หน้าแรก นิทานชาดก วินีลกชาดก
กาเทียมหงส์


          ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภพระเทวทัตผู้แสดงท่าทางเอาอย่างพระองค์แล้วถึงความพินาศ ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า...

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพระราชา ครองเมืองมิถิลา แคว้นวิเทหะ สมัยนั้น พญาหงส์ตัวหนึ่ง มีเมียตัวหนึ่งเป็นนางนกกา ทำรังอยู่ที่ต้นตาล ใกล้โรงอาหาร มีลูกด้วยกันตัวหนึ่ง เป็นตัวผู้หน้าตา่ไม่เหมือนพ่อแม่ จึงตั้งชื่อว่า วินีลกะ เพราะมันมีสีค่อนข้างคล้ำ

อนึ่ง พญาหงส์นั้นมีลูกหงส์อยู่ก่อนแล้ว ๒ ตัว ลูกหงส์เห็นพญาหงส์ไปถิ่นมนุษย์ บ่อยนักจึงถามพ่อว่าไปทำไม พญาหงส์จึงบอกลูกว่า
          "ลูกรัก..พ่อไปเยี่ยมน้องของพวกเจ้าชื่อวินีลกะที่เกิดจากนางนกกานะ"
          ลูกถามว่า "พวกเขาอยู่ตรงไหนละครับพ่อ "
          พ่อตอบว่า "อยู่ยอดต้นตาลตรงโน้น ใกล้เมืองมิถิลาจ้าลูก"
          ลูกพูดว่า "พวกผมจะไปพาเขามานะครับพ่อ"
          พ่อห้ามว่า "อย่าไปเลยลูก ถิ่นมนุษย์มันมีภัยอันตรายรอบด้าน พ่อจะพาเขามาเอง"

ลูกหงส์ทั้งสองหาเชื่อคำของพ่อไม่ ได้อาสาไปนำนกวินีลกะมา จึงพากันไปที่ต้นตาลนั้น ให้นกวินีลกะจับคอนไม้อันหนึ่งแล้ว ช่วยกันคาบปลายไม้คนละข้าง บิินผ่านเมืองมิถิลามา

ขณะนั้น พระราชากำลังประทับบนราชรถเทียมม้าสีขาวปลอด ๔ ตัว ทรงทำประทักษิณพระนครอยู่ นกวินีลกะเห็นเช่นนั้นแล้วก็นึกในใจว่า
          "เราก็ไม่ต่างจากพระราชาเลยนะ ได้นั่งบนรถเทียมหงส์เลียบพระนคร"
          จึงพูดเปรย ๆ ขึ้นว่า "ม้าอาชาไนยพาพระเจ้าวิเทหะผู้ครองเมืองมิถิลาให้เสด็จไป เหมือนหงส์สองตัวพาเราผู้ชื่อว่าวินีลกะไปจริง ๆหนอ"
          ลูกหงส์พอได้ฟังคำนั้นแล้วโกรธ ตั้งใจว่าจะปล่อยให้มันตกลงไปเสียก็กลัวพ่อจะตำหนิเอา จึงอดทนไว้พามันไปจนถึงรังแล้วเล่าให้พ่อฟัง พญาหงส์โกรธจัดตวาดว่า
          "เจ้าวิเศษกว่าลูกเราเชียหรือ จึงเปรียบเปรยลูกเราเหมือนม้าเทียมรถ เจ้าช่างไม่รู้จักประมาณตนเอง ที่นี่ไม่ใช่ที่อยู่ของเจ้า เจ้าจงกลับไปหาแม่เจ้าเถิด"
           แล้วกล่าวเป็นคาถาว่า

"เจ้าวินีลกะ เจ้ามาอยู่อาศัยซอกเขาอันมิใช่พื้นเพเดิมของเจ้า เจ้าจงไปอยู่อาศัยสถานที่ใกล้หมู่บ้านเถิด นั้นเป็นที่อยู่อาศัยของแม่เจ้า"

แล้วสั่งให้ลูกหงส์นำมันกลับไปปล่อยไว้ที่เดิม


นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : อย่ายกตนข่มท่าน จะนำความลำบากมาให้


[ เปิดอ่าน ครั้ง ]
ที่มา : หนังสือนิทานชาดก เล่มที่ ๒ โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม (เสนาซุย)

Share |

  บอกบุญ ~ ประชาสัมพันธ์