การเข้าสู่ "พุทธปัญญา" อันสูงสุด
การเข้าสู่ "พุทธปัญญา" อันสูงสุด
คำว่า "โอม (ॐ)" เสียงนี้นั้นมาได้ยังไง? เสียงนี้นั้นเป็นปราณ (คี่ : 氣) ทุกอย่างจะต้องเกิดจากปราณ โลกก็ต้องมีปราณ (คี่ : 氣) จักรวาลก็ต้องมีปราณ (คี่ : 氣) เสียงแห่งปราณนั้นคือ เสียงโอม (ॐ) คือ คุกรุ่น
ถ้าเราไปต้มผักหรือหุงข้าวจะมีคุกรุ่น ในธรรมชาติจะมีการคุกรุ่น เสียงแห่งการรวมคุกรุ่น เสียงนั้นแหละคือ โอม (ॐ) เสียงโอมจึงก่อเกิดแห่งสรรพสิ่งทั้งหลาย เพราะว่าปราณนั้นคุกรุ่นแล้วจะไปก่อเกิดเป็นอะไรต่างๆ
คำว่า "โอม" นี้เป็นคำประกอบด้วยเสียง ๓ เสียงคือ "มะ" "อะ" "อุ" ซึ่งรวมกันเป็นหนึ่งเดียว และเป็นเสียงพยางค์ท้ายของมหาเทพทั้ัง ๓ ของศาสนาพราหมณ์ ดังนี้
"อะ" (अ) มาจากชื่อของ พ่อศิวะ (शिव : Shiva)
"อุ" (उ) มาจากชื่อของ พ่อวิษณุนารายณ์ (विष्णु नारायण : Vishnu Narayana)
"มะ" (म) มาจากชื่อของ พ่อพรหม (ब्रह्मन् : Brahma)
เราจะต้องเข้าถึงตัวในของ "โอม"
อย่างเช่น การพูดเสียง โอม (ॐ) จะต้องเอาลมปราณ (คี่ : 氣) เข้าข้างใน คือเอาลมปราณสูดเข้าข้างในสุด นั่นแหละจึงเป็นคำที่มาที่ว่า "หาแม่" แต่ไม่ใช่ว่าเตลิดไปหาคนอื่น เราไปหาแม่ (บ่อเก็ก :无极) เมื่อเรารู้จักแม่ ตัวลูกก็รู้จัก
ฤาษีต่างๆ จะต้องเข้าไปเป็นหนึ่งเดียวกับพ่อพรหม พ่อศิวะ พ่อวิษณุนารายณ์ ไม่ใช่ว่าจะต้องออกไปข้างนอก ถ้าออกไปข้างนอกก็เป็นการเตลิดไปแล้ว ถ้าเราสำนึกผิดไม่เตลิดออกไป แล้วนำพาจิตวิญญาณเข้าไปเป็นหนึ่งเดียวกับโอม
จิตของเราก็เหมือนกัน ก็จะเตลิดฟุ้งซ่าน เราต้องกลับมาเข้าสู่สมาธิ ถ้าใครเข้าใจตรงนี้จะเข้าสมาธิได้ง่ายมากเลย คนไม่รู้จึงปฏิบัติผิดอยู่เรื่อยๆ เพราะว่าเตลิด
สมมติว่า เรามีปราณ ความคิดก็จะดำรงอยู่ในปราณนั้น ไม่มีทางเตลิด เพราะว่า พบสิ่งที่ยึดเหนี่ยว ดึงดูไว้แล้ว เหตุที่ทีแรกทำไมเราถึงเตลิด เพราะว่าเราอหังการ สลัด (ทิ้งแม่)
แล้วเหตุการณ์ที่ว่า เรานั่งสมาธิแล้วไปเห็นนรกสวรรค์ เป็นเพราะว่าไปได้จริงๆ หรือคิดไปเอง?
ตอบ เป็นเพราะว่าเราสลัด แต่ไปด้วยจิต ไปนรกสวรรค์ได้ไปจริงๆ แต่ไม่จริงแท้ ก็จะเป็นขั้นๆ ออกมา
พระพุทธเจ้าพยายามชี้ทางคนกลับบ้าน เพราะบ้านนั้นถึงจะสันติโดยแท้จริง
แล้วอะไรที่ผลักดันให้เราออกมาจากบ้าน ก็เพราะว่า "อัตตา" "ตัณหา" "กิเลส" เช่น เห็นผีเสื้อบิน แล้วอยากบินตามผีเสื้อไป ทำไมอยากตามผีเสื้อไป เพราะตัณหา กิเลส เพื่อสนองตัวตน
ตัวสติสัมปชัญญะ จะมาควบคุม อัตตา ตัณหา กิเลส
ตัวปัญญาที่จะต้องให้รู้ว่าเรามาจากไหน มีอะไร เป็นอะไร คือ ปัญญาอนัตตา เป็นตัวที่จะมาคุมสัมปชัญญะ ควบคุมอัตตา ไม่ให้อัตตาเหิมเกริมเกินไป จึงเกิดมีความสุข เราก็จะรู้จักเส้นทาง
ตัวเรามาจากไหน?
เรามาจากมาจากบ่อเก็ก (บ่อเก็ก (无极 : wú jí) มาจากตถตาในธรรม เป็นปัญญาพุทธะ ที่นำเข้าไปสู่ภาวะอนัตตา ถ้าเราเข้าใจอนัตตา ตัวอัตตาของเราก็จะไม่เพิ่มสูงขึ้น ไม่รุนแรง ปัญญาอนัตตา เป็นตัวมาควบคุมอัตตา ไม่เห็นความสำคัญแห่งอัตตา
แล้วอะไรที่ทำให้เกิดปัญญาอนัตตา คือ ปัญญาที่เข้าถึงธรรม บรรลุธรรม เข้าไปเป็นหนึ่งเดียวกับธรรม เรียกว่า “ปัญญาแห่งตถตา” คือ ทุกอย่างมันเป็นไปตามวิถีแห่งธรรมเช่นนั้น เราไม่สามารถที่จะไปควบคุมได้ ฉะนั้น ถ้าเรามีอัตตาแสดงว่าเราหลง จะทำให้เราเกิดอหังการ ควบคุมได้ คนปัจจุบันเข้าใจผิดพยายามจะไปควบคุมฟ้า
ทั้งหมดนี้เป็นปัญญาของพระพุทธเจ้า
ปัญญาอนัตตา จะเป็นตัวมาแก้อัตตา คุมอัตตา ไม่ให้อัตตาสูงเกินไป ไม่ให้ความสำคัญเกินไป ไม่ให้รุนแรงเกินไป
ปัญญาอนัตตา ปัญญาอัตตา และปัญญาดูแลตัณหากิเลส รวมกันแล้วเป็นพุทธปัญญา
ไม่ว่าคริสต์ อิสลาม พุทธ ต่างก็เข้าถึงธรรมตัวเดียวกัน เพียงแต่ศาสนาไหนก็ต่างไปตั้งชื่อของตนเอง ตั้งยี่ห้อตัวเอง (Brand)
“ปัญญากิเลส” คือ ถ้าเราไม่มีปัญญาเราก็ไม่สามารถควบคุมกิเลสได้ แล้วเราไม่รู้จะเอาอะไรไปบวกกับกิเลส ก็จะกลายเป็นกิเลสมิจฉาตลอด ถ้าเรามีปัญญาจะใช้กิเลส เราจะใช้ปัญญาที่ไม่เป็นมิจฉาได้ เช่น ตอนนี้เราอยากได้สิ่งของอันนี้ เรามีปัญญากิเลสขยันไปหาเงินมาแล้วมาซื้อสิ่งของนี้ได้ แต่ถ้าเป็นมิจฉาเราก็จะเอาแต่แย่งชิง ถ้าเราไม่มีปัญญาแห่งกิเลสก็จะจบมิจฉาทันที
กิเลส เปรียบเสมือนมีด ๑ ด้าม เราจะเอาไปใช้ยังไงต่างหาก เหมือนกับเรามีปากกา ๑ ด้าม เราจะเขียนด่าคนก็ได้ หรือจะเขียนส่งเสริมคนก็ได้ เราใช้ปากกาฆ่าคนก็ยังได้เลย
คุณค่าของปากกา ไม่ใช่อยู่ที่ตัวปากกา แต่อยู่ที่ปัญญาจะใช้ปากกา
อยู่ที่เราเห็นความสำคัญ ประโยชน์ อานิสงส์ของปากกาไหม?
ปากกาไม่ใช่ไปก่อประโยชน์ แต่เราเอาปากกาไปก่อประโยชน์ ถ้าเราไม่มีปัญญาแล้วเราจะไปก่อประโยชน์ได้อย่างไร? ฉะนั้น เราจะต้องเข้าใจว่าเราต้องมีปัญญาแห่งกิเลส
“พุทธปัญญา” ต้องมีปัญญาอนัตตา ปัญญาอัตตา ปัญญาตัณหากิเลส ต้องมาเป็นสรณะรวมกัน เกิดสัปปายะ จึงเกิดรวมมาเป็นพุทธปัญญา
ฉะนั้นสรุป พระพุทธเจ้ามีปัญญาตรงไหน ก็คือ ปัญญาตัณหากิเลส ปัญญาอัตตา ปัญญาอนัตตา จึงทำให้พระพุทธเจ้าเป็นสัพพัญญู ในการรู้สรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในธรรมที่ทำให้เป็นสัพพัญญูนั้น รู้ใน ๓ อย่างดังนี้
๑) รู้เหตุที่เป็นมา
๒) รู้เหตุที่เป็นอยู่
๓) รู้เหตุที่จะเป็นไป
คำว่า “สัพพัญญู” ไม่ว่าสิ่งไหนทั้งปวงจะหนีออกจาก ๓ หลักการข้างตนนี้ไม่ได้
เราต้องรู้เหตุที่เป็นมา เป็นอยู่ เป็นไป เราถึงจะกลับบ้านถูก เราต้องรู้ว่าอยู่ยังไง? เราถึงจะมีสิทธิ์กลับบ้าน ไม่งั้นเราก็ต้องตายก่อนแล้ว เราต้องรู้ว่าจะไปไหน? รู้ว่าถูกหรือผิด เราถึงจะกลับบ้านได้
เราต้องมาสร้างบุญกุศล เป็นเสบียงบุญ เสบียงกุศล เพื่อเดินกลับบ้าน (บ่อเก็ก (无极 : wú jí) ถ้าไม่มีเสบียงบุญกุศล เราจะตายกลางทางได้ เราอยู่ไม่เป็นเราก็ตาย เราออกมาแล้วเราก็ต้องอยู่ให้เป็น เราถึงจะกลับบ้าน (บ่อเก็ก (无极 : wú jí)ได้ ถ้าอยู่ไม่เป็นก็ใหลลึกลงนรก กลับบ้านไม่ได้ หลงทาง นี่แหละเสบียงบุญกุศลเก็บไว้กินกลางทางที่จะกลับบ้าน
บางคนบอกว่าจะไม่เอาอะไรต่างๆ ไม่เอาตัวตน ไม่ทำบุญ ไม่ทำกุศล ไม่เอาบุญ ไม่เอากุศล เราก็จะตายระหว่างทางก่อนที่จะถึงบ้าน
เหมือนกับพระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้ ก็ได้บำเพ็ญทุกรกิริยา ทรมานตนเอง ไม่กินข้าว อดอาหาร ว่าหนทางเช่นนั้นไม่ถูกต้อง เราต้องกินข้าวก่อน กินข้าวแล้วค่อยไปหาทางกลับบ้าน
เราอยากกลับบ้าน เกิดสันติสุข เราต้องหมั่นบริหารกรรม แก้ไขกรรม พัฒนากรรมของตนเอง แต่ถ้าไม่ไปสร้างบุญกุศล เราก็ไม่มีสิทธิ์ แล้วเราจะกลับบ้านถูกได้อย่างไร
เสบียงบุญ ก็คือ เป็นเหตุและผลที่จะลดละความทุกข์
เสบียงกุศล ก็คือ เป็นเหตุและผลที่จะบรรลุนิพพาน
ถ้าเราไม่เก็บบุญกุศล แล้วเราจะมีปัญญาตรงไหน?
เราไม่เรียน เราก็ไม่รู้ แล้วเรามาบอกว่าเรารู้ เราจะเป็นสัพพัญญู ถ้าเราไม่เรียนแล้วบอกว่าเราเป็นสัพพัญญูได้อย่างไร? มานั่งหลับตาแล้วพุทโธ พองหนอ ยุบหนอ สัมมาอะระหัง แล้วเราก็ได้ปัญญาญาณแล้ว อย่างนี้ไม่ใช่
นั่งสมาธิแล้วจะเกิดปัญญา งมงายสุดๆ
เราได้แต่รู้ แต่ไม่รู้ว่ามาจากไหน ทำอะไรได้ แล้วจะก่อเกิดประโยชน์ก็ไม่ได้
เราได้ปากกามา ๑ ด้าม เราไม่รู้ว่าจะใช้ประโยชน์ยังไง แล้วจะไปก่อเกิดประโยชน์ตรงไหน รู้แต่ว่า ปากกา อย่างเดียว
เราต้องหมั่นสะสมบุญกุศล จึงจะก่อเกิดภูมิ เช่น ภูมิ ป.๑, ภูมิ ป.๒, ภูมิ ป.๓ ฯลฯ ถ้าเราไม่สะสมภูมิเราก็ขึ้นภูมิไม่ได้ เหมือนกับหลวงพ่อชา สุภัทโท ท่านบอกว่า “ถ้าคนไปนั่งหลับตาแล้วเกิดปัญญา ถ้าอย่างนั้นคนตาบอดก็เป็นพระอรหันต์นะสิ”
^_^ ..._/_... ^_^
ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกกล่าวมา
อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต