พระดร.เรียนทางโลก ยิ่งเข้าใจสังคมมากขึ้น ยิ่งอัพเกรดพุทธศาสนา
พระดร.เรียนทางโลก ยิ่งเข้าใจสังคมมากขึ้น ยิ่งอัพเกรดพุทธศาสนา
จากกรณี อ.สุจินต์ บริหารวนเขตต์ นักบรรยายธรรม มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.) ได้นำเสนอประเด็นเรื่อง "พระดร.พระเรียนหนังสือทางโลก บวชทำไม" คำพูดของพระพุทธเจ้าตรัสว่า พระภิกษุเรียนวิชาทางโลกเหมือนคฤหัสถ์ต้องอาบัติ เป็นโทษ ความรู้ทางโลกเรียนก่อนบวช ไม่ใช่บวชแล้วไปเรียน
ท่าน อ.สุจินต์ กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องรู้จักคำว่า "บวช" บวชทำไม? บวชเพื่อสละ ละขัดเกลากิเลสเพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรม นี่คือจุดประสงค์ของการบวช แต่บวชแล้วไปเรียนวิชาทางโลก แล้วบวชทำไม?
แล้วใครต้องการเป็น ดร. ดร.ท่านพระอานนท์หรือคะ หรือ ดร.ท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระเถระเหล่านั้นเรียนวิชาทางโลก เป็น ดร.ไหม ไม่เลย เพราะฉะนั้นไม่มีความหมายเลยสักนิดเดียว ถ้าเป็นผู้บวช เพราะบวชคือ สละ ละหมด พระภิกษุเรียนวิชาทางโลกได้ ดร.ทำไม เพื่อได้ ไม่ใช่เพื่อละ บวชทำไม ถ้าเข้าใจว่าภิกษุคือใคร บวชคืออะไร ดังนั้นภิกษุเรียนแบบระบบวิชาการทางโลกมีปริญญาตรี โท เอก มีทำงานวิจัย วิชาบริหาร วิชารัฐศาสตร์ เหมือนคฤหัสถ์เลย นี่แสดงถึงความประพฤติและการสะสมแบบไม่ใช่พระภิกษุแต่เป็นคฤหัสถ์ เพราะคฤหัสถ์จะเรียนอะไรก็ได้ เพราะไม่ใช่เพศบรรพชิตที่บวชมาเพื่อสละละทุกสิ่ง พระดร. ดร.อวิชชา เพราะทำไปด้วยความไม่รู้ พระเรียนหนังสือทางโลก วิกฤตพระพุทธศาสนา"
ขอตอบชี้แจงประเด็นเหล่านี้ ในกรณีเป็นพระแล้วไปเรียนระดับปริญญาตรี-โท-เอก เรียนสายโลกิยะนั้น
พระท่านสามารถบวชแล้วไปเรียนเพิ่มเติมได้ไม่ผิด เช่น เรียนที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) หรือมหาวิทยาลัยมหากุฏราชวิทยาลัย (มมร.) แต่ถ้าเป็นหลักสูตรของมหาวิทยาลัยสงฆ์นี้จะเรียนธรรมะควบคู่ไปกับทางโลก แต่ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยทางโลกเลย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ราชภัฏฯ ฯลฯ ก็จะสอนเน้นทางโลกเลย
อันนี้ต้องเข้าใจในยุคปัจจุบันว่า พระภิกษุสามเณรบางรูปเมื่อบวชแล้วก็จะลาสิกขา ท่านก็จะได้ดำเนินชีวิตให้ถูกต้องตามธรรม สิ่งเหล่านี้เป็นการเอื้อโอกาสให้กับบุคคลที่ไม่มีโอกาส ได้โอกาส ได้เรียนปกติ ที่จะได้รับปัญญาความรู้ทางนี้ ก็กลายเป็นว่าพระพุทธศาสนาส่งเสริม ส่งพระภิกษุสามเณรได้ร่ำเรียนวิชาทางโลกและทางธรรม เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นการเปิดกว้าง เพราะว่าท่านฯ อาจจะไม่ได้เป็นพระสงฆ์ตลอด บางรูปเรียนจบแล้วก็ลาสิกขาไปเป็นฆราวาส
แต่ถ้าหากว่าเราย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา ทางวัดก็จะมีการเรียนการสอนวิชาทางโลก เช่น หมัดมวย ศิลปาชีพต่างๆ จะเป็นคนละอย่างกัน คือ
ที่วัดสอนหมัดมวยนี้จะเป็นสำนักคล้ายแบบเดียวกับวัดเส้าหลิน (少林寺) ไม่ใช่ว่าจะเป็นวัดทั่วไป มีสอนกันเป็นเฉพาะบางวัดเท่านั้น แต่ทางราชสำนักก็ไม่ห้ามกลับส่งเสริมซะอีก แต่ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่วัดทั่วไปต้องเข้าใจตรงนี้ เช่น พระอาจารย์ท่านนี้ท่านเก่ง จำเป็นต้องช่วยบ้านเมือง ก็เหมือนกับพระอาจารย์โชติ ธรรมโชติรังษี ชาวเมืองสุพรรณ ในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ท่านพำนักอาศัยอยู่ ณ วัดเขานางบวช ต่อมาชาวบ้านบางระจันได้อาราธนาไปพำนักอยู่ ณ วัดโพธิ์เก้าต้น จังหวัดสิงห์บุรี ท่านจะมีวิทยาอาคมสูง และทางด้านผ้าประเจียด ตะกรุดพิสมร ท่านก็จะแจกจ่ายให้กับนักรบค่ายบางระจัน เป็นต้น
สำหรับคุณยาย อ.สุจินต์ บริหารวนเขตต์ พูดมานั้นก็ถูกอยู่ แต่เข้าใจไม่ครบ คือ ณ เวลานี้ ยุคสมัยนี้วงการการศึกษาได้เปิดกว้างขึ้น คือ เปิดโอกาสสำหรับคนที่ไม่มีโอกาสได้รับโอกาสให้ได้เรียนระดับปริญญามากขึ้น พอเรียนแล้วถึงจุดหนึ่ง มีเหตุจำเป็นที่จะไปเป็นฆราวาสแล้ว ท่านก็จะได้มีพื้นฐาน มีความรู้ติดตัวไปอยู่ทางโลก แต่ไม่ใช่ว่าท่านใฝ่ฝันปรารถนาเรียนจบแล้วจะมาอยู่ทางโลก
แต่ที่ท่านคุณยาย อ.สุจินต์ พูดมานั้นก็ถูกอยู่ แต่กาลสมัยเปลี่ยนไป พระพุทธเจ้ายังรู้เลยว่า กาลต่อไปจะต้องอะไรบางอย่างที่จะมีการเปลี่ยนแปลง พระองค์ยังทรงอนุญาตให้เปลี่ยนแปลงสิกขาบทได้ ดังที่ปรากฏในสังคยนาคร้งที่ ๑ ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ ได้ชี้แจงต่อพระเถระทั้งหลาย ว่า "ท่านเจ้าข้า... เมื่อจวนจะปรินิพพาน พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกับข้าพเจ้า ว่า ‘ดูกรอานนท์ เมื่อเราล่วงไป สงฆ์หวังอยู่ จะพึงถอนสิกขาบทเล็กน้อย เสียก็ได้’"
ฉะนั้น จะต้องเข้าใจให้ครบถ้วนขึ้น อ.สุจินต์ก็พูดถูก พระสงฆ์ที่ออกมาชี้แจงก็พูดถูก ถ้าเข้าใจทั้ง ๒ ข้างก็ไม่เห็นผิดตรงไหน เราต้องเข้าใจทั้ง ๒ ด้าน
พระสงฆ์ควรจะออกมาอธิบาย ชี้แจงให้เข้าใจ ไม่ใช่บอกว่าคุณยายสุจินต์กล่าวผิด เพราะคุณยายไม่ได้พูดผิด เพียงแต่ว่าท่านเข้าใจไม่ครบถ้วนเท่านั้นเอง
พระภิกษุ สามเณร เรียนทางโลกไม่ถือว่าเป็นวิกฤติพระพุทธศาสนาเลย
แต่ถ้าวิกฤติของพระพุทธศาสนานั้นคือ
๑. ไม่ศึกษาปฏิบัติคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
๒. ไม่ยอมศึกษาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างถ่องแท้ คือ เอาแต่คติของตัวเองเข้าไปปนกับคำสั่งสอนแล้วก็ถือเอาเป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะข้อนี้อันตรายมาก!!
ที่อาจารย์สุจินต์ห่วงใยนั้นไม่ได้เป็นวิกฤติของพระพุทธศาสนาเลย
บางคนอาจกล่าวว่า ถ้าท่านเรียนวิชาทางโลกไปแล้วไม่ลาสิกขาก็ไม่มีประโยชน์นะสิ?
สิ่งที่ท่านเรียนวิชาทางโลกนั้นก็มีประโยชน์อยู่ เพราะการรู้ทางโลกก็เป็นปัญญาตัวหนึ่ง ซึ่งจะเข้าใจอีกข้างหนึ่งได้ เข้าใจทางธรรมได้ คือ
๑. เข้าใจในสายงานอาชีพของตนได้ เข้าใจธรรมะสายปฏิบัติงานของตนได้
๒. รู้ถึงจริตของบุคคลต่างๆ ได้ และสังคม สิ่งแวดล้อมได้
๓. เป็นการอัพเกรดพระพุทธศาสนาได้ เช่น ถ้าเราศึกษาวิทยาศาสตร์มาเรามีความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ เราก็เอามาประยุกต์หลักธรรมได้ เอามาถามตอบได้ เพราะบางครั้งถ้าพระสงฆ์มีความรู้หลากหลายสาขาวิชาการต่างๆ ก็จะสามารถอธิบายธรรมะได้อย่างฉะฉาน แตกฉาน ละเอียดละออได้ ยกตัวอย่างเช่น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ปราชญ์พระพุทธศาสนายุคปัจจุบัน เป็นต้น ท่านใช่ว่าจะมีความรู้เฉพาะพุทธศาสนาอย่างเดียวเท่านั้น ท่านก็ยังรู้ทางโลกด้วย
ถ้าเรารู้วิชาการต่างๆ อย่างหลากหลายเราก็จะสามารถอธิบายสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เวลาอธิบายก็จะมีการอธิบาย สาธก ยกตัวอย่าง อุปมาอุปไมย เหตุการณ์ เรื่องราว ทำให้คนเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งนี้สามารถทำให้คนเข้าใจสิ่งนั้นอย่างถ่องแท้ยิ่งขึ้น วิเคราะห์อะไรก็ชัดเจนขึ้น เพราะรู้อย่างหลากหลาย
แม้ว่ามีบุคคลมาพูด ยกข้อธรรมอย่างนั้นอย่างนี้ หรือเหตุการณ์ วิชาการ มาอ้าง ถ้าเราไม่รู้เราก็ไม่สามารถตอบปัญหาเขาได้ แต่ถ้าเรารู้เรื่องเราสามารถที่จะเอามาเทียบเคียงกันได้ อธิบายได้
มีเห็นว่าการที่พระสงฆ์เรียนทางโลกกลับว่าดี เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง แต่ควรจะต้องมีว่า "เราจะนำความรู้ที่ได้นั้นไปใช้ยังไง มากกว่าที่จะบอกว่าห้ามเรียน"
ยกตัวอย่าง พระบางรูปก็ชอบเรียนวิชากฎหมาย นิติศาสตร์ เป็นต้น ก็ดีเหมือนกัน ท่านก็จะเข้าใจสังคมมากขึ้น กฎหมายนี้สังคมใช้ ถ้าเราเข้าใจ เราก็จะเข้าใจสังคมมากขึ้น เราเข้าใจสังคมมากขึ้นเราก็จะสอนธรรมะได้ดีขึ้น เป็นคุรุที่ดีได้ เราต้องคิดให้กว้าง อย่าคิดแคบ
แล้วพระที่เรียนแล้วอยากลาสิกขาไปสมัครเป็นผู้พิพากษาหรือทนายความล่ะ?
ก็ดีเลย ได้เลย เพราะว่าท่านจะมีพื้นฐานแห่งธรรมะ ท่านก็จะสามารถไปช่วยเหลือคนได้ เป็นที่พึ่งของคนอื่นได้ แต่ถ้าหากว่าท่านเป็นพระอยู่ก็จะไปว่าความให้เขาไม่ได้ แต่ถ้าลาสิกขาไป ใจเป็นพระ แต่กายเป็นฆราวาส ก็สามารถไปว่าความช่วยเหลือคนอื่นได้ นี่แหละ ดีแล้ว น่าส่งเสริม พระเรียนทางโลกไม่เห็นผิดตรงไหน น่าส่งเสริมดีซะอีก
ถ้าหากว่ามีทนายความใจพระเยอะก็ยิ่งดี ชาวบ้านก็จะมีที่พึ่งพิง ไม่โดนทนายบางคนเขกหัวอยู่เรื่อย
เราต้องคิดเช่นนี้ เรามองอะไรอย่ามองแคบ และที่สำคัญเปิดใจให้กว้าง เราอย่าใจแคบ
เราต้องถือคติว่า "อย่ามองว่าเขาผิด แต่ให้มองว่าเขาขาด" เช่น บางคนที่ทำผิด เพราะเขาขาดคนชี้แนะ อย่างเช่น ยายท่านคิดอย่างนี้ อาจจะไม่มีคนบอกท่านก็ได้ ไม่มีคนอธิบายว่า ทำไมคนที่สร้างมหาวิทยาลัยสงฆ์ท่านมีเจตนาอย่างไร? เพราะอะไร?
อย่างเช่น ร.๕ สร้างมหาจุฬาฯ ขึ้นมาเพื่อให้เป็นทางเลือกหนึ่ง บุคคลที่เขาไม่มีปัญญา หรือบุคคลที่ด้อยโอกาส ทุนการศึกษาน้อย ให้มีโอกาสได้เรียน บางคนสมัยเมื่อก่อน มักจะไปบวชพระ พอบวชเป็นพระ เช่น อยู่เป็นพระสัก ๕ ปี แล้วลาสิกขาออกมาก็ไม่มีความรู้เลย แต่ถ้าเรามีมหาวิทยาลัยฯ ให้ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนท่านก็จะมีความรู้ ถ้าท่านลาสิกขาออกมา เช่น
๑. ได้ประกอบอาชีพ
๒. ได้ช่วยสังคม บางคนเก่งมากได้กลายมาเป็นครูบาอาจารย์ เช่น ศ.พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต อ.สุชีพ ปุญญานุภาพ อ.วศิน อินทสระ ศ.แสง จันทร์งาม เป็นต้น
ครูบาอาจารย์ที่มีใจพระดีกว่า ดังที่กล่าวข้างต้น ถ้าเรียนนิติศาสตร์ แม้สึกออกมาแล้วมาเป็นทนายความถ้าได้เป็นถึงผู้พิพากษา ได้คนที่มีใจเป็นพระไม่ดีกว่าเหรอ? ฉะนั้น อย่าปิดกั้นโอกาส ถ้าเราปิดกั้นโอกาสก็จะกลับกลายเป็นว่า เอาทนายใจพระมาอยู่กับคน เพราะเราไปปิดโอกาส
เพราะในชีวิตจริงไม่ใช่มีด้านศาสนาอย่างเดียว ยังมีตัวอื่นด้วย เพราะอยู่ในสังคม สังคมย่อมมีทุกๆ ด้าน
^_^ ..._/_... ^_^
ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกกล่าวมา
อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต