การฝึกจิตภาวนาเพื่อเตรียมเกษียณ ตอน 1

 kriengsakprapongsana    17 ก.พ. 2555

หลังจากได้รับคำแนะนำจากคุณลูกโป่ง ผมได้เข้าร่วมปฏิบัติธรรม ณ อาคารปฏิบัติธรรมพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก กรุงเทพฯ ขอผลบุณที่ได้จากการปฏิบัติในครั้งนี้ จงบันดาลให้คุณลูกโป่งจงบรรลุธรรม และมีความสุขครับ พร้อมกันนี้ผมได้แนบเรื่องสั้นที่ได้พบจากการปฏิบัติธรรมในครั้งนี้ ขอกราบอภัยหากมีสิ่งใดไม่ถูกต้อง และขออภัยนามผู้ที่ถูกกล่าวพาดพิงโดยไม่ได้ขออนุญาตครับ
-----------------------------------------------------

การปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสทรงพระชนมายุครบ 80 พรรษา ณ อาคารปฏิบัติธรรมพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ถนนกรุงเทพ-กรีฑา ซอยยี่สิบแยก 7 กรุงเทพฯ

ในเดือนเกิดของผมในทุกปี ผมมักจะกินเจเป็นอย่างน้อยเจ็ดวัน เพื่อลดการเบียดเบียน และเพื่อเป็นบุญกุศลให้กับตัวเองและครอบครัว แต่มาปีนี้ ด้วยความตั้งใจอันแรงกล้าที่จะฝึกปฏิบัติธรรมอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ทั้งๆ ที่เมื่อสมัยวัยเด็กจนปัจจุบันได้ฝึกด้วยตัวเองมาบ้าง อายุก็ใกล้หกสิบปีเข้าไปทุกวันแล้ว เตรียมตัวไว้เผื่อเวลาที่ต้องเกษียณ ถึงแม้ใครต่อใครจะว่ายังสามารถทำงานไปได้อีกหลายปี หรือมีใครมาแอบทาบทามก็ตาม แต่ด้วยความคิดที่ว่าอย่าเสี่ยงดีกว่า ไม่มีอะไรที่แน่นอนในโลกนี้ คงต้องเตรียมทำอะไรที่ใจรักไว้บ้างเมื่อเวลานั้นมาถึงจะได้ทำใจได้ ทำให้อยากหาที่สามารถฝึกปฏิบัติธรรมโดยใช้เวลาไม่มากนัก ควรอยู่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ลองสอบถามจากน้องๆในที่ทำงานก็รู้สึกว่ายากเย็นเพราะแต่ละคนที่บอกมาก็ไกลๆทั้งนั้น มีผู้ใกล้ชิดโดยเฉพาะคุณภรรยาก็เสนอมาบางแห่ง แต่อาจจะเป็นชะตาชีวิตที่เคยได้ทำไว้เมื่อแต่ชาติปางก่อน ทำให้ได้รับคำแนะนำจากกัลยามิตรทาง Internet ใช้นามแฝงว่าคุณลูกโป่ง จาก www.dhammathai.org ผมได้ post ข้อความว่าการฝึกจิตภาวนาเพื่อเตรียมเกษียณ ในช่วงเวลาไม่นานนักคุณลูกโป่งก็แนะนำเบอร์โทรติดต่อให้ จากนั้นก็โทรนัดและสมัครผ่านทางจิตอาสา

ผมได้สมัครโครงการปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ณ มูลนิธิหลวงพ่อมิตซูโอะ คเวสโก ถนนกรุงเทพ-กรีฑา ซอย 20 แยก 7 ไม่ห่างจากบ้านนัก เป็นโครงการสำหรับผู้สูงวัยอายุ 50 ปีขึ้นไประหว่างวันที่ 10-12 กุมภาพันธ์ 2555 รับจำนวนจำกัด โครงการดังกล่าวมีจัดทุกเดือน ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ หลังจากสมัครแล้วจึงได้แจ้งให้ที่บ้านทราบ และภรรยาสนใจขอตามไปด้วย

กิจกรรมของโครงการ:- ตีสี่ทำวัตรเช้าและปฏิบัติ หกโมงบริหาร แปดโมงอาหารเช้า เก้าโมงครึ่งฟังเทศน์และปฏิบัติหรือฟังบรรยาย สิบเอ็ดโมงอาหารเที่ยง บ่ายโมงฟังธรรมและปฏิบัติ บ่ายสามโมงพัก บ่ายสามโมงครึ่งฟังธรรมและปฏิบัติ ห้าโมงเย็น อาหารเย็น (ไม่เคร่งมากเนื่องจากเป็น สว. เพราะบางท่านต้องทานยาหลังอาหาร) หกโมงเย็นกว่าทำวัตรเย็นและปฏิบัติถึงสามทุ่ม แล้วพักตามอัธยาศัย การปฏิบัติครั้งนี้มีชาย 9 ท่าน หญิง 50 กว่าท่านที่พักค้าง และมีอีกส่วนหนึ่งที่เดินทางไปกลับ มีหลายกลุ่มมาเป็นหมู่คณะ โดยมีพระสงฆ์จำนวน 5 รูปจากวัดสุนันทวนาราม จังหวัดกาญจนบุรีมาจำวัดที่มูลนิธินี้เพื่อสอนธรรมมะและการทำสมาธิในครั้งนี้ด้วย ในตอนเช้าประมาณหกโมงเช้าพระท่านจะออกไปบิณฑบาต จะมีบางคนที่ไม่ทำกายบริหารตามเวลาปกติ เพราะต้องออกไปเป็นลูกศิษย์พระในการออกบิณฑบาต ในการนี้มีผมและภรรยาไปร่วมเป็นลูกศิษย์ด้วย

ผมเพิ่งเข้าร่วมปฏิบัติธรรมเป็นหมู่คณะครั้งแรก ส่วนภรรยาได้เริ่มปฏิบัติจริงจังเป็นครั้งแรกเช่นกัน โครงการนี้เหมาะสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มปฏิบัติเพราะไม่เคร่งมาก ค่อยเป็นค่อยไปไม่ต้องลดอาหารค่ำ เน้นการปฏิบัติทางด้านอานาปานสติภาวนา จับจ้องการหายใจเข้าออก เดินจงกลมแบบง่ายๆ ทำวัตรเช้าเย็น ฟังธรรม มีผู้ปฏิบัติหลายท่านมามากกว่าหนึ่งครั้ง และชวนเพื่อนๆมาเพิ่ม บางท่านมีลูกมาดูแลคุณแม่ด้วย บางท่านก็นั่งรถเข็นมา เป็นที่น่าชื่นชมและชื่นใจมาก

ในชีวิตผมไม่เคยเป็นลูกศิษย์พระ ได้แต่ใส่บาตรทำบุญ ได้เป็นลูกศิษย์พระก็ครั้งนี้ ในเช้าวันที่ 11 และ 12 ได้มีโอกาสเดินตามพระไปบิณฑบาต แต่ดูแปลกตรงที่ว่าทำไมลูกศิษย์พระอายุ 60-70 ปี ระยะทางจากมูลนิธิไปตลาดหมู่บ้านนักกีฬาราวๆ 3 กิโลกว่าๆ เมื่อชาวบ้านรู้ว่ามีพระจากวัดป่ามาบิณฑบาตก็เตรียมอาหารมาใส่กันมากมาย มีรถตู้มาช่วยขนถ่ายอาหารจากการบิณฑบาต ภรรยาผมกลายเป็นเด็กท้ายรถตู้ช่วยขนถ่ายของขึ้นรถ (เพราะผู้หญิงเดินตามพระคงไม่น่าดูนัก) แต่ละวันได้ปัจจัยและของบริวารมากกว่า 7 ถุงปุ๋ยใหญ่ หลังจากกลับมาที่มูลนิธิ อาหารที่ได้จะมีจิตอาสามาช่วยแยกเพื่อให้พระพิจารณาตอนฉันท์เพล และรวมถึงผู้ปฏิบัติราวๆ 80 ท่านเพื่อทานมื้อเที่ยง ส่วนมื้อเช้ามีผู้ถวายร่วมกับทางมูลนิธิ มื้อเย็นทางมูลนิธิและผู้บริจาคเป็นผู้จัดให้สำหรับฆราวาส ระหว่างการเป็นลูกศิษย์พระได้พบเรื่องที่ทำให้เบิกบานใจหลายเรื่อง เช่นชาวบ้านหลายๆท่านไม่ได้เตรียมตัวมาเพื่อการใส่บาตรแต่พอรู้ว่ามีพระมาจากวัดป่ามาบิณฑบาต ก็หยุดจัดซื้อข้าวปลาอาหารเพื่อใส่บาตร มีเด็กชายคนหนึ่งอายุราวสี่ขวบ นั่งรถจักรยานยนต์มากับคุณพ่อซึ่งขี่ตามพระมา เมื่อรถจอดเด็กรีบลงจากรถด้วยความดีใจ ตบมือและยิ้มแย้มรีบขอถุงอาหารใส่บาตรจากคุณพ่อ วิ่งปุ๊กๆเข้าหาพระ กางเกงชุดนอนที่ยาวและยางยืดเป็นเหตุให้กางเกงร่นมาเห็นก้น พระและลูกศิษย์หลายท่านยิ้มด้วยความเอ็นดู มีหลายท่านจะถวายปัจจัยเป็นเงิน แต่พระวัดสุนันทวนาราม ท่านเคร่งมากท่านไม่รับปัจจัยเงิน ดังนั้นเป็นหน้าที่ลูกศิษย์ต้องชี้แจง และรับแทน การบิณฑบาตจะเริ่มออกจากมูลนิธิได้เมื่อพระเห็นลายเส้นบนมือ (ทราบว่าเพื่อไม่ให้เดินไปเหยียบสัตว์) ราวๆ 6 โมงกว่าๆ จนถึง 7 โมงครึ่งพระจึงกลับโดยรถตู้ที่ขนถ่ายอาหารจากการบิณฑบาต ส่วนผมกลับแท็กซี่ เพราะที่นั่งเต็ม เมื่อพระสงฆ์กลับถึงมูลนิธิผู้ปฏิบัติที่รออยู่ที่มูลนิธิทำการล้างเท้าพระ และใส่บาตรด้วยข้าวสวย ผมและภรรยากลับมาทันใส่บาตรเช่นกัน เมื่อครบทุกคนแล้วพระสงฆ์ท่านก็สวดมนต์ให้พรตามปกติ

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการปฏิบัติธรรมในครั้งนี้ สรุปโดยสังเขปดังนี้
1. การปฏิบัติตามแนวทางของหลวงปู่ชา ซึ่งพระอาจารย์มิตซูโอะ เป็นลูกศิษย์ของท่าน โดยให้ระลึกรู้ตัวเองทุกขณะ การหายใจเข้าออก มักได้ยินพระอาจารย์ระหว่างสอนสมาธิว่า หายใจเข้ายาวๆให้รู้สึกสบาย หายใจออกให้ยาวๆ ให้มีความรู้สึกลักษณะของการหายใจว่าลมหายใจสัมผัสที่ใด ให้รู้สึกว่ายิ้ม ใจให้อยู่กับลมหายใจ ให้รู้ว่าขณะนี้ทำอะไรอยู่ ให้อดทนต่อเวทนาต่างๆและให้พิจารณาที่เวทนานั้นเพราะเวทนาที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และก็ดับไป (ความปวดเมื่อย ความเจ็บปวด) จะทำให้เห็นไตรลักษณ์ (เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป) ง่ายกว่าการพิจารณาการเคลื่อนไหวเปลี่ยนไปของอารมณ์
2. เรื่องที่ค้างคามาจากการฝึกปฏิบัติด้วยตนเองก่อนหน้านั้นหลายๆเรื่อง ได้พบคำตอบจากท่านพระอาจารย์ทั้งสามท่านนาม พระอาจารย์โจ พระอาจารย์ชูกืจ และพระอาจารย์เปี๊ยก ระหว่างที่ท่านสอน (ขออภัยที่ไม่ได้ขอนามพระอีก 2 รูป ที่มาร่วมปฏิบัติด้วย)
3. เรื่องอาวุโส พระต้องเคารพพระที่มีพรรษามากกว่า ไม่ว่าการนั่ง การเดิน ยกเว้นแต่การปวดห้องน้ำ องค์ใดถึงก่อนควรได้เข้าก่อน (เป็นเรื่องขำขันที่ท่านกล่าวไว้ขณะบรรยายธรรม)
4. มีการเปิดเทปปุจฉาจากพระอาจารย์ซึ่งเป็นฝรั่ง เป็นศิษย์ที่หลวงปู่ชาบวชให้เช่นเดียวกับพระอาจารย์มิตซูโอะ (ขออภัยที่จำนามท่านไม่ได้) ท่านได้คำตอบจากหลวงปู่ชาราวๆ 30 ข้อระหว่างทำสมาธิ ผมจำไม่ได้เนื่องจากการฝึกถูกสอนไว้ว่าให้รู้ตน รู้สึกกระทบ รู้ไว้ว่าเสียงเป็นเสียง รู้ว่าดนตรีที่เปิดเป็นดนตรี ไม่ต้องวิจารณ์หรือจับต้อง ให้ระลึกรู้แค่ลมหายใจเข้าออก จำอะไรไม่ค่อยได้ แต่ตั้งใจไว้ว่าจะพยายามหาทางขอทำสำเนาไว้เมื่อเสร็จจากการฝึก จนแล้วจนรอดถึงป่านนี้ยังไม่ได้ขอทำสำเนาไว้
5. การขออาราธนาศีล ปกติเวลาเราทำบุญเรามักจะสวด มยังภันเตวิสุง วิสุง แต่สำหรับทางวัดสุนันทวนาราม ตัดคำว่าวิสุง วิสุง ออก หมายความว่าถ้าหากผู้อาราธนาศีลปฏิบัติขาดข้อใดข้อหนึ่งในศีลห้า ศีลทั้งหมดก็จะขาดไป ส่วนการอาราธนาศีล ที่มีคำว่า วิสุง วิสุง หมายความว่าถ้าหากผู้อาราธนาศีลปฏิบัติขาดไปข้อใดข้อหนึ่ง ศีลข้ออื่นยังคงอยู่
6. จากประสบการณ์ที่ได้ฝึกมาแต่เด็ก ด้วยการเจริญอานาปานสติภาวนา เวลาพิจารณาลมหายใจเข้าออก เมื่อปฏิบัติไปพักหนึ่งจะรู้สึกถึงลมหายใจที่หยาบ ที่ละเอียด ที่สั้นและยาว จนบ่อยครั้งตั้งจิตจับต้นของลมหายใจวิ่งไปถึงอวัยวะส่วนต่างๆ เมื่อจิตสงบเป็นหนึ่งแล้วจะรู้สึกว่าแทบไม่หายใจเลย แต่ที่แท้แล้วเรายังจับความรู้สึกได้ พอจิตเป็นหนึ่งแล้วสิ่งรอบๆที่เกิดขึ้นเป็นเพียงแต่สิ่งที่ผ่านเข้ามา เกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป ความสงบและปิติก็บังเกิด เมื่อปล่อยจิตให้ดิ่งลงไปก็จะรู้สึกสงบจนบางครั้งเกิดความสว่างขาวเหมือนเวลาเราดูหนังกลางแปลงตอนเขาเปิดหลังเครื่อง อาการเหล่านี้ยังไม่ได้กราบเรียนถามพระอาจารย์ หากปฏิบัตินานไปคงได้สอบถามจากท่านต่อไป
7. ภรรยาผมเป็นไมแกรนอย่างมาก เป็นเวลาหลายสิบปี แต่ระหว่างที่ปฏิบัติเธอไม่มีอาการปวดไมแกรนเกิดขึ้นเลย เรื่องนี้สามารถอธิบายได้จากประสบการณ์เมื่อเป็นเด็กเวลาปวดฟัน ผมเป็นเด็กที่ฟันผุมากตอนเป็นเด็ก ร้องไห้ทุกครั้งที่ทนปวดไม่ไหว จนถึงช่วงหนึ่งประมาณ 7-8 ขวบ ได้ใช้ความรู้สึกจ้องไปที่อาการปวดว่าเป็นอย่างไร มีความรู้สึกว่ามันเต้นตุบๆที่ฟันที่ปวด เมื่อจับจ้องไปนานๆ ด้วยความเป็นเด็กลองย้ายอาการตุบๆ ลงไปที่ท้อง แปลกที่ว่าสุดท้ายท้องเริ่มเสียและอาการปวดหายไปโดยปลิดทิ้ง เวลาปวดใหม่ก็ทำใหม่ เมื่อมาเปรียบเทียบกับคำสอนของพระอาจารย์ในเรื่องของไตรลักษณ์ทำให้สามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น ถ้าหากอาการไมเกรนของภรรยาลดลงได้ นี่ก็เป็นอานิสงค์อย่างหนึ่งที่พึงได้จากการปฏิบัติธรรมในครั้งนี้
8. การแผ่เมตตา การอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้มีพระคุณ ผู้ที่เท่าเทียม ผู้ที่ต่ำกว่า รวมทั้งศัตรู จะทำให้จิตใจสงบปล่อยวาง ไม่อาฆาต เพราะการอาฆาตนั้นเป็นการทำให้ตนหมดซึ่งความสุข จิตใจเศร้าหมอง
9. ได้พบกัลยาณมิตร ได้รู้จักพี่ๆน้องๆหลายท่าน ได้รู้จักจิตอาสาหลายท่าน ได้รู้สึกการใช้ชีวิตที่สงบเรียบง่ายปล่อยวาง ได้เข้าใจความหมายของบสวดมนต์ (เพราะมีการสวดเป็นบาลี พร้อมๆกับภาษาไทย)

สุดท้าย แต่คงไม่ท้ายสุด เรื่องของอัตตา หากปล่อยอัตตาออกได้ชีวิตจะมีความสุขขึ้นอีกมาก การรู้ตัวทุกขณะเป็นการเจริญอานาปานสติภาวนาอย่างดียิ่ง เป็นการเตรียมตนสำหรับภายภาคหน้า ถึงแม้ว่าจะเข้าปฏิบัติธรรมในวัยอันใกล้เกษียณแต่ก็ดีกว่าไม่เตรียมอะไรให้กับตนเองเลย ผมไม่เคยหวังผลว่าปฏิบัติแล้วจะได้อะไรดีในภาคนี้หรือภาคหน้า เพียงแต่ต้องการให้เกิดความสงบไม่เบียดเบียนใคร และอยากเป็นคนแก่ที่มีความสุข
ท้ายนี้ขอเชิญชวนพี่น้องชาวพุทธศาสนิกชนมาร่วมกิจกรรมอันแสดงถึงกุศลแห่งจิตครบถ้วนทั้งระดับศีล สมาธิ และปัญญาที่สามารถแบ่งปันให้แก่สังคมต่อไป ขออนุโมทนา
   


ที่มา : การฝึกจิตภาวนาเพื่อเตรียมเกษียณ

DT012308

kriengsakprapongsana

17 ก.พ. 2555
 เปิดอ่านหน้านี้  5315 

  ความคิดเห็น


RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย