ทำไมเราต้องปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมคืออะไร?  ไม่ปฏิบัติได้ไหม?


<
ทำไมเราต้องปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมคืออะไร?  ไม่ปฏิบัติได้ไหม?

    ธรรมะคืออะไร?

    ธรรมะ ก็คือ วิถีประจำวัน วิถีชีวิตประจำวัน แสดงว่าเราอยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน

    แล้วตัวเราอยู่ในธรรมไหม? เราก็ต้องอยู่ในธรรม (ธรรมชาติ) สิ

    "ธรรมะ" มาจากคำ ๒ คำ คือ "ธรรม" กับ "มะ"

    "ธรรม" ก็คือ สิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ

    "มะ" ก็คือ เส้นทางแห่งธรรมชาติ

    คนทั่วไปแปลให้ยากเกินไป ถ้าแปลอย่างนี้ก็จะเข้าใจง่ายๆ

    อย่างนี้เราก็ไม่จำเป็นต้องมาปฏิบัติสมาธิภาวนาสิ?

    ถ้าเราไม่เรียนรู้ ไม่ปฏิบัติ เราก็จะทำผิด ถ้าเราทำผิด เราก็ต้องเดือดร้อน เช่น ชีวิตประจำวันเรามัวแต่ไปเล่นไพ่แล้วชีวิตเราจะเดือดร้อนไหม? แล้วชีวิตของเราจะเจริญไหม? แล้วชีวิตประจำวันควรทำอะไร?

    ที่กล่าวข้างต้น หมายความว่าในการปฏิบัติธรรมะ จะต้องมานั่งสมาธิ อย่างนี้เหรอ?

    ถ้าการปฏิบัติธรรมะ จะต้องมานั่งสมาธิ อย่างนี้ไม่ถูกต้อง อย่างนี้มันผิด

    ถ้าหากว่ากล่าวผิด แล้วทำไมพวกฤๅษีเขาจึงต้องนั่งสมาธิด้วย?

    ฤๅษีที่ปฏิบัติอย่างนั้น ก็เป็นเรื่องของฤๅษี เป็นภูมิของฤๅษี เพราะเส้นทางปฏิบัติธรรมะชีวิตประจำวันมีมากกว่า ๑๐๘ เส้นทาง ก็สุดแท้แต่ว่าเราจะเลือกเส้นทางไหน ยกตัวอย่าง เราอยู่ที่แม่สาย จะเดินทางไปในตัวเมืองจังหวัดเชียงราย ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกเดินเส้นทางไหน ก็ได้ ไม่มีเส้นเดียว

    ชีวิตของเราที่มีครอบครัว พ่อแม่ลูก ก็เป็นอีกเส้นทางหนึ่ง ชีวิตที่เราไม่เอาครอบครัวในการมีลูก มีเมีย ก็เป็นอีกเส้นทางหนึ่ง ชีวิตเป็นโจรก็เป็นอีกเส้นทางหนึ่ง เส้นทางมันมี ๑๐๘ เส้นทาง 

    การปฏิบัติธรรมง่ายๆ ก็คือ "ธรรม" ก็คือ ธรรมชาติ เส้นทางเดินในทางธรรมชาติ ก็คือเส้นทางการดำเนินชีวิต เราจะดำเนินชีวิตของเราอย่างไร? เวลานี้เราจะค้าขาย เราก็จะต้องเรียนการค้าขายว่าจะต้องทำอย่างไร? เราจะไปขับรถแท็กซี่ เราก็จะต้องเรียนรู้ เราจะไปเป็นครู เราก็จะต้องเรียนรู้ในความเป็นครู เราจะเป็นตำรวจ ทหาร พระสงฆ์ เราก็จะต้องไปเรียนรู้

    ๑๐๘ เส้นทางนี้ เราจะให้ชีวิตของเรามีสาระได้ไหม? ให้ชีวิตในเส้นทางนัั้นๆ มีสาระมีประโยชน์ต่อชีวิตของเรา

    ทุกเส้นทางก็มีสาระ แม้กระทั่งว่าเป็นโจร ยกตัวอย่างเช่น โจรมเหศวรเขาก็ทำตัวมีสาระได้ เขาก็เอาสาระของเขามา ก็กลายเป็นที่นับถือของคนทั่วไป ทุกเส้นทางก็มีสาระอยู่ในนั้น เราจะมีปัญญาจะเอาไปทางด้านไหน เพราะในนัั้นก็มีทุกด้าน

    แม้กระทั่งว่าพระภิกษุก็ทำตัวมีสาระได้หรือไม่มีสาระได้ เช่น พระนิกร ชีวิตก็จบเลย แต่หลวงตาบัว ญาณสัมปันโน ก็มีชีวิตที่โด่งดัง คนนับถือกัน แต่ถ้าเป็นแบบพระนิกร ก็จบ แต่ก็เป็นพระเหมือนกัน แต่สาระการดำเนินชีวิตไม่เหมือนกัน 

    ทีนี้ก็แล้ว เราจะอยู่เส้นทางไหนก็ได้ เราจะต้องไปศึกษา แล้วเดินให้ถูก ข้างในเส้นทางมันมี ๓ ทางให้เลือกอยู่แล้ว คือ 

        ๑) ดี (สัมมาทิฏฐิ)
        ๒) ชั่ว (มิจฉาทิฏฐิ)
        ๓) กลางๆ (อัพยากฤต) 

    แต่ละเส้นทางก็หนีไม่พ้น ๓ อารมณ์นี้

    แต่ละเส้นทางเราก็จะต้องไปเรียนรู้ ไม่เรียนรู้ไม่ได้  ใครบอกว่าไม่ต้องมีธรรมะ ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นพุทธ คริสต์ อิสลาม ก็จะต้องมีธรรมะ

    คำว่า "ธรรม" นี้เป็นของทุกคน ทุกศาสนา

    ถ้าอย่างนั้น เราจะแปลคำว่า "ปฏิบัติธรรม" แปลว่าอย่างไรดี

    การปฏิบัติธรรม คือ เรียนรู้ชีวิต ใช้ชีวิตอย่างถูกต้องตามธรรม

    เรามีชีวิตอยู่อายุ ๗๐, ๘๐, ๙๐ เราก็ตายไป แล้วจะเรียนรู้ชีวิตทำไม? 

    คนที่ตายตอนอายุ ๑๕ ปีก็มี แต่คนที่ตายอายุ ๑๕ ตายแบบมีความหมายก็มี แต่บางคนที่อายุ ๑๐๐ กว่า ปีตายไปไม่มีความหมายก็มีเยอะแยะไป

    ถ้าเราไม่ได้เรียนรู้ชีวิตแล้วตายไป เกิดมาชาติหน้าก็ต้องมาเรียนรู้ชีวิตอีก ใช้ชีวิตอีก มันก็วนเวียนอย่างนี้เรื่อยไป เช่นเดียวกับพระพระพุทธเจ้า ก็ยังต้องเกิดมาเรียนรู้ชีวิต ๕๐๐ ชาติเลย แล้วนับประสาอะไรเราๆ ทั้งหลาย เราก็ต้องเรียนรู้ไป เพิ่มเติมไป ถ้าใครไม่เรียนรู้ก็เรื่องของเขา พระพุทธเจ้าก็ยังเป็นแบบอย่างให้ดู ดังจะเห็นว่าพระพุทธเจ้ายังต้องเกิดมา ๕๐๐ ชาติ เพื่อจะเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ภูมิปัญญาก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นวิถีแห่งธรรม

    แล้วทำไมเราจะต้องเรียนรู้ชีวิตด้วย?

    สมมติว่า ปัจจุบันนี้เราทำก๋วยเตี๋ยวกินแล้วอร่อย เราจะหยุดแค่นี้ หรือว่าเราจะทำก๋วยเตี๋ยวต่อไปเรื่อยๆ ถ้าเขาทำต่อไปเรื่อยๆ อายุมากขึ้น เขาก็จะเกิดทักษะความชำนาญ เชี่ยวชาญยิ่งขึ้น เก่งขึ้น ถ้าเรามีทักษะความชำนาญอย่างนี้แล้ว เราก็สามารถเก็บทักษะอย่างนี้ไปชาติหน้าได้ด้วย นี่แหละ กฎแห่งกรรม 

    มันง่ายๆ แต่คนเราทำให้ยาก ทำให้วุ่นวาย ทำให้ขลัง ฯลฯ เลยกลายเป็นวุ่นวายไปหมด เราจะต้องรู้ก่อนว่าเราจะให้ชีวิตเราเป็นอย่างไร เราจะต้องมีเจตนา สมมติว่า ตอนนี้เรามีเจตนาจะขายก๋วยเตี๋ยว เราจะต้องสรุปตกลงใจว่าจะทำก๋วยเตี๋ยว ถ้าเราไม่สรุปตัดสินใจทำ เราก็ทำไม่ได้ วุ่ยวายสับสน

    ถ้าบุคคลที่ได้เรียนรู้ชีวิตจะมีลักษณะการดำเนินชีวิตเป็นอย่างไร?

    เวลาทำอะไรจะมีเจตนา แล้วทำอะไรอยู่ในเจตนา จะไม่ฟุ้งซ่านซี้ซั้วทำ ถ้าเรามีเจตนาที่จะทำอะไร เราก็จะมาพิจารณาเจตนาของเราเป็นช่องๆ ไป สมมติว่า เวลานี้เรามีเจตนาจะไปขโมยของ เราก็จะต้องมีพิจารณาวิบาก ๗ อย่าง มันดีไหม? (ชอบธรรม สมควร เหมาะสม บุคคล สถานที่ กาล และเหตุการณ์) และพิจารณาการกระทำของเรา คือ (๑. ทำ ทำไม ๒. ทำไมถึงทำ ๓. ผลขณะกระทำ ๔. ผลที่ตามมา ๕. ผลที่แท้จริง) ว่าเป็นอย่างไร? 

    เราจะต้องมีเจตนา แล้วเอาเจตนามาพิจารณา ถ้าเราไม่มีเจตนาแล้วเราจะเอาอะไรมาพิจารณา 

"คนทั่วไปศึกษาธรรมะ แต่ไม่ได้ใช้ธรรมะ"

^_^  ..._/_...  ^_^ 
ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกกล่าวมา

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต   




 6,868 

  ความคิดเห็น


RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย