เข้าใจพระพรหม ปริศนาธรรมแห่งเครื่องอุปกรณ์


<
เข้าใจพระพรหม ปริศนาธรรมแห่งเครื่องอุปกรณ์

เครื่องอุปกรณ์ที่อยู่ที่มือของพ่อพรหมทั้ง ๘ กรนั้น เป็นนิมิตหมายแห่งสัญลักษณ์ในการเข้าถึงธรรมต่างๆ ซึ่งมีปริศนาธรรมแฝงอยู่ อยู่ที่ว่าเราจะมีปัญญาเข้าถึงแห่งนิมิตหมายนั้นไหม ซึ่งนิมิตหมายนั้น มีความหมายต่างๆ ดังนี้

พระแว่นแก้ว

กระจก หรือพระแว่นแก้ว คือ กระจก หมายถึง วัสดุที่ทำมาจากแก้ว ซึ่งมีองค์ประกอบหลักทางเคมีคือซิลิคอน ซึ่งสามารถหลอมและนำไปขึ้นรูปได้ เมื่อเย็นตัวแล้วมีลักษณะ โปร่งใส และเป็นของแข็งโดยไม่จับผลึก (มีค่าความหยัดตัวสูง) กระจกจึงสามารถแตกได้เหมือนแก้ว และมีความคมมากกว่าแก้วเมื่อแตกเพราะมีความบางในการผลิต (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)

ความหมายทางโลก คือ ใช้ส่องมองดูตัวเองว่ามีรูปร่าง ลักษณะเป็นอย่างไร สวย เท่ งาม ขี้เหร่ อัปลักษณ์ เป็นต้น

ความหมายทางธรรม คือ กระจก เปรียบได้เป็น "ปัญญา" เครื่องมือของปัญญาก็คือ โยนิโสมนสิการ แปลว่า ญาณ ธรรมตัวหนึ่งที่พิจารณาหลักธรรมวิถีทั้งขบวนหลักธรรม ก่อเกิด ตั้งอยู่ เปลี่ยนแปลง ญาณธรรมแห่งโยนิโสมนสิการ เป็นอภิความรู้ของธรรม เป็นปัญญาเหนือปัญญา

กระจกเป็นสัญลักษณ์ทางปัญญา ใช้สำหรับส่องดูตัวเองและผู้อื่น คือ เป็นตัวปัญญาใช้พิจารณาตนเอง ตรวจสอบตนเอง

กระจกไว้ส่องดูตัวเราเอง ในวันๆ หนึ่ง หรือเรื่องๆ หนึ่ง ที่เราได้ทำมา มีสิ่งใดที่ดี ควรเพิ่มเติมและส่งเสริมบ้าง หรือสิ่งที่เป็นปัญหา ควรแก้ไข สิ่งใดเป็นโอกาสควรที่จะไขว้คว้า

กระจกสัญลักษณ์ในการส่องดูปีศาจ ยักษ์ มาร อมนุษย์ที่แปลงร่างมา ก็มองเห็นว่าเป็นปีศาจ

สิ่งเล็กๆ มองไม่เห็น แต่ถ้านำพระแว่นแก้วมาส่องก็ขยายให้ใหญ่ได้

กระจกคือปัญญาส่องดูมาร อสูร ดังนี้

๑.๑ อสูร ๓ ตัว (อ.)

อสูร คือ พฤติกรรม วิบากกรรม ความประพฤติ หรือกรรมที่จะมาทำร้าย จะเป็นมิจฉา สู่ความเสียหาย ความเสื่อม ความไม่เจริญ เชือดนิ่มๆ พาเราไปฉิบหาย

๑) อหังการ คือ การยึดว่าเป็นตัวเรา ความเย่อหยิ่งจองหอง ความทะนงตัวว่าเก่ง ความก้าวร้าวด้วยการถือว่าตนเองสำคัญว่าเก่ง และการหลงตัวเอง บางครั้งเราอาจมองตัวเองไม่ออกว่ามีความอหังการ ต้องให้กัลยาณมิตรเป็นกระจกส่องดูตัวเราเอง (เรามีวิชชานั้นจริง แต่สำคัญว่าตนเองแน่ ไม่ยอมใคร) อหังการไปหยิ่งว่าตนเองว่าตัวเก่ง ตัวเองมี กูเก่ง กูแน่ กูมี กูเจ๋ง ไม่ฟังใคร อำเภอใจจะอยู่ในอหังการ

วิธีแก้ไข ลบความสำคัญผิดในตน ไม่ใช่เป็นความสามารถของเราโดยตรง แต่เป็นของครูอาจารย์ ยกให้ครูอาจารย์ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ส่งขึ้นเบื้องบน สรุปเป็นการรู้คุณ

๒) อวดเก่ง คือ การที่ตนเองรู้นิดเดียวแล้วเหมารวมว่าตนรู้หมด แล้วยกตนข่มท่าน ชื่อว่าคนอวดเก่ง และคนเก่งไม่จำเป็นต้องอวด แต่คนไม่เก่งต้องอวดเพื่อให้รู้ว่าตนเก่ง และถ้าเรารู้สึกว่าเจ๋ง แล้วจะเจ๊ง (ไม่มีวิชชาในสิ่งเหล่านั้นเลย แต่อวดว่าตนเองมี แย่กว่าอหังการ แต่เวลาพูดถึงการเสียหาย อหังการหนักกว่า) อวดเก่งจะอยู่ในวงแคบ แต่ถ้าอหังการเวลาพัง จะพังหนัก (ชอบอวด ชอบโชว์เก่ง )

วิธีแก้ไข เหมือนอหังการ

๓) อาฆาต คือ การผูกพยาบาท เคียดแค้น จองเวร เมื่อมีใครมาทำให้เราไม่พึงพอใจ เราจะเก็บกดสิ่งนั้นไว้ รอโอกาสเมื่อถึงเวลา ก็จะสนองคืนทันที และเมื่อเกิดอาการชิงดีชิงเด่น แล้วจะเกิดความอาฆาต ดังคำครูอาจารย์ท่านว่า "อวดดี ชิงดีอย่า หมั่นดีเอา"

พยาบาท อาฆาต มุ่งให้ร้ายกัน มุ่งทำร้ายกัน มุ่งปรปักษ์

วิธีแก้ไข ให้เราเจริญมุฑิตาจิต ยึดหลักที่ว่า ดีก็สรรเสริญ ไม่ดีก็อภัยเสีย และคิดถึงอกเขาอกเรา

ขงจื้อ ได้กล่าวว่า สิ่งที่ตนไม่ชอบ อย่าให้คนอื่น


๑.๒ ยักษ์ ๔ ตัว (ย)

ยักษ์ คือ สอพลอ ชอบมาหลอกใช้ หลอกเราแล้วทำให้เราหลงผิดทำให้เกิดปัญหา

สอพลอ แปลว่า กล่าวร้ายป้ายสีผู้อื่นเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีฐานะสูงกว่าเกลียดชังผู้นั้นเพื่อประโยชน์ของตน (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน)

๑) ยก คือ ยกย่องเรา เมื่อเราทำดีแล้วมีใครมาพบเจอ เขาจะยกย่องเรา เราต้องตั้งฐานจิตชื่นชม แต่ไม่หลงใหลไปตามกระแสแห่งการยกย่อง บางคนยกย่องเราจากใจจริง แต่บางคนยกย่องเราเพื่อให้เราหลงไปตามกระแส แล้วก็จะร่วงจากสิ่งดี

ยกยอ ทำให้เราหลงตัว สำคัญตนเองผิด

๒) ยุ คือ การยุแหย่ให้เราทำตามสิ่งที่เขาหวัง การยุนี้มี ๒ กรณี คือ ยุแหย่ ยุทำ

๒.๑ ยุแหย่ใส่ร้ายเราให้เกิดเรื่องเสียหาย

๒.๒ ยุให้ทำ บางครั้งเราไม่พร้อมที่จะทำ แต่เมื่อถูกยุให้ทำ ทำให้เราเกิดความอวดดี อวดเก่ง จึงทำลงไปจนเกิดปัญหาตามมา

๓) ยั่ว คือ การยั่วอารมณ์ของเราให้แตกซ่าน ให้เกิดความโมโห ให้เกิดโทสะ แล้วขาดสัมปชัญญะ

๔) ยัด คือ ยัดเยียด นำเอาความคิดที่ผิดเป็นมิจฉาของเรา เข้าไปครอบงำแล้วจูงเขา ให้เป็นไปตามอำเภอใจที่เราต้องการ

ฝ่ายดำ ๔ ตัวนี้จะทำให้เกิดความเสียหาย เกิดวิบาก เกิดความทุกข์ทรมานร้อนรน วุ่นวาย เกิดความฉิบหาย ถ้าหากมีตัวพวกนี้เป็นสรณะของจิตของเรา เราก็จะวุ่นวาย เดือดร้อน หาเรื่องเข้าตัว ลงท้ายด้วยฉิบหาย

จงให้รู้สิ่งพวกนี้แล้วหลีกเลี่ยงเสีย จากวงจรอุบาทว์ ชีวิตเราก็จะปลอดภัย สันติ

ทุกคนขอพร สุขสบาย สันติ อยู่อย่างมงคล ถ้ามีพวกนี้จะหายหมด ฉะนั้นจึงอย่าเอาแต่ขอพร จงทำให้เหตุให้พร้อม แล้วพรนั้นก็จะเกิดกับตัวเราเสมอ


๑.๓ มาร ๓ ตัว (ม)

๑) มุ่งร้าย คือ มุ่งทำร้าย คิดปองร้ายผู้อื่น สิ่งที่ตรงข้ามกับการมุ่งร้าย คือ ความเมตตา การพยายามมองคนในแง่ดี ในแง่ที่น่าเห็นอกเห็นใจ พยายามหาเหตุผลมาลบล้างความผิดบกพร่องของคนทั้งหลายและการพยายามคิดว่าคนทุกคนเหมือนกัน อกเขาอกเรา ก็ย่อมไม่มีการมุ่งร้ายต่อกันเป็นธรรมดาความปรารถนาดีต่อกันย่อมมีได้ง่าย

๒) มักง่าย คือ เวลาทำอะไร เรามักเอาความสะดวกเข้าว่า เอาความง่าย ๆ ขอไปที ไม่พิถีพิถัน ไม่เคารพกฎเกณฑ์ ไม่เคารพข้อบังคับไม่คำนึงผลที่จะตามมา

๓) มั่ว คือ ทำอะไรอย่างไม่มีหลักการ กฎเกณฑ์ ระเบียบ

๑.๔ ปีศาจ

ปีศาจ คือ พลังงานชนิดหนึ่งทางลบที่มาความร้ายกาจมาก ถูกผู้มีพลังเหนือกว่าใช้ไปในทางลบ เช่น การทำร้ายคน ปล่อยเชื้อโรค

ตัวอย่างเช่น ในกลุ่มนั้นมีเด็กวัยรุ่นหัวโจกชอบกลั่นแกล้งคนอื่น เขารู้ว่าเด็กกลุ่มนี้ชอบทำสิ่งไม่ดี (พลังงานทางลบ) ก็หาอุบายหลอกล่อชักจูงให้เขาไปทำสิ่งที่ไม่ดี

ตัวอย่างเช่น เชื้อโรคชาร์ส ชาร์สนี้เป็นพลังงานทางลบ ไปเองไม่ได้ต้องมีคนนำไป โดนคนนำไปใช้เผยแพร่ให้คนนั้นเป็นโรคชาร์สนี้ขึ้นมา เราเรียกคนที่มีความคิดแนวนี้ว่าเป็นปีศาจ ไม่จำเป็นต้องเป็นผี คนนี่แหละเป็นปีศาจ

ตัวอย่างเช่น การไปยั่วยุให้คนเขาตีกัน ฆ่ากัน นี่แหละปีศาจในคราบมนุษย์

คนที่เป็นปีศาจ เพราะรู้ว่าเขามีความฉลาด ดูสถานการณ์ออก คุมเกมได้ แต่เขานำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ในทางที่ผิด

คุณสมบัติของปีศาจ คือ

๑. มีความฉลาดเก่งทุกอย่าง

๒. นำความฉลาดและความเก่งของตนเองไปใช้ในทางที่ผิดเป็นมิจฉา

สังเกตได้จากการทำสิ่งใดถ้าหากเป็นการนำประโยชน์ให้กับตนเองเป็นหลักจะเป็นมิจฉา ส่วนถ้าทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมจะเป็นสัมมาที่ถูกต้อง


๑.๔ ตรวจสอบ ๗ ข้อ

หลักธรรมที่จะมาตรวจสอบเราคือ ๗ ข้อในการตรวจสอบปฏิบัติ

๑. ทำหรือยัง
๒. ทำเท่าไหร่
๓. ทำครบไหม
๔. ผลของการได้ทำ
๕. สรุปเหตุและผลที่ได้ทำ
๖. นำไปปฏิบัติ สิ่งดีเพิ่มเติม สิ่งไม่ดีแก้ไข
๗. ปฏิบัติต่อเนื่อง สม่ำเสมอ


พระคัมภีร์

คัมภีร์ ความหมายทางโลก คือ ตำรับตำรา กลยุทธ์ ยุทธวิธี ยุทธศาสตร์ในการขจัดปัญหา

ความหมายทางธรรม คือ การศึกษา การเรียนรู้ ความฉลาด ความรอบรู้ สติปัญญา


พระสังข์

สังข์ ความหมายทางโลก คือ สัญลักษณ์แห่งการเรียกระดมพล และการหลั่งน้ำพระพุทธมนต์หรือน้ำเทพมนต์ เมื่อมีคนบูชาขอพรก็จะมีการหลั่งน้ำเทพมนต์

ความหมายทางธรรม คือ สัญลักษณ์คุณงามความดี เป่าประกาศคุณงามความดี การประกาศเกียรติคุณให้โลกรับรู้ และประกาศสิ่งที่ไม่ดี

๑. การเป่าสังข์ ในการเป่าสังข์นั้นมี ๗ ประเภทด้วยกันดังนี้

๑) เป่ารำลึกนึกถึงมหาเทพ ลมปราณของมหาเทพ คือ พ่อพรหม พลังแห่งการก่อเกิด พ่อวิษณุนารายณ์ พลังแห่งการดำรงรักษา และพ่อศิวะ พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง
เป่าลมปราณ คือ ปราณขององค์เทพ ปราณของฟ้าดิน

๒) เป่าสังข์เพื่อสรรเสริญคุณงามความดีต่างๆ ของการกระทำนั้นๆ เช่น ประกาศเกียรติคุณ การช่วยเหลือคน การยกย่องบุคคล ยกย่องวัตถุของมงคล

๓) เป่าสังข์เพื่อขับไล่ คือ ขับไล่สิ่งที่ไม่ดี ขับไล่ศัตรู ขับไล่สัตว์

๔) เป่าสังข์เพื่อเตือนภัย คือ เพื่อให้ทุกคนได้รับทราบเตรียมตัวรับมือกับภัยต่างๆที่กำลังจะมา

๕) เป่าสังข์เพื่อขอความช่วยเหลือ ร้องทุกข์ ขอความเป็นธรรม คือ ในการขอความช่วยเหลือนั้น เราต้องอาศัยผู้ที่มีปัญญามาช่วยเหลือเรา ในโบราณาจารย์ ท่านถือว่า ผู้ที่มีปัญญา คือ พ่อวิษณุนารายณ์ ถ้าหากว่าท่านได้ยินเสียงสัญญาณจากสังข์เมื่อไหร่ ท่านจะลงมาช่วยมนุษย์

พอมนุษย์เราเดือดร้อน เราก็เอาสังข์มาเป่า ท่านอยู่บนสวรรค์ก็จะลงมาช่วยเรา นั่นหมายความว่า เมื่อเราเป่าสังข์ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือไปยังผู้ที่มีปัญญา ผู้ที่มีปัญญาก็จะมาช่วยเหลือเรา สรุปคือ สังข์นี้เป็นสัญลักษณ์ในการส่งสัญญาณ

เป่าให้พร คือ เป่าขอบารมีองค์ธรรมแห่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ความเป็นสิริมงคลในการประกอบพิธีกรรมนั้นๆ หรือเปล่าให้ความเป็นมงคลแก่เจ้าภาพ แขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงาน

๖) เป่าสังข์เพื่อความไม่ประมาท เตือใจตน รำลึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์

๗) เป่าสังข์เพื่อสรรเสริญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือ เวลาประกอบพิธีกรรมต่างๆ จะมีการเป่าสังข์เพื่อสรรเสริญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อัญเชิญมาและมาร่วมพิธีกรรมนั้นๆ   




 6,894 

  ความคิดเห็น


RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย