่ก็อยู่ในเหตุอนิจจัง สืบเนื่องจากต้นตอแห่งเหตุนั้นๆให้ดำรงอยู่ได้




หมวด B เปลี่ยนแปลง คืนสู่ ความเป็นจริง ความแท้


๔. ชะตามีการเดินทาง มีการดำเนินไปตามวิบากกรรม มีการเปลี่ยนแปลง เช่น ระหว่างอายุ ๑๕ ปี กับ ๓๐ ปี จะสวยงามเหมือนเดิมไหม?

๔.๑ มีการแปรเปลี่ยนไปทางลบหรือทางบวก ชีวิตมีการเคลื่อนไหว ไม่ใช่คงที่ คงรูปเดิมตลอด

๔.๒ ชะตาทุกอย่างเป็นไปตามวิบากแห่งเหตุ

๔.๓ เหตุที่มาแห่งเหตุ ต้นตอแห่งเหตุ เช่น คนนี้เกิดมาแล้วไม่รู้จักดูแลรักษาร่างกาย เอาแต่กินยาบ้า กินเหล้า ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องอารมณ์ ทำให้ส่วนนี้เสียไป ร่างกายไม่ปกติ สมองไม่ปกติ


๕. ชรา แก่เฒ่า

๕.๑ คนแก่เฒ่า มีการเจ็บป่วย เปลี่ยนแปลงทางสรีระสังขาร เนื่องจากอายุ เนื่องจากธาตุ เกิดโรคร้าย เรามาทำให้เกิดโรคร้าย เกิดความเสียหายแก่สังขาร

๕.๒ เราได้สร้างเหตุอะไรที่ทำให้ร่างกายมันชราเร็ว เป็นโรคบ้าง หรือสร้างเหตุแห่งอายุยืนบ้าง

๕.๓ หาต้นตอแห่งเหตุมาจากไหน เช่น ทำไมต้องกินเหล้า เบียร์ ยาบ้า


๖. บั้นปลายชีวิตแห่งความเปลี่ยนแปลง

๖.๑ ถึงเวลานั้นสภาพร่างกาย อายุ ชะตา เหตุ วิบากที่ทำให้เราเปลี่ยนแปลง เราต้องเตรียมตัว เตรียมใจเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คือ การตาย แปรสภาพของสังขาร จากคนจะกลายเป็นผี

๖.๒ เนื่องจากอะไร สร้างเหตุใด บางคนทำไมเปลี่ยนแปลงเร็ว/ช้า ถ้าเปลี่ยนแปลงเร็ว/ช้าเกิดจากอะไร ถ้าเราสร้างกุศลก็ดี สร้างวิบากกรรมก็โดนหนัก

๖.๓ หาต้นตอของเหตุวิบาก เช่น ทำไมคนนี้เกิดมาชอบทำบาป รังแกสัตว์ เป็นเช่นนี้ไหม? ที่เป็นต้นเหตุทำให้ชะตาลำบาก บางคนหลังโก่ง เดินไม่ได้



หมวด C คืนสู่ธาตุ คืนสู่ธรรม



๗. มรณะ สิ้นลมหายใจ เปลี่ยนแปลงสังขาร หยุด นิ่ง

๗.๑ เหตุที่ตาย สังขารก็จะเน่า เป็นไปตามภาวะแห่งธรรม

๗.๒ ทำไมต้องเปลี่ยนแปลง ทำไมต้องไม่หายใจ ทำไมเนื้อต้องเน่า

๗.๓ หาต้นตอ เพราะเป็นไปตามกฎแห่งธรรม ว่าด้วยอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พอตายแล้วสังขารจะต้องเน่าไหม?



๘. เน่า สังขารเริ่มเปลี่ยนไปทางอสุภะไม่สวยงาม

๘.๑ อสุภะ ทำไมต้องเกิดการเน่า เนื่องจากกฎของธรรม ธรรมข้อไหน

๘.๒ กลายเป็นอสุภะไม่เหมือนเดิมสังขารไม่เหมือนเดิมต้องเปลี่ยนรูปร่าง เพราะขาดความสมดุล รักษาดำรงตนอยู่ไม่ได้

๘.๓ ทำไมต้องเป็นเช่นนั้น เพราะว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา


๙. ทุกอย่างคืนสู่ธรรม ผุพอง กลายเป็นธาตุ

๙.๑ แยกธาตุคืนสู่ธรรม กระดูกคืนสู่ธรรม

๙.๒ เหตุที่แยกธาตุตามกฎแห่งธรรม คือทุกอย่างมาจากธาตุ ธาตุก็จะคืนสู่ธาตุ

๙.๓ ทุกสิ่งที่มารวมกันเป็นสังขารนั่นคือธาตุ แท้จริงเป็นธาตุ ต้นตอเหตุมารวมกัน พอหมดเหตุก็แยกธาตุ




หมวด D จริงแท้แห่งธรรม


๑๐. ทุกอย่างไปตามกฎแห่งธรรม มองย้อนกลับไป ข้อที่ ๑-๙ ข้อที่ผ่านมา มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

๑๐.๑ เป็นไปตามกฎแห่งธรรม

พระไตรลักษณ์ คือ ลักษณะที่เหมือนกันทั้งหลายทั้งปวง ๓ อย่าง ซึ่งเราจะต้องยอมรับความจริงแห่งธรรมทั้ง ๓ นี้ หากผู้ใดไม่ยอมรับความจริงแห่งธรรมนี้ก็จะเกิดโทสะ ไม่พ้นจากความทุกข์ ดัง ๓ ข้อนี้คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

๑๐.๒ ทำไมจึงเรียกว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อธิบายแต่ละข้อ

๑) อนิจจัง คือ แปรเปลี่ยน ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องมีการแปรเปลี่ยน เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย

๒) ทุกขัง คือ ไม่คงทน หมายถึง ทนอยู่สภาพเหตุนั้นไม่ได้ หรือไม่คงทนต่อภาวะนั้นๆ ตลอดกาล

๓) อนัตตา คือ ไม่สามารถควบคุมได้ เราจึงยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ หมายถึง มีตัวตน แต่ยึดมั่นถือมั่นให้คงทนอย่างเดิมไม่ได้


๑๐.๓ พระไตรลักษณ์ต้นตอเนื่องมาจากเหตุไหน? ทั้งหมดมาจากกฎแห่งธรรม คือ อนัตตา มีตัวตนแต่ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ เพราะเหตุต้องเปลี่ยนแปลงไปตามภาวะธรรม เราจึงไม่สามารถไปบังคับให้ถาวรไม่ได้ รับรู้ได้แต่ให้ถาวรไม่ได้

รับรู้แต่อย่าถูกครอบงำ เช่น รับรู้ว่าเป็นบุหรี่ แต่อย่าให้บุหรี่ครอบงำเรา

ชื่นชมแต่อย่าหลงใหล เช่น คุณสวยเราชื่นชม แต่ไปหลงใหลไม่ได้


๑๑. เนื่องด้วยอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จึงเกิดเป็น "อัตตา"

อัตตาจะสลายไม่ได้ มีแต่แปรรูป และอัตตาสลายไป แต่อัตตายังคงอยู่

เนื่องด้วยเราไม่สามารถควบคุมได้ ต้องแปรเปลี่ยนไป แปรเปลี่ยนอย่างนี้เรียกว่า "สุญญตา" (ข้อนี้เหตุก็คือนำอัตตามาวิเคราะห์ จนกลายเป็นอนัตตา และเข้าสู่สุญญตา มันหมุนเวียนอยู่ เราควบคุมไม่ได้จึงเกิดภาวะสุญญตา) ทั้งข้อ ๑๐-๑๑ เป็นตถตา

๑๑.๑ ทำไมถึงเป็นสุญญตา เพราะว่าเป็นอนัตตาเราควบคุมไม่ได้ทั้งหมดนี้เรายึดมั่นถือมั่นเป็นถาวรไม่ได้ เพราะเหตุต้องแปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ
แล้วทำไมเหตุต้องแปรเปลี่ยนไปได้ เพราะว่า

-ในธรรมต้องเป็นวิถีแห่งธรรม

-เป็นไปตามกฎแห่งธรรม

-สิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงตลอดคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

๑๑.๒ ทั้งหมด ๒ ข้อที่เราเข้าใจนี้ ส่งผลให้เราเข้าใจคำว่าสุญญตา ทำให้เรารู้ซึ้งในสุญญตา เหตุมาจาก ข้อที่ ๑๒ คือ "ตถตา"

๑๑.๓ ทั้งหมดให้เรารู้ว่าเป็นสุญญตา

สุญญตา คือ ความว่าง แต่ไม่ใช่ความว่างเปล่า แต่ว่างจากการยึดมั่นถือมั่น ทุกสิ่งเราไม่สามารถยึดมั่นถือมั่นได้



๑๒. "ตถตา" เป็นเช่นนั้นเอง ปกติในธรรม

๑๒.๑ ธรรมย่อมวิถีแห่งธรรม มีตัวธรรมชาติของธรรม มีกฎของธรรม มีวิถีแห่งธรรม มีวินัยแห่งธรรม รวมทั้งหมด คือ ธรรมย่อมมีเหตุของธรรม

๑๒.๒ เพราะธรรมย่อมดำเนินไปตามวิถีแห่งธรรม เพราะเหตุว่า มีเหตุเช่นใดย่อมต้องมีผลเช่นนั้น

๑๒.๓ ทุกอย่างดำเนินไปตามวิถีแห่งธรรม ใครจะมาขัดขวางการดำเนินไปตามวิถีแห่งธรรมไม่ได้ เพราะว่าธรรมมีกฎของธรรม เดินไปตามปกติเช่นนี้แล จึงเป็นตถตา

เหตุเพราะดำเนินไปตามกฎแห่งธรรม จึงเป็นตถตา ผลจึงเป็นตถตาเป็นเช่นนั้นเอง



๑๒ ข้อถ้าไปภาวนาได้ เป็นพระอรหันต์

หมวด A ,หมวด B รวมกัน = เป็นสมมติบัญญัติ = เป็นความจริง
หมวด C ,หมวด D รวมกัน = เป็นปรมัตถ์บัญญัติ = เป็นความจริงแท้

รวมทั้ง หมวด A ,หมวด B, หมวด C ,หมวด D รวมเป็น = ความจริง + ความจริงแท้ = เข้าสู่ความเป็นตถตา ก็กลายเป็นพระอรหันต์

ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกมา
อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์   




 6,568 

  ความคิดเห็น


RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย