หน้าแรก นิทานชาดก ลาภครหิกชาดก
วิธีการหลอกลวง


ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวันเมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุลูกศิษย์ของพระสารีบุตรผู้ถามถึงวิธีการได้ลาภสักการะด้วยการหลอกลวง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ มีลูกศิษย์อยู่ประมาณ ๕๐๐ คน ตั้งสำนักเรียนอยู่ในเมืองแห่งหนึ่ง วันหนึ่งมีลูกศิษย์คนหนึ่งเข้าไปถามถึงวิธีได้เงินทองว่า " อาจารย์ครับ ผมเรียนใกล้จะจบแล้ว ผมอยากทราบว่าชาวโลกเขา มีวิธีการหลอกลวงให้ได้เงินทองโดยไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยอย่างไรครับ " อาจารย์ตอบว่า " ฟังนะเธอ ชาวโลกเขามีวิธีการหลอกลวงให้ได้เงินทองโดยไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยเลย อยู่ ๔ วิธี คือ

"ไม่ใช่คนบ้าทำเป็นเหมือนคนบ้า ไม่ใช่คนพูดส่อเสียดทำเป็นเหมือนคนพูดส่อเสียด
ไม่ใช่นักฟ้อนรำทำเป็นเหมือนนักฟ้อนรำ ไม่ใช่คนพูดพล่อยทำเป็นเหมือนคนพูดพล่อย
ย่อมได้เงินทองจากคนผู้หลงงมงาย นี่เป็นคำสอนสำหรับเธอ "

" มันมีความหมายว่าอย่างไรครับ อาจารย์ช่วยอธิบายให้ทราบด้วยครับ "

ลูกศิษย์ซักไซ้ต่อ อาจารย์จึงอธิบายให้ฟังว่า
" คนบ้า ผู้คนมักจะไม่ถือโทษโกรธเคือง เขาจะหยิบฉวยอะไรไปก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า อาหาร ขนม หรือเงินทอง คนที่ไม่มีหิริโอตตัปปะ ไม่กลัวนรก มีความโกรธ ถูกตัณหาครอบงำ ย่อมทำกรรมชั่วทุกอย่าง ได้เช่นกันกับคนบ้า เขาจะแสวงหาเงินทองมาด้วยวิธีการแบบคนบ้า

คนพูดส่อเสียด ย่อมสามารถพูดคำไม่เป็นจริงให้เป็นจริงได้ สามารถใส่ร้ายป้ายสีคนอื่นให้เสียหายได้ ฉะนั้น ผู้ต้องการเงินทองก็ต้องรู้จักพูดส่อเสียด

นักฟ้อนรำ ย่อมไม่มีหิริโอตตัปปะ ทำได้ทุกอย่างเพื่อให้ได้ทรัพย์มา ฉะนั้น ผู้ต้องการเงินทองก็ต้องเป็นเหมือนนักฟ้อนรำ

คนพูดพล่อย ย่อมทำตัวเป็นคนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ผู้คนกลัวคนผู้นี้จะประจานจึงมอบทรัพย์ให้เขาเพื่อปิดปาก ทรัพย์จำนวนมากจึงเกิดขึ้นแก่เขา ฉะนั้น ผู้ต้องการเงินทอง จึงต้องรู้จักเป็นคนพูดพล่อย "

ลูกศิษย์ได้ฟังแล้วจึงพูดตำหนิวิธีการหลอกลวงให้ได้ลาภมาโดยไม่คำนึงถึงคุณธรรมว่า " อาจารย์ครับ ถ้าเป้นเช่นนี้การออกบวชจะประเสริฐกว่าการแสวงหาลาภโดยไม่มีคุณธรรมเลย " ว่าแล้วจึงตัดสินใจออกบวชเป็นฤาษี บำเพ็ญเพียรอยู่ในป่าจนตราบเท่าชีวิต


นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
วิธีการหลอกลวงของผู้คนในโลกนี้มีอยู่ ๔ วิธีหลัก ให้พึงระวังเข้าไว้

* เรื่องที่ ๗ ในอัพภัณตรวรรค หน้า ๒๙๗ - ๓๐๓ พระสูตรและอรรถกถาแปล ขุททกนิกายชาดก เล่มที่ ๓ ภาคที่ ๔
ที่มา : หนังสือนิทานชาดก เล่มที่ ๒ โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม (เสนาซุย)
[ เปิดอ่าน ครั้ง ]
Share |

  บอกบุญ ~ ประชาสัมพันธ์