มาฆะบูชา ประกาศหัวใจพุทธศาสนา


<
มาฆะบูชา ประกาศหัวใจพุทธศาสนา

มาฆบูชา เป็นการประกาศถึงหัวใจของพุทธศาสนา ภาระกิจของศาสนา เส้นทางประกอบกิจของพุทธศาสนา

โอวาทของพระพุทธเจ้า เป็นการให้ดำรงเส้นทางให้ถูกต้องอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่มีหลักคนก็จะออกนอกเส้นทาง ถ้าไม่อย่างนั้นก็จะเอาศาสนาไปทำสงคราม ถ้าออกนอกเส้นทางก็จะเดือดร้อน

วันมาฆบูชาเพื่อให้ระลึกถึงเส้นทางที่พระพุทธเจ้าประกาศไว้ เราเป็นสาวก เป็นชาวพุทธ เราก็จะต้องเดินตามเส้นทางของพระพุทธเจ้า เรียกว่า เจริญรอยตามพระบาทของพระศาสดา จึงเป็นที่มาของรอยพระพุทธบาท ซึ่งความหมายก็คือ ให้เจริญตามรอยเท้าของพระพุทธเจ้า ถ้าเราเดินรอยตามพระพุทธเจ้า ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า เราไม่ออกนอกลู่นอกทาง เราก็ปลอดภัย เราไม่เดือดร้อน ถ้าเราออกนอกเส้นทาง เราก็จะเดือดร้อน พุทธศาสนาเดือดร้อนทุกย่อมหญ้า ฉะนั้น เราก็ควรที่จะสำนึกอย่าออกนอกเส้นทาง จะต้องเดินตามรอยพระพุทธเจ้า จึงมีความปลอดภัย

วันมาฆบูชานี้ มีเหตุการณ์อัศจรรย์ เรียกว่า วันจาตุรงคสันนิบาต แปลว่า การประชุมด้วยองค์ ๔

คำว่า "จาตุรงคสันนิบาต" แยกศัพท์ได้ดังนี้ คือ

"จาตุร" แปลว่า ๔

"องค์" แปลว่า ส่วน

"สันนิบาต" แปลว่า ประชุม

ฉะนั้นจาตุรงคสันนิบาตจึงหมายความว่า "การประชุมด้วยองค์ ๔" ดังนี้

๑. พระสงฆ์สาวก จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน

๒. พระสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" พระพุทธเจ้าประทานบวชให้

๓. พระสงฆ์เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นพระอรหันต์ ทรงอภิญญา ๖

๔. เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวง กำลังเสวยมาฆฤกษ์ ๑๕ ค่ำ เดือน ๓

เมื่อเกิดเหตุอัศจรรย์ ทั้ง ๔ อย่างนี้ พระพุทธเจ้าจึงถือโอกาส ประกาศจุดยืน หลักการพระพุทธศาสนา มีใจความสำคัญมีดังนี้

หลักการ ๓

๑. สัพพะปาปัสสสะ อะกะระณัง คือ การไม่ทำบาปทั้งปวง

๒. กุสะลัสสูปะสัมปะทา คือ การทำกุศลให้ถึงพร้อม

กุศล คือ สร้างเหตุให้สัปปายะพร้อมเกิดสิทธิที่จะได้รับโอกาส เพื่อให้ได้รับปัญญา เข้าใจรู้ถึงธรรมต่างๆ เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้

กุศลนี้ทำให้เราเกิดพบปะกัลยาณมิตร หรือผู้มีวาสนาบุญต่อกัน ผู้หวังดีต่อกัน ซึ่งมาเอื้อ-เกื้อ-กันและกัน

ปัญญาที่รู้ข้อที่ตนผิดพลาดและแก้ไขใหม่ให้ดีถูกต้องเจริญตามธรรม หมายถึง การที่เรารู้ข้อผิดพลาดของตน เช่น การกระทำ พีามฤติกรรมที่ไม่ดี นิสัยที่ไม่ดีของตน แล้วแก้ไขการกระทำ พฤติกรรม นิสัยของตนให้ดีถูกต้องตามครรลองครองธรรม ชื่อได้ว่าเป็นกุศล หรือพูดง่ายๆว่า เราทำผิด ยอมรับผิด แล้วแก้ไข ไม่ทำผิดอีกต่อไป ชื่อว่ากุศล (กรรมที่ทำให้เราเจริญ)

อกุศล แปลว่า ไม่ฉลาด, บาป, ชั่ว, ไม่รู้ข้อผิดพลาดของตนและยังทำชั่วต่อไป ซึ่งตรงข้ามกับกุศล (กรรมที่ทำให้เราเสื่อมในธรรม)

ความสัมพันธ์ระหว่างบุญก่อเกิดกุศล กุศลทำให้เกิดบุญ คือ ความอิ่มเอิบใจว่าเราได้ทำดี ส่งผลให้เราประจักษ์ว่าสิ่งนี้ดียังไง มีอะไรดีต่อตัวเรา เราได้รับผลแห่งสิ่งนั้นดียังไง พอซึ้งประจักษ์แล้วส่งผลอะไร? มั่นใจทำมากขึ้น กลายเป็นกุศล กลายเป็นมีโอกาสที่จะทำบุญมากขึ้น

อานิสงส์กุศล
๑. กุศลมี ได้โอกาส
๒. มีปัญญา
๓. นำมาวิเคราะห์ ทำความเข้าใจเหตุกับผล
๔. วิเคราะห์ถึงเหตุ ผล
๕. เจริญโยนิโสมนสิการให้ละเอียดขึ้น
๖. รู้ประจักษ์ กระจ่าง
๗. เอาสิ่งที่ประจักษ์ไปทำ
๘. สิ่งที่ทำมาวิเคราะห์เหตุและผล
๙. เจริญการแก้ไข ลด/เพิ่ม
๑๐. เข้าสุ่การปฏิบัติอย่างแน่วแน่ ชัดเจน จริงจัง จริงใจ เด็ดขาด (จจด.)
๑๑. เสริมทางตบะ
๑๒. สรุปผลที่ได้ขณะนั้นเป็นอย่างไร

วนเป็นรอบๆ

๓. สะจิตตะปะริโยทะปะนัง คือ การทำจิตให้ผ่องใส

ทำจิตใจให้ผ่องใส หมายถึง มีสติสัมปชัญญะทำจิตใจให้ระมัดระวังความชั่ว ความผิด เพราะว่า ถ้าเราไปย่ำกรายกับความทุกข์เราย่อมเกิดทุกข์ เหตุเพราะว่าการทำอกุศลจะทำให้เกิดทุกข์ ผลก็คือทุกข์ และคำว่า "บริสุทธิ์" บริสุทธิ์จากความชั่ว ความคิดที่ชั่ว การกระทำที่ไม่ดี อกุศล

อุดมการณ์ ๔

๑. ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา คือ ความอดทน ได้แก่ ความอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งทางกาย วาจา ใจ

ขันติ (patience: forbearance; tolerance) คือ การทดต่อการยั่วยุ ของกิเลส หรือทางอกุศล ผู้ไม่หวังดี ครอบงำเรา ถ้าเรามีขันติเราก็จะไม่ถูกสิ่งนั้นมาครอบงำเรา เราขันติกับพระพุทธเจ้า เชื่อในพระพุทธเจ้า มีหัวใจ ๕ กับพระพุทธเจ้า (กตัญญู ศรัทธา เชื่อมั่น หนักแน่น มั่นคงบ) ขันติมีความมั่นคงต่อคำสั่งสอนของพระพุุทธเจ้า ไม่หวั่นไหวตรงนี้ เราก็จะไม่ออกนอกหลู่นอกทาง เราก็จะปลอดภัย

พอเรามีขันติมากๆ ก็จะกลายเป็นตบะ ก็คือ สิ่งที่เราทำได้แล้ว ตบะก็จะมาเป็นเกราะป้องกันให้เราไม่ให้หลง เหมือนเป็นเซฟ-ที-คัท (Safe-t-cut) ให้เรา ยิ่งมีตบะ (religious austerity) มากเท่าไหร่ก็จะเป็นเกราะป้องกันให้เราได้มากเท่านั้น

ไม่ใช่ยิ่งมีขันติมากเท่าไหร่แล้วจะทนได้ อย่างนี้ไม่ใช่ แต่ว่า ถ้าเราทำขันติมากๆ แล้วก็จะกลายเป็นตบะ

ขันติ เป็นภาคปฏิบัติ ตบะเป็นการรวบรวมให้เป็นพลัง

ขันติ คือ ความอดทน อดทนต่อการยั่วยุ ทั้งทางนามและรูป ทางนามก็คือ มีสิ่งมายั่วยุแหย่ความคิดเรา ทางรูป ก็คือกระทำให้เราเห็นเลย เช่น คนนี้รวยมากๆ เราก็อยากรวยกับเขา แต่รวยด้วยความมิจฉา ไม่ถูกต้อง ถ้าเราไม่ขันติ เราก็จะทำชั่วก็ได้ว่ะ..!! เป็นต้น

๒. ความไม่เบียดเบียน ได้แก่ การงดเว้นจากการทำร้าย รบกวน หรือ เบียดเบียนผู้อื่น

๓. ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง คือ ความสงบ ได้แก่ ปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ

๔. นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา คือ นิพพาน หมายถึง เป็นเป้าหมาย ประกาศอย่างชัดเจนว่าพระองค์ท่านมุ่งทางนี้

นิพพานเป็นบรมธรรมอันสูงสุด ซึ่งนิพพานนี้เป็นเป้าหมาย ยกตัวอย่าง เราจะเดินทางไปที่วัดห้วยปลากั้ง จ.เชียงราย สิ่งนี้เป็นเป้าหมาย เราก็เดินทางไปให้ได้ คือ เราจะต้องมีการประกาศเป้าหมาย นี่เป็นจริตของมนุษย์ มนุษย์ถ้าหากว่าไม่รู้ว่าไปไหน ก็จะเคว้งคว้าง ไม่มีความมานะอดทน อยากหยุดก็หยุด เช่น หยุดข้างทาง หรือเดินออกนอกเส้นทางอยู่เรื่อยๆ เป็นต้น เราก็จะเพลิดเพลินไม่อยากเดินทางล่ะ ฉะนั้น เราจะต้องมีเป้าหมายชัดเจน มีเวลากำกับ เราก็จะต้องทำให้ได้ มีเป้าหมาย (Goal) มีตัวมุ่งมั่นมากำกับเราให้ไปให้ถึง ฉะนั้น การมีเป้าหมายมีความสำคัญ เราก็จะสนุก เหมือนกับเวลาผ่านไปรวดเร็วมาก


วิธีการ ๖

๑. อะนูปะวาโท ไม่ว่าร้าย ได้แก่ ไม่กล่าวให้ร้ายหรือ กล่าวโจมตีใคร

๒. อะนูปะฆาโต ไม่ทำร้าย ได้แก่ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น

การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย แม้แต่ในความคิด แม้ว่าบางครั้งเราไม่ได้พูดออกมา แต่ความคิดของในก็ไม่กล่าวร้าย ไม่ทำร้ายบุคคลอื่น ต้องคอยตรวจสอบ

นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี แปลว่า ผู้ทำร้ายคนอื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต

นักบวชหรือบรรพชิต จะต้องมีการเปล่งวาจา ตั้งสัจจะอธิษฐาน ปณิธาน ปฏิญาณตน เช่น ถือวินัย ๑๐ ถือวินัย ๒๒๗ ข้อ ถือวินัย ๓๑๑ ข้อ เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ทำร้ายใคร ถ้าหากว่าผิดคำสัจจะสัญญา ก็ไม่ใช่นักบวชหรือบรรพชิต

สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต แปลว่า ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ

สมณะ คือ ผู้สงบ ผู้ตั้ังจิตบำเพ็ญ แต่ถ้าไปเบียดเบียนคนอื่นแสดงว่าตนเองผิดวาจาไว้ว่าจะต้องไปช่วยเหลือคนอื่น กลับมาเบียดเบียนคนอื่น ทางพระสงฆ์ท่านจึงกินง่าย อยู่ง่าย เพื่อที่จะไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ชาวบ้าน

๓. ปาติโมกเข จะ สังวะโร แปลว่า สำรวมในปาติโมกข์ อันได้แก่ ปาริสุทธิศีล ๔ (ศีลคือความบริสุทธิ์, ศีลเครื่องให้บริสุทธิ์, ความประพฤติบริสุทธิ์ที่จัดเป็นศีล - morality consisting in purity; morality for purification; morality of pure conduct)

๑) ปาฏิโมกขสังวรศีล (ศีลคือความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ เว้นจากข้อห้าม ทำตามข้ออนุญาต ประพฤติเคร่งครัดในสิกขาบททั้งหลาย - restraint in accordance with the monastic disciplinary code)

๒) อินทรียสังวรศีล (ศีลคือความสำรวมอินทรีย์ ระวังไม่ให้บาปอกุศลธรรมครอบงำเมื่อรับรู้อารมณ์ด้วยอินทรีย์ทั้ง ๖ - restraint of the senses; sense-control)

ให้ระมัดระวังว่าอย่าทำอะไรให้เกิดกว่าเหตุ เกินกว่าความเหมาะสม

๓) อาชีวปาริสุทธิศีล (ศีลคือความบริสุทธิ์แห่งอาชีวะ เลี้ยงชีวิตโดยทางที่ชอบ ไม่ประกอบอเนสนา มีหลอกลวงเขาเลี้ยงชีพเป็นต้น - purity of conduct as regards livelihood)

๔) ปัจจัยสันนิสิตศีล (ศีลที่เกี่ยวกับปัจจัย ๔ ได้แก่ ปัจจัยปัจจเวกขณ์ คือ พิจารณาใช้สอยปัจจัยสี่ ให้เป็นไปตามความหมายและประโยชน์ของสิ่งนั้น ไม่บริโภคด้วยตัณหา - pure conduct as regards the necessaries of life)

๔. มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง รู้จักประมาณ ได้แก่ รู้จักความพอดีในการบริโภคอาหารหรือการใช้สอยสิ่งต่าง ๆ

โภชะเน มัตตัญญุตา (ความรู้จักประมาณในการบริโภค คือรู้จักพิจารณารับประทานอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกายใช้ทำกิจให้ชีวิตผาสุก มิใช่เพื่อสนุกสนาน มัวเมา— moderation in eating)

ทำไมพระพุทธเจ้าถึงมาเน้นในการกินอาหาร ไม่เน้นการสะสมอย่างอื่น เพราะว่า อาหารนี้เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ชิดตัวเรามากที่สุด อยู่ในชีวิตประจำวันของเราเลย ถ้าเราสามารถทำได้กับชีวิตประจำวันเราได้ แสดงว่าสิ่งอื่นๆ อย่างอื่นๆ ก็จะสามารถทำได้ง่าย สบายมาก บางคนกินอาหารมาก เพราะถูกตัว "ชอบ" ครอบงำ ก็เลยกินมาก ถ้าตัวการกินระวังไม่ได้ ก็จะเป็นการเพิ่มกิเลสตัวอื่นๆ ด้วย เพราะตัวนี้เป็นตัวด่านแรก สำคัญมาก เพราะว่าเราจะต้องเจอทุกวัน ถ้าตัวนี้ทำไม่ได้ ตัวอื่นก็จะทำไม่ได้ นิสัยก็จะหละหลวมไปหมด

๕. อยู่ในสถานที่ที่สงัด ได้แก่ อยู่ในสถานที่สงบมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ปลีกวิเวก (seclusion) แปลว่า ความสงัด มี ๓ อย่าง ดังนี้

๑) กายวิเวก (bodily seclusion) ความสงัดกาย ได้แก่ การไปอยู่สถานที่ ที่ใดก็ได้ที่ทำให้ใจของเราสงบได้

๒) จิตตวิเวก (mental seclusion) ความสงัดใจ ได้แก่ การหลีกเลี่ยงจากการถูกครอบงำ ควบคุม บงการ ของอารมณ์ธรรมต่างๆ โดยต้องใช้ปัญญามาแก้ไข

๓) อุปธิวิเวก (seclusion from the essentials of existence) ได้แก่ เจริญภาวนาพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนเข้าสู่ภาวะแห่งพระไตรลักษณ์ เพื่อนำไปสู่ความหลุดพ้นจากภาวะอัตตา ตัวตน เพื่อไปสู่เส้นทางแห่งพระนิพพาน

บุคลิกภาพของเราสันโดษ เช่น เราไปสถานที่หรือสิ่งแวดล้อมที่เขากำลังเต้นสนุกสนานกัน แต่เราไม่เต้นกับเขา เราหยุดนิ่ง นี่แหละบุคลิก เรามีบุคลิกของเรา พร้อมที่จะเข้าสู่ธรรม ธรรมข้อไหน ธรรมข้อที่ทำให้เราสงบ เราไม่ใช่ธรรมโลดแล่น คนนี้กำลังโกรธแล้วเราควบตัวของเราได้ เราไม่ไปบ้าจี้กับเขา ถ้าเราไปบ้าจี้กับเขาเราก็เสร็จ แต่พอเราปลีกวิเวก วิเวกจากไหน วิเวกจากโทสะ เราจะมีรูปลักษณ์ของคำว่าสันโดษ เราจะนิ่ง เราไม่ไปชี้หน้าด่าเขา ทำตัวให้เข้ากับภาวะธรรมนั้นๆ ภาวะธรรมนั้นๆ เราจะไม่โกรธ เราก็ต้องมีรูปแบบของสันโดษอย่างนั้น เราก็ไม่โลดแล่นอย่างเขา จะไปชี้หน้าด่าว่าเขา

ถ้าเราจะไปร้องเพลงบนเวทีเราจะสันโดษได้หรือไม่ แล้วเราจะร้องเพลงอะไร ถ้าเราจะร้องเพลง "น้ำตาลก้นแก้ว" ถ้าเราไม่สันโดษ เราก็จะตะโกน ร้องผิดคีย์ มันไม่ตรงกับภาวะธรรมนั้นๆ เราต้องมาดูว่าภาวะธรรมนั้นๆ ควรทำอะไร อย่างไร เจตนาอย่างไร เราก็ต้องทำตามภาวะธรรมนั้นๆ ถึงจะสันโดษ เราต้องมีสัมปชัญญะ คือ รู้ว่าตรงนั้นจะทำยังไงในภาวะธรรมนั้นๆ ที่ถูกต้อง พอเรารู้ว่าในภาวะธรรมนั้นๆ ควรทำเช่นใด เราก็จะสันโดษ ถ้าเราไปตะโกนร้องเพลง แล้วใครจะไปฟังเราร้องเพลง

๖. อธิจิตเต จะ อาโยโค คือ ให้หมั่นประกอบความเพียรในจิต หมายความว่า มองความคิดตัวเองและผู้อื่น จงเข้าใจ แล้วบริหาร

ข้อศึกษาปฏิบัติ ฝึกหัดทางจิตเพื่อให้จิตเกิดคุณธรรมที่ดี ไม่คล้อยตามสิ่งที่มายั่วยุให้เกิดการยึดติดในเวทนา ความรู้สึกสุขหรือทุกข์ คือ ตั้งใจก่อเกิดในขบวนการนั้น ความมีจิตใจตั้งมั่น

ไม่ว่าเราจะไปทางจิตเวช จิตวิทยา จิตศาสตร์ หรือจิตทางอภิธรรม ก็ต้องทำเช่นนี้

เราต้องเข้าใจตัวเอง ตัวเองก็ต้องเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจเราก็จะบริหารไม่ถูก ถ้าเรามองคนอื่นไม่ถูก เราก็บริหารไม่ถูก นี่แหละเป็นหัวใจเลย

เกี่ยวกับสมาธิ สมมติว่า พระพุทธเจ้าสอนให้เราอยู่ได้ อยู่ดี เราตักน้ำมาหนึ่งแก้วมาดื่ม เรามีสมาธิไหม? ถ้าไม่มีสมาธิ เราก็จะทำน้ำนี้หกหมด ฉะนัั้น สมาธิมันอยู่กับเราตลอดเวลา ตั้งแต่เกิดมาก็มีสมาธิแล้ว ที่นี้ เราจะใช้สมาธิให้เกิดประโยชน์อย่างไร? นี่แหละ พระพุทธเจ้าท่านก็สอนให้แล้ว ไม่ใช่ว่าเราเป็นพระภิกษุแล้วถึงจะไปใช้สมาธิได้ เราเป็นฆราวาสก็ต้องมีสมาธิ เราขี่รถก็ต้องมีสมาธิ เราขี่รถไม่มีสมาธิตายไหม? ไม่มียกเว้นว่า เป็นพระภิกษุแล้วมีสมาธิไม่ตาย แต่ถ้าเราขาดสมาธิเป็นพระภิกษุก็ตายได้เช่นกัน

ฉะนั้น ไม่ได้เกี่ยวว่าเป็นพระหรือไม่เป็นพระ ใครพร้อมก็มาแต่งเครื่องแบบซะ แล้วก็มาเรียน เรียนเพื่ออะไร? ก็เพื่อมาสอนคนอื่นต่อ คุณไม่พร้อม คุณก็ต้องทำมาหากิน แต่คุณต้องมีธรรมะนะครับ ไม่มีไม่รอด ไม่ว่าเป็นใคร ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ สุดท้ายถ้าขาดธรรมะก็กลายเป็นทรราชย์ไปเลย คนนี้เป็นยาจก เขามีธรรมะ กลายเป็นถูกยกขึ้นมาเป็นจักรพรรดิ นี่แหละ เพราะ ๒ คำนี้ "ไม่ดีเอาออก สิ่งดีทำเพิ่ม"



หัวใจพระพุทธศาสนา

๑. ให้รู้จักทุกข์ ให้รู้ว่าทุกข์คืออะไร รู้จักสาเหตุแห่งทุกข์ (คือรู้จักผล คือทุกข์) แต่ต้องมารู้สาเหตุแห่งทุกข์ จะต้องใช้หลักอริยสัจ ๔

๒. รู้วิธีแก้ทุกข์จะทำยังไง รู้จักแก้ไขทุกข์ ก็จะใช้วิปัสสนากรรมฐาน โยนิโสมนสิการเป็นตัวดำเนินงาน ใช้หลักอิทธิบาท ๔ มรรคมีองค์ ๘ ข้อปฏิบัติแก้ทุกข์

๓. รักษาความดีและป้องกันไม่ให้เกิดทุกข์ซ้ำซาก เราอย่าไปทำบาปเพิ่ม เราทำเหตุเช่นใดย่อมได้รับผลตามเหตุเช่นนั้นๆ พิจารณากรรม ๕ พิจารณาวิบาก ๗ จะเป็นตัวป้องกันได้ (ไม่ทำชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ) จะเข้าใจตรงนี้จะต้องใช้หลักวิปัสสนากรรมฐาน เครื่องมือดำเนินงานด้วยโยนิโสมนสิการ

พระไตรปิฏก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๒. อลคัททูปมสูตร ว่าด้วยข้ออุปมาด้วยอสรพิษ [๒๘๖] การวางใจเป็นกลางในลาภสักการะ กล่าวว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมบัญญัติทุกข์ และความดับทุกข์ ทั้งในกาลก่อนและในกาลบัดนี้" และป้องกันทุกข์

พระพุทธเจ้าตรัสรู้ทุกข์และรู้แก้ทุกข์

อริยสัจ ๔ บอกว่าทุกข์คืออะไร รู้จักทุกข์ มีวิธีอะไรที่จะแก้ทุกข์ได้

ทุกข์มี ๒ ลักษณะ ทุกข์หยินหยาง มี ๒ ด้านอยู่ในตัวเดียวกัน

๑. ทุกข์ลักษณะสามัญ คือ ขัดใจเรา เราเป็นทุกข์ ทุกข์ทางร่างกาย

๒. ทุกข์ลักษณะปรมัตถ์ คือ คงอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้

ชื่อน้ำแข็ง นี่เป็นนาม ส่วนตัวน้ำแข็ง นี่แหละเป็นรูป ถ้าหากว่าน้ำแข็งนี้ละลาย (อนิจจัง) แล้วเราจะเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นน้ำแข็งอยู่ไหม? ก็ไม่เรียก แต่จะเรียกว่าน้ำเปล่า

ทุกข์ทางความคิด คือ คิดถูก คิดผิด คิดในสิ่งที่ไม่ดี คิดทางดี

ทุกข์ทางกาย คือ ตรงนี้เราเจ็บ

ทุกข์ผิดทางกาย เช่น เรานั่งไม่ถูกท่าก็จะเจ็บปวด หรือเดินไม่ถูกท่าก็จะทำให้ขาเราพลิกแพลงได้ เราอยู่ดีๆ อยู่ชั้น ๒ ตกลงมาก็ขาหัก

ทุกข์ถูกทางกาย เช่น เราไหว้เขา อ่อนน้อมถ่อมตน ให้ร่างกายนี้ไปช่วยเหลือคนอื่น

วิธีแก้ไข เราจะต้องทำให้ถูก เช่นเวลานี้เรานั่งผิดท่า เราก็เปลี่ยนทำให้นั่งถูกท่า สอนให้รู้ภาวะธรรม ถ้าผิดภาวะธรรมก็เกิดความทุกข์

อัตตา พระพุทธเจ้าสอนว่า เราอย่าไปยึดมั่นถือมั่นเป็นอย่างนี้อย่างนั้นไม่ได้ อัตตาจะต้องเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ จะต้องแปรเปลี่ยน

พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจจ์แห่งทุกข์ นี่คือหัวใจของพระพุทธเจ้า   




 6,472 

  ความคิดเห็น


RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย