ขั้นตอนของวิธีการแก้กรรม


ขั้นตอนของวิธีแก้กรรม

การแก้กรรม คือ แก้ตรงที่ ให้เราสำนึกว่าตรงนั้นเราทำผิด แล้วต่อไปเราจะไม่ทำอกุศลกรรมเช่นนั้นอีกต่อไป มาทำสัญญากันใหม่ ตั้งปณิธานใหม่ เราก็ต้องมาทำสัญญากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สัญญากับเจ้ากรรมนายเวรว่าเราจะไม่ทำอกุศลกรรมเช่นนั้นอีกต่อไป

การแก้กรรม หมายความว่า แก้พฤติกรรมที่เคยทำมาอย่างนั้นที่ไม่ดี การที่เราแก้ไขพฤติกรรมที่มาอย่างนั้นแล้ว เขาก็จะไม่ก่อกรรมเช่นนั้นอีก ก็เท่ากับไม่ทำกรรมเพิ่ม ถ้าเขาไม่รู้แล้วไปทำกรรมตรงนั้นอีก ก็เอาแต่เพิ่มกรรมอยู่เรื่อย ต้องให้แก้พฤติกรรมตรงนั้น ไม่ใช่ไปแก้กรรมที่เคยทำมาแล้ว แก้แล้วให้หมดไปอย่างนี้ไม่มี เราไม่ใช่ย้อนอดีตแล้วไปแก้ อย่างนี้ไม่ใช่ แต่เราย้อนอดีตมาเป็นบทเรียน เป็นอุทาหรณ์ เราไม่ใช่แก้ตรงนั้นให้เปลี่ยนผลอดีตได้ อย่างนี้ไม่ได้

การแสดงความยอมรับว่าตนได้ทำผิดล่วงเกินผู้อื่น สัตว์อื่น เป็นต้น และขอขมากรรม และสำรวมระวังต่อไป ขั้นตอนในการแก้กรรมนั้น มีดังนี้คือ

๑. ยอมรับความจริง คือ ยอมรับว่าเราได้ทำอกุศลกรรม ทำผิด ทำสิ่งนั้นผิดจริงๆ รู้ว่าตนผิด ผิดตรงไหน อย่างไร

๒. มีจิตสำนึก สำนึกผิด คือ สำนึกยอมรับว่าตนทำผิดจริง ได้ล่วงเกินสิทธิของผู้อื่นจริง เรารู้แล้ว่าสิ่งนั้นผิด และจะไม่ทำผิดสิ่งนั้นอีกต่อไป

๓. ขอขมากรรม คือ ขอขมากรรมต่อเจ้ากรรมนายเวร

๔. ทำบุญ สร้างกุศล คือ ปฏิญาณตนจะสำรวม ระมัดระวังไม่ทำผิดสิ่งนั้นอีกต่อไป และทำบุญ สร้างกุศลส่งให้กับเจ้ากรรมนายเวร

เราจะต้องยอมรับกรรม ต้องปฏิบัติส่งกุศลให้เจ้ากรรมนายให้ยอมรับ ให้ประจักษ์ ให้ชัดเจน เราจะต้องปฏิบัติให้เจ้ากรรม มีการแก้กรรม คือ แก้นิสัยตัวเอง เช่น เราชอบฆ่า เราก็จะต้องไปปล่อยชีวิต ถึงจะมีสิทธิ์ได้รับการอโหสิกรรม

พอเราได้แก้กรรมแล้ว เราจะต้องยืนหยัดว่าต่อไปเราจะปฏิบัติอะไร สิ่งใด ปฏิบัติกรรมอะไร ต้องมีข้อแม้ในการส่งกุศลยังไง จะปฏิบัติแก้กรรมยังไง?

เราจะต้องตั้งปณิธานแก้ไขความประพฤติของเรา ว่าเราจะไม่ทำสิ่งที่เคยทำผิดพลาดมา แต่จะทำกรรมอะไรที่เป็นของใหม่ พอเราตั้งปณิธานตรงนี้แล้ว เราได้ปฏิบัติ เจ้ากรรมนายเวรรู้ว่าเรามีความตั้งใจจริง เจ้ากรรมถึงจะอโหสิกรรม

๕. อโหสิกรรม คือ เคลียร์เหตุแล้ว แล้วเขาไม่เอาเรื่อง, เหตุนั้นได้เคลียร์แล้ว บุคคลที่เป็นแรงแห่งเหตุนั้นได้เคลียร์แล้ว, ไม่ถือสาต่อกัน ยกเลิกต่อกัน

คำว่า "ให้อภัย" ยังแปลความหมายอ่อนกว่า เพราะว่าอภัยนี้แปลว่า เขาผิด เราให้อภัยแก่เขา ยกตัวอย่าง เขาขโมยเงินเรา เราให้อภัยแก่เขา เป็นต้น แต่อโหสิกรรม คือ ไม่ถือสา เปรียบเสมือนเหตุการณ์ตรงนั้นไม่เกิดขึ้นเลย จะถอยไปที่สุดท้าย ไม่เกิดขึ้นเลย

เจ้ากรรมเห็นว่าเราได้ทำดีแล้ว พอใจแล้ว ยอมรับในเงื่อนไขว่า เราได้สำนึกดีแล้ว ทำดีแล้ว เจ้ากรรมถึงจะยกโทษให้ เรียกว่า "อโหสิ"

ทำไมเราจะต้องมีการทำพิธีแก้กรรมด้วย ทั้งๆ ว่าเราก็ได้ปฏิบัติตาม ๕ ข้อข้างต้นนี้แล้ว ก็สามารถแก้ไขวิบากกรรมได้?

การทำพิธีแก้กรรม เป็นการประกาศ ยืนยันเจตนารมณ์ คนเราจะต้องมีการประกาศเจตนารมณ์ ถึงจะมีความมุ่งมั่น

การทำพิธีกรรมแก้กรรม หมายความว่า เป็นการประกาศยืนยัน ไม่ใช่ว่าทำพิธีกรรม แล้ววิบากกรรมนั้นจะหายไป อย่างนี้ไม่ใช่ เป็นการประกาศยืนยันว่าเราจะปฏิบัติตามที่ได้ให้สัจจะไว้ ตั้งปณิธานไว้ เหมือนกับทางราชการ ตำรวจ ทหาร นักเรียน

ยกตัวอย่างเช่น นักเรียน พอเราเข้าสู่โรงเรียน พอถึงวันไหว้ครู เราจะต้องมาประกาศว่า ทำไมเราต้องไหว้ครู เพราะว่าเรายกย่องครู จะเชื่อฟังครู สรุป "ประกาศว่าตนเองเป็นนักเรียน ที่จะเชื่อฟังครู"

ยกตัวอย่างสถาบันการเมือง ก็จะมีการเปิดสภา ปฏิญาณตนกับในหลวง แม้แต่ผู้พิพากษา ก็ยังต้องไปปฏิญาณตนกับในหลวงว่าจะซื่อสัตย์

สิ่งที่เราประกาศ ปฏิญาณตนไปนั้น เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ เกิดความมั่นคงที่จะปฏิบัติตาม ไม่ใช่ว่าประกาศ ปฏิญาณตนแล้วกรรมวิบากจะหายไป เราจะต้องนำสิ่งที่เราประกาศนั้นไปปฏิบัติ หากว่าเราทำผิดยังต้องโดนจับเข้าคุก

แล้วทำไมเราจะต้องไปประกาศในสถานที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น วัดวาอาราม เป็นต้น?

จึงขอถามกลับว่า ทำไมเราต้องไปประกาศ ปฏิญาณตนต่อหน้าในหลวง ทำไมเราไม่ไปปฏิญาณตนกับคนบ้า เราจะต้องไปปฏิญาณตนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กับสิ่งที่เขานับถือ เขาถึงจะเกิดความจริงใจ เกิดความขลัง หรือเกิดความตั้งอกตั้งใจ

ในเมื่อเราทำตามขั้นตอน ประกอบพิธีกรรมตามขั้นตอนเหล่านี้แล้ว ทำไมต้องมีของไหว้ เครื่องไหว้ประกอบพิธีกรรมด้วย?

เพื่อแสดงความจริงใจ เช่น เราไปเยี่ยมบุคคล หรือเราไปเคารพเขา แล้วเราควรจะมีการแสดงน้ำใจสื่อถึงความเคารพไหม? อย่างนี้ดีไหม? แต่ถ้าไม่มีมันก็ลดลงอีกระดับหนึ่งหรือเปล่า? ถ้าเราบอกว่าเราเคารพ แต่มีมือเปล่า? แต่ถ้าเราเคารพแต่มีสิ่งของติดไม้ติดมือไปด้วย มีของฝากด้วย จะดีกว่าไหม? ก็จะรู้สึกดี

แล้วทำไมต้องมีคุรุ อาจารย์ ผู้รู้เป็นผู้ประกอบพิธี?

เพื่อจูงนำพาเรา เอื้อ-เกื้อ-กันเรา เพราะว่าท่านมีประสบการณ์ มีอุทธาหรณ์ มีความรู้ต่างๆ มีปัญญาที่จะมายกภูมิเราให้สูงขึ้น เพื่อความเคารพ ก็เหมือนกับการเปิดสภา จะเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรอีก ๒ คน โดยเรียนเชิญ นายชัย ชิดชอบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทยไว้แล้ว ในฐานะ ส.ส.ที่มีอาวุโสสูงสุด ให้ทำหน้าที่ประธานชั่วคราวในการเปิดประชุมเลือกประธานสภาฯ ในวันที่ ๒๕ พ.ค. ๒๕๖๒ ทำไมถึงต้องให้คุณชัย ชิดชอบเป็น แต่ทำไมไม่ให้คุณธนาธรเป็น เพราะไม่มีเกียรติประวัติมา ไม่ชำนาญ ไม่เข้าใจ

ถ้าสมมติว่า เขาคิดว่ากรรมของตัวเองแก้ไม่ได้ล่ะ จะทำอย่างไร?

กรรมอดีตใช่ไหม? ที่แก้ไม่ได้ ตอบว่า ใช่ นี่แหละกรรมอดีตแก้ไขไม่ได้ เรามาแก้ที่ปัจจุบันว่าอกุศลกรรมนั้นเราจะยังทำอีกหรือเปล่า สมมติว่า อดีตเราเคยทำกรรมมา ๕ คะแนน ปัจจุบันเรายังทำกรรมเช่นนั้นอยู่จะกลายเป็น ๑๐ คะแนน ไหม? หรือว่าอยู่แค่ ๕ นี่แหละ ถ้าเราแก้กรรมก็ไม่ต้องไปถึง ๑๐ ก็อยู่แค่ ๕ เหมือนเดิม ไม่ทำเพิ่ม

แล้วเราสามารถเคลียร์ ๕ คะแนนนี้ได้ไหม? ก็อย่างที่บอกไปแล้ว ถ้าเราติดหนี้กรรมเขา ถ้าเขาอโหสิกรรม ก็จบ ถ้าเจ้ากรรมเห็นเราเป็นคนดีแล้ว เขาก็อโหสิกรรม

จะถามว่าเจ้ากรรมอโหสิไม่ได้หรือเปล่า? ตอบว่า แสดงว่าในธรรมชาติมีกรรมชนิดที่เป็นอโหสิได้ไหม? เจ้ากรรมนายเวรมีสิทธิ์อโหสิกรรมได้ไหม? ก็ย่อมได้ เหมือนบุคคล เราติดหนี้เขา เขาก็มีสิทธิ์ยกหนี้ให้กับเราได้ แม้แต่ในทางกฎหมาย เจ้าหนี้ยกหนี้ให้ได้ กฎหมายยังไม่มีบอกว่าเจ้าหนี้มีความผิดเลย ไม่มีนี่ แม้แต่ในธนบัตรก็ยังบอกว่า ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เขามีสิทธิ์โดยธรรมอยู่แล้ว


ตัวอย่าง การแก้กรรม ของนายขมังธนู ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก

ในพระวินัยปิฎก (๗/๓๖๙/๑๘๐) ครั้งหนึ่ง พระเทวทัตได้จ้างนายขมังธนูเพื่อไปทำร้ายพระพุทธเจ้า แล้วเกิดสำนึกผิด เข้าไปกราบทูลสำนึกผิดต่อพระพุทธเจ้า ขอแก้กรรมนั้น พระพุทธเจ้ามีพุทธดำรัสอโหสิกรรมว่า "เพราะการที่เธอมองเห็นโทษ โดยความเป็นโทษ แล้วทำคืนตามธรรม เราจึงยอมรับโทษนั้นของเธอ การที่ผู้ใดเห็นโทษโดยความเป็นโทษ แล้วปฏิกรรมตามธรรม ถึงความสังวรต่อไป ข้อนั้น เป็นความเจริญในอริยวินัย"

อาวุโส อจฺจยํ อจฺจยโต ทิสฺวา ยถาธมฺมํ ปฏิกโรสิ ตนฺเต มยํ ปฏิคฺคณฺหาม วุฑฺฒิ เหสา อาวุโส อริยสฺส วินเย โย อจฺจยํ อจฺจยโต ทิสฺวา ยถาธมฺมํ ปฏิกโรติ อายตึ สํวรํ อาปชฺชตีติ.   

7,703







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย