"ปราโมทย์" เสริมส่งบุญกุศล ชีวิตไม่อับเฉา


"ปราโมทย์" เสริมส่งบุญกุศล ชีวิตไม่อับเฉา

"ปราโมทย์" แปลว่า "ดำรงต่อเนื่องเสริมส่ง" คือ พอเราทำตรงนี้แล้วมีความสุข ก็จะเกิดการดำรง พอดำรงแล้ว มีแรงก็จะเสริมส่งให้เพิ่มพูนขึ้น


พจนานุกรม ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ กล่าวว่า "ปราโมทย์ [ปฺราโมด] น. ความบันเทิงใจ, ความปลื้มใจ, ปราโมช ก็ใช้. (ส. ปฺรโมทฺย; ป. ปาโมชฺช)."


ซึ่งปราโมทย์มีขั้นตอนจากพื้นฐานไปยังเบื้องสูง และจากโลกิยะเข้าสู่โลกุตตระ ดังนี้


ขั้นสามัญทั่วไป


ขั้นที่ ๑ ระลึกถึงอดีตที่ได้ทำความดี คือ ระลึกถึงอดีตที่เราเคยได้ทำบุญสร้างกุศล ทำคุณงามความดีต่างๆ แล้วเราเกิดปิติสุขดีใจ


ขั้นที่ ๒ ดำรงปราโมทย์ คือ เวลานี้เรามีความสุข เราจะทรงจำภาวะธรรมแห่งความปิติสุขนั้น ดำรงอยู่ เช่น เวลานี้เราทำความดีแล้วเราชื่นอกชื่นใจ มีปิติสุข ซึ่งพอเรามีความชื่นใจนี้ อุปสรรคก็จะไม่เกิด พอเรามีตัวดำรงปิติสุขในความดีที่เราได้ทำอยู่นั้น เราจะมีความโกรธไหม? เราก็ไม่มีความโกรธ เพราะจิตของเราผูกกับบุญกุศล ความดีที่เราได้ทำ ณ ตรงนั้น เวลานั้น


ขั้นที่ ๓ เพิ่มเติมบุญกุศล ความดี คือ ตั้งใจจะทำบุญสร้างกุศล คุณงามความดีสืบเนื่องต่อไปเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ เตรียมพร้อมที่จะขยายทำความดีเพิ่มเติม


ขั้นที่ ๔ แผ่คุณงามความดี คือ บอกกล่าวให้คนอื่นรับรู้ และทำตาม ให้คนอื่นสาธุกับความดีที่เราได้กระทำ หรือบอกกล่าวให้คนอื่นได้อนุโมทนาบุญกุศล ความดีในสิ่งที่เราได้ทำ และเราสาธุ อนุโมทนาบุญกุศล ความดีกับคนอื่นที่ได้ทำไว้


บางครั้งคนอื่นเขาทำบุญกุศล สร้างคุณงามความดี เราก็ต้องสาธุบุญกุศลของเขา ไม่ใช่ไปอิจฉาริษยาเขา ว่าเขาดีกว่าเราไม่ได้


ขั้นที่ ๕ รู้จักสะสม บ่มเพาะ ฟูมฟัก คือ ถ้าเรามีจิตใจเอื้อเฟื้อ แล้วถ้าเราจะบ่มเพาะจิตใจเอื้อเฟื้อ แล้วความเอื้อเฟื้อเราจะสูงขึ้นไหม? เราจักสะสม อบรม บ่มเพาะ ฟูมฟักให้ขึ้นมา เช่นเดียวกับพลังของพระแม่ธรณีก็คือ พลังแห่งการอุ้มชู ประคับประคอง หล่อเลี้ยง เลี้ยงดู บ่มเพาะ


ขัั้นที่ ๖ ปลูกฝัง คือ (ทำดีต่อเขา) ปลูกฝังให้คนอื่นได้ทำบุญกุศล สร้างความดีงาม


แต่ คำว่า "ปลูก" นี้ หมายถึง เราให้เมล็ดพันธุ์แก่เขาไปปลูก เรามีของให้แก่เขา แล้วให้เขาสืบต่อ เหมือนกับเราทำดีต่อเขา ให้เมล็ดพันธุ์ที่ดีต่อเขา เราไม่ได้จองว่าเขาจะต้องมาทำดีตอบแทนเรา


แต่ถ้าการเผยแพร่ หรือเผยแผ่ธรรมะนี้ก็ต้องรู้จักคนเผยแพร่ ถ้าเราไม่รู้จักคนเผยแพร่ เราอาจจะไม่นำสิ่งที่เขาเผยแพร่ไปทำก็ได้ เพราะการเผยแพร่นี้เราจะต้องรู้ว่ามาจากไหน เช่น เขาเผยแพร่ให้เรา เราจะต้องรู้จักผู้เผยแพร่


ขั้นปรมัตถ์


ขั้นที่ ๗ ปราโมทย์กับภาวะธรรม คือ ไม่ว่าเราทำดีต่อเขา หรือเขาทำดีต่อเรา ฯลฯ เราต้องปราโมทย์กับภาวะธรรมนี้


ขั้นที่ ๘ ต้องซึ้ง คือ ต้องรับความจริงกับภาวะธรรมนั้น ในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ต้องดำรงแห่งความพึงพอใจ ดำรงแห่งความปิติ ดำรงแห่งความเข้าใจตรงนี้ ซาบซึ้งตรงนี้ มีความดีใจกับตรงนี้


ขั้นที่ ๙ วาง คือ จะก้าว จะเดิน จะดำเนินแล้ว มีความปราโมทย์ที่จะดำเนิน จะหลุดแล้ว เราต้องวางปราโมทย์ ถ้าเรายังติดปราโมทย์อยู่เราจะเข้านิพพานไม่ได้ ยังเป็นปมอยู่ยังเข้าสู่นิพพานไม่ได้


ขั้นที่ ๑๐ จะเข้าสู่กระแสธรรม เหมือนกับคล้ายๆ เข้าสู่ภาวะดำรง ปราโมทย์ที่จะยอมรับความจริงแห่งภาวะธรรม มีการอยู่ในภาวะธรรม ให้เป็นไปตามภาวะธรรม มีแต่ความปราโมทย์ดำรงอยู่


ขั้นที่ ๑๑ ต้องวาง คือ ไม่ให้มีปม


แต่ขัั้นที่ ๙ "วาง" นี้แค่ละเฉยๆ แต่ข้อที่ ๑๑ นี้ ไม่ใช่ "ละ" แล้ว


เพราะถ้า "ละ" แสดงว่า "มี" แต่ขั้นนี้ต้องไม่มี ปราโมทย์มีความสุขอยู่กับคำว่า "ไม่มี"


ขั้นที่ ๑๒ แม้แต่ปราโมทย์ก็ยังต้องไม่มี เข้าสู่ตถตา ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเช่นนี้เอง มีก็เรื่องของมัน ไม่มีก็เรื่องของมัน


ตถตานี้มีก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่ ทุกอย่างปราโมทย์จะขาดไป หมายความว่า แม้แต่ปราโมทย์ยังต้องตัดขาด ถ้ายังมีปราโมทย์แสดงว่ายังมีปม ร้อยเข้ารูเข็มไม่ได้




เราจะมีความรู้สึกที่ว่า


"เราไม่ได้วางอะไรเลย แต่สิ่งนั้นก็คือวาง"


หรือ


"ฉันไม่ได้หยิบอะไรเลย แต่สิ่งนั้นก็คือหยิบ"


ทั้งหยิบทั้งวาง ก็คือสิ่งนั้นไม่มีอะไรเลย สิ่งนั้นก็จึงไม่มีอะไรเลย ทั้งหลายทั้งปวงนี่แหละ "ตถตา"


ปราโมทย์นำไปสู่ภูมิปัญญาตรงนัั้น


หากไม่มีปราโมทย์เป็นพื้นฐานจะไม่ถึงสุขตรงนั้น


ปราโมทย์เปรียบเสมือนเรือให้เราขึ้นฝั่ง แสดงว่าสิ่งที่เราทำบุญ สร้างกุศล ทำคุณงามความดีต่างๆ นั้นเพื่อให้เกิดปราโมทย์


ถ้าเราสามารถเข้าสู่ปราโมทย์ ก็จะเหมือนกับพระพุทธเจ้าทรงอุทานว่า


อะเนกะชาติสังสารัง สันธาวิสสัง อะนิพพิสัง
เมื่อเรายังไม่พบญาณ, ได้แล่นท่องเที่ยวไปในสงสารเป็นอเนกชาติ
คะหะการัง คะเวสันโต ทุกขา ชาติ ปุนัปปุนัง
แสวงหาอยู่ซึ่งนายช่างปลูกเรือน, คือตัณหาผู้สร้างภพ, การเกิดทุกคราวเป็นทุกข์ร่ำไป
คะหะการะกะ ทิฏโฐสิ ปุนะ เคหัง นะ กาหะสิ
นี่แน่ะนายช่างปลูกเรือน, เรารู้จักเจ้าเสียแล้ว, เจ้าจะทำเรือนให้เราไม่ได้อีกต่อไป
สัพพา เต ผาสุกา ภัคคา คะหะกูฏัง วิสังขะตัง
โครงเรือนทั้งหมดของเจ้าเราหักเสียแล้ว, ยอดเรือนเราก็รื้อเสียแล้ว
วิสังขาระคะตัง จิตตัง ตัณหานัง ขะยะมัชฌะคา
จิตของเราถึงแล้วซึ่งสภาพที่อะไรปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป, มันได้ถึงแล้วซึ่งความสิ้นไปแห่งตัณหา, คือถึงนิพพาน (พระไตรปิฎก คัมภีร์พระสุตตันตปิฎก อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ชราวรรคที่ ๑๑ ๘. เรื่องปฐมโพธิกาล [๑๒๕])


ปราโมทย์จะทำให้เราดำรงความดีอยู่ได้ ดำรงสิ่งที่เป็นบุญกุศลอยู่ได้ ถ้าไม่เช่นนั้นจะถูกมารแทรกแล้วหายไป


ปราโมทย์ก็คือยินดีที่มีดีอยู่ตรงนี้ บางครั้งเรามีดีอยู่ตรงนี้ เราชักจะไม่ยินดีแล้ว พอเราชักไม่ยินดีก็จะไม่ทำแล้ว ถ้าเรายินดีกับสิ่งที่เรายินดี เราจะทำอยู่เรื่อยๆ โดยอัตโนมัติ นี่คือปราโมทย์ทำให้เรายินดีอยู่เรื่อย จึงเกิดภาวะยินดีต่อเนื่อง จะทำให้เราปฏิบัติต่อเนื่องได้


ปราโมทย์จะเสริมให้ตัวตบะแข็งแรง เพราะตบะต้องอาศัยปราโมทย์ ถ้าหากว่ายังไม่พอใจกับสิ่งตรงนี้แล้วจะกระทำทำไม? จะดำรงทำไม? ภาษาชาวบ้านจะบอกว่า มีกำลังใจ มีพละ มีกำลังที่จะทำ เหมือนกับว่าเราจะหยิบอะไรก็ต้องมีแรง ใจเราอยากหยิบสิ่งของแต่ไม่มีแรงเราก็หยิบอะไรไม่ได้หรอก


ปราโมทย์เปรียบเสมือนแผ่นดิน เป็นภูมิพละ คือ มีกำลัง


สมาธิก็เป็นสายปราโมทย์ เป็นพละ เป็นกำลัง


เราจะมีปิติปราโมทย์เราจะต้องมีสมาธิ เรามีปราโมทย์เรามีสมาธิ นี่จะย้อนกลับหลังแล้ว


เราทำสมาธิเพื่อให้เกิดปราโมทย์ แต่ปราโมทย์ก็ทำให้ดำรงรักษาสมาธิ เกื้อหนุนกัน รักษาสมาธิทำให้สมาธิมีมากขึ้น พอสมาธิมีมากขึ้นก็จะมาเกื้อหนุนปิติปราโมทย์ คล้ายๆกับเป็นแม่แรงหมุนเป็นวงกลมขึ้นสูงไปเรื่อยๆ


ถ้าเราไม่มีปราโมทย์เราก็ไม่อยากทำสมาธิ เพราะสมาธิมันหายไป เป็นสมาธิที่ไม่ต่อเนื่อง สมาธิไม่เจริญ ไม่เติบโตขึ้นมา


แต่ถ้าเรามีปราโมทย์สมาธิก็จะต่อเนื่อง สมาธิเจริญเติบโต ทำให้เกิดปิติปราโมทย์มากขึ้นอีก พอปิติปราโมทย์ก็มากขึ้น ก็ทำให้สมาธิมากขึ้น


สิ่งหนึ่งลดถอย อีกอันหนึ่งก็ลดถอยแน่นอน


ฉะนั้น ปราโมทย์เป็นตัวดำรงรักษาทำให้เกิดไปเรื่อยๆ


ถ้าอย่างนั้น พลังขององค์พ่อวิษณุนารายณ์ เป็นพลังแห่งการดำรงรักษาอยู่ ต้องมีปราโมทย์ ถ้าหากว่าท่านไม่มีปราโมทย์ท่านจะไปช่วยเหลือเทวดาทำไม? ก็เบื่อ? แต่เพราะท่านฯ มีปราโมทย์ก็ยินดีที่จะทำ


ปราโมทย์เป็นตัวหนึ่งที่จะทำให้เกิดความต่อเนื่อง


ถ้าเราประกอบอาชีพค้าขาย หรือเป็นข้าราชการ ฯลฯ ถ้าเราไม่ดีใจกับอาชีพของเรา เราก็จะเบื่อมาก เช่น ถ้าเราขายน้ำปั่น ถ้าเราไม่ดีใจ ไม่ปราโมทย์เราก็จะเบื่อที่จะทำ แต่ถ้าเราโมทย์ พรุ่งนี้คงตื่นเต้น หรือได้เงินมากกว่านี้ เราก็อยากจะไปขายน้ำปั่นต่อ มีคนมาสั่งน้ำปั่น เราก็จะดีใจ ก็จะทำให้เรามีสมาธิในการทำน้ำปั่น แต่ถ้าเราทำงานแล้วขาดปราโมทย์ เราก็จะไม่กระตือรือร้น เชื่องซึม


ถ้าเราขายน้ำเราก็จะได้อานิสงส์ มีผลงาน ถ้าไม่มีผลงานก็จะไม่เกิดปราโมทย์ ไม่มีกำลังใจ


พอเราทำสิ่งใดแล้วเกิดอานิสงส์ก็จะส่งผลให้เกิดปิติ แล้วก็ส่งผลไปที่ปราโมทย์


แล้วปราโมทย์กับปัสสัทธิเหมือนกันไหม? ก็คือ ถ้าหากว่าเรามีปราโมทย์ทัั้ง ๑๒ ข้อ ก็ย่อมเกิดความปัสสัทธิ คือ ความสงบใจ พอสงบแล้วก็จะวาง ถ้าเราไม่ปัสสัทธิ เราจะวางได้อย่างไร มันผ่านไม่ได้ เพราะมีปม


เพราะปัสสัทธิจะเป็นตัวคลายปม ก็คือ "วาง" ถึงจะผ่านรูเข็มได้


ฉะนั้น สุดท้ายก็ต้องมีปัสสัทธิ คือ ความสงบใจ


พอเราสงบใจ จึงเห็นเป็นตถตา เป็นเช่นนั้นเอง


เราจะต้องเข้าสู่ภาวะปัสสัทธิถึงจะเห็นถึงตถตา พบตถตาได้ เป็นสุขแห่งแท้จริง คือ นิพพาน


นิพพาน คือ มีปัญญาเข้าใจถึงเหตุและผลแล้ว และไม่ถูกเหนี่ยวรั้งอยู่กับเหตุและผล คือ ไม่ถูกควบคุม ซึ่งหมายถึง ไม่ถูกเหตุและผลนัั้นมาควบคุมครอบงำ


พระพุทธเจ้าเข้าใจแล้วว่า นายช่างสร้างเรือนจะสร้างเรือน พอท่านเข้าใจแล้ว จึงไม่ถูกเหตุการณ์สร้างเรือนครอบงำ ท่านจึงไม่ไปวุ่นวายกับช่างสร้างเรือน


ถ้าเราไปคาดหวัง แล้วไปจองหวัง เราจะเป็นปรปักษ์อยู่ตลอด แน่นอนว่าจะไปคาดหวังตรงกัน แต่...!! เราหวัง อย่าไปคาดหวังว่าจะต้องเป็นอย่างที่เราหวัง ถ้าเราจองอย่างที่เราหวัง เราก็จะเกิดทุกข์ เดือดร้อน


สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้กล่าวเกี่ยวกับปราโมทย์ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ดังนี้


ธรรมสมาธิ ๕ (ธรรมที่ทำให้เกิดความมั่นสนิทในธรรม เกิดความมั่นใจในการปฏิบัติธรรมถูกต้อง กำจัดความข้องใจสงสัยเสียได้ เมื่อเกิดธรรมสมาธิ คือความมั่นสนิทในธรรม ก็จะเกิดจิตตสมาธิ คือความตั้งมั่นของจิต - concentration of the Dhamma; virtues making for firmness in the Dhamma)


๑. ปราโมทย์ (ความชื่นบานใจ ร่าเริงสดใส - cheerfulness; gladness; joy)


๒. ปีติ (ความอิ่มใจ, ความปลื้มใจ - rapture; elation)


๓. ปัสสัทธิ (ความสงบเย็นกายใจ, ความผ่อนคลายรื่นสบาย - tranquillity; reaxedness)


๔. สุข (ความรื่นใจไร้ความข้องขัด - happiness)


๕. สมาธิ (ความสงบอยู่ตัวมั่นสนิทของจิตใจ ไม่มีสิ่งรบกวนเร้าระคาย - concentration)


ธรรม หรือคุณสมบัติ ๕ ประการนี้ ตรัสไว้ทั่วไปมากมาย เมื่อทรงแสดงการปฏิบัติธรรมที่ก้าวมาถึงขั้นเกิดความสำเร็จชัดเจน ต่อจากนี้ ผู้ปฏิบัติจะเดินหน้าไปสู่การบรรลุผลของสมถะ (คือได้ฌาน) หรือวิปัสสนา แล้วแต่กรณี ดังนั้น จึงใช้เป็นเครื่องวัดผลการปฏิบัติขั้นตอนในระหว่างได้ดี และเป็นธรรมหรือคุณสมบัติสำคัญของจิตใจที่ทุกคนควรทำให้เกิดมีอยู่เสมอ


พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตโต ปาโมชฺชพหุโล ทุกฺขสฺสนฺตํ กริสฺสติ


แปลว่า ภิกษุปฏิบัติถูกต้องแล้ว มากด้วยปราโมทย์ มีจิตใจร่าเริงเบิกบานอยู่เสมอ จักทำทุกข์ให้หมดสิ้นไป


^_^ ..._/_... ^_^
ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกกล่าวมา

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต   

7,683







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย