อริยทรัพย์ค้ำจุนเกื้อหนุนธนทรัพย์ให้มั่นคงแข็งแรงได้
อริยทรัพย์ค้ำจุนเกื้อหนุนธนทรัพย์ให้มั่นคงแข็งแรงได้
ถ้าคุณขาดอริยทรัพย์ ธนทรัพย์จะพังฉิบหาย ถ้าคุณมีอริยทรัพย์จะรักษาธนทรัพย์ได้อย่างยั่งยืนกว่า อริยทรัพย์ (noble treasures) มี ๗ ประการดังนี้
๑. ศรัทธา (confidence) คือ เราเชื่อ แต่ต้องมีเหตุผล เข้าใจ รู้จักความเป็นมา ความเป็นอยู่ และความเป็นไปของเหตุนั้น สิ่งนั้น มีผู้รู้ชี้แจงพิสูจน์ในแต่ละขั้นตอนบางโอกาส
เมื่อเราศรัทธาต่อครูบาอาจารย์ เราได้ศึกษา เรียนรู้ ประจักษ์ในตัวครูบาอาจารย์แล้วว่า ท่านชักนำเราไปในทางที่ดี ถูกต้อง ตั้งอยู่ในสัมมาปฏิบัติแน่นอน เราจะต้องมีศรัทธา คือ เชื่อท่านอย่างยิ่งยวด ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของท่านอย่างยิ่งยวด ไม่ใช่เลือกปฏิบัติในสิ่งที่เราถูกใจ ข้อธรรมข้อไหนเราไม่ถูกใจเราก็ไม่ทำ ข้อธรรมข้อไหนถูกใจเราถึงจะทำ เป็นการเลือกปฏิบัติ แล้วจะให้เราเกิดผลก้าวหน้าอย่างรวดเร็วได้อย่างไร ฉะนั้น เราจะปฏิบัติตามคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ เราจะต้องมีความศรัทธาต่อท่าน ต่อสิ่งเหล่านั้น ถ้าเราไม่มีความศรัทธา ผลที่เกิดขึ้นก็ไม่สัปปายะเพียงพอที่จะให้เกิดผล
ศรัทธาเราถือว่าเป็นทรัพย์สินทางธรรมได้อย่างไร?
ถ้าเราไม่มีศรัทธา เราก็ไม่สามารถเจริญธรรมได้
ทำไมศรัทธาจึงเปรียบเสมือนทรัพย์สมบัติ?
สิ่งที่ก่อให้เกิดอานิสงส์ได้ ทรัพย์ก็คือสิ่งที่ไปก่อเกิดประโยชน์ได้ ศีลก็เหมือนกันก็ไปก่อเกิดประโยชน์อานิงส์ได้
แต่ทำไมในหลักธรรมอริยทรัพย์ไม่มีหลักธรรมเมตตา กรุณาอยู่เลยเป็นเพราะอะไร?
เมตตา กรุณาก็อยู่ในศีล ศีลนี้ทำให้เราไม่มีเมตตาได้อย่างไร แม้แต่กรุณาก็อยู่ในศีล ทั้งหมดนี้อยู่ในศีลแล้ว
ทำไมเจ้าแม่กวนอิมถึงบอกว่าท่านมีเมตตา กรุณา (慈悲; ชื้อปุย)?
ก็อธิบายให้คนที่มีภูมิด้อยกว่าให้ได้รู้ ได้เข้าใจ เป็นหัวข้อ แต่ถ้าสูงขึ้นไปก็คือศีล แต่ถ้าภาษาจีนสูง แปลว่า ศีล (戒) อธิบายให้ชาวบ้านทั่วไปรู้ได้ แต่ถ้าเป็นศีล จะต้องศึกษาศีล ถึงจะรู้เรื่องศีลได้ แต่ถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไปก็บอกว่าคนนี้เป็นคนมีเมตตา มีกรุณา เป็นต้น ใครๆ ก็สามารถเข้าใจได้ง่าย แต่ถ้าพูดถึงศีลแล้ว ถ้าใครยังไม่ได้เรียนก็จะไม่รู้เลย บางคนก็จะบอกว่าเป็นผู้หญิงจะเป็นคนมีศีลได้ยังไง ต้องเป็นผู้ชายสิ ฯลฯ นี่แหละ คำว่าศีลจึงละเอียดลึกซึ้งกว่า
๒. ศีล (morality; good conduct; virtue) คือ ศีล ความหมาย แปลได้ ๒ ระดับ
ระดับที่ ๑ ศีล แปลอย่างสูงว่า "ปกติในธรรม" คือ ศีลในระดับที่เป็นธรรม คือ ปกติ
ระดับที่ ๒ ศีล แปลอย่างธรรมดาว่า "ข้อห้าม ข้อปฏิบัติ ข้อควรปฏิบัติ" คือ ศีลในระดับที่เป็นวินัย ข้อห้าม ข้อสิ่งที่ไม่ควรทำ สิ่งที่ควรปฏิบัติ
ศีลเป็นความปกติในธรรม สิ่งที่เราปฏิบัติไปตามภาวะแห่งธรรม นี่แหละคือการปฏิบัติตามศีล ถ้าไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้ว่าปกติอะไร เดี๋ยวต่างคนก็ต่างถือปกติของตัวเองก็จะเกิดความวุ่นวาย ในธรรมต้องเป็นอย่างนี้ๆ ในธรรมเขากำหนดไว้
ยกตัวอย่าง เราหิวข้าวจนมือสั่น เราก็ต้องไปกินข้าว นี่ปฏิบัติตามศีล แต่ถ้ายังไม่ไปกินข้าวยังปล่อยให้หิวโซ แสดงว่าไม่ปฏิบัติตามธรรม เป็นคนไม่มีศีล
ยกตัวอย่าง ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้ายังทรงบำเพ็ญอยู่ทรงผิดศีล เพราะว่า บำเพ็ญทุกรกิริยา ทรมานร่างกายด้วยการอดอาหาร ส่งให้ผลไม่ถูกต้องในธรรม ท่านจึงหันกลับมาเสวยพระกระยาหารใหม่
๓. หิริ (moral shame; conscience) แปลว่า ความละอายแก่ใจ
หิริจะเป็นสินทรัพย์ที่จะไม่ให้เราไปเสียสินทรัพย์ เราไม่ทำความชั่ว เราไม่มีความชั่ว เราก็ไม่ต้องไปเดือดร้อน เราก็จะไม่เสียทรัพย์ เรามีหิริเราก็รู้ว่าไปเล่นการพนันไม่ดีเราก็ไม่เอา แต่ถ้าเราไม่มีหิริเราก็จะไปเล่นการพนันเราก็จะเดือดร้อนเสียเงินเสียทอง
ทำไมหิริกับโอตตัปปะน่าจะอยู่ในหัวข้อเดียวกัน แต่ทำไมต้องแยกออกจากกัน?
ที่จริงเหมือนกัน แต่เขาจะแยกให้ชัดเจนขึ้น เพราะความหนักเบาไม่เท่ากัน
หิริ เป็นความละอาย แต่ละอายแล้วเรายังอยากทำก็ได้ แค่ละอายเฉยๆ แต่ถ้าบีบคั้นจริงๆ เราก็สามารถทำได้อยู่ แต่ถ้าเป็นโอตตัปปะแล้วก็จะกลัว ไม่กล้าทำ เพราะทำจะถูกลงโทษอะไรต่างๆ ก็จะไม่กล้าทำ หิรินี้จะเป็นจุดเริ่มต้น ยกตัวอย่าง เราจะขโมยปากกา เราก็จะอายๆ ไม่กล้าหยิบ แต่ถ้าใจอยากมากก็หยวนว่ะ ขโมยเลย
๔. โอตตัปปะ (moral dread; fear-to-err) ความเกรงกลัวต่อบาป เกรงกลัวต่ออาญา เกรงกลัวต่อการถูกลงโทษ
๕. พาหุสัจจะ (great learning) ความเป็นผู้ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก
การที่เราเล่าเรียนมามากก็เป็นทรัพย์สินเช่นกัน เราเล่าเรียนมามากก็มีอุทธาหรณ์เยอะ ประสบการณ์มาก ก็มีสิ่งเตือนใจมากเราก็จะได้ไม่ประมาท
๖. จาคะ (liberality) ความเสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
จาคะนี้เป็นอริยทรัพย์ที่จะเจริญความเป็นมหานิยม เรามีจาคะใครๆ ก็รักเรา นับถือเรา
ทำไมกษัตริย์จะต้องมีหลักธรรมจาคะอยู่ในนั้นด้วย เช่น ในทศพิธราชธรรม ถ้าเราไม่จาคะจะไม่มีคนภักดี เรามีจาคะถึงจะมีผู้ภักดี
ถึงแม้จี้กง (濟公) จะในเสื้อผ้าขาดๆ ตัวเหม็นๆ แต่ก็มีคนนับถือ เพราะท่านจาคะชอบช่วยเหลือผู้อื่น
๗. ปัญญา (wisdom) คือ สิ่งที่มีความเข้าใจ มีความรู้ซึ้งประจักษ์แจ้งเห็นจริงแท้ในธรรม หมายถึง ตัวที่รู้เหตุและผล อย่างครบวงจรตามภาวะแท้จริงแห่งธรรม
ปัญญา จะเกิดได้ตามที่พระพุทธองค์บอก คาถาที่ทำให้เกิดปัญญา คือ สุ.จิ.ปุ.ลิ (ฟัง คิด ถาม เขียน)
ปัญญาสามารถพัฒนายิ่งขึ้นไปได้ จากที่ว่ามา เรียนรู้ประจักษ์ ต้องกระทำ ต้องฝึกฝน ทำให้เกิดความรู้ซึ้งประจักษ์ขึ้นเรื่อยๆ
ปัญญาเป็นทรัพย์ทำให้เราเดินทางได้ถูกต้อง ทำให้เราวิเคราะห์ได้ถูกต้อง ทำให้เราเข้าใจอย่างถ่องแท้ การกระทำสิ่งใดที่กระทำด้วยความถ่องแท้ความผิดพลาดย่อมน้อยลง
ถ้าเรามีอริยทรัพย์แต่ถ้าเราไม่มีธนทรัพย์ได้ไหม?
เอาอย่างนี้ดีกว่า เปรียบเทียบว่า เรามีแต่วิญญาณแต่ไม่มีสังขาร แล้วเราจะอยู่ได้ไหม?
ฉะนั้น อย่าดูหมิ่นภูมิที่เป็นอยู่ ถ้าเราเข้าใจภูมิที่เราเป็นอยู่ เข้าใจอย่างถ่องแท้ เราถึงจะเจริญขึ้นไปได้ ถ้าเราดูหมิ่นภูมิตนเองแล้วเราจะขึ้นจากภูมิตรงไหน ก็จบ เช่น เรายืนอยู่บันไดขั้นที่ ๓ แล้วเราดูหมิ่นบันไดขั้นที่ ๓ ที่ตนเองยืนอยู่ เราจะขึ้นบันไดขั้นที่ ๔ ได้ไหม? บันไดขั้นที่ ๓ หักลงมาแล้วจะเหลืออะไร ไม่มีทาง คนที่ดูหมิ่นภูมิอย่ามาคุยเลย ขึ้นยังไงก็ขึ้นไม่ได้ เราดูหมิ่นภูมิตนเองก็ไม่มีทางรอด
ยกตัวอย่าง การแก้ไขปัญหา ปัญญาเราต้องส่งเสริมปัญญา ไม่ใช่เอาแต่อดทนต่อปัญหาแล้วจะรอด เป็นเช่นนี้ไม่ได้ แล้วเป็นการดูหมิ่นภูมิยังไง หมายความว่า เรายังไม่มีภูมิปัญญาแล้วยังไม่ยอมเชื่อว่าตนเองยังไม่มีภูมิปัญญา แต่จะเอาว่าเราจะอดทน เหนือกว่าปัญญาแล้วที่จะเป็นไปได้ ก็รู้ว่าเราภูมิปัญญาไม่ถึง จะไปอวดเก่งทำไม เราต้องรีบเรียนรู้สิ เอาแต่อวดเก่ง ไม่ยอมเรียนรู้ในภูมิตนเอง จะเอาแต่สูงๆ เช่น นิพพาน เป็นต้น ยกตัวอย่าง ไฟกำลังไหม้บ้านเราแต่ไม่ยอมดับไฟ มัวแต่คุยเรื่องนิพพานลูกเดียว จบเลย ถูกหรืือเปล่า เวลานี้มีเยอะเลยที่ไฟไหม้บ้าน ปัจจุบันจะต้องดูให้ดี ทำให้ดี
บางคนบอกว่า ทรัพย์ภายในดีกว่าทรัพย์ภายนอกจริงไหม?
ทรัพย์ภายในกับทรัพย์ภายนอกจะต้องเป็นของคู่กันไปตามภูมิ
ทำไมทรัพย์ภายในจึงต้องเรียกว่าอริยทรัพย์ เป็นทรัพย์อันประเสริฐ เพราะอะไร?
เป็นเพราะว่าอริยทรัพย์จะอยู่คงทนกว่า สิ่งที่ตามมาทุกข์น้อยกว่า ทรัพย์ภายนอกสิ่งที่ตามมาย่อมมีทุกข์ เพราะเราแลกเปลี่ยนด้วยความทุกข์มา แต่ถ้าอริยทรัพย์เป็นทรัพย์สัมมา
แต่ถ้าเราไปเล่นการพนันก็ได้ทรัพย์สินมา แต่เราจะต้องแลกด้วยอะไรมา? แต่สมมติว่า เราไปขายน้ำเต้าหู้ เราก็ได้เงินมา แต่เงินที่ได้มาเราสบายใจกว่าเยอะ แต่ถ้าเป็นการพนันเราจะต้องเสียแน่นอน มันร้อน เพราะเราอยากได้ๆ เราจะทนไม่ได้ เดี๋ยวเราจะต้องเล่นต่อ เพราะสร้างนิสัยให้แก่เรา
ทำไมเราจะได้ทรัพย์ภายใน อริยทรัพย์มาจะต้องลำบาก ต้องข่มจิตข่มใจ จะต้องทวนกระแสถึงจะได้อริยทรัพย์มา แต่ทรัพย์ภายนอก เราจะต้องไปตากแดด ระกำลำบากเราถึงจะได้ทรัพย์สินมา มันแตกต่างกันยังไง?
ทำเหตุเช่นใดย่อมได้ผลตามเหตุเช่นนั้นๆ เราหามาได้ด้วยความยากลำบาก สิ่งที่จะสูญหายไปก็ด้วยความยากลำบาก เราหามาด้วยความง่าย สิ่งที่จะสูญหายไปก็ย่อมง่าย ถูกต้องไหม?
อะไรจะมาเป็นตัวบ่อนทำลายตัวศรัทธาของเราลง ให้เสื่อมศรัทธาลง และตัวไหนที่จะมาทำให้เราเกิดความเลื่อมใสศรัทธามากขึ้น?
ตัวที่จะมาบั่นทอนศรัทธาจากตัวเราที่สุด คือ อหังการ พอเราอหังการเราจะนึกว่าตัวเราเก่ง ก็จะทำให้ศรัทธาสิ่งนั้นอ่อนลงทันที
สิ่งที่จะมาเป็นตัวบั่นทอนศีล ก็คือตัวอหังการ
สิบความร้ายกาจที่สุดก็คือตัวอหังการ
คำว่า "อริยทรัพย์ เป็นทรัพย์อันประเสริฐอยู่ภายในจิตใจ ดีกว่าทรัพย์ภายนอกเพราะไม่มีผู้ใดแย่งชิง ไม่สูญหายไปด้วยภัยอันตรายต่างๆ ทำใจให้ไม่อ้างว้าง ยากจน และเป็นทุนสร้างทรัพย์ภายนอกได้ด้วย"
"อริยทรัพย์ เป็นทรัพย์อยู่ภายในจิตใจ" คำนี้ ทำให้อริยทรัพย์ฟังดูแล้วต่ำมาก
อริยทรัพย์ เป็นทรัพย์ที่ก่อเกิดทรัพย์ภายนอกที่มั่นคงได้
ยกตัวอย่าง ถ้าคุณมีอริยทรัพย์ รู้จักนำปัญญาไปประกอบอาชีพทำมาหากิน ทรัพย์สินเราเก็บไว้ได้นาน แต่ถ้าก่อเกิดภายนอก เราไปทำธุรกิจก็ดี แต่ถ้าเราไม่มีปัญญาแต่ไปทำธุรกิจจะดีไหม? มีปัญญาย่อมดีกว่า ถ้าเราไม่มีอริยทรัพย์แป๊บเดียวบริษัทของเราก็จะเจ๊ง!!
เราต้องพูดให้คนอื่นมองตรงไหนนี้ถึงจะดี แต่ถ้าเราไปพูดว่า อริยทรัพย์มีอยู่แต่ภายในจิตใจเท่านั้น ก็หมดความหมาย คนทั่วไปเลยไม่เอากัน เพราะไม่ได้ส่งผลข้างนอกกัน คนทั่วไปคิดว่าข้างนอกนี้หามาได้ก็คือใช่ แต่หารู้ไม่สิ่งที่ใช่จริงต้องเกิดจากข้างใน คุณถึงจะได้จริง ถ้าไม่อย่างนั้นคุณจะไม่ได้จริง
คนทั่วไปไปแปลอริยทรัพย์ไม่มีคุณค่าไปเลย เราต้องแปลใหม่ว่า อริยทรัพย์สำคัญมากเลย คนเราถ้าขาดอริยทรัพย์เหมือนกับเดินข้างเดียวขาเป๋ ถ้าเราขาดธรรมะเดินไปข้างเดียว ทำอะไรเดินไปไม่รอด คุณจะใหญ่แค่ไหน เดี๋ยวคุณก็จบ ฉะนั้นเราจะต้องมีข้างในถึงจะแข็งแรง
คุณขาดอริยทรัพย์ ธนทรัพย์จะพังฉิบหาย ถ้าคุณมีอริยทรัพย์จะรักษาธนทรัพย์ได้อย่างยั่งยืนกว่า
เวลานี้เราจะต้องเน้นให้เขาได้รู้ว่าอริยทรัพย์นี้มันสำคัญยังไง ถ้าคุณขาดอริยทรัพย์ ทรัพย์สินข้างนอกไม่แข็งแรงอยู่ไม่คงทน
คนเราติดที่รูป ติดที่ตา แล้วสิ่งที่มองไม่เห็นล่ะ แล้วจับต้องไม่ได้ล่ะ เราก็จะไม่ให้ความสำคัญใช่ไหม?
ยกตัวอย่าง เชื้อโรคเรามองเห็นไหม? ก็มองไม่เห็น แล้วเชื้อโรคสำคัญไหม? ก็สำคัญ แล้วเรามองเห็นไหม? ก็มองไม่เห็น เชื้อโรคนั่นแหละจึงทำให้เราเป็นโรคต่างๆ เจ็บป่วยต่างๆ นาๆ นั่นแหละ อย่างเดียวกัน
ถ้าเราขาดอริยทรัพย์ เราจึงไม่แข็งแรง
ถ้าแปลว่าอริยทรัพย์ แปลว่า ทรัพย์ที่อยู่ในจิตใจ อย่างนี้มันคนละเรื่องกันเลย
อริยทรัพย์ ที่มั่นคง แข็งแรง เป็นกุศล ทำให้ธนทรัพย์อยู่ยั่งยืนกว่า ถ้าเราขาดอริยทรัพย์เหมือนกับต้นไม้ขาดรากเราก็ตาย
เราลองหันไปมองดู บริษัท CP เขาเอาอริยทรัพย์ไหม? ธนาคารกสิกรเอาอริยทรัพย์ไหม? ธนาคารกรุงเทพเอาอริยทรัพย์ไหม? ธนาคารใหญ่ๆ เขาเอาอริยทรัพย์ทั้งนั้น ถ้าไม่มีอริยทรัพย์คุณอยู่ไม่ได้
ยกตัวอย่าง โครงการในหลวงช่วยเหลือประชาชน หรือโครงการช่วยเหลือประชาชนต่างๆ แล้วมีบริษัทใหญ่ๆ ไปหนุน ไปช่วยเหลือ มีจิตอาสาไปทำ จึงทำให้บริษัทใหญ่ๆ ดำรงอยู่ได้
อริยทรัพย์เปรียบเสมือนอวัยวะภายในร่างกายของเรา ที่ทำให้ร่างกายข้างนอกของเราแข็งแรง เราขาดอริยทรัพย์เหมือนกับเครื่องในของเราไม่แข็งแรง ทำให้ร่างกายของเราไม่แข็งแรงได้
คุณไม่มีอริยทรัพย์ เป็นหลักมั่นคงไว้ ทรัพย์ภายนอกมีเท่าไหร่ก็ไม่มั่นคง เปรียบเสมือนร่างกายใหญ่แค่ไหนก็จบ ไม่แข็งแรง
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) กล่าวว่า "ธรรม 7 นี้ เรียกอีกอย่างว่า พหุการธรรม หรือ ธรรมมีอุปการะมาก (virtues of great assistance; D.III.282; ที.ปา. 11/433/310) เพราะเป็นกำลังหนุนช่วยส่งเสริมในการบำเพ็ญคุณธรรมต่างๆ ยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้สำเร็จได้อย่างกว้างขวางไพบูลย์ เปรียบเหมือนคนมีทรัพย์มาก ย่อมสามารถใช้จ่ายทรัพย์เลี้ยงตนเลี้ยงผู้อื่นให้มีความสุข และบำเพ็ญประโยชน์ต่างๆ ได้เป็นอันมาก"
ฉะนั้น เราต้องมีอริยทรัพย์จึงจะค้ำจุน เกื้อหนุนธนทรัพย์ให้มั่นคงแข็งแรงได้
ถ้าเราจะบอกอริยทรัพย์สำคัญกว่าธนทรัพย์ได้ไหม?
ตอบว่า ไม่ได้ เพราะว่า อริยทรัพย์กับธนทรัพย์สำคัญทั้งคู่ เปรียบเหมือนขาสองข้างที่จะต้องเดินไปพร้อมกัน ถ้าคุณขาดขาข้างใดข้างหนึ่งก็จะพิการ