หน้าแรก นิทานชาดก นามสิทธิชาดก
ชื่อนั้นสำคัญไฉน


   ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภพระภิกษุผู้หวังความสำเร็จโดยชื่อรูปหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...

   กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ อยู่ในเมืองตักกสิลา มีลูกศิษย์คนหนึ่งชื่อว่า ปาปกะ (นายบาป) เขาคิดว่าชื่อของเขาไม่เป็นมงคล จึงเข้าไปหาอาจารย์ และขอให้อาจารย์ตั้งชื่อให้ใหม่ อาจารย์จึงบอกให้ไปเที่ยวแสวงหาชื่อที่ตนเองชอบใจมาแล้วจะทำพิธีเปลี่ยนชื่อให้

    เขาได้ออกเดินทางไปแสวงหาชื่อใหม่ จนถึงเมืองหนึ่ง เดินผ่านขบวนญาติหามศพไปป่าช้า จึงถามถึงชื่อคนตาย พวกญาติจึงบอกชื่อว่า ชีวกะ(นายบุญรอด) เขาถามว่า " ชื่อชีวกะก็ตายหรือ ? " พวกญาติจึงกล่าวว่า " จะชื่ออะไร ๆ ก็ตายทั้งนั้น ชื่อเป็นเพียงบัญญัติสำหรับเรียกกันเท่านั้น "

   พอเดินเข้าไปในเมือง พบเห็นพวกนายทุนกำลังจับนางทาสีเฆี่ยนด้วยเชือกอยู่ จึงถามความนั้นทราบว่านางไม่ยอมให้ดอกเบี้ยจึงถูกลงโทษแทน ถามถึงชื่อนางทาสีนั้น ทราบว่าชื่อนางธนปาลี (นางรวย) จึงถามว่า " ชื่อรวย ยังไม่มีเงินดอกเบี้ยหรือ ? " พวกนายทุนจึงตอบว่า " จะชื่อรวยหรือจน เป็นคนยากจนได้ทั้งนั้น ชื่อเป็นเพียงบัญญัติเรียกกันเท่านั้น " เขาเริ่มรู้สึกเฉยๆ ในเรื่องชื่อยิ่งขึ้น

   เขาได้เดินทางออกจากเมืองไป ในระหว่างทางพบคนหลงทางคนหนึ่ง จึงถามชื่อ ทราบว่าชื่อ ปันถกะ(นายชำนาญทาง) จึงถามว่า " ขนาดชื่อชำนาญทางยังหลงทางอยู่หรือ ? " คนหลงทางจึงตอบว่า " จะชื่อชำนาญทางหรือไม่ชำนาญทาง ก็มีโอกาสหลงทางได้เท่ากัน เพราะชื่อเป็นบัญญัติสำหรับเรียกกันเท่านั้น "

   เขาจึงวางเฉยในเรื่องชื่อ เดินทางกลับไปพบอาจารย์ แล้วเล่าเรื่องที่ตนพบเห็นมาให้ฟัง และขอให้ชื่อนายบาปเช่นเดิม อาจารย์จึงกล่าวคาถานี้ว่า
     " เพระเห็นคนชื่อเป็นได้ตายไป หญิงชื่อรวยกลับตกยาก
       และคนชื่อว่านักเดินทางแต่กลับหลงทางอยู่ในป่า นายปาปกะจึงได้กลับมา "


นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
ชื่อนั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญ
* เรื่องที่ ๗ ในลิตตวรรค หน้า ๓๗๒-๓๗๔ พระสูตรและอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่มที่ ๓ ภาคที่ ๒

ที่มา : หนังสือนิทานชาดก เล่มที่ ๑ โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น
วัดธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ๔๐๐๐๐ โทร ๐๔๓-๒๒๒๑๐๑, ๐๔๓-๓๒๐๘๕๐

รวมนิทานชาดก
[ เปิดอ่าน ครั้ง ]
Share |

  บอกบุญ ~ ประชาสัมพันธ์