หัวใจ ๕ ศรัทธามั่นคงในครูบาอาจารย์ มรรคผล สำเร็จเร็ว


<
หัวใจ ๕ ศรัทธามั่นคงในครูบาอาจารย์ มรรคผล สำเร็จเร็ว

คำว่า "หัวใจ ๕" ในที่นี่หมายถึง การเชื่อฟังและปฏิบัติตามอย่างตั้งใจ และเต็มใจ ด้วยความจริงจัง จริงใจ เด็ดขาดกับครูบาอาจารย์

แล้วเราจะมีหัวใจ ๕ นี้กับใคร? มีหัวใจนี้กับครูบาอาจารย์ ผู้อบรมสั่งสอนเรา เราถึงจะดี เก่ง มีคุณธรรม สันติสุขได้ เพราะว่าถ้าเราไม่มีหัวใจ ๕ นี้ เราก็จะไม่ทำตามคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ ผลของคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ก็ออกมรรค ออกผลไม่ได้ หรือแม้บางครัั้งเราทำตามคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ก็จริงแต่ทำไม่ครบบ้าง ทำขาดๆ เกินๆ บ้างก็จะไม่เกิดผลเป็นที่น่าพอใจ แล้วเราส่วนมากก็มักจะมาโทษครูบาอาจารย์ว่าท่านไม่เก่งจริงบ้าง ไม่แน่บ้าง ไม่ได้ผลบ้าง แต่หารู้ไม่ว่า เป็นเพราะเราเองต่างหาก ที่ไม่ตามคำสั่งสอน เพราะคิดว่าสิ่งเหล่านี้ตนเองทำได้แล้ว ไม่ต้องทำหมด หรือคิดเอาเองว่า ควรทำให้มากกว่านี้ทำให้เกิดความไม่รอบคอบก็เกิดปัญหาขึ้นมาบ้าง นี่แหละ เป็นเพราะเรา "อหังการ" คิดว่าเราเก่ง เราแน่ เราทำได้ เป็นอย่างนี้เสร็จทุกราย !!

การที่เราจะมีหัวใจ ๕ ได้นั้น หลักธรรม ๕ ประการนี้เป็นตัวบ่งชี้ว่าเรามีหัวใจ ๕ กับท่าน หัวใจ ๕ คือ กตัญญู ศรัทธา เชื่อมั่น หนักแน่น มั่นคง มีดังนี้

๑. กตัญญู แปลว่า เห็นคุณค่า

กตัญญู [กะตัน-] น. (ผู้) รู้อุปการะที่ท่านทําให้ (ผู้) รู้คุณท่าน เป็นคําคู่กันกับ กตเวที. [ป. กต ว่า (อุปการคุณ) ที่ท่านทําแล้ว + ญู ว่า ผู้รู้]. (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) กล่าวว่า "กตัญญูกตเวที ผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้วและตอบแทน แยกออกเป็น ๒ คือ

๑) กตัญญู รู้คุณท่าน
๒) กตเวที ตอบแทนหรือสนองคุณท่าน;

ความกตัญญูกตเวทีว่าโดยขอบเขต แยกได้เป็น ๒ ระดับ คือ

๑) กตัญญูกตเวทีต่อบุคคลผู้มีคุณความดีหรืออุปการะต่อตนเป็นส่วนตัว อย่างหนึ่ง
๒) กตัญญูกตเวทีต่อบุคคลผู้ได้บำเพ็ญคุณประโยชน์หรือมีคุณความดีเกื้อกูลแก่ส่วนรวม เช่นที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธเจ้าโดยฐานที่ได้ทรงประกาศธรรมยังหมู่ชนให้ตั้งอยู่ในกุศลกัลยาณธรรม เป็นต้น อย่างหนึ่ง

คำตรงข้ามกับกตัญญู คือ "อกตัญญู" และ "เนรคุณ" มีดังนี้

๑) อกตัญญู แปลว่า สิ่งที่ไม่เห็นคุณค่าฝ่ายตรงข้าม

อกตัญญูจะมีตัวอหังการ เพราะคิดว่าตนเองเก่ง กูแน่แล้ว ไม่เห็นจำเป็นอาศัยเขา

พอไม่เห็นคุณค่าเขา ก็จะไม่ให้คุณค่าเขา ไม่ให้ความสำคัญต่อเขา

ไม่รู้คุณค่าว่าทำให้เราเป็นขึ้นมาได้ ทำให้เราดี ซึ่งเกิดมาจากตัว "อหังการ" เป็นตัวก่อเกิดข้อเสียเยอะแยะ บุคคลควรเข้าใจและควบคุมอหังการ ให้มีอหังการน้อยที่สุด จะดีที่สุด

ถ้าเรามีความกตัญญู เราก็ระลึกถึงท่านอยู่บ่อยๆ นึกถึงคำสั่งสอนของท่าน ถ้าเราไม่มีความกตัญญูเราก็จะไม่ระลึกถึงท่าน

๒. เนรคุณ คือ ให้ร้าย กล่าวร้าย ทำลายผู้มีพระคุณ

เนรคุณ แปลว่า [-ระคุน] ก. อกตัญญูไม่รู้คุณ, ไม่สำนึกถึงบุญคุณ. (แผลงมาจาก นิรคุณ). (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔)

๒. ศรัทธา แปลว่า "ความเชื่ออย่างยิ่งยวด"

ความศรัทธา หมายถึง เราเชื่อ แต่ต้องมีเหตุผล เข้าใจ รู้จักความเป็นมา ความเป็นอยู่ และความเป็นไปของเหตุนั้น สิ่งนั้น มีผู้รู้ชี้แจงพิสูจน์ในแต่ละขั้นตอนบางโอกาส

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ กล่าวว่า (๑) [สัดทา] "น. ความเชื่อ, ความเลื่อมใส, เช่น สิ้นศรัทธา ฉันมีศรัทธาในความดีของเขา บางทีก็ใช้เข้าคู่กับคำ ประสาทะ เป็น ศรัทธาประสาทะ. (ส. ศฺรทฺธา; ป. สทฺธา).

(๒) [สัดทา] ก. เชื่อ, เลื่อมใส, เช่น เขาศรัทธาในการรักษาแบบแพทย์แผนโบราณ. (ส. ศฺรทฺธา; ป. สทฺธา)."

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) กล่าวว่า ศรัทธา ความเชื่อ, ความเชื่อถือ; ความเชื่อมั่นในสิ่งที่ดีงาม; และท่านยังกล่าวอีกว่า ศรัทธา ๔ (ความเชื่อ, ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล - faith; belief; confidence)

๑) กัมมสัทธา (เชื่อกรรม, เชื่อกฎแห่งกรรม, เชื่อว่ากรรมมีอยู่จริง คือ เชื่อว่าเมื่อทำอะไรโดยมีเจตนา คือ จงใจทำทั้งรู้ ย่อมเป็นกรรม คือ เป็นความชั่วความดีมีขึ้นในตน เป็นเหตุปัจจัยก่อให้เกิดผลดีผลร้ายสืบเนื่องต่อไป การกระทำไม่ว่างเปล่าและเชื่อว่าผลที่ต้องการจะสำเร็จได้ด้วยการกระทำ มิใช่ด้วยอ้อนวอนหรือนอนคอยโชค เป็นต้น - belief in Karma; confidence in accordance with the law of action)

๒) วิปากสัทธา (เชื่อวิบาก, เชื่อผลของกรรม, เชื่อว่าผลของกรรมมีจริง คือ เชื่อว่ากรรมที่ทำแล้วต้องมีผล และผลต้องมีเหตุ ผลดีเกิดจากกรรมดี ผลชั่วเกิดจากกรรมชั่ว - belief in the consequences of actions)

๓) กัมมัสสกตาสัทธา (เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน, เชื่อว่าแต่ละคนเป็นเจ้าของ จะต้องรับผิดชอบเสวยวิบากเป็นไปตามกรรมของตน - belief in the individual ownership of action)

๔) ตถาคตโพธิสัทธา (เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า, มั่นใจในองค์พระตถาคต ว่าทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงพระคุณทั้ง ๙ ประการ ตรัสธรรม บัญญัติวินัยไว้ด้วยดี ทรงเป็นผู้นำทางที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์คือเราทุกคนนี้ หากฝึกตนด้วยดี ก็สามารถเข้าถึงภูมิธรรมสูงสุด บริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ดังที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญไว้เป็นแบบอย่าง - confidence in the Enlightenment of the Buddha)

เมื่อเราศรัทธาต่อครูบาอาจารย์ เราได้ศึกษา เรียนรู้ ประจักษ์ในตัวครูบาอาจารย์แล้วว่า ท่านชักนำเราไปในทางที่ดี ถูกต้อง ตั้งอยู่ในสัมมาปฏิบัติแน่นอน เราจะต้องมีศรัทธา คือ เชื่อท่านอย่างยิ่งยวด ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของท่านอย่างยิ่งยวด ไม่ใช่เลือกปฏิบัติในสิ่งที่เราถูกใจ ข้อธรรมข้อไหนเราไม่ถูกใจเราก็ไม่ทำ ข้อธรรมข้อไหนถูกใจเราถึงจะทำ เป็นการเลือกปฏิบัติ แล้วจะให้เราเกิดผลก้าวหน้าอย่างรวดเร็วได้อย่างไร ฉะนั้น เราจะปฏิบัติตามคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ เราจะต้องมีความศรัทธาต่อท่าน ต่อสิ่งเหล่านั้น ถ้าเราไม่มีความศรัทธา ผลที่เกิดขึ้นก็ไม่สัปปายะเพียงพอที่จะให้เกิดผล

คำที่ใกล้เคียงกับศรัทธา ทั้งเสริมและห่างจากศรัทธา มีดังนี้

"ความเชื่อ" คือ "การยอมรับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง"

"ความงมมาย" คือ "ถูกใจของฉัน ไม่ฟังเหตุผลของคนอื่น ตามใจตนเอง"

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ กล่าวว่า ความงมมาย แปลว่า "ก. หลงเชื่อโดยไม่มีเหตุผล หรือโดยไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นหรือเหตุผลของผู้อื่น."

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) กล่าวว่า "งมงาย ไม่รู้เท่า, ไม่เข้าใจ, เซ่อเซอะ, หลงเชื่อโดยไม่มีเหตุผล หรือโดยไม่ยอมรับฟังผู้อื่น"

เราไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น เราไปปิดกั้นตัวเอง นี่เรียกว่าเป็นตัวอคติ เป็นมิจฉา เราต้องเปิดฟังความคิดเห็นของคนอื่น แล้วมาวิเคราะห์

แต่สมมติว่าของเราถูก แต่ไม่เปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นถ้าเป็นเช่นนี้ล่ะ

ถึงแม้ว่าความคิดเห็นของเราถูกต้อง เราก็ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เพราะว่าเป็นกฎแห่งธรรม ถ้าเราไม่เปิดรับฟังความคิดเห็นก็ถือว่าเป็นอคติทันที ต่อให้เราถูกแค่ไหนก็ตาม

แต่ถ้าเราเปิดการรับฟัง เรารับฟังแล้ว เราวิเคราะห์แล้ว เราไม่เอาตามความคิดเห็นเช่นนั้นก็ไม่เป็นไร

งมงายหรือไม่งมงาย ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยในภูมินั้นๆ ที่เขาต้องทำ เราไม่ไปวุ่นวาย ถ้าภูมิเราอยู่สูงเราก็อยู่สูงไป แต่ภูมิข้างล่างก็ต้องค่อยๆ ไต่ขึ้นไปเอง

เช่น ภูมิของคนๆ นี้เขายังต้องกินเนื้อสัตว์ แต่ถ้าเราไปบอกว่าไม่ให้เขากินเนื้อสัตว์ ก็ไม่ได้แล้ว แต่ภูมิคนๆ นั้นเขากินเจได้ เขาพ้นตรงนี้ไปแล้วก็ไม่เห็นเป็นไร เขากินเจก็กินไป ส่วนเรากินเนื้อสัตว์ก็กินไป เราจะไปทู่ซี้ให้กินเหมือนกับเรา อย่างนี้ไม่ได้

วัวยังต้องกินหญ้าอยู่ แล้วเสือกินเนื้อ แล้วจะมาบอกให้เสือมากินหญ้าอย่างนี้ได้ไหม? ก็ไม่ได้ ก็เพราะว่ายังต้องเป็นภูมิของเขา เราก็ต้องปล่อยไป

๓. เชื่อมั่น (reliability) แปลว่า "เชื่อโดยไม่เปลี่ยนแปลง"

หมายความว่า เราจะต้องเชื่อครูบาอาจารย์และยึดมั่นในความเชื่อเหล่านั้น ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน

๔. หนักแน่น แปลว่า "มีน้ำหนักที่จะไม่เคลื่อนไหวง่าย"

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ กล่าวว่า "หนักแน่น แปลว่า
ว. (๑) มั่นคง, ไม่ท้อถอย, เช่น เขามีใจหนักแน่นไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใด ๆ ทั้งสิ้น;
(๒) ไม่โกรธง่าย เช่น เขาเป็นคนใจคอหนักแน่น ไม่โกรธใครง่าย ๆ;
(๓) ไม่หูเบา เช่น ต้องทำใจให้หนักแน่น อย่าเชื่อใครง่าย ๆ"

๕. มั่นคง แปลว่า "แม้จะมีสิ่งใดมากระทบก็ไม่หวั่นไหว"

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ กล่าวว่า มั่นคง แปลว่า
ว. (๑) แน่นหนาและทนทาน เช่น เก็บของไว้ในห้องนั้นมั่นคงดี;
(๒) ไม่กลับกลายเป็นอย่างอื่น เช่น ใจคอมั่นคง.
ฉะนั้น เราจะทำสิ่งใด เราจะเชื่อฟังใคร ครูบาอาจารย์ของเรา เราจะต้องมีหัวใจ ๕ กับท่าน จึงจะเกิดมรรค ผลที่เร็ว ไม่ร่วงหล่นกลางทาง

^_^ ..._/_... ^_^
ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกกล่าวมา

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต   




 6,800 

  ความคิดเห็น


RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย