๒.๔ หมวดปกิณณกธรรม

 dharma    2 มิ.ย. 2554

นามปัญหา ๒๗๔ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง ชื่อของแต่ละบุคคล ถูกบัญญัติขึ้น
เพื่อใช้เรียกกันเท่านั้น ไม่มีตัวตนบุคคลที่จะค้นหาได้ในชื่อ
อธิบายว่า ชื่อของแต่ละบุคคลที่มารดาบิดาตั้งให้ หรือที่ใช้เรียกกัน เช่น นาคเสน
บ้าง สูรเสนบ้าง วีรเสนบ้าง สีหเสนบ้าง เป็นเพียงชื่อที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อใช้เรียกกัน จะค้นหา
ตัวบุคคลในชื่อนั้นไม่ได้บุคคลบางพวกอาจเข้าใจว่า ถ้าไม่มีตัวบุคคลที่จะค้นหาได้ใครเป็นผู้
ถวายจตุปัจจัย ใครเป็นผู้บริโภคจตุปัจจัย ใครรักษาศีลเจริญภาวนาและกระทำมรรคผล
พระนิพพานให้แจ้ง ใครเป็นผู้ล่วงละเมิดเบญจศีล ใครทำอนันตริยกรรม ถ้าอย่างนั้น กุศล
ก็ไม่มี อกุศลก็ไม่มี ไม่มีผู้ทำเอง ไม่มีผู้ใช้ให้ทำกรรมที่เป็นกุศลและอกุศล ไม่มีผลวิบากของ
กรรมที่ทำดีและทำชั่ว บรรดาอาการ ๓๒ ประการ ๒๗๕ ชื่อของบุคคลที่ใช้เรียกกัน ไม่ใช่สิ่งใด
สิ่งหนึ่ง ไม่ใช่ขันธ์๕ ๒๗๖ และไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่นอกเหนือขันธ์๕ แต่เป็นการอาศัยอาการ ๓๒
ประการ อาศัยขันธ์๕ ประกอบกันเข้า จึงทำให้มีชื่อของบุคคลไว้ใช้เรียกกัน ว่าโดยปรมัตถ์
แล้วไม่มีตัวบุคคลที่จะค้นได้ในชื่อ เหมือนรถที่มีส่วนประกอบหลายอย่าง แต่ละอย่างก็ไม่ใช่
ตัวรถทั้งนั้น แต่เพราะอาศัยการประกอบกันเข้าของเพลา ล้อ เรือน คัน แอก สายขับ แส้ เป็น
ต้น จึงทำให้เรียกชื่อว่ารถ สมดังคำที่วชิราภิกษุณีกล่าวไว้ว่า เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ การสมมติ
ว่าสัตว์ก็มีได้ เหมือนคำว่ารถมีได้เพราะประกอบส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ๒๗๗
วัสสปัญหา ๒๗๘ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง พรรษาเกี่ยวเนื่องมาจากตัวบุคคล
อธิบายว่า คำว่า พรรษา เป็นการนับที่เนื่องด้วยตัวบุคคล ไม่ได้นับแยกต่างหากจาก
ตัวบุคคล เหมือนเงาที่ปรากฏบนพื้นดินและในหม้อน้ำ อย่างไรก็ตาม แม้เงาไม่ใช่ตัวบุคคล
แต่เงาก็อาศัยตัวบุคคลจึงปรากฏขึ้นมาได้ เพราะเป็นสิ่งที่เนื่องมาจากตัวบุคคล
เถรติกขปฏิภาณปัญหา ๒๗๙ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง การเจรจากันอย่างบัณฑิต
และการเจรจากันอย่างพระราชา
อธิบายว่า เมื่อบัณฑิตเจรจากัน เขาย่อมผูกปัญหาขึ้น และแก้ปัญหากัน พูดข่มกัน
พูดสรรเสริญกัน โต้ตอบปัญหากัน บัณฑิตจะไม่โกรธเพราะการเจรจากันอย่างนี้
ส่วนพระราชาเมื่อตรัสเรื่องหนึ่งอยู่ ถ้ามีคนคัดค้านขึ้นมาก็จะถูกลงอาชญา พระราชาตรัสกัน
อย่างนี้ พระนาคเสนทูลว่า ถ้าพระองค์จักตรัสอย่างบัณฑิตจึงจะเจรจาด้วย ถ้าพระองค์จักตรัส
อย่างพระราชาก็จะไม่เจรจาด้วย พระเจ้ามิลินท์ทรงมีพระประสงค์จะทดสอบปฏิภาณจึงตรัส
ว่า ข้าพเจ้าจะถามปัญหาได้หรือไม่ พระนาคเสนทูลว่า พระองค์ตรัสถามเถิด เมื่อพระองค์ตรัส
ว่า ข้าพเจ้าถามแล้ว ท่านก็ทูลตอบกลับทันทีว่า อาตมภาพก็วิสัชนาเรียบร้อยแล้ว พระองค์จึง
ย้อนถามว่า ท่านวิสัชนาว่าอย่างไร พระนาคเสนทูลว่า ก็พระองค์ตรัสถามว่าอย่างไร การตอบ
ปัญหาอย่างนี้ แสดงให้เห็นถึงปฏิภาณเฉียบแหลมของพระนาคเสน
อันตกายปัญหา ๒๘๐ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง ลมหายใจที่เข้าออกเป็นเพียง
กายสังขาร ไม่ใช่ชีวิต
อธิบายว่า ลมหายใจที่เข้าออกเป็นเพียงกายสังขาร คือ เป็นสภาพบำรุงร่างกายให้
ดำรงอยู่แต่ไม่ใช่ชีวิต เพราะบุคคลที่มีลมออกมาแล้วไม่กลับเข้าไปอีก หรือเข้าไปแล้วไม่กลับ
ออกมาอีก ก็ยังสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ เปรียบเหมือนคนเป่าสังข์เป่าขลุ่ย เป่าลมออกไปแล้ว
แม้ไม่กลับเข้ามาอีก ก็ไม่ทำให้เขาเสียชีวิต
อัสสุปัญหา ๒๘๑ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง คนที่ร้องไห้เพราะมารดาเสียชีวิต
กับคนที่ร้องไห้เพราะซาบซึ้งในธรรม น้ำตาของใครเป็นเภสัช
อธิบายว่า คนที่ร้องไห้เพราะราคะ โทสะ โมหะ น้ำตาอย่างนี้จัดเป็นน้ำตาร้อน
ขุ่นมัว ส่วนคนที่ร้องไห้เพราะเกิดปีติโสมนัส น้ำตาอย่างนี้จัดเป็นน้ำตาเย็น ไม่ขุ่นมัว น้ำตา
ของคนที่ร้องไห้เพราะเกิดปีติโสมนัสในธรรม จัดเป็นเภสัช คือ เป็นยารักษาโรค
อนาคตปัญหา ๒๘๒ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง บุคคลพยายามเพื่อละทุกข์ที่ล่วง
ไปแล้ว ที่ยังมาไม่ถึง หรือที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า
อธิบายว่า บุคคลเพียรพยายามเพื่อละทุกข์ ซึ่งไม่ใช่ทุกข์ในอดีต อนาคต หรือ
ปัจจุบัน แต่เพียรพยายามละทุกข์เพื่อประโยชน์ว่า อย่างไรหนอ ทุกข์นี้พึงดับไป และทุกข์ใหม่
จะไม่พึงเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ทุกข์ที่ยังมาไม่ถึงจะไม่มีเพื่อให้ได้ละ แต่ก็ต้องเพียรพยาม
เพื่อจะละทุกข์นั้นให้ได้เป็นการเตรียมตัวไว้ล่วงหน้า เมื่อความทุกข์เกิดขึ้นก็สามารถดับทุกข์
ได้ทันทีเปรียบเหมือนพระราชาทรงรับสั่งให้ขุดคูก่อกำแพง สร้างป้อมปราการ และพระองค์
ก็ทรงฝึกหัดการทรงม้า ทรงช้าง ทรงธนู เพื่อตระเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า เมื่อเกิดมีข้าศึก
ก็สามารถทำสงครามปราบพวกข้าศึกได้ทันทีมหาภูมิจาลนปาตุภาวปัญหา ๒๘๓ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง เหตุที่ทำให้
แผ่นดินไหวมี ๘ ประการ ๒๘๔ เพราะเหตุไร เมื่อพระเวสสันดร ๒๘๕ ทรงกระทำมหาทาน
แผ่นดินใหญ่จึงไหว
อธิบายว่า เหตุปัจจัยที่ทำให้แผ่นดินไหวมีอยู่ แม้เมื่อพระเวสสันดรทรงบริจาค
มหาทานอยู่แผ่นดินก็ไหวถึง ๗ ครั้ง การที่แผ่นดินใหญ่ไหวไม่ได้เป็นไปในตลอดกาล เกิดขึ้น
ในกาลบางคราวเท่านั้น ซึ่งพ้นจากเหตุ๘ ประการ ดังกล่าวมาแล้ว จึงไม่นับเข้าในเหตุ๘
ประการ เหมือนเมฆที่ทำให้ฝนตกลงมา มี๓ อย่าง คือ (๑) เมฆวัสสิกะ (๒) เมฆเหมันติกะ
(๓) เมฆปาวุสกะ ถ้ามีเมฆอื่นที่พ้นจากเมฆ ๓ อย่างนี้ ทำให้ฝนตกลงมา ก็ไม่นับเข้ากับเมฆที่รู้
กันโดยทั่วไป จัดเป็นอกาลเมฆ คือ เมฆนอกฤดูกาล
อมราเทวีปัญหา ๒๘๖ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง ถ้าหญิงพึงได้โอกาสหรือที่ลับ
หรือว่าพึงได้สถานที่ปิดบัง พึงกระทำความชั่วแน่นอน แม้ไม่ได้ชายอื่นที่สมบูรณ์ ก็พึงกระทำ
กับชายง่อยเปลี้ย ๒๘๗ เพราะเหตุไร นางอมราเทวีภรรยาของมโหสถบัณฑิต อยู่บ้านคนเดียว
ปราศจากสามี นั่งอยู่ในที่ลับ นับถือสามีเสมอกับพระราชา ถูกชายอื่นประโลมด้วยทรัพย์
๑,๐๐๐ กหาปณะ ก็ไม่ยอมกระทำความชั่ว ๒๘๘
อธิบายว่า พระมโหสถบัณฑิต ๒๘๙ นำนางอมราเทวีไปฝากไว้ในบ้านคนอื่น แม้นาง
จะอยู่ปราศจากสามีนั่งอยู่ในที่ลับกับชายอื่น ก็ยังปฏิบัติต่อสามีให้เสมอด้วยพระราชา ถูกบุรุษ
อื่นประเล้าประโลมด้วยทรัพย์๑,๐๐๐ กหาปณะ ก็ไม่ยอมกระทำกรรมอันลามก นางอมราเทวี
มองไม่เห็นโอกาสที่จะกระทำความชั่ว เพราะกลัวการติเตียนในโลกนี้ เพราะกลัวนรกในโลก
หน้า เพราะคิดว่ากรรมชั่วมีผลเผ็ดร้อน เพราะไม่ต้องการละทิ้งมโหสถบัณฑิตผู้เป็นที่รัก
และเพราะมีความเคารพต่อมโหสถบัณฑิตผู้เป็นสามี นางเป็นผู้ประพฤตินอบน้อมต่อ
พระธรรม เป็นผู้ติเตียนความประพฤติเลวทราม ไม่ต้องการทำลายกรรมที่ควรทำ จึงมองไม่
เห็นโอกาสที่จะกระทำความชั่ว นางอมราเทวีใคร่ครวญแล้ว มองไม่เห็นแม้ที่ลับในโลก จึงไม่
ยอมกระทำความชั่ว เพราะแม้นางจะได้ที่ลับจากมนุษย์ ก็ไม่ทำให้ได้ที่ลับจากอมนุษย์ แม้ได้ที่
ลับจากอมนุษย์ก็ไม่ทำให้ได้ที่ลับจากนักบวชผู้รู้จิตของคนอื่น แม้ได้ที่ลับจากนักบวชผู้รู้จิต
ของคนอื่นก็ไม่ทำให้ได้ที่ลับจากเทวดาผู้รู้จิตของคนอื่น แม้ได้ที่ลับจากเทวดาผู้รู้จิตของคน
อื่นก็ไม่ทำให้ได้ที่ลับพอที่ตนจะทำบาป แม้ได้ที่ลับพอที่ตนจะทำบาปก็ไม่ทำให้ได้ที่ลับ
พอที่จะเสพอสัทธรรม อีกทั้งนางใคร่ครวญถึงชายที่มาเกี้ยว ไม่มีชายใดที่เสมอเหมือนกับ
สามีตน จึงไม่ยอมกระทำความชั่ว เพราะมโหสถบัณฑิตมีคุณธรรมหลายอย่างที่ชายอื่นไม่มี
รุกขเจตนาเจตนปัญหา ๒๙๐ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง ต้นไม้ไม่มีจิตใจ พูดไม่ได้
เพราเหตุไร พระพุทธเจ้าจึงให้ภารทวาชพราหมณ์เจรจากับไม้สะคร้อ
อธิบายว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า พราหมณ์ ท่านรู้อยู่ว่า ไม้ใบต้นนี้ไม่มีจิตใจ ไม่ได้
ยินเสียง และไม่มีความรู้สึก เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่ลืม เพียรพยายามถามอยู่เป็นนิตย์ถึงการ
นอนเป็นสุข ๒๙๑ และพระองค์ก็ตรัสอีกว่า ทันใดนั้น รุกขเทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นสะคร้อ
ได้กล่าวอย่างนี้ว่า ถึงข้าพเจ้าก็มีคำที่จะพูด ภารทวาชะ โปรดฟังคำของข้าพเจ้า ๒๙๒ คำว่า
ต้นสะคร้อเจรจากับภารทวาชพราหมณ์ท่านกล่าวโดยสมมติของโลก คือ กล่าวโดยโวหาร
ของชาวโลก เพราะต้นไม้ซึ่งไม่มีจิตใจย่อมเจรจากันไม่ได้และคำว่า ต้นไม้ก็เป็นชื่อของ
เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ในต้นไม้ ส่วนคำว่า ต้นไม้เจรจา เป็นโลกบัญญัติ เหมือนเกวียนบรรทุก
ข้าวเปลือก คนย่อมเรียกว่าเกวียนข้าวเปลือก ซึ่งเกวียนไม่ได้ทำมาจากข้าวเปลือก แต่เขากล่าว
โดยสมมติของโลก แม้พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงธรรมแก่สัตว์ตามสมมติของโลกเหมือนกัน
สมณทุสสีลคิหิทุสสีลปัญหา ๒๙๓ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง คฤหัสถ์ทุศีลและ
สมณะทุศีล ใครมีคุณวิเศษอยู่ อะไรเป็นเครื่องกระทำให้ต่างกัน คติและวิบากของบุคคล
ทั้งสองมีผลเสมอกัน หรือมีอะไรเป็นเครื่องกระทำให้ต่างกัน
อธิบายว่า สมณทุศีลย่อมมีคุณวิเศษกว่าคฤหัสถ์ทุศีล ๑๐ ประการ คือ
(๑) มีความเคารพในพระพุทธเจ้า
(๒) มีความเคารพในพระธรรม
(๓) มีความเคารพในพระสงฆ์
(๔) มีความเคารพในเพื่อนพรหมจารี
(๕) มีความพยายามในอุทเทส และปริปุจฉา
(๖) มีการฟังมาก
(๗) แม้มีศีลขาด เป็นผู้ทุศีล เมื่อเข้าไปในบริษัท ก็ย่อมรักษาอากัปกิริยาไว้ได้
(๘) ย่อมรักษากายกรรมและวจีกรรม เพราะกลัวแต่การติเตียน
(๙) มีจิตมุ่งตรงต่อความเพียร
(๑๐) ย่อมเข้าถึงสมัญญาว่าเป็นภิกษุ
สมณะทุศีลเมื่อจะกระทำความชั่วย่อมประพฤติอย่างปิดบัง เปรียบเหมือนสตรีที่มี
สามีย่อมประพฤติชั่วช้าเฉพาะแต่ในที่ลับเท่านั้น สมณะทุศีลย่อมยังทักษิณาให้หมดจดได้ด้วย
เหตุ๑๐ ประการ คือ
(๑) เพราะความเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งเกราะอันหาโทษมิได้
(๒) เพราะการทรงเพศคนศีรษะโล้น ผู้มีสมัญญาว่าฤาษี(ภิกษุ)
(๓) เพราะความที่เข้าถึงความเป็นตัวแทนสงฆ์ที่เขานิมนต์
(๔) เพราะความเป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ
(๕) เพราะความเป็นผู้อาศัยอยู่ในบ้านพักอาศัย คือ ความเพียร
(๖) เพราะความเป็นผู้แสวงหาทรัพย์ในพระชินศาสนา
(๗) เพราะการแสดงธรรมอันประเสริฐ
(๘) เพราะความเป็นผู้มีธรรม คือประทีป ส่องคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า
(๙) เพราะความเป็นผู้มีทิฏฐิตรงโดยส่วนเดียวว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้เลิศ
(๑๐) เพราะการสมาทานอุโบสถ
อย่างไรก็ตาม แม้สมณะทุศีลจะเป็นผู้มีศีลวิบัติแต่ก็ทำทักษิณาของทายกให้หมด
จดวิเศษได้ผู้มีศีลได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลแห่งกรรมอันโอฬาร ให้
ทานในชนผู้ทุศีล ทักษิณาของผู้นั้นชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายทายก ๒๙๔ เหมือนน้ำแม้จะขุ่นก็ชำระล้าง
โคลนตม ละออง และเหงื่อไคลได้ แม้จะร้อนจนเดือดก็ดับไฟกองใหญ่ที่กำลังลุกโพลงได้
เอกัจจาเนกัจจานังธัมมาภิสมยปัญหา ๒๙๕ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง บุคคลผู้
ปฏิบัติชอบย่อมตรัสรู้ธรรมทุกคน หรือบางคนก็ตรัสรู้บางคนก็ตรัสรู้ไม่ได้
อธิบายว่า บุคคลผู้ปฏิบัติชอบ บางคนก็ตรัสรู้ธรรมได้ แต่บางคนก็ตรัสรู้ธรรม
ไม่ได้ บุคคลผู้ตรัสรู้ธรรมไม่ได้ มีอยู่๑๖ จำพวก คือ
(๑) สัตว์เดรัจฉาน
(๒) บุคคลผู้เข้าถึงเปรตวิสัย
(๓) พวกมิจฉาทิฏฐิ
(๔) คนหลอกลวง
(๕) คนฆ่ามารดา
(๖) คนฆ่าบิดา
(๗) คนฆ่าพระอรหันต์
(๘) คนผู้ทำสงฆ์ให้แตกกัน
(๙) คนทำโลหิตพระพุทธเจ้าให้ห้อ
(๑๐) คนผู้เป็นไถยสังวาส (ปลอมบวช)
(๑๑) คนผู้เข้ารีตเดียรถีย์
(๑๒) คนผู้ประทุษร้ายภิกษุณี
(๑๓) ภิกษุผู้ต้องครุกาบัติ ๒๙๖ ๑๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ยังไม่ออกจากอาบัติ
(๑๔) บัณเฑาะก์
(๑๕) อุภโตพยัญชนก (คนสองเพศ)
(๑๖) เด็กอ่อนอายุต่ำกว่า ๗ ขวบ
เหตุที่เด็กอ่อนอายุต่ำกว่า ๗ ขวบ แม้เป็นผู้ปฏิบัติชอบ อีกทั้งไม่มีราคะ โทสะ
โมหะ มานะ มิจฉาทิฏฐิ ความยินร้าย กามวิตก และไม่คลุกคลีด้วยกิเลส เขาควรบรรลุสัจจะ ๔
โดยการบรรลุคราวเดียว แต่ที่ไม่สามารถบรรลุธรรมได้เพราะจิตของเด็กไม่มีกำลัง มีกำลังไม่
เพียงพอ อ่อนแอ เบาบาง จึงไม่สามารถบรรลุอสังขตนิพพานธาตุซึ่งเป็นของหนัก ยิ่งใหญ่
ไพบูลย์ได้เหมือนพญาเขาสิเนรุซึ่งเป็นของหนัก ยิ่งใหญ่ไพบูลย์บุรุษคนเดียวไม่อาจใช้
เรี่ยวแรงกำลังและความเพียรที่มีตามปกติของตน ยกพญาเขาสิเนรุนั้นได้เพราะบุรุษไม่มีกำลัง
เพียงพอ และพญาเขาสิเนรุก็มีขนาดใหญ่
ปฐวีสันธารกปัญหา ๒๙๗ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง สิ่งที่รองรับแผ่นดินไว้
อธิบายว่า แผ่นดินใหญ่ตั้งอยู่บนน้ำ น้ำตั้งอยู่บนลม ลมก็ตั้งอยู่บนอากาศ เหมือน
บุคคลนำธัมกรกจุ่มลงในน้ำแล้วยกขึ้น น้ำนี้ถูกลมรองรับไว้ฉันใด แม้น้ำที่รองรับแผ่นดิน
ก็เป็นน้ำที่ลมรองรับไว้ ฉันนั้น
ทีฆอัฏฐิกปัญหา ๒๙๘ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง โครงกระดูกที่ยาวถึง ๑๐๐
โยชน์มีอยู่หรือไม่อธิบายว่า สัตว์ที่กระดูกยาว ๑๐๐ โยชน์มีอยู่ เพราะในมหาสมุทรมีปลาที่ยาวถึง
๕๐๐ โยชน์
อุทกสัตตชีวปัญหา ๒๙๙ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง น้ำที่ถูกต้มอยู่บนไฟ พอเดือด
ก็ส่งเสียงดังหลายอย่างแตกต่างกัน น้ำมีชีวิต หรือส่งเสียงเล่น หรือถูกสิ่งอื่นบีบคั้นจึงส่งเสียง
ร้องออกมา
อธิบายว่า น้ำไม่มีชีวิต ชีวะก็ดี สัตว์ก็ดีไม่มีอยู่ในน้ำ เหตุที่น้ำส่งเสียงดังมากมาย
หลายอย่าง เพราะกำลังแห่งความร้อนของไฟมีมาก แม้พวกเดียรถีย์บางพวกคิดว่า น้ำมีชีวิต
จึงปฏิเสธน้ำเย็น ต้มน้ำให้ร้อนแล้วบริโภคน้ำที่กระทำให้วิปริตผิดแปลกไป แม้พวกเขาจะ
ติเตียนพุทธสาวกว่า พวกสมณศากยบุตรเบียดเบียนอินทรีย์ชีวะอยู่อย่างหนึ่ง น้ำไม่มีชีวิต ชีวะ
ก็ดี สัตว์ก็ดี ไม่มีอยู่ในน้ำ เหมือนน้ำที่ขังอยู่ในสระ ลำธาร ทะเล บ่อน้ำ สระโบกขรณี ถูกขจัด
ให้หมดสิ้นไปเพราะกำลังแห่งลมและแดดที่รุนแรง แต่น้ำก็ไม่ได้ส่งเสียงดัง
โลกนัตถิภาวปัญหา ๓๐๐ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง บุคคลและสิ่งของหลายอย่าง
ล้วนมีปรากฏอยู่ในโลก สิ่งที่ไม่มีอยู่ในโลกมีหรือไม่
อธิบายว่า สิ่งที่ไม่มีในโลก มีอยู่๓ ประการ คือ
(๑) สิ่งที่มีเจตนาก็ดี ไม่มีเจตนาก็ดี ซึ่งไม่แก่และไม่ตาย
(๒) ความที่สังขารเป็นของเที่ยง
(๓) สิ่งที่บุคคลเข้าไปถือเอาว่าเป็นสัตว์โดยปรมัตถ์
ยักขมรณภาวปัญหา ๓๐๑ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง ยักษ์มีอยู่ในโลกหรือไม่
อธิบายว่า ยักษ์ ๓๐๒ มีอยู่ในโลก เมื่อยักษ์ตายแล้ว ซากของยักษ์ก็ปรากฏอยู่ แม้กลิ่น
ศพก็ฟุ้งขจรไป ซากของยักษ์ย่อมปรากฏเป็นซากแมลงบ้าง หนอนบ้าง มดแดงบ้าง บุ้งบ้าง
งูบ้าง แมงป่องบ้าง ตะขาบบ้าง นกบ้าง เนื้อบ้าง
สุริยตัปปภาวปัญหา ๓๐๓ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง พระอาทิตย์ส่องแสง
ร้อนแรงตลอดเวลา หรือบางเวลาก็ส่องแสงอ่อน ไม่ร้อนแรง
อธิบายว่า พระอาทิตย์ส่องแสงร้อนแรงตลอดเวลา ไม่มีเวลาไหนที่พระอาทิตย์จะ
ส่องแสงอ่อน ไม่ร้อนแรง เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะพระอาทิตย์มีโรค ๔ อย่าง คือ (๑) หมอก
(๒) น้ำค้าง (๓) เมฆ (๔) ราหูถ้าพระอาทิตย์ถูกโรคอย่างใดอย่างหนึ่งเข้าครอบงำ จะทำให้
พระอาทิตย์ส่องแสงอ่อน ไม่ร้อนแรง
สุริยโรคภาวปัญหา ๓๐๔ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง ในเหมันตฤดูพระอาทิตย์
ส่องแสงแรงกล้า เพราะเหตุไร ในคิมหันตฤดูพระอาทิตย์จึงส่องแสงไม่แรงกล้าอย่างนั้น
อธิบายว่า ในคิมหันตฤดูธุลีขี้ฝุ่นไม่เข้าไปกระทบ ละอองถูกลมตีให้ฟุ้งขึ้นไปอยู่
บนท้องฟ้า อีกทั้งก้อนเมฆก็ปกคลุมหนาแน่นในอากาศ ลมก็พัดแรงเหลือประมาณ ทำให้สิ่ง
ปฏิกูลรวมกันเข้าก็ปิดบังรัศมีพระอาทิตย์ไว้จึงทำให้พระอาทิตย์ส่องแสงไม่แรงกล้าใน
คิมหันตฤดูส่วนในเหมันตฤดูแผ่นดินเบื้องล่างเย็น มหาเมฆตั้งขึ้นในเบื้องบน ธุลีขี้ฝุ่นนิ่งสงบ
อยู่ อีกทั้งละอองที่ละเอียดก็เคลื่อนไปบนท้องฟ้า อากาศก็ปราศจากเมฆฝน ลมก็พัดไปอ่อน ๆ
รัศมีพระอาทิตย์ก็หมดจด เพราะสิ่งเหล่านี้สงบระงับ เมื่อพระอาทิตย์พ้นจากสิ่งขัดข้อง
แสงแดดย่อมแผดกล้ายิ่งนัก จึงทำให้พระอาทิตย์ส่องแสงแรงกล้าในเหมันตฤดู
สุปินปัญหา ๓๐๕ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง สิ่งที่เรียกว่าความฝัน และบุคคล
เช่นไรจึงจะฝันได้
อธิบายว่า นิมิตที่เข้าถึงคลองแห่งจิต ชื่อว่าความฝัน บุคคลที่สามารถจะนิมิตที่เป็น
ความฝัน มีอยู่๖ จำพวก คือ
(๑) คนที่มีธาตุลมกำเริบ
(๒) คนที่มีดีกำเริบ
(๓) คนที่มีเสมหะกำเริบ
(๔) คนผู้ที่เทวดาเข้าไปสังหรณ์
(๕) คนผู้เคยประพฤติสิ่งนั้นมาก่อน
(๖) คนผู้มีบุรพนิมิตมาปรากฏ
บุคคลผู้ที่จะฝันต้องไม่หลับอยู่และไม่ตื่นอยู่ เพราะจิตของคนที่ตื่นอยู่ย่อมโลเล
แจ้ง ชัด ไม่เป็นจิตประจำ นิมิตย่อมเข้าไม่ถึงคลองแห่งจิต แต่ความฝันจะอยู่ในช่วงระหว่างที่
ความโงกง่วงยังไม่ตกถึงภวังค์เพราะเมื่อบุคคลมีความโงกง่วงเพิ่มขึ้นจิตก็ย่อมตกภวังค์จิตที่
ตกภวังค์ย่อมไม่เป็นไปแม้ในร่างกายที่ดำรงอยู่ จิตที่ไม่เป็นไปก็ย่อมไม่รู้สุขและทุกข์
เมื่อบุคคลไม่รู้สุขและทุกข์ก็จะไม่ฝัน ต่อเมื่อจิตเป็นไปเท่านั้นจึงจะฝันได้เหมือนในที่มืดมิด
ไม่สว่าง เงาย่อมไม่ปรากฏในกระจกเงาที่ใสสะอาด ร่างกายเป็นดุจกระจกเงา ความโงกง่วง
เป็นดุจความมืด จิตเป็นดุจความสว่าง บุคคลที่มีจิตไม่เป็นไปในขณะที่ร่างกายยังเป็นอยู่ มีอยู่
๒ จำพวก คือ
(๑) คนที่มีความโงกง่วงเพิ่มพูน จนจิตตกถึงภวังค์
(๒) คนผู้เข้านิโรธสมาบัติ
ความที่กายสยบซบเซา มีกำลังอ่อนแอ ไม่ควรแก่การงาน จัดเป็นเบื้องต้นแห่ง
ความโงกง่วง ภาวะที่หลับ ๆ ตื่น ๆ ปะปนกัน เหมือนการนอนหลับของลิง จัดเป็นท่ามกลาง
แห่งความโงกง่วง การที่จิตตกถึงภวังค์ จัดเป็นที่สุดแห่งความโงกง่วง บุคคลผู้ตื่นอยู่แต่ยังมี
ความโงกง่วง และอยู่ในท่ามกลางแห่งความโงกง่วง เหมือนลิงนอนหลับเท่านั้น จึงจะฝันได้
สมุททปัญหา ๓๐๖ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง ทะเล
อธิบายว่า น้ำมีประมาณเท่าใด รสเค็มก็มีประมาณเท่านั้น หรือรสเค็มมีประมาณ
เท่าใด น้ำก็มีประมาณเท่านั้น เพราะเหตุนี้ จึงเรียกว่าทะเล ถ้ามีแต่น้ำไม่มีรสเค็มด้วย หรือมีแต่
รสเค็มไม่มีน้ำด้วย ก็ไม่เรียกว่า ทะเล
สมุททเอกรสปัญหา ๓๐๗ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง ทะเลมีรสเดียว
อธิบายว่า ทะเลมีรสเดียวคือ รสเค็ม เพราะมีน้ำขังอยู่นาน จึงกลายสภาพเป็นน้ำเค็ม
สีวิราชจักขุทานปัญหา ๓๐๘ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง ธรรมดาบุคคลผู้เสียจักษุ
ประสาทแล้วย่อมไม่ได้ทิพยจักษุเพราะเหตุไร เมื่อพระเจ้าสีวิราชพระราชทานจักษุแก่ยาจก
แล้ว ทิพยจักษุจึงเกิดขึ้นมาใหม่ได้
อธิบายว่า ธรรมดาคนตาบอดมีจักษุประสาทพิการ ย่อมไม่มีโอกาสที่จะกลับมา
มองเห็นได้เหมือนเดิม เหมือนคำที่กล่าวว่า เมื่อได้ถอนเหตุแล้ว เมื่อไม่มีเหตุ คือเมื่อไม่มีวัตถุ
ทิพยจักษุก็จะไม่เกิดขึ้น ๓๐๙ เพราะทิพยจักษุจะไม่มีในสิ่งที่ไม่ใช่เหตุ คือในสิ่งที่ไม่ใช่วัตถุ
ส่วนพระเจ้าสีวิราช ๓๑๐ ทรงควักพระเนตรทั้ง ๒ ให้เป็นทานแก่ยาจก ทำให้จักษุประสาทพิการ
ต่อมาพระองค์ทรงได้ทิพยจักษุด้วยการทำสัจกิริยา สัจจะนั่นเองเป็นวัตถุเพื่อความเกิดขึ้นแห่ง
ทิพยจักษุก็บุคคลผู้ทำสัจกิริยาสามารถที่จะบันดาลให้ฝนตกได้ ให้ไฟดับไป กำจัดยาพิษ หรือ
ย่อมกระทำกิจต่าง ๆ แม้อย่างอื่นได้เหมือนนางคณิกาชื่อว่าพินทุมดีกระทำสัจกิริยาเพื่อให้
แม่น้ำคงคาไหลกลับทวนกระแส แม้นางจะเป็นหญิงคณิกาผู้เป็นนางโจร เป็นหญิงนักเลง
ไม่มีสติ มีศีลขาด ไม่มียางอาย เที่ยวประเล้าประโลมคนมืดบอด แต่ก็กระทำสัจกิริยาว่า
จะบำรุงบำเรอบุรุษทุกคนผู้เป็นเจ้าของแห่งทรัพย์ให้เท่าเทียมกันเป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็น
กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร โดยไม่เลือกชนชั้นวรรณะ
คัพภาวักกันติปัญหา ๓๑๑ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง พระสุวรรณสามกับ
มัณฑยมาณพ ถือปฏิสนธิในพระครรภ์ได้อย่างไร
อธิบายว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า การตั้งครรภ์ย่อมมีได้เพราะการประชุมกันแห่งเหตุ
๓ อย่าง ๓๑๒ คือ
(๑) มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน
(๒) มารดามีระดู
(๓) มีคันธัพพะมาปรากฏ
พระสุวรรณสามถือปฏิสนธิเพราะทุกุลดาบสใช้นิ้วหัวแม่มือข้างขวาลูบสะดือของ
นางปาริกาตาปสินีซึ่งกำลังมีระดู ส่วนมัณฑยมาณพถือปฏิสนธิ เพราะมาตังคฤาษีใช้
นิ้วหัวแม่มือข้างขวาลูบสะดือนางกัญญาพราหมณีในคราวมีระดูเหมือนกัน พระสุวรรณสาม
ถือปฏิสนธิโดยที่บิดามารดาไม่ได้อยู่ร่วมกัน เพราะท่านทั้งสองเป็นผู้น้อมไปในวิเวกแสวงหา
ประโยชน์สูงสุด ไม่ปรารถนาที่จะล่วงสัทธรรมที่ได้บำเพ็ญมา ท้าวสักกะจึงวิงวอนให้ดาบส
ลูบสะดือของตาปสินีในเวลาที่นางมีระดู การลูบสะดือจัดเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งของการหยั่งลง
สู่ครรภ์ คือ มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน การอยู่ร่วมกันของมารดาและบิดา ไม่ใช่เฉพาะแต่การ
ประพฤติละเมิดเท่านั้น แม้การหัวเราะ การพูดกัน การเพ่งจ้องกัน ก็ย่อมทำให้เกิดการร่วมกัน
ด้วยอาศัยราคะเป็นเบื้องต้นแล้วลูบไล้เนื้อตัว เพราะการอยู่ร่วมกัน จึงมีการก้าวลงสู่ครรภ์
เหมือนไฟที่ลุกโพลงย่อมกำจัดความเย็นแห่งวัตถุที่เพียงแต่เข้าใกล้ทั้งที่ยังไม่เข้าถึงตัว ก็สัตว์
ย่อมก้าวลงสู่ครรภ์ด้วยอำนาจแห่งเหตุ๔ อย่าง คือ
(๑) ด้วยอำนาจแห่งกรรม
(๒) ด้วยอำนาจแห่งกำเนิด
(๓) ด้วยอำนาจแห่งตระกูล
(๔) ด้วยอำนาจแห่งการร้องขอ
ทูเรพรหมโลกปัญหา ๓๑๓ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง พรหมโลกอยู่ไกลจาก
มนุษยโลกประมาณเท่าไร
อธิบายว่า พรหมโลกอยู่ไกลจากที่นี้ ประมาณก้อนหินขนาดเท่าเรือนยอด ตกจาก
พรหมโลก ลอยเคว้งคว้างตลอดทั้งวันทั้งคืน สิ้นระยะทางประมาณ ๔๘,๐๐๐ โยชน์ จึงตกถึง
พื้นดิน โดยใช้เวลาประมาณ ๔ เดือน ส่วนผู้มีฤทธิ์ที่บรรลุความชำนาญทางจิต อันตรธานจาก
ที่นี่ก็ปรากฏตัวที่พรหมโลกทันทีชั่วระยะเวลาดุจบุรุษผู้มีกำลัง เหยียดแขนที่คู้อยู่ออกไป หรือ
คู้แขนที่เหยียดออกอยู่เข้ามา เปรียบเหมือนบุคคลที่เกิดอยู่ไกลจากที่นี้ประมาณ ๒๐๐ โยชน์
แต่พอนึกถึงกิจบางอย่างที่ตนเองกระทำไว้ ณ ที่นั้น ก็นึกได้ทันทีเหมือนเดินทางไปตลอด
ระยะทาง ๒๐๐ โยชน์ อย่างรวดเร็ว
พรหมโลกกัสมิรปัญหา ๓๑๔ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง บุคคลที่ตายในเมืองนี้
แล้วไปเกิดในพรหมโลก กับบุคคลที่ตายในเมืองนี้แล้วไปเกิดในแคว้นกัสมีระ ใครจะใช้เวลา
ไปเกิดนานกว่ากัน หรือเร็วกว่ากัน
อธิบายว่า บุคคลทั้งสองย่อมไปเกิดพร้อมกัน ใช้เวลาเท่ากัน ไม่ช้าไม่เร็ว ก่อนที่จิต
จะดับจากโลกนี้ย่อมเกี่ยวเกาะอารมณ์ที่ใดที่หนึ่ง เมื่อดับจากที่หนึ่งก็มุ่งตรงไปยังที่หมายทันที
เหมือนนกสองตัวบินไปในอากาศ ตัวหนึ่งบินมาจับที่ต้นไม้สูง ตัวหนึ่งบินมาจับที่ต้นไม้ต่ำ
เงาของนกทั้งสองตัว ย่อมปรากฏที่พื้นดินพร้อมกัน สิ้นเวลาเท่ากัน
อุตตรกุรุปัญหา ๓๑๕ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง บุคคลสามารถที่จะไปอุตตรกุรุ
ทวีป พรหมโลก หรือทวีปอื่น ด้วยร่างกายนี้ได้หรือไม่
อธิบายว่า บุคคลสามารถที่จะไปสู่อุตตรกุรุทวีป พรหมโลก หรือทวีปอื่น ด้วยกาย
อันประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ นี้ เปรียบเหมือนบุคคลกระโดดจากพื้นดินสูงขึ้นไปประมาณ
๑ คืบ หรือ ๑ ศอก ด้วยตั้งใจว่า เราจักกระโดด ณ ที่นี้ ร่างกายก็จะเบาไปทันทีพร้อมกับ
ความคิดที่เกิดขึ้น ภิกษุผู้มีฤทธิ์บรรลุความชำนาญในสมาธิจิต ย่อมยกกายเข้าไปไว้ในจิตแล้ว
ไปสู่เวหาสด้วยอำนาจแห่งจิต
อัสสาสปัสสาสปัญหา ๓๑๖ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง บุคคลสามารถดับลม
อัสสาสะและปัสสาสะได้หรือไม่
อธิบายว่า บุคคลสามารถดับอัสสาสะและปัสสาสะได้เปรียบเหมือนคนที่นอน
กรน เมื่อถูกจับพลิกร่างกาย เสียงกรนก็ระงับไป คนที่ยังมิได้อบรมกาย มิได้อบรมศีล มิได้
อบรมจิต มิได้อบรมปัญญา เพียงแต่พลิกร่างกาย เสียงกรนก็ยังระงับได้เมื่อเป็นอย่างนั้น คนผู้
ได้อบรมกาย ศีล จิต ปัญญา เข้าจตุตถฌานแล้ว ลมอัสสาสะและปัสสาสะย่อมดับได้อย่าง
แน่นอน
สัทธัมมอันตรธานปัญหา ๓๑๗ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง พระสัทธรรมจักตั้งอยู่
นานเพียงไร
อธิบายว่า พระพุทธเจ้าตรัสกะพระอานนท์ว่า พระสัทธรรมจะตั้งอยู่ได้เพียง ๕๐๐
ปีเท่านั้น ๓๑๘ แต่พระองค์ตรัสกับสุภัททปริพาชกในคราวจะปรินิพพานว่า ก็ภิกษุพึงเป็นอยู่
โดยชอบ โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ ๓๑๙ พุทธพจน์ทั้งสองมีอรรถและพยัญชนะต่างกัน
พุทธพจน์หนึ่งเป็นการกำหนดอายุพระศาสนา อันหนึ่งเป็นการแสดงยกย่องการปฏิบัติ
คำทั้งสองแยกห่างกันและกัน เหมือนฟ้าแยกห่างจากแผ่นดิน นรกแยกห่างจากสวรรค์ กุศล
แยกห่างจากอกุศล สุขแยกห่างจากทุกข์พระดำรัสที่ว่า พระสัทธรรมจะตั้งอยู่ได้เพียง ๕๐๐ ปี
เท่านั้น เป็นคำที่พระองค์เมื่อจะทรงแสดงความสิ้นไปแห่งอายุพระศาสนา ก็ทรงกำหนดถึง
ส่วนที่เหลืออยู่อย่างนี้ว่า ถ้าผู้หญิงไม่บวชเป็นภิกษุณี พระสัทธรรมจะตั้งอยู่ได้ถึง ๑,๐๐๐ ปี
แต่บัดนี้พระสัทธรรมจะตั้งอยู่ได้เพียง ๕๐๐ ปี เท่านั้น การที่พระองค์ตรัสอย่างนี้ไม่ได้แสดง
ถึงการอันตรธานแห่งพระสัทธรรม หรือคัดค้านการตรัสรู้ธรรม แต่ทรงประกาศอายุ
พระศาสนาส่วนที่เสื่อมหายไป และทรงกำหนดอายุพระศาสนาส่วนที่ยังเหลืออยู่ เปรียบ
เหมือนบุรุษทำสิ่งของหาย จึงถือเอาสิ่งของที่ยังเหลืออยู่ไปแสดงแก่คนอื่นว่า สิ่งของของ
ข้าพเจ้าหายไปเท่านี้ นี้คือส่วนที่เหลืออยู่ ส่วนพระดำรัสที่ว่า ภิกษุพึงเป็นอยู่โดยชอบ โลกก็จะ
ไม่ว่างจากพระอรหันต์ เป็นคำแสดงถึงความประเสริฐของพระพุทธศาสนา ที่รุ่งเรืองด้วย
อาจารคุณ ศีลคุณ ข้อวัตรปฏิบัติทั้งหลาย ส่องสว่างไปในหมื่นโลกธาตุถ้าภิกษุผู้เป็นพุทธบุตร
พึงประกอบด้วยองค์แห่งภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการ ๓๒๐ ไม่ประมาท พากเพียรเป็นประจำ
เกิดฉันทะศึกษาในไตรสิกขา ทำจาริตตศีลให้เต็มเปี่ยมเสมอ ก็จะเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนา
พึงตั้งอยู่ได้ตลอดกาลนาน และโลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์
ผู้วิจัยได้ศึกษาและจัดหลักธรรม ที่เป็นการถามและการตอบกันโดยใช้ปฏิภาณ
ไหวพริบ ซึ่งพระนาคเสนอธิบายไว้อย่างเหมาะสม โดยอาศัยหลักธรรมในทาง
พระพุทธศาสนามาเป็นแนวทางในการตอบ เช่น เรื่องชื่อ ๓๒๑ ของบุคคลเป็นสิ่งที่สมมติกัน
ขึ้นมาเพื่อใช้สื่อสารกันให้เข้าใจตรงกัน หรือเรื่องพรรษาก็เป็นสิ่งที่เนื่องด้วยตัวบุคคล
ไม่สามารถแยกออกจากกันได้พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมชาติย่อมชี้ให้เห็นว่า
พระองค์ทรงเป็นสัพพัญญูผู้รู้แจ้งในสิ่งทั้งปวงอย่างแท้จริง หรือผู้รู้แจ้งโลก ซึ่งเกิดจากการที่
พระองค์ได้ทรงศึกษาในศิลปศาสตร์๑๘ แขนง ๓๒๒ พระองค์ตรัสรู้และเข้าใจในสรรพสิ่ง
ตลอดทั้งสรรพสัตว์ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก ก็เกิดจากบำเพ็ญพระบารมีตลอดเวลาสี่อสงไขย
ยิ่งด้วยแสนกัลป์
พระนาคเสนโต้ตอบปัญหากับพระเจ้ามิลินท์ทำให้พระองค์เกิดความเข้าใจใน
ทุกปัญหาที่พระองค์ตรัสถาม ทั้งที่เกี่ยวกับหลักธรรมและไม่เกี่ยวกับหลักธรรม ซึ่งแสดงให้
เห็นถึงอัจฉริยภาพของพระนาคเสน และประกาศความเป็นพุทธสาวกผู้ปราดเปรื่องในด้าน
การใช้ปฏิภาณไหวพริบตอบปัญหาโต้วาทะ เพื่อปราบปรัปวาทลัทธิภายนอกพระพุทธศาสนา
นับว่าเป็นแบบอย่างที่ดีในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้มั่นคง   


ที่มา : พระมหาสายเพชร วชิรเวที(หงษ์แพงจิตร)

DT011129

dharma

2 มิ.ย. 2554
 เปิดอ่านหน้านี้  5321 

  ความคิดเห็น


RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย