๒.๒ หมวดธรรมของบรรพชิต

 dharma    2 มิ.ย. 2554

๒.๒.๑ หลักธรรมที่เป็นพื้นฐานในการปฏิบัติ
สีลปติฏฐานลักขณปัญหา ๑๘๑ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง ลักษณะของศีลอันเป็น
พื้นฐานพระนิพพาน
อธิบายว่า ศีลมีลักษณะเป็นที่ตั้งอาศัยแห่งกุศลธรรมทั้งปวง เป็นที่อาศัยแห่ง
อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ มรรค สติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ
พระโยคาวจรดำรงอยู่ในศีลแล้ว เจริญอินทรีย์๕ ประการ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา
ให้เกิดขึ้น จะทำให้กุศลธรรมทั้งปวงไม่เสื่อมสูญ เหมือนพีชคามและภูตคามต้องอาศัยแผ่นดิน
เป็นที่เพาะปลูก จึงจะเจริญงอกงามไพบูลย์ขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้น บุคคลผู้ที่จะเจริญคุณความ
ดีอย่างอื่นให้เกิดขึ้น ก็ต้องรักษาศีลให้เป็นพื้นฐานก่อน แม้พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า นรชนผู้มี
ปัญญาเห็นภัยในสังสารวัฏ ดำรงอยู่ในศีลแล้วเจริญจิตและปัญญา มีความเพียร มีปัญญา
เครื่องบริหารนั้นพึงแก้ความยุ่งนี้ได้ ๑๘๒
สัทธาลักขณปัญหา ๑๘๓ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง ลักษณะของศรัทธา
อธิบายว่า ศรัทธามีลักษณะ ๒ ประการคือ
(๑) มีลักษณะทำจิตใจให้ผ่องใส
(๒) มีลักษณะจูงใจ
ศรัทธาที่มีลักษณะทำจิตใจให้ผ่องใส คือ เมื่อเกิดขึ้นย่อมขับไล่นิวรณ์ให้ออกไป
ทำให้จิตที่ปราศจากนิวรณ์มีความผ่องใส เหมือนพระเจ้าจักรพรรดิเสด็จข้ามลำน้ำ ทำให้ลำน้ำ
ขุ่นมัวมีโคลนตม เมื่อพระองค์ต้องการจะเสวยน้ำจึงรับสั่งให้ราชบุรุษนำดวงแก้วมณีสำหรับ
แช่น้ำให้ใสแช่ลงในน้ำ เมื่อแช่ลงไปสาหร่ายจอกแหน ก็หลีกลอยไป โคลนตมก็จมลงไป
ใต้น้ำ ทำให้น้ำผ่องใสไม่ขุ่นมัว บุคคลผู้มีปัญญาควรเห็นว่าจิตเหมือนน้ำ พระโยคาวจรเหมือน
ราชบุรุษ กิเลสเหมือนสาหร่ายจอกแหนและโคลนตม ศรัทธาเหมือนดวงแก้วมณีส่วนศรัทธาที่มีลักษณะจูงใจ เหมือนพระโยคาวจรเห็นจิตของผู้อื่นที่พ้นจากกิเลส
ย่อมชักจูงไปในโสดาปัตติผลบ้าง สกทาคามิผลบ้าง อนาคามิผลบ้าง อรหัตผลบ้าง กระทำ
ความเพียรเพื่อบรรลุธรรมที่ตนยังไม่บรรลุเหมือนมหาเมฆยังฝนให้ตกลงมาบนยอดเขา
น้ำย่อมไหลลงมารวมกันทำให้แม่น้ำเต็มเปี่ยม เมื่อคนมาถึงแม่น้ำสายนั้นแล้ว ไม่อาจทราบว่า
แม่น้ำตื้นหรือลึกจึงไม่กล้าที่จะข้าม เมื่อเป็นอย่างนั้น บุรุษคนหนึ่งมาถึงที่นั้น กำหนดเรี่ยวแรง
และกำลังของตนว่าสามารถจะข้ามได้ จึงเดินข้ามแม่น้ำไป เมื่อคนเหล่านั้นเห็นเขาข้ามไปได้
ก็เดินข้ามแม่น้ำตามไปด้วย พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในสังยุตตนิกายว่า บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วย
ปัญญา ข้ามอรรณพได้ด้วยความไม่ประมาท ล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร บริสุทธิ์ได้ด้วย
ปัญญา ๑๘๔
วิริยลักขณปัญหา ๑๘๕ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง ลักษณะของวิริยะ
อธิบายว่า วิริยะมีลักษณะค้ำจุนไว้คือ กุศลธรรมที่วิริยะค้ำจุนไว้ย่อมไม่เสื่อม
หายไป เหมือนเรือนที่จวนจะล้ม บุรุษก็เอาไม้ไปค้ำไว้ทำให้เรือนไม่ล้ม หรือเปรียบเหมือน
กองทัพใหญ่ยกทัพเข้าตีกองทัพน้อยให้แตกพ่ายไป ต่อมาพระราชาทรงจัดกองทัพอื่น ๆ
ส่งเป็นกองหนุนเพิ่มเติม เมื่อกองทัพน้อยสมทบเข้ากับกองทัพที่ยกหนุนไป อาจกำชัย
ตีกองทัพใหญ่ให้แตกพ่ายได้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ว่า อริยสาวกผู้มีความเพียรย่อมละอกุศล
เจริญกุศล ละธรรมที่มีโทษเจริญธรรมที่ไม่มีโทษ บริหารตนให้บริสุทธิ์ ๑๘๖
สติลักขณปัญหา ๑๘๗ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง ลักษณะของสติ
อธิบายว่า สติมีลักษณะให้นึกได้และมีลักษณะถือไว้ สติที่มีลักษณะให้นึกได้
คือ เมื่อสติเกิดขึ้นทำให้นึกถึงธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล มีโทษและไม่มีโทษ เลวทรามและ
ประณีต มีส่วนเปรียบด้วยของดำและของขาว และทำให้นึกได้ว่า นี้สติปัฏฐาน ๔
นี้สัมมัปปธาน ๔ นี้อิทธิบาท ๔ นี้อินทรีย์๕ นี้พละ ๕ นี้โพชฌงค์๗ นี้อริยมรรคมีองค์๘
นี้สมถะ นี้วิปัสสนา นี้วิชชา นี้วิมุตติพระโยคาวจรก็จะเลือกเสพธรรมที่ควรเสพ ไม่เสพธรรม
ที่ไม่ควรเสพ เลือกคบแต่ธรรมที่ควรคบ ไม่คบธรรมที่ไม่ควรคบ ส่วนสติที่มีลักษณะถือไว้
คือ สติเมื่อเกิดขึ้นก็จะค้นหาที่ไปแห่งธรรมที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ ทำให้รู้ว่า
ธรรมเหล่านี้เป็นประโยชน์ไม่เป็นประโยชน์ หรือเป็นอุปการะ ไม่เป็นอุปการะ พระโยคาวจร
จะกีดกันธรรมที่ไม่เป็นประโยชน์ ถือไว้แต่ธรรมที่เป็นประโยชน์ กีดกันธรรมที่ไม่เป็น
อุปการะ ถือไว้แต่ธรรมที่เป็นอุปการะ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า เรากล่าวสติว่าจำต้องประสงค์
ในที่ทุกสถาน ๑๘๘
จิรกตสรณปัญหา ๑๘๙ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง บุคคลระลึกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว
และสิ่งที่ทำไว้นาน ๆ ด้วยอะไร
อธิบายว่า บุคคลระลึกถึงกิจที่ทำ หรือคำที่พูดไว้นาน ๆ ได้ และนึกถึงเหตุการณ์
ที่ล่วงแล้วมาปรากฏขึ้นได้ด้วยสติไม่ใช่ด้วยจิต เพราะสติเป็นตัวระลึกนึกถึง ส่วนจิตเป็นแต่
เพียงตัวคิดเท่านั้น เปรียบเหมือนบุคคลพยายามนึกถึงสิ่งที่เคยกระทำไว้ซึ่งผ่านมานานแล้ว
แต่ไม่อาจระลึกได้เพราะในขณะที่กระทำเขาไม่มีสติ แต่ว่าจิตของเขายังคงมีอยู่พร้อม
สติอภิชานนปัญหา ๑๙๐ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง สติเกิดขึ้นแต่ความรู้เอง หรือ
มีบุคคลอื่นเตือนสติจึงจะเกิดขึ้น
อธิบายว่า สติเกิดขึ้นจากความรู้เองบ้าง เกิดขึ้นเมื่อมีผู้อื่นเตือนบ้าง เพราะถ้าสติ
เกิดขึ้นจากความรู้เองเพียงอย่างเดียว ก็จะไม่มีกิจที่ควรกระทำด้วยการงานหรือศิลปวิทยา และ
อาจารย์ก็จะไม่มีประโยชน์แต่เพราะสติเกิดขึ้นเมื่อมีผู้อื่นเตือน จึงทำให้มีกิจที่ควรกระทำด้วย
การงานหรือศิลปวิทยา และทำให้คนยังต้องมีอาจารย์คอยสั่งสอนศิลปวิทยา
สติอาการปัญหา ๑๙๑ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง สติเกิดขึ้นด้วยอาการเท่าไร
อธิบายว่า สติเกิดขึ้นด้วยอาการ ๑๗ อย่าง คือ
(๑) เพราะความรู้ยิ่ง
(๒) เพราะมีผู้อื่นกระตุ้นเตือนให้รู้สิ่งที่ทำไปแล้ว
(๓) เพราะวิญญาณหยาบ
(๔) เพราะวิญญาณที่เกื้อกูล
(๕) เพราะวิญญาณที่ไม่เกื้อกูล
(๖) เพราะนิมิตที่มีส่วนเหมือนกัน
(๗) เพราะนิมิตที่มีส่วนผิดกัน
(๘) เพราะการเข้าใจคำพูด
(๙) เพราะลักษณะ
(๑๐) เพราะการถูกผู้อื่นบอกให้ระลึก
(๑๑) เพราะมีวิธีบันทึก
(๑๒) เพราะมีวิธีนับ
(๑๓) เพราะมีวิธีทรงจำ
(๑๔) เพราะภาวนา
(๑๕) เพราะคำนิพนธ์ในคัมภีร์
(๑๖) เพราะการเก็บไว้
(๑๗) เพราะเป็นอารมณ์ที่เคยเสวย
สมาธิลักขณปัญหา ๑๙๒ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง ลักษณะของสมาธิ
อธิบายว่า สมาธิมีลักษณะเป็นประธาน กุศลธรรมทั้งหลายล้วนมีสมาธิ
เป็นประธาน น้อมไปในสมาธิเหมือนกลอนของเรือนที่มียอด กลอนเหล่านั้นก็จะน้อมไป
หายอด มียอดเป็นที่ชุมนุม คนทั้งหลายจึงกล่าวว่ายอดเป็นประธานของกลอน หรือ
เปรียบเหมือนพระราชาเสด็จเข้าสู่สงครามพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา คือ พลช้าง พลม้า พลรถ
และพลราบ เหล่ากองทัพทั้งหมดย่อมตามเสด็จห้อมล้อมพระราชา มีพระราชาเป็นประธาน
พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย จงทำสมาธิให้เกิด เพราะว่าภิกษุผู้มีจิตเป็นสมาธิย่อมรู้
แจ้งตามความเป็นจริง ๑๙๓
ปัญญาลักขณปัญหา ๑๙๔ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง ลักษณะของปัญญา
อธิบายว่า ปัญญามีลักษณะตัดให้ขาด และมีลักษณะส่องให้สว่าง ปัญญาที่มี
ลักษณะส่องให้สว่าง คือ เมื่อปัญญาเกิดขึ้นย่อมกำจัดความมืด คือ อวิชชา และทำความสว่าง
คือ วิชชาให้เกิด ส่องแสง คือ ญาณ ทำอริยสัจให้ปรากฏ พระโยคาวจรก็จะเห็นด้วยปัญญา
อันชอบว่า สิ่งนี้ไม่เที่ยง สิ่งนี้เป็นทุกข์ สิ่งนี้ไม่ใช่ตัวตน เปรียบเหมือนบุรุษถือโคมไฟเข้าไป
ในเรือนมืด ไฟก็จะกำจัดความมืด และทำให้เกิดความสว่าง ส่องแสงเข้าไปทำให้รูปปรากฏ
ปัญญานิรุชฌนปัญหา ๑๙๕ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง ความเหมือนกันระหว่าง
ญาณกับปัญญา และการดับของปัญญา
อธิบายว่า ญาณเกิดขึ้นแก่ผู้ใด ปัญญาก็เกิดขึ้นแก่ผู้นั้น เพราะญาณกับปัญญาเป็น
อันเดียวกัน บุคคลผู้มีญาณหรือปัญญาย่อมหลงในที่บางแห่ง เช่น ในศิลปะที่ตนยังไม่เคยเรียน
ในทิศที่ตนยังไม่เคยไป ในภาษาที่ตนยังไม่เคยฟัง แต่จะไม่หลงในสิ่งที่ปัญญาได้กระทำไว้
เช่น สิ่งนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เพราะเมื่อญาณเกิดขึ้นแล้วโมหะก็จะดับไปทันที
เปรียบเหมือนบุรุษส่องไฟเข้าไปในที่มืด ทำให้ความมืดหายไปแสงสว่างปรากฏขึ้นมาแทนที่
ส่วนปัญญาเมื่อทำกิจของตนเสร็จแล้ว ก็จะดับไปในที่นั้นนั่นเอง จะเหลืออยู่แต่สิ่งที่ปัญญาได้
กระทำไว้ซึ่งมิได้ดับไปด้วย เปรียบเหมือนบุรุษต้องการจะส่งจดหมายในกลางคืน จึงจุดไฟ
แล้วเขียนจดหมาย เมื่อเขียนเสร็จเรียบร้อยก็ดับไฟ แม้ไฟจะดับไปแต่ข้อความในจดหมาย
ก็มิได้หายไปด้วย
ปัญญายปติฏฐานปัญหา ๑๙๖ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง ปัญญาอยู่ที่ไหน
อธิบายว่า ปัญญาไม่ปรากฏว่าอยู่ที่ไหน หรือมีรูปร่างอย่างไร แม้ปัญญาจะไม่
ปรากฏที่อยู่ให้เห็น แต่ก็ยังคงมีอยู่เหมือนเดิมไม่ใช่ว่าไม่มี เหมือนลมซึ่งไม่ปรากฏที่อยู่
สุขุมัจเฉทนปัญหา ๑๙๗ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง บุคคลอาจตัดสิ่งของที่ละเอียด
ทั้งหมดได้หรือไม่
อธิบายว่า แม้สิ่งของที่ละเอียดจะมีอยู่มากมาย แต่ธรรมชื่อว่ามีความละเอียดกว่า
สิ่งของทั้งปวง ธรรมมีสภาวะละเอียดและหยาบแตกต่างกันไป บุคคลอาจตัดสิ่งของที่จะพึง
ตัดได้ด้วยปัญญา เพราะไม่มีเครื่องตัดที่รองลงมาจากปัญญา
มนสิการปัญหา ๑๙๘ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง บุคคลจักไม่เกิดอีกเพราะโยนิโส
มนสิการใช่หรือไม่อธิบายว่า บุคคลจักไม่กลับมาเกิดอีกเพราะโยนิโสมนสิการ ปัญญา และกุศลกรรม
เหล่าอื่น โยนิโสมนสิการกับปัญญาเป็นคนละอย่างกันไม่ใช่เป็นอย่างเดียวกัน สัตว์ทั้งหลาย
เช่น แพะ แกะ โค กระบือ อูฐ ลา เป็นต้น ย่อมมีมนสิการ แต่ไม่มีปัญญา
มนสิการลักขณปัญหา ๑๙๙ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง ลักษณะของมนสิการ และ
ลักษณะของปัญญา
อธิบายว่า มนสิการมีลักษณะยกขึ้น ปัญญามีลักษณะตัด พระโยคาวจรคุมใจไว้ด้วย
มนสิการแล้วตัดกิเลสด้วยปัญญา เปรียบเหมือนชาวนาเมื่อจะเกี่ยวข้าว ก็เอามือขวาจับเคียวไว้
เอามือซ้ายจับกำข้าวแล้วก็ตัดกำข้าวด้วยเคียว
มนสิการลักขณปัญหา พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง ลักษณะของมนสิการ
อธิบายว่า มนสิการมีลักษณะนึก
วิญญาณาทินานัตถภาวปัญหา ๒๐๐ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง ธรรมทั้งหลาย
เหล่านี้ คือ วิญญาณ ปัญญา เจตภูต มีอรรถและพยัญชนะต่างกันหรือเหมือนกัน
อธิบายว่า วิญญาณมีอันรู้แจ้งเป็นลักษณะ ปัญญามีอันรู้ทั่วถึงเป็นลักษณะ
ส่วนเจตภูตบัณฑิตค้นหาไม่ได้โดยปรมัตถ์ เพราะฉะนั้น เจตภูตจึงไม่ใช่สิ่งที่เห็นรูปด้วยตา
ฟังเสียงด้วยหู สูดกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้แจ้งธรรมารมณ์
ด้วยใจ ถ้าเจตภูตเห็นรูปด้วยตา ฯลฯ รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจ เมื่อทวารทั้งหลายถูกเพิกถอน
หมด ก็จะพึงหันหน้าออกภายนอกอากาศอันกว้างใหญ่เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส
ถูกต้องโผฏฐัพพะ ชัดเจนดีขึ้น แต่เจตภูตไม่ได้เป็นอย่างนั้น จึงเข้าไปค้นหาไม่ได้โดยปรมัตถ์
สัตตโพชฌงคปัญหา ๒๐๑ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง โพชฌงค์ ๗ ประการ ๒๐๒
อธิบายว่า โพชฌงค์ที่เป็นองค์ตรัสรู้อริยมรรคอริยผล มีอยู่๗ ประการ พระพุทธเจ้า
ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ด้วยธัมมวิจยสัมโพชฌงค์อย่างเดียว ส่วนเหตุที่เรียกว่า
โพชฌงค์๗ ประการ ก็เพราะเว้นจากธัมมวิจยสัมโพชฌงค์พระองค์จะตรัสรู้ไม่ได้โดยลำพัง
โพชฌงค์๖ ประการ เหมือนดาบที่สอดอยู่ในฝัก ถ้าไม่เอามือจับไว้ก็จักไม่อาจตัดสิ่งของให้
ขาด ด้วยเหตุนี้ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์จึงเป็นเหมือนตัวดาบ ส่วนโพชฌงค์๖ ประการ นอกนั้น
ก็เป็นเหมือนฝักดาบ
นานาเอกกิจจกรณปัญหา ๒๐๓ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง ธรรมที่มีลักษณะ
ต่างกัน จะยังผลให้สำเร็จเป็นอย่างเดียวกันหรือไม่
อธิบายว่า แม้ธรรมจะมีลักษณะต่างกัน แต่ก็ทำประโยชน์ให้สำเร็จเป็นอันเดียวกัน
คือ กำจัดกิเลส เหมือนกองทัพแม้จะประกอบด้วยพลรบที่ต่างกัน มีพลช้าง พลม้า พลรถ
พลราบ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน แต่ก็ทำประโยชน์ให้สำเร็จเป็นอย่างเดียวกัน คือ เอาชนะ
กองทัพข้าศึกในสงคราม
สุขเวทนาปัญหา ๒๐๔ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง สุขเวทนาเป็นกุศล อกุศล หรือ
อัพยากฤต
อธิบายว่า สุขเวทนา คือ ความสุขทางกายและความสุขทางใจ เป็นได้ทั้ง ๓ อย่าง
คือ (๑) เป็นกุศล (๒) เป็นอกุศล (๓) เป็นอัพยากฤต แม้ตามธรรมดากุศลจะเป็นสุข อกุศลจะ
เป็นทุกข์ แต่การที่สุขเวทนาเป็นได้ทั้ง ๓ อย่าง ก็เปรียบเหมือนบุคคลเอาก้อนเหล็กที่ร้อน
วางลงในมือข้างขวา แล้วเอาก้อนน้ำแข็งที่เย็นวางลงในมือข้างซ้าย จะทำให้บุคคลนั้นรู้สึก
ทั้งร้อนทั้งเย็น อย่างไรก็ตาม แม้บุคคลจะมีความรู้สึกทั้งร้อนทั้งเย็น แต่ก็ไม่ทำให้ร้อนทั้งสอง
มือหรือเย็นทั้งสองมือพร้อมกัน คือ มือข้างขวาร้อน ส่วนมือข้างซ้ายเย็น สุขเวทนาก็มีลักษณะ
อย่างนั้น คือ จะมีความรู้สึกเป็นกุศลอย่างเดียวก็ไม่ใช่ย่อมมีทั้งกุศล อกุศล และอัพยากฤต
ผัสสลักขณปัญหา ๒๐๕ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง ลักษณะของผัสสะ
อธิบายว่า มโนวิญญาณเกิดขึ้นในที่ใด ธรรมเหล่านี้ คือ ผัสสะ เวทนา สัญญา
เจตนา วิตก วิจาร ก็เกิดขึ้นในที่นั้น อนึ่ง ธรรมทั้งหมดที่มีผัสสะเป็นประธาน ก็เกิดขึ้นในที่นั้น
เหมือนกัน ผัสสะมีลักษณะถูกต้องสัมผัส เหมือนแกะ ๒ ตัว จะชนกัน แกะตัวหนึ่ง
เป็นเหมือนตา อีกตัวหนึ่งเป็นเหมือนรูป การถูกต้องกันของแกะทั้ง ๒ ตัว คือ ผัสสะ
เวทนาลักขณปัญหา ๒๐๖ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง ลักษณะของเวทนาอธิบายว่า เวทนามีลักษณะรู้สึก และมีลักษณะเสวยอารมณ์เปรียบเหมือนบุรุษกระทำความดีความชอบถวายพระราชา ทำให้พระองค์ทรงพอพระทัยยิ่งนัก จึงได้รับพระราชทานบำเหน็จ เขาบำเรอตนให้เอิบอิ่มบริบูรณ์ด้วยกามคุณทั้ง ๕ เพราะบำเหน็จนั้นจึงมาใคร่ครวญรู้ว่า เรากระทำความดีความชอบถวายพระราชาในกาลก่อน จนทำให้พระองค์
ทรงยินดีแล้ว พระราชทานบำเหน็จแก่เรา ทำให้เราได้เสวยสุขถึงเพียงนี้ ซึ่งเกิดจากการทำ
ความดีความชอบเป็นเหตุ
สัญญาลักขณปัญหา ๒๐๗ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง ลักษณะของสัญญา
อธิบายว่า สัญญามีลักษณะกำหนดรู้คือ กำหนดรู้สีเขียว สีเหลือง สีแดง เป็นต้น
ว่ามีลักษณะสีเป็นอย่างนั้น ๆ เปรียบเหมือนเจ้าพนักงานพระคลังหลวงเข้าไปในพระคลัง
หลวง เห็นเครื่องราชูปโภคทั้งหลายที่มีสีเขียว สีเหลือง สีแดง เป็นต้น ก็กำหนดรู้ได้
เจตนาลักขณปัญหา ๒๐๘ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง ลักษณะของเจตนา
อธิบายว่า เจตนามีลักษณะดำริ และมีลักษณะปรุงแต่ง ความจงใจเป็นลักษณะของ
เจตนา ที่เป็นเครื่องส่อแสดงว่ามีเจตนาเกิดขึ้น ก็เจตนาเรียกว่า กรรม ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้
ว่า เรากล่าวเจตนาว่าเป็นตัวกรรม บุคคลคิดแล้ว จึงกระทำกรรมด้วยกาย วาจา ใจ ๒๐๙ บุคคล
บางคนดำริอกุศลกรรมด้วยเจตนา เมื่อสิ้นชีพแล้วจึงเกิดในอบาย ทุคติวินิบาต นรก แม้บุคคล
ผู้ศึกษาตามเขา เมื่อสิ้นชีพแล้วก็เกิดในอบายภูมิเหมือนกัน เปรียบเหมือนบุรุษคนหนึ่งปรุงยา
พิษแล้วดื่มเองบ้าง ให้คนอื่นดื่มบ้าง เขาก็จะพึงเสวยทุกข์ด้วยตัวเอง แม้บุคคลอื่นก็เสวยทุกข์
เหมือนกัน ส่วนบุคคลบางคนดำริกุศลกรรมด้วยเจตนา เมื่อสิ้นชีพแล้วจึงเกิดในสุคติโลก
สวรรค์ แม้บุคคลผู้ศึกษาตามเขา เมื่อสิ้นชีพแล้วก็เกิดในสุคติโลกสวรรค์เหมือนกัน
เปรียบเหมือนบุรุษคนหนึ่งปรุงเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ให้มีรสกลมกล่อมแล้วดื่ม
เองบ้าง ให้คนอื่นดื่มบ้าง เขาก็จะพึงเสวยสุขด้วยตัวเอง แม้บุคคลอื่นก็เสวยสุขเหมือนกัน
วิญญาณลักขณปัญหา ๒๑๐ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง ลักษณะของวิญญาณ
อธิบายว่า วิญญาณมีลักษณะรู้แจ้ง บุคคลผู้เห็นรูปด้วยตา ฟังเสียงด้วยหู สูดดม
กลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ ย่อมรู้แจ้งอารมณ์
เหล่านั้นได้ด้วยวิญญาณ เปรียบเหมือนคนผู้นั่งอยู่ที่ถนนสี่แพร่ง สามารถที่จะเห็นคนที่มาจาก
ทิศตะวันออก ทิศใต้ ทิศตะวันตก และทิศเหนือได้
จักขุวิญญาณมโนวิญญาณปัญหา ๒๑๑ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง ความเกิดขึ้น
แห่งจักขุวิญญาณกับมโนวิญญาณ
อธิบายว่า จักขุวิญญาณเกิดขึ้นในที่ใด มโนวิญญาณก็เกิดขึ้นในที่นั้น จักขุวิญญาณ
จะเกิดขึ้นก่อน มโนวิญญาณเกิดขึ้นในภายหลัง เหตุที่เป็นเช่นนั้นไม่ได้เกิดจากการเจรจาตกลง
กันแห่งวิญญาณทั้งหลาย คือ จักขุวิญญาณไม่ได้สั่งมโนวิญญาณว่า เราเกิดขึ้นในที่ใดท่านก็จง
เกิดขึ้นในที่นั้น และมโนวิญญาณก็ไม่ได้สั่งจักขุวิญญาณว่า ท่านเกิดขึ้นในที่ใด เราก็จักเกิดขึ้น
ในที่นั้นเหมือนกัน แต่เพราะมโนวิญญาณเป็นดุจที่ลุ่ม ดุจประตู เป็นที่เคยชิน และเป็นที่
ชำนาญ เหมือนฝนเมื่อตกลงมา น้ำก็จะไหลไปสู่ที่ลุ่ม เมื่อฝนตกลงมาอีกก็จะไหลไปสู่ที่เดิม
เพราะน้ำคราวก่อนไหลไปทางใด น้ำคราวหลังก็จะไหลไปทางนั้น โดยมิได้มีการเจรจาหรือ
สั่งบังคับกัน
วิตักกลักขณปัญหา ๒๑๒ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง ลักษณะของวิตก
อธิบายว่า วิตกมีลักษณะแนบติดกับจิต เหมือนช่างไม้เข้าหน้าไม้ที่ขัดเกลา
เป็นอย่างดี ทำให้หน้าไม้เข้ากันได้แนบสนิท
วิจารลักขณปัญหา ๒๑๓ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง ลักษณะของวิจาร
อธิบายว่า วิจารมีลักษณะตามคลุกเคล้าอารมณ์เหมือนกังสดาลที่ถูกเคาะแล้ว ก็ยัง
ครวญครางอยู่วิตกเหมือนการเคาะ ส่วนวิจารเหมือนการครวญคราง
เอกภาวคตปัญหา ๒๑๔ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง ธรรมที่อยู่รวมกัน อาจแยก
ออกแล้วบัญญัติให้ต่างกันได้หรือไม่
อธิบายว่า ธรรมที่อยู่รวมกัน ไม่อาจแยกออกแล้วบัญญัติให้ต่างกันว่า นี้ผัสสะ
นี้เวทนา นี้สัญญา นี้เจตนา นี้วิญญาณ นี้วิตก นี้เป็นวิจาร แต่ธรรมเหล่านั้นก็ปรากฏชัดตาม
ลักษณะของตัวเอง เปรียบเหมือนพ่อครัวปรุงอาหารใส่เครื่องปรุง มีเกลือ ขิง ผักชี พริก
และเครื่องปรุงอื่น ๆ เมื่อปรุงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ไม่อาจแยกรสที่ปรุงเข้าด้วยกันออกมาได้
เช่น รสเปรี้ยว รสเค็ม รสขม รสเผ็ด รสหวาน และรสอื่น ๆ แต่รสของเครื่องปรุงก็ยังปรากฏ
ชัดตามลักษณะของตัวเองเหมือนเดิม
นาคเสนปัญหา ๒๑๕ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง เกลือเป็นสิ่งที่พึงรู้ได้ด้วย
จักขุวิญญาณหรือไม่
อธิบายว่า เกลือไม่อาจรู้ได้ด้วยจักขุวิญญาณ แต่รู้ได้ด้วยลิ้นเพียงอย่างเดียว การที่
โคต้องบรรทุกน้ำหนักเกลือมาด้วยเกวียน โดยที่ไม่นำเอาแต่เกลือเพียงอย่างเดียวมา
เพราะเกลือกับน้ำหนักรวมเป็นอันเดียวกัน ต่างกันโดยความเป็นอารมณ์ และคนก็ไม่อาจชั่ง
เกลือด้วยตาชั่งได้ ชั่งได้แต่น้ำหนักเท่านั้นเอง
ผู้วิจัยได้ศึกษาพบว่า ในมิลินทปัญหามีหลักธรรมที่สำคัญปรากฏอยู่เป็นจำนวน
มาก จึงรวบรวมหลักธรรมที่เป็นพื้นฐานของการปฏิบัติมารวมไว้เป็นกลุ่มเดียวกัน ธรรมที่
เป็นพื้นฐานของของการปฏิบัติ ได้แก่ศีลความสำรวมกายวาจาให้เรียบร้อย เพราะศีลจะเป็น
บันไดให้ก้าวขึ้นไปสู่คุณธรรมขั้นสูง ๆ ขึ้นไปตามลำดับ ถ้าปราศจากศีลก็ไม่สามารถยกตน
ขึ้นสู่คุณธรรมเบื้องสูงได้ หรือถ้าก้าวขึ้นได้ก็จะกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิเปรียบเหมือนโจรที่ทำ
การปล้นฆ่าชาวบ้าน แสดงถึงความเป็นผู้ไม่มีศีล แต่โจรมีสมาธิมีใจจดจ่อในการปล้น
และปัญญาคิดหาวิธีการในการปล้นให้สำเร็จ ซึ่งล้วนแต่เป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งนั้น
พระนาคเสนอธิบายหมวดธรรมในมิลินทปัญหา คือ พละ ๕ ๒๑๖ หรืออินทรีย์๕
ซึ่งประกอบด้วย ศรัทธา ศีล สติ สมาธิปัญญา เป็นธรรมที่มีความเกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกัน
การปฏิบัติธรรมเป็นเหตุนำมาซึ่งความสุขแก่ผู้ปฏิบัติโดยตรง แต่ถ้าปฏิบัติโดยขาดการ
พิจารณาให้รอบคอบ จะเป็นการปฏิบัติธรรมที่ไม่สมควรแก่ธรรม แทนที่จะเป็นคุณ
ก็กลายเป็นโทษได้
เพราะฉะนั้น ศรัทธากับปัญญาต้องปรับให้เสมอกัน ผู้มีศรัทธามากแต่มีปัญญาน้อย
ก็จะมีความเลื่อมใสอย่างงมงาย ไม่เลื่อมใสอย่างแน่วแน่ และเลื่อมใสในสิ่งที่ไม่ใช่เรื่อง
ส่วนผู้มีปัญญามากแต่มีศรัทธาน้อย ก็จะโน้มไปทางฝ่ายเกเรโอ้อวด ไม่สามารถจะแก้ไขได้
เหมือนโรคที่เกิดขึ้นจากยายากที่จะรักษาให้หาย แต่เพราะศรัทธากับปัญญาสม่ำเสมอกัน
จึงทำให้เลื่อมใสในสิ่งที่ถูกต้องเสมอ สมาธิกับวิริยะก็ต้องปรับให้เสมอกัน ผู้มีสมาธิมากแต่มี
วิริยะน้อยจะถูกความเกียจคร้านครอบงำเพราะสมาธิเป็นฝักฝ่ายของความเกียจคร้าน ส่วนผู้มี
วิริยะมากแต่มีสมาธิน้อยจะถูกความฟุ้งซ่านครอบงำ เพราะวิริยะเป็นฝักฝ่ายของอุทธัจจะ
แต่ถ้าสมาธิที่ประกอบเข้ากับวิริยะแล้วจะไม่ตกไปในความเกียจคร้าน วิริยะที่ประกอบเข้ากับ
เข้ากับสมาธิแล้วก็จะไม่ตกไปในอุทธัจจะ ส่วนสติฝึกให้มีมีกำลังมากเท่าไรยิ่งเป็นการดี
เพราะสติรักษากุศลจิตไม่ให้ตกไปในนิวรณ์ ๒๑๗ จึงเป็นสิ่งจำปรารถนาในกิจทุกอย่าง
เหมือนเกลือป่นจำต้องปรารถนาในกับข้าวทุกชนิด จิตมีสติเป็นเครื่องเตือนให้ระลึก และสติ
มีการอารักขาเป็นอาการปรากฏ การยกจิตและการข่มจิตถ้าเว้นจากสติแล้วย่อมทำไม่ได้   


ที่มา : พระมหาสายเพชร วชิรเวที(หงษ์แพงจิตร)

DT011129

dharma

2 มิ.ย. 2554
 เปิดอ่านหน้านี้  5334 

  ความคิดเห็น


RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย