ถวาย "ห่มผ้าพระธาตุ" เจดีย์ เป็นมหาบุญกุศลยิ่งใหญ่ ได้อย่างไร?


<
ถวาย "ห่มผ้าพระธาตุ" เจดีย์ เป็นมหาบุญกุศลยิ่งใหญ่ ได้อย่างไร?

การทำบุญถวายห่มผ้าพระธาตุ เป็นบุญกุศลที่ใหญ่ เราจะต้องตั้งฐานจิตเพื่อสืบทอดพระศาสนา เจริญบุญกุศลในธรรม จรรโลงคุณงามความดี ผ้าห่มพระธาตุเป็นสื่อนำจิตของเราให้ตั้งปณิธานเพื่อที่จะทำตามเจตนารมณ์ที่ตั้งฐานจิตไว้ ๓ ประการข้างต้นนี้ แล้วทำไมการห่มผ้าพระธาตุเจดีย์จึงจัดว่าเป็นมหาบุญกุศลที่ใหญ่ ด้วยเหตุผลดังนี้

๑.พระธาตุเจดีย์เป็นตัวแทนสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า

๒. พระธาตุเจดีย์เป็นสัญลักษณ์แห่งคุณงามความดี เป็นนิมิตหมายเครื่องเตือนใจ ละชั่วทำดี

เมื่อเรานำผ้าห่มพระธาตุมาถวายห่มพระเจดีย์ เป็นการรักษาให้พระเจดีย์ยังคงอยู่สืบทอดต่อไป และเพื่อแสดงปณิธานเจตนารมณ์ ที่จะยึดมั่นในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เท่ากับยังพระศาสนาให้ยั่งยืนตลอดกาล ก็เปรียบเสมือนเราได้ทำบุญกับพระพุทธเจ้าและเหล่าผู้คน ได้ทำความดี ละเว้นความชั่ว ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ทำให้โลกนี้เกิดปลอดภัย พบสันติสุข และทั้ง ๓ ประการมีดังนี้

การตั้งฐานจิตเจตนาในการทำบุญสร้างกุศล

ในการทำบุญสร้างกุศลเราจะต้องตั้งฐานจิตเจตนาของเราให้ถูกต้อง หลักใหญ่ๆ คือ เราทำบุญสร้างกุศลเพื่อสืบทอดพระศาสนา เจริญบุญกุศลในธรรม จรรโลงคุณงามความดี มีดังนี้

๑. สืบทอดพระศาสนา คือ เราตั้งใจที่จะทำให้พระศาสนามีอายุยืนยาวขึ้น ด้วยการปกป้อง คุ้มครอง ทนุบำรุงรักษาพระศาสนา

๑.๑ เอื้อ-เกื้อ-กันผู้ปฏิบัติธรรม คือ ให้ถวายทานกับบุคคลผู้ประพฤติวัตรปฏิบัติธรรม เอื้อเฟื้อ เกื้อกูล ปกป้อง ส่งเสริมผู้ประพฤติวัตรปฏิบัติธรรม เป็นแนวทางให้คนอื่นได้ปฏิบัติตาม นี่เป็นการสืบทอดพระศาสนาอย่างหนึ่ง เพราะถ้าไม่มีท่านประพฤติวัตรปฏิบัติธรรม พระศาสนาก็จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ เช่น พระภิกษุสงฆ์ ผู้บำเพ็ญพรต ถ้าไม่มีท่านก็จะไม่มีใครนำพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาสั่งสอน มาชี้แจง ให้บุคคลทั่วไปได้เข้าใจและปฏิบัติได้

การทำบุญกับผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น เราเรียกว่า สังฆทาน "สังฆทาน" แปลว่า การให้ทานแก่ผู้ปฏิบัติธรรมได้ดำรงอยู่ อยู่เพื่อปฏิบัติธรรมะ เป็นแนวทางสั่งสอน ชี้แจงให้บุคคลอื่นได้ปฏิบัติตาม การทำสังฆทานมี ด้วยกัน ๒ อย่าง

๑) ให้ทานโดยเจาะจงบุคคล คือ เราให้ทานของเราเจาะจงพระรูปนั้น พระรูปนี้ บุคคลนั้น บุคคลนี้ เป็นต้น

๒) ให้ทานโดยไม่เจาะจงบุคคล คือ เราให้ทานแก่ผู้ปฏิบัติธรรมทั่วๆ ไป โดยไม่เจาะจงบุคคล

การทำบุญโดยเจาะจงกับไม่เจาะจงบุคคลอันไหนจะได้บุญมากกว่ากัน สิ่งเหล่านี้ต้องพิจารณาว่า เราทำบุญแล้วผู้รับไปทำให้เกิดอานิสงส์ เกิดประโยชน์ต่อบุคคล สังคมมากน้อยเพียงใด

จะได้บุญมากหรือบุญน้อยขึ้นอยู่กับว่า บุคคลที่เราให้ทานนั้นเขาไปต่อยอดแห่งบุญกุศลให้เกิดอานิสงส์ มากน้อยเพียงใด

การที่เราจะทำบุญโดยเจาะจงหรือไม่เจาะจง ก็ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลนั้นจะไปทำประโยชน์มากน้อยเพียงใด แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุด คือ การตั้งฐานจิตของเราให้มั่นคงในเหตุดีที่เราได้กระทำ ย่อมได้รับผลดีเป็นเช่นนั้น

แต่การทำบุญโดยไม่เจาะจงนั้น เป็นการให้เราฝึกไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นในบุคคลตัวตน เราต้องยึดมั่นในธรรม ไม่ติดรูป ไม่ติดบุคคล

๑.๒ ทนุบำรุง สิ่งก่อสร้าง เสนาสนะ

๑.๓ สร้างสิ่งแวดล้อม เอื้ออำนวยการปฏิบัติธรรม เจริญธรรม

๒. เจริญบุญกุศลในธรรม คือ เราต้องการให้บุญกุศล คุณธรรมต่างๆ ความดีงามต่างๆ เกิดขึ้นในจิตใจของเราให้มีมากขึ้น พัฒนา เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป เราจะเจริญได้ด้วยบุญกุศล เราต้องหมั่นปฏิบัติธรรมะ หมั่นเจริญภาวนาบ่อยๆ หมั่นทำบ่อยๆ หมั่นทำดีบ่อยๆ เราจึงจะเจริญบุญกุศลในธรรม ในการภาวนานั้นมี ๔ อย่าง ได้แก่

๒.๑ กายภาวนา คือ หมั่นเจริญฝึกหัด อบรมกายบ่อยๆ คือ พิจารณากรรม คือ การกระทำของเราทั้งทางกาย วาจา และใจ

๒.๒ สีลภาวนา คือ หมั่นเจริญปฏิบัติเป็นปกติเป็นไปตามธรรม ไม่เบียดเบียน ถูกต้องในธรรม อยู่ในระเบียบวินัย

๒.๓ จิตภาวนา คือ หมั่นฝึกเจริญพัฒนาจิต อบรมจิต กำหนดจิต ตรวจสอบจิตของเราจะทำสิ่งใดก็ให้มีสติสัมปชัญญะ

๒.๔ ปัญญาภาวนา คือ หมั่นฝึกขจัดอวิชชา ความไม่รู้ ทำให้เกิดวิชชาปัญญาต่างๆ

๓. จรรโลงคุณงามความดี คือ เราทำดีแล้วเราแผ่ให้คนอื่นด้วย ขอแยกออกเป็น ๒ ประเด็นใหญ่ คือ

๓.๑ จรรโลงคุณงามความดีแผ่ให้คนอื่น คือ เมื่อเราได้ห่มผ้าพระธาตุแล้ว ใครคนไหนมาเห็นผ้าที่เราห่มพระธาตุเจดีย์ เขาก็อยากที่จะมาห่มผ้าพระธาตุเจดีย์ด้วย อยากที่จะมาทำคุณงามความดี อย่างนี้เราเป็นการเผยแพร่ธรรมะ

๓.๒ จรรโลงคุณงามความดีแผ่ให้ตนเอง คือ เราสาธุปิติยินดีในเหตุคุณงามความดีที่เราได้กระทำ ด้วยการห่มผ้าพระธาตุเจดีย์ และบอกกล่าว ชักชวนคนอื่นได้ร่วมทำบุญกุศลด้วย และเราจะทำบุญกุศลอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ

เหตุใดเราจึงถวายผ้าห่มพระธาตุเจดีย์

การห่มผ้าพระธาตุเจดีย์ กับการห่มผ้าพระพุทธรูปมันเหมือนกันหรือต่างกันยังไง?

การห่มผ้าพระธาตุเจดีย์กับห่มผ้าพระพุทธรูปมีความหมาย อานิสงส์ และประโยชน์แตกต่างกัน

การห่มผ้าพระพุทธรูป หากว่าจะพูดเข้าใจง่ายๆ ก็คือ กลัวว่าท่านหนาว หรือร้อน จึงไปห่มผ้าให้กับพระพุทธรูป

แต่การห่มผ้าพระธาตุเจดีย์ จะมีใจความของการห่มอยู่ ๓ อย่าง คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ฉะนั้น การห่มผ้าพระธาตุเจดีย์จึงได้รับอานิสงส์ที่มากกว่า เพราะว่าครบเครื่องกว่า เป็นเพราะว่าดังนี้

๑. ในพระธาตุเจดีย์ก็มีพระบรมสารีริกธาตุ (กระดูก) ของพระพุทธเจ้าอยู่ ก็ถือว่าเป็นพระพุทธ และ

๒. ในพระธาตุเจดีย์ก็มีพระธรรมอยู่ในพระธาตุ ถ้าไม่มีพระธรรมพระธาตุเจดีย์ก็ดำรงอยู่ไม่ได้

๓. พระธาตุเจดีย์ก็มีพระสงฆ์เป็นผู้นำการก่อสร้าง เป็นผู้ดูแล

นี่แหละมีครบ ถ้ามีไม่ครบก็ไม่มีพระธาตุเจดีย์ แต่ถ้าหากมีคนแย้งว่า พระพุทธรูปก็มีพระสงฆ์เป็นผู้ดูแลอยู่นี่?

ด้วยเหตุที่ว่าพระพุทธรูปเป็นตัวแทนเฉพาะพระพุทธเจ้าเท่านั้น มีแค่หนึ่งเดียว แต่พระธาตุเจดีย์เป็นตัวแทนทั้ง ๓ อย่าง คือทั้งพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ฉะนั้นคนเราต้องเข้าใจ "นิมิตหมาย" "ความหมาย" "ปริศนาธรรม" ของสิ่งนั้นๆ

เจตนาในการถวายผ้าห่มพระพุทธรูปคืออะไร?

เจตนาที่ถวายผ้าห่มพระพุทธรูป คือ ถวายด้วยความศรัทธา ด้วยความนับถือ ด้วยความรักของเราที่มีต่อพระพุทธเจ้า นี่แหละเจตนาจึงต่ำกว่าถวายผ้าห่มพระธาตุเจดีย์

แต่การห่มผ้าพระธาตุเจดีย์ เป็นเจตนาที่เราจะส่งเสริมให้สิ่งนี้ (พระธาตุเจดีย์) ได้อยู่คงทนต่อไป สืบเนื่องต่อไป ชั่วกัลปาวสาน

การห่มผ้าพระธาตุเจดีย์เป็นนิมิตแสดงออกถึงเราหวงแหน รู้คุณค่า หรือมีเจตนาอยากจะดำรงรักษาให้คงอยู่ ปริศนาธรรมความหมายจึงแตกต่างกัน ที่เจตนารมณ์ดำรงรักษาให้อยู่ อยู่ให้ครบทั้ง ๓ อย่าง คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

คำว่า "พระพุทธ" เราอย่าไปแยกความหมายว่าเป็นเฉพาะพระพุทธเจ้าเท่านั้น ถ้าตีความหมายอย่างนี้จะแคบเกินไป เอาแค่พระพุทธเจ้าที่ผ่านมามีมากแล้วหลายพระองค์ ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ พุทธวังสะ จริยาปิฎก กล่าวว่า มีพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ นั้บตั้งแต่พระพุทธเจ้ากาลปัจจุบันนี้ได้รับการพยากรณ์จะเป็นองค์พระพุทธเจ้าในอนาคตกาล

ส่วนภัทรกัปนี้ คือ มีพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์
๑. พระกกุสันธพุทธเจ้า
๒. พระโกนาคมนพุทธเจ้า
๓. พระกัสสปพุทธเจ้า
๔. พระศรีศากยมุนีโคดมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน)
๕. พระเมตไตยพุทธเจ้า (องค์อนาคต)

นี่นับเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าโคดมองค์ปัจจุบันนี้เท่านั้น นอกนั้นยังมีอีกนับไม่ถ้วน พระพุทธเจ้ามีดั่งเม็ดทรายในทะเล

แต่ถ้าเราห่มผ้าให้กับพระพุทธรูป นี่แหละเราห่มเฉพาะพระศรีศากยมุนีโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า

แต่ถ้าเราห่มผ้าพระธาตุเจดีย์ เป็นการห่มผ้าให้กับพระพุทธเจ้าทั้ง ๒๘ พระองค์ นี่แหละต่างกันไหม? ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมตรงนั้นหรือภูมิตรงนั้นเขายกให้ถึงตรงนี้ แต่ถ้าห่มผ้าฯให้กับพระพุทธรูป เป็นการห่มให้กับพระศรีศากยมุนีโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นเอง

ฉะนั้น เราห่มผ้าฯ ห่มให้กับพระพุทธเจ้าทั้ง ๒๘ พระองค์ และใครปฏิบัติถึงธรรมแห่งความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วย ก็ได้รับการถวายห่มผ้าพระธาตุเจดีย์นี้หมด นี่แหละสูงกว่า ได้บุญกุศลมาก

สำหรับ พระธรรม เราจะแยกแยะอย่างไร?

พระธรรมก็คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแต่ละรุ่นที่สืบต่อกันมา เราอย่าคิดว่า พระธรรมที่เราเรียนรู้อยู่นี้เป็นของพระศรีศากยมุนีโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเดียว อย่างนี้ไม่ใช่ ธรรมะก็มีการสืบต่อกันลงมา ฉะนั้น จึงสรุปว่า "พระธรรม" จริงๆ แล้วเป็นธรรมะ เป็นของธรรม ธรรมย่อมสูงกว่า ไม่ใช่ของพระพุทธเจ้าอย่างเดียว ไม่ใช่เป็นธรรมะของพระศรีศากยมุนีโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียว แต่เป็นธรรมที่สืบเนื่องต่อๆ กันมาถึงปัจจุบัน แต่ละพระองค์ก็ศึกษาค้นคว้ากันมา แล้วก็สืบกันมาเรื่ีอยๆ จนในที่สุดสามารถเข้าใจได้

เรารู้ธรรมะ เราเอาธรรมะมาจากไหน?

บางคนอาจจะตอบว่า รู้ธรรมะเอามาจากพระไตรปิฎก หรือจากหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง

ถ้าเอาธรรมะมาจากหนังสือเล่มหนึ่ง แล้วหนังสือเล่มนี้ใครแต่ง? สมมติว่าสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) แต่ง แล้วหลวงพ่อประยุทธ์ท่านแต่งแล้วท่านไปเอาธรรมะหรือหนังสือนี้มาจากไหน? นี่แหละเราก็เรียงลำดับขึ้นไปเรื่อยๆ ก็ไปเอามาจากพระพุทธเจ้า ไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าอยู่ดีๆ แล้วเราจะบอกว่าเราเป็นเองอย่างนี้ไม่ได้

แสดงว่า "พระธรรม" ก็คือเป็นธรรมะของ "ธรรม" เพราะธรรมะเป็นเสี้ยวหนึ่งของธรรม บางคนพูดว่า "พุทธธรรม" คำนี้ยิ่งอ่อนไปมาก ต้องพูดว่า "ธรรม" เพราะว่าพระธรรมอยู่ใน"ธรรม"

พระสงฆ์ คือ "ผู้ปฏิบัติธรรม" "ผู้บำเพ็ญ" ถ้าจะให้ความหมายที่กว้างกว่านี้ก็คือ หมายความว่า แม้ว่าบุคคลคนนั้นไม่ได้โกนหัว ไม่ได้นุ่งห่มผ้ากาสาวพัตร์ หรือผ้าเหลือง แต่เห็นประโยชน์ของธรรมะ และปฏิบัติธรรมะ ทนุบำรุงธรรมะ นี่ก็ได้ชื่อว่าเป็นพระสงฆ์ คือได้ทำหน้าที่ตรงนั้น ผู้ปฏิบัติหน้าที่ตรงนั้น ไม่ว่าจะมีรูปแบบยังไงถ้าได้ปฏิบัติธรรมะก็ได้ชื่อว่าเป็นพระสงฆ์ แม้กระทั่งว่า สัตว์ตัวหนึ่งก็เป็นพระสงฆ์ได้ ถ้าสัตว์ตัวนั้นได้ทำหน้าที่ดูแลพระพุทธ พระธรรม และปฏิบัติธรรมะ

พระสงฆ์ แปลว่า ผู้ที่อุทิศกายและใจ เพื่อปฏิบัติธรรมะ รู้ซึ้งประจักษ์ในธรรมนั้นแล้ว และนำธรรมะมาเผยแผ่ สอนแก่ผู้อื่น และแม้แต่หมาหนึ่งตัว แมวหนึ่งตัว ไก่หนึ่งตัวก็เป็นพระสงฆ์ได้หากว่าเขาได้ทำหน้าที่ดูแลพระพุทธ ดูแลพระธรรม ปฏิบัติตามธรรม ปฏิบัติธรรม

แม้แต่โจรที่ถูกคุมขังอยู่ในคุก หากว่ามีจิตปฏิบัติธรรม ๕ นาที ก็ได้เป็นพุทธะ ๕ นาที ก็ถือว่าเป็นพระสงฆ์ เป็นผู้บำเพ็ญ ปฏิบัติธรรม ๕ นาที
ฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจความหมายตรงนี้ แล้วเราไปถวายผ้าห่มพระธาตุเจดีย์ อานิสงส์จะสูงมาก เราจะเห็นเลยว่ามีประโยชน์มากๆ ถ้ามาแยกแยะหรือให้แยบยลมากกว่านี้ ก็จะได้อานิสงส์ ประโยชน์มาก

ทำไมเราต้องใช้ผ้ามาห่มพระธาตุเจดีย์? ก็เพื่อแสดงถึงไมตรีจิต แสดงถึงความห่วงอาลัย อบอุ่น สายสัมพันธ์

"ห่วง" หมายความว่า ถ้าเราห่วงสิ่งๆ หนึ่ง เราจะกังวลไหมว่ากลัวตกหล่นหายไป แล้วเราจะมีจิตอุ้มชูดูแลไหม? นี่แหละ อะไรเป็นสิ่งที่มีประโยชน์แล้วหายไปอย่างนี้แล้วเราจะมีจิตยังไง? เราก็จะมีจิตที่ต้องการให้มีการดำรง ให้มีการต่อเนื่อง ให้มีสิ่งนี้สามารถสืบต่อไหม? นี่แหละห่วงอาลัย

"อาลัย" แปลว่า กลัวสิ่งที่มีประโยชน์จะเสียไป เช่น มีประโยชน์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ กลัวจะเสียหายไป หรือคนยังใช้ประโยชน์ยังไม่เพียงพอเลย อาลัยก็คือ เสียดายเขา

ถ้า "อาวรณ์" นี้จะสู่ตัวอารมณ์ชัดๆ แล้ว แต่อาลัยไม่ใช่ตัวอารมณ์

อาลัยนี้จะเกิดความเสียดาย เพราะสิ่งนั้นมันมีคุณค่า มีประโยชน์มากๆ แต่กลัวว่ามันจะสูญเสีย สูญหาย สาบสูญไป จะให้สิ่งนี้มีคุณค่าสืบเนื่องให้คนถัดไปหรือรุ่นต่อไปได้ใช้ต่อไป

ถ้าเราถวายผ้าห่มฯ อยากจะให้คนต่อไปได้มาใช้ ได้มาทำเหมือนกับเรา แต่จะเอาอะไรมาเป็นเครื่องหมาย ก็ต้องเอาผ้ามาห่มมาเป็นนิมิตหมาย ก็เหมือนกับร่างกายของเรา ต้องเอาเสื้อผ้ามาใส่ นี่แหละ ผ้าเป็นนิมิตหมายที่แสดงออกถึง ๒ คำนี้ คือ ห่วงอาลัย

จะใช้คำว่า "หวง" ไม่ได้ บางคนสร้างพระธาตุเจดีย์ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วหวง ไม่ยอมให้ใครมาแตะ มากราบไหว้ ก็ไม่รู้ว่าทำไปทำไม?

ฉะนั้น ให้คนมาไหว้ ให้จิตน้อมไปถึง "ธรรม, บ่อเก็ก (无极 : wú jí) คือ ตถตา นิพพาน”

อานิสงส์การห่มผ้าพระธาตุเจดีย์ก็จะไปถึง"ธรรม, บ่อเก็ก (无极 : wú jí) คือ ตถตา นิพพาน”ถ้าหากว่าใครมีวิบากอะไร อานิสงส์ของการถวายผ้าห่มพระธาตุนี้ก็สามารถแก้ไขได้หมด เพราะว่าสรรพสิ่งทั้งหลายก็อยู่ใน "ธรรม, บ่อเก็ก (无极 : wú jí) คือ ตถตา นิพพาน” เราก็ลองคิดดู นี่แหละถ้าเราได้ตัวแม่แล้วตัวลูกก็ไม่ยาก

เพราะเหตุอะไร ในเมื่อเราห่มผ้าพระธาตุเจดีย์ ๑ ที่แล้ว บางครั้งก็ยังไปห่มผ้าพระธาตุยังวัดอื่นๆ อีก หรือบางทีก็ห่ม ๙ วัด เป็นต้น?

เหตุที่ทำเช่นนี้ก็เพราะว่า เราห่มผ้าพระธาตุที่เป็นประธานคือมีจิตที่เข้าถึง"ธรรม, บ่อเก็ก (无极 : wú jí) คือ ตถตา นิพพาน” แล้ว แต่หลังจากนั้นแล้ว พระธาตุเจดีย์แต่ละที่ก็จะมีเทวดาคอยดูแลปรกปักรักษาอยู่ นี่แหละเราก็จะไปถวายผ้าห่มพระธาตุเจดีย์เพื่อเป็นการกำลังให้กับเทวดา เจ้าที่ ที่คอยปรกปักรักษาพระธาตุเจดีย์อยู่ตรงนั้น

แล้วเราให้กำลังในผู้ปฏิบัติหน้าที่ตรงนั้นแล้วเราจะได้กุศล ได้อานิสงส์ไหม? ก็ย่อมได้ ก็เปรียบเสมือนกับว่า ท่านเขาเหล่านั้นเป็นตัวแทนของเราที่จะคอยปรกปักรักษาพระธาตุเจดีย์อยู่ตรงนั้น เช่น มีป้าคนหนึ่งคอยทำความสะอาด ดูแลรักษาพระธาตุ ถ้าเราเอื้อ-เกื้อ-กันแก่เขา ให้เงินเขา เขาก็เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนเราที่คอยดูแลพระธาตุเจดีย์ เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นกำลังให้แก่เขา ถ้าเขาปฏิบัติดูแลพระธาตุเจดีย์ ได้ ๑๐ คะแนน แล้วเราก็ได้คะแนนจากที่เขาปฏิบัติ ๑ คะแนน นี่แหละกุศลของเราก็จะได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นี่แหละ เป็นผู้ฉลาด ผู้ฉลาดไม่หวงบุญกุศลไว้ทำคนเดียว รู้จักช่วยเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกันทำบุญกุศล เราก็ได้บุญกุศลตามไปด้วย

ส่วนความยาวของผ้าห่มพระธาตุเจดีย์นั้น ขึ้นอยู่กับเจตนาศรัทธาของผู้ที่เป็นเจ้าภาพ ใจจริงแล้วไม่มีความแน่ชัด เช่น ถ้าหากว่า เราห่มผ้าพระธาตุความยาวไม่ครบ ใจของเราก็รู้สึกว่าไม่ค่อยจะดี แต่ถ้าห่มครบจิตใจก็ดี แต่บางคนปัจจัยเงินทองน้อย ก็ห่มครึ่งหนึ่งก็ได้ เราก็อธิษฐานได้ว่า หากว่าครั้งต่อไปมีปัจจัยเงินทองพร้อมแล้วค่อยมาห่มผ้าให้ครบ หรือมาห่มอีกครึ่งหนึ่งก็ได้.... ๛


^_^ ..._/_... ^_^
ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกกล่าวมา

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต   




 13,327 

  ความคิดเห็น


RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย