ญาณ ๑๖ ขั้น ฉบับซึ้งประจักษ์


<
ญาณ ๑๖ ขั้น ฉบับซึ้งประจักษ์

ญาณ คือ รู้บ่อย รู้มากขึ้น รู้ให้แข็งแรง ข้อมูล ความรู้ ทักษะความชำนาญ ความเชี่ยวชาญต่างๆ ที่ผ่านมา แล้วเราเรียนรู้สะสมขึ้นมาเรื่อยๆ

ญาณที่ ๑ นามรูปปริจเฉทญาณ คือ สามารถจำแนกได้ว่าสิ่งไหนเป็นรูป สิ่งไหนเป็นนาม และรูปกับนามเป็นเช่นใด

(ญาณกำหนดจำแนกรู้นามและรูป คือ รู้ว่าสิ่งทั้งหลายมีแต่รูปธรรมและนามธรรม และกำหนดแยกได้ว่า อะไรเป็นรูปธรรม อะไรเป็นนามธรรม — knowledge of the delimitation of mentality-materiality, สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต))

ญาณที่ ๒ ปัจจยปริคคหญาณ คือ มีเหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดรูปและนาม

รูปมาจากอะไร? รูปมาจากขันธ์ทั้ง ๕ รวมกัน เป็นต้น

นาม ก็คือ สิ่งที่อยู่ในรูป มีความรู้สึกในรูป

(ญาณกำหนดรู้ปัจจัยของนามและรูป คือรู้ว่า รูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุปัจจัยและเป็นปัจจัยแก่กัน อาศัยกัน โดยรู้ตามแนวปฏิจจสมุปบาท ก็ดี ตามแนวกฏแห่งกรรม ก็ดี ตามแนววัฏฏะ 3 ก็ดี เป็นต้น — knowledge of discerning the conditions of mentality-materiality, สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต))

ญาณที่ ๓ สัมมสนญาณ คือ ทั้งนามและรูปเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยยกสิ่งที่เป็นรูปและนามมาพิจารณาว่า เป็นสิ่งที่จะต้องแปรเปลี่ยน ไม่คงทน ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้

(ญาณกำหนดรู้ด้วยพิจารณาเห็นนามและรูปโดยไตรลักษณ์ คือ ยกรูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายขึ้นพิจารณาโดยเห็นตามลักษณะที่เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มิใช่ตัวตน — knowledge of comprehending mentality-materiality as impermanent, unsatisfactory and not-self, สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต))

ทำไมไปปฏิบัติธรรม มีการนั่งสมาธิ เดินจงกรม เจริญภาวนา แล้วทำไมถึงไม่ได้ญาณ

ก็เพราะว่าเราไม่ได้ศึกษาจากธรรมชาติเป็นเบื้องต้นไป อยู่ดีๆ ก้าวกระโดดไปเอาญาณ ก็เลยไม่ได้ญาณ

ญาณที่ ๔ อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ คือ รูปและนามเป็น ๓ วิถี คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เป็นเรื่องปกติในธรรม เป็นตถตา จะต่อเนื่องจากข้อที่ ๓ ซึ่งเป็นกระบวนการว่า

๑) เกิดขึ้นยังไง ?

๒) ตั้งอยู่ยังไง?

๓) ดับยังไง ?

หมายความว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้นยังไง? อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาตั้งอยู่ยังไง? อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดับยังไง?

ทุกอย่างเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ต้องไปตามเส้นทางอย่างนี้

ข้อที่ ๔ นี้ก็คือมาสรุป มายอมรับว่าทั้ง ข้อ ๑-๓ ข้อเป็นเช่นนี้

(ญาณอันตามเห็นความเกิดและความดับ คือ พิจารณาความเกิดขึ้นและความดับไปแห่งเบญจขันธ์ จนเห็นชัดว่า สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น ครั้นแล้วก็ต้องดับไป ล้วนเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทั้งหมด — knowledge of contemplation on rise and fall, สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต))

ญาณที่ ๕ ภังคานุปัสสนาญาณ คือ ดูความเปลี่ยนแปรไป เปลี่ยนแปลงไป

(ญาณอันตามเห็นความสลาย คือ เมื่อเห็นความเกิดดับเช่นนั้นแล้ว คำนึงเด่นชัดในส่วนความดับอันเป็นจุดจบสิ้น ก็เห็นว่าสังขารทั้งปวงล้วนจะต้องสลายไปทั้งหมด — knowledge of contemplation on dissolution, สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต))

ถ้าใช้คำว่า "ดับ" จะมีปัญหาอยู่เรื่อยว่า หายไปแล้ว ที่จริงไม่หายแต่แปรสภาพ เช่น มีคนเป็นศพ เราบอกว่าคนตาย เขาตายที่ไหน เพียงแต่แปรเปลี่ยนสภาพเป็นศพ พอเป็นศพแล้วก็แปรสภาพเป็นธาตุ นี่แหละ "แปรสภาพ" ไม่ใช่ "ดับ"

บางคนแปลความหมายของพ่อศิวะมหาเทพผิดไป จะต้องแปลว่า พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง แปรสภาพ ไม่ใช่พลังแห่งการทำลาย หรือดับ แต่เป็นไปโดยขบวนการ

ยกตัวอย่างเช่นการพิจารณาอสุภะ ก็เป็นญาณเช่นเดียวกัน

๔ ขั้นตอนแรกว่าด้วยรูปและนาม

พอมาขั้นที่ ๒ มาดูขั้นแห่งการเปลี่ยนแปลงของศพ ว่าเป็นอย่างไรถึงกลายเป็นศพ แล้วก็กลายเป็นสูญคือแยกธาตุ กลับเข้าสู่ธรรมชาติ ไม่มีตัวตนแล้ว อัตตาถูกแยก คือ รูปตัวตนถูกแยกแล้ว

ขั้นที่ ๔ ก็คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เข้าสู่สุญญตา

แต่ถ้ามีการพิจารณาอสุภะ มีรูปให้นำ จะทำให้คิดพิจารณาได้ง่ายยิ่งขึ้น

ถ้าใช้การพิจารณาแบบญาณ ๑๖ จะไม่มีรูปนำ อธิบายเป็นหลักวิชาการ คนมองไม่เห็นภาพ

สมมติว่าเราไม่เคยเรียนธรรมะมาไม่ต่ำกว่า ๑๐ ปี เรานึกภาพไม่ออก

ถ้าไม่มีรูปก็จะคิดตามไม่ทัน เพราะว่าไม่มีภาพประกอบ ว่ารูปเป็นยังไง?

ถ้าเรามีเมีย การเจริญวิปัสสนาตรงนี้จะอ่อนลง จะถูกแยก เช่น เรามี ๑๐ ส่วน เราจะถูกแยกให้ ๕ ส่วน ถ้าเราไม่มีเมียจะต่อจิ๊กซอว์ได้ดี

สมมติว่าเรากำลังคิดพิจารณาอสุภะตรงนี้อยู่ แต่ก็จะมีความคิดอีกอย่างหนึ่งว่าเข้ามาในสมองเราว่า พรุ่งนี้เราจะเอาเงินที่ไหนมาให้เมียไปซื้อกับข้าว จะต้องมาแบ่งแยกความคิด

ญาณที่ ๖ ภยตูปัฏฐานญาณ คือ ทุกสิ่งต้องเสื่อมสลาย เราจะยึดมั่นถือมั่นให้ถาวรไม่ได้ ถ้าเรายึดมั่นถาวร เราก็จะทุกข์หนัก

(ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว คือ เมื่อพิจารณาเห็นความแตกสลายอันมีทั่วไปแก่ทุกสิ่งทุกอย่างเช่นนั้นแล้ว สังขารทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นไปในภพใดคติใด ก็ปรากฏเป็นของน่ากลัว เพราะล้วนแต่จะต้องสลายไป ไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น -- knowledge of the appearance as terror, สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต))

ใช้คำว่า "เห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว" คำนี้ไม่ควรใช้ เพราะว่า "อคติ" ไม่ถูกต้อง ในเมื่อความยั่งยืนไม่มี แล้วจะหาความปลอดภัยอะไร ตรงไหนเป็นสิ่งปลอดภัย

ฉะนั้น ควรตัดคำว่า "เป็นของน่ากลัว" ออก

ถ้าใช้คำว่า "เป็นภัย เป็นของน่ากลัว" คำนี้เป็นอคติแล้ว แล้วจะเป็นญาณได้อย่างไร

เพราะว่า ถ้าเป็นไปตามครรลองครองธรรม จะน่ากลัวทำไม?

ญาณที่ ๗ อาทีนวานุปัสสนาญาณ คือ รู้ความเปลี่ยนแปลงจะยึดมั่นถือมั่นให้เป็นอย่างนั้นถาวรไม่ได้ ถ้ายึดมั่นเป็นถาวรก็จะทุกข์อย่างยิ่ง

(ญาณอันคำนึงเห็นโทษ คือ เมื่อพิจารณาเห็นสังขารทั้งปวงซึ่งล้วนต้องแตกสลายไป เป็นของน่ากลัวไม่ปลอดภัยทั้งสิ้นแล้ว ย่อมคำนึงเห็นสังขารทั้งปวงนั้นว่าเป็นโทษ เป็นสิ่งที่มีความบกพร่อง จะต้องระคนอยู่ด้วยทุกข์ — knowledge of contemplation on disadvantages, สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต))

คำว่า "คำนึงเห็นโทษ" ก็เป็นคำที่อคติ เป็นการ กล่าวว่าร้าย เส้นทางอย่างนี้มันร้าย ไม่ควรเอา เส้นทางโลกิยะเป็นเส้นทางที่ร้าย อย่างนี้ไม่ได้ เพราะเป็นเส้นทางที่ทุกคนต้องผ่าน ถ้าพูดอย่างนี้จะมีกี่คนไหมที่เกิดมาแล้วไม่พบเจอโลกิยะ แต่ทุกคนจะต้องเริ่มต้นจากโลกิยะ ก่อนที่จะไปสู่โลกุตตระ

ญาณที่ ๘ นิพพิทานุปัสสนาญาณ คือ จะไม่เอาแล้ว เพราะว่ามันไม่ยั่งยืน

ไม่ใช่เบื่อหน่าย แต่เกิดจากหน่าย เพราะมีโทษ มีแต่ความทุกข์ พอเห็นแล้วหน่าย ก็เริ่มล่ะ

(ญาณอันคำนึงเห็นด้วยความหน่าย คือ เมื่อพิจารณาเห็นสังขารว่าเป็นโทษเช่นนั้นแล้ว ย่อมเกิดความหน่าย ไม่เพลิดเพลินติดใจ — knowledge of contemplation on dispassion, สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต))

ญาณที่ ๙ มุญจิตุกัมยตาญาณ คือ เริ่มละแล้ว อยากปรารถนาพ้นจากสังขารทั้งหลาย

(ญาณอันคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย คือ เมื่อหน่ายสังขารทั้งหลายแล้ว ย่อมปรารถนาที่จะพ้นไปเสียจากสังขารเหล่านั้น — knowledge of the desire for deliverance, สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต))

ญาณที่ ๑๐ ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ คือ พิจารณาว่าวิธีที่แท้จริงนั้นคืออะไร? ก็คือการพิจารณาไตรลักษณ์ เพราะหนีไม่พ้นพระไตรลักษณ์

ข้อนี้หาข้อคิดมาปลง ว่ามันเป็นเช่นนี้จะแก้ไขมันเปลี่ยนแปลงมันไม่ได้ เป็นกฎแห่งธรรม

(ญาณอันคำนึงพิจารณาหาทาง คือ เมื่อต้องการจะพ้นไปเสีย จึงกลับหันไปยกเอาสังขารทั้งหลายขึ้นมาพิจารณากำหนดด้วยไตรลักษณ์ เพื่อมองหาอุบายที่จะปลดเปลื้องออกไป-knowledge of reflective contemplation, สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต))

ญาณที่ ๑๑ สังขารุเปกขาญาณ คือ วางใจเป็นกลาง เพราะว่าเราไม่สามารถควบคุมได้ ทำอะไรเขาไม่ได้ ฉะนั้น ถึงเรียกว่า "อนัตตา"

(ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร คือ เมื่อพิจารณาสังขารต่อไป ย่อมเกิดความรู้เห็นสภาวะของสังขารตามความเป็นจริง ว่า มีความเป็นอยู่เป็นไปของมันอย่างนั้นเป็นธรรมดา จึงวางใจเป็นกลางได้ ไม่ยินดียินร้ายในสังขารทั้งหลาย แต่นั้นมองเห็นนิพพานเป็นสันติบท ญาณจึงแล่นมุ่งไปยังนิพพาน เลิกละความเกี่ยวเกาะกับสังขารเสียได้ — knowledge of equanimity regarding all formations, สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต))

ญาณที่ ๑๒ สัจจานุโลมิกญาณ หรือ อนุโลมญาณ คือ ฉะนั้น เป็นเช่นนั้น ทุกอย่างเป็นไปตามกฎแห่งธรรม ตถตาเป็นเช่นนั้น

(ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจ คือ เมื่อวางใจเป็นกลางต่อสังขารทั้งหลาย ไม่พะวง และญาณแล่นมุ่งตรงไปสู่นิพพานแล้ว ญาณอันคล้อยต่อการตรัสรู้อริยสัจ ย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไป เป็นขั้นสุดท้ายของวิปัสสนาญาณ ต่อจากนั้นก็จะเกิดโคตรภูญาณมาคั่นกลาง แล้วเกิดมรรคญาณให้สำเร็จความเป็นอริยบุคคลต่อไป — conformity-knowledge; adaptation-knowledge, สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต))

ญาณที่ ๑๓ โคตรภูญาณ คือ ต้องหมั่นมาคิดพิจารณา

(ญาณครอบโคตร คือ ความหยั่งรู้ที่เป็นหัวต่อแห่งการข้ามพ้นจากภาวะปุถุชนเข้าสู่ภาวะอริยบุคคล — knowledge at the moment of the ‘Change-of-lineage’, สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต))

ญาณที่ ๑๔ มัคคญาณ คือ เริ่มจะเข้านิพพาน เอาทั้งหมด ตั้งแต่ข้อที่ ๑ ถึงข้อที่ ๑๓ มาสรุป

(ญาณในอริยมรรค คือ ความหยั่งรู้ที่ให้สำเร็จภาวะอริยบุคคลแต่ละขั้น —knowledge of the Path, สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต))

ญาณที่ ๑๕ ผลญาณ คือ เป็นผลที่จะเดินไปให้ถึง เวลานี้เข้าสู่มรรค แต่มีเป้าหมายเป็นผล แต่ยังไม่บรรลุผล เพียงแค่รู้ผล เหมือนกับเราจะไปท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า เราก็จะมีความคิดท่าขี้เหล็ก อยู่ในความคิดของเราแล้ว ถ้าไม่อย่างนั้นเราจะไปท่าขี้เหล็กได้อย่างไร?

ขั้นนี้เห็นจังหวัดท่าขี้เหล็กแล้ว แต่เรายังไปไม่ถึง คือยังไม่บรรลุ

(ญาณในอริยผล คือ ความหยั่งรู้ที่เป็นผลสำเร็จของพระอริยบุคคลชั้นนั้นๆ — knowledge of Fruition, สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต))

ญาณที่ ๑๖ ปัจจเวกขณญาณ คือ ญาณขั้นนี้ละแล้ว เข้าสู่บรรลุผล เป็นตัวสรุป สรุปแล้วก็จะบอกว่าเราจะเดินเส้นทางนี้แล้ว แล้วก็เดินไปต่อ

(ญาณหยั่งรู้ด้วยการพิจารณาทบทวน คือ สำรวจรู้มรรค ผล กิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่เหลืออยู่ และนิพพาน เว้นแต่ว่าพระอรหันต์ไม่มีการพิจารณากิเลสที่ยังเหลืออยู่ — knowledge of reviewing, สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต))

แล้วพระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิมที่ว่าท่านบรรลุแล้ว นั้นหมายความว่า ท่านถึงญาณที่ ๑๖ แล้ว แต่ท่านบอกว่า ยังก่อน ยังไม่เดินข้ามไป คือ เดินเข้าไปสู่ญาณขั้นที่ ๑๗ แล้วก็จะถอยลงมา ก็เหมือนกับเดินทางไปที่ท่าขี้เหล็กแล้ว ก็เดินทางกลับมาคืน เพราะว่าสงสารคนที่ยังมีความทุกข์อยู่

ถ้าอย่างนั้นมีปมอยู่แล้วจะเดินทางเข้าไปสู่ญาณที่ ๑๗ ได้ยังไง อันนี้ไม่ได้มีปม เข้าไปญาณที่ ๑๗ แล้วคิดได้ จึงเดินทางออกมา คือ ละแล้ว จากญาณ ๑๖ เข้าไป พอเข้าญาณที่ ๑๗ หันมองกลับมา สงสารบุคคลที่ยังไม่รู้เรื่อง จึงปวารณาตัวสอนเขาก่อน

ญาณที่ ๑๖ ก็เปรียบเสมือนสะพาน เราจะก้าวข้ามสะพานไหม? พอข้ามสะพานแล้วไปถึงท่าขี้เหล็ก เป็นขั้นที่ ๑๗ แต่มองกลับมาสะพานฝั่งด้านนี้คนยังไม่รู้เรื่องเยอะ จึงตัดสินใจว่า ฉันจะไม่เดินต่อแล้ว เราจะเดินทางกลับมาช่วยพวกสัตว์โลกทั้งหลาย

แต่พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ ฯลฯ ท่านเดินต่อ ตอนนี้ไปถึงจังหวัดเชียงตุงแล้ว

อันนี้ไม่ถือว่าเป็นปม ถ้าเป็นปมก็ข้ามญาณ ๑๗ ไม่ได้

เพราะว่า ญาณที่ ๑๖ คือให้ทบทวน สรุปแล้ว แล้วเราสรุปว่ายังไง

สรุปแล้วเราจะเดินข้ามสะพานแล้ว แล้วเราก็ข้ามสะพานไป ทีนี้หันกลับมามอง แล้วเกิดความน่าสงสาร เกิดจิตเวลานั้นถึงเดินกลับมา

ไม่ใช่ ญาณที่ ๑๖ แล้วเกิดจิตตัวนี้ แต่จิตตัวนี้เกิดตอนอยู่ญาณที่ ๑๗ ถ้าญาณที่ ๑๖ มีจิตตัวนี้จะข้ามไม่ได้ แต่ญาณที่ ๑๗ มีจิตตัวนี้ได้จึงต้องเดินทางกลับมา

สมัยครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่ พระองค์ท่านอยู่ขั้นไหน พระพุทธเจ้าอยู่ขั้นที่ ๑๗ แล้วสอนได้ไหม? อย่างนี้ไม่มี

พระพุทธเจ้าอยู่ขั้นที่ ๑๖ ก็รู้หมดแล้ว ญาณที่ ๑๖ เป็นตัวรู้ของท่าน ท่านอยู่ญาณที่ ๑๖ ก็สามารถสอนไปเรื่อยๆ

ที่ว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น เป็นญาณขั้นที่ ๑๒ เอง คือ รู้ว่ามีข้อธรรมะอะไร แล้วก็ปฏิบัติขึ้นไปเรื่อยๆ ไปถึงขั้นที่ ๑๖ จึงพูดกับตนเองว่า เวลานี้สิ่งที่ทำมีความสมบูรณ์ พระองค์ท่านจึงก้าวข้ามถึงขั้นที่ ๑๗ พอท่านเดินต่อก็เข้าสู่นิพพาน

ที่ว่า พระอรหันตสาวก ศิษย์ของพระพุทธเจ้าที่เข้าสู่นิพพานก่อนพระพุทธเจ้านั้น ท่านข้ามไปก่อนเพราะว่าท่านหมดหน้าที่ เพราะว่าสาวกท่านไม่เอาหน้าที่แล้ว พระพุทธเจ้ายังจะเอาหน้าที่อยู่ เพราะสงสารสัตว์โลกอยู่ ถึงรับเอาหน้าที่สั่งสอนสัตว์โลก

นี่แหละ ถ้าพระอานนท์ทรงทูลของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงต้องอยู่ต่อ เพราะช่วยคน

ในสมัยนั้นพระพุทธเจ้าอยู่ต่อยังไม่เรียกว่าพระพุทธเจ้านะ ก็แค่เป็นพระโพธิสัตว์

อยู่ขั้นญาณที่ ๑๒ ก็รู้แจ้งแห่งความเปลี่ยนแปลงของธรรมแล้ว ของสังขารแล้ว

แค่นี้ก็คือสัพพัญญูแล้ว เพราะว่าท่านรู้เพียงแค่ ๓ ข้อ ก็สามารถเป็นสัพพัญญูแล้ว คือ รู้ความเป็นมา รู้ความเป็นอยู่ และรู้สิ่งที่จะเป็นไป

ท่านก็รู้ท่านสามารถข้ามพ้นไปก็ได้ แต่ท่านปรารถนาอยากช่วยคน

แล้วทำไมพระพุทธเจ้าไม่เข้าถึงขั้นที่ ๑๗ แล้วถอยออกมา ทำไมเอาถึงขั้นที่ ๑๒ ล่ะ

เพราะว่า พระพุทธเจ้ารู้ แค่นี้ก็สามารถสอนคนได้ เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านเข้าถึงญาณที่ ๑๖ แล้ว

ความคิดของพระพุทธเจ้าอยู่ขั้นที่ ๑๖ แต่พระพุทธเจ้าถอยมาอยู่ขั้นที่ ๑๒ เพื่อสอนคน

ไม่จำเป็นจะต้องไปอยู่ขั้นที่ ๑๗ แล้ว ไม่จำเป็น เพราะว่าท่านรู้ไปหมดแล้ว รู้แล้วแต่ปรารถนายังไม่ข้าม

แล้วของท่านผู้รู้อากง รู้ถึงขั้นที่ ๑๖ แล้ว แต่ยังปฏิบัติไปไม่ถึง เขาเรียกว่ามีมรรค แต่ยังไม่มีผล ผลนั้นเราเห็นแต่ต้องบรรลุนะ ต้องลุ ถึงจะถึงผลแท้ ถ้าเรายังไม่บรรลุก็ยังไม่ถึงผลแท้

ที่ท่านพุทธทาสบอกว่า นิพพานลองชิม ทำอยู่ประจำยังไม่ได้

แล้วทำไมพระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิมถึงเข้าสู่ญาณขั้นที่ ๑๗ แล้วถอยออกมาสอนสัตว์โลก เพราะว่าสงสารสัตว์โลก เพราะว่าท่านประกาศว่า สงสารสัตว์โลก เพราะว่าถ้าไม่มีใครนำพาแล้วจะทำยังไง ฉะนั้น จึงกลับมา

แต่ท่านกลับมานั้น ไม่ปรากฏรูปเป็นกายสังขารเนื้อหนังอย่างเรา ท่านก็มีรูปเหมือนกัน แต่เป็นรูปอีกอย่าง เช่น รูปผู้หญิง รูปผู้ชาย ฯลฯ

^_^ ..._/_... ^_^
ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกกล่าวมา

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต   




 8,235 

  ความคิดเห็น


RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย