วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร

วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร
 พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร วัดประจำรัชกาลที่ ๖ 

ประวัติและที่ตั้งของวัดบวรนิเวศวิหาร

   วัดบวรนิเวศวิหารเป็นวัดชั้นเอกชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ต้นถนนตะนาวและถนนเฟื่องนคร บางลำภู กรุงเทพฯ แต่เดิมวัดนี้เป็นวัดใหม่อยุ่ใกล้กับวัดรังษีสุทธาวาส ต่อมาได้รวมเข้าเป็นวัดเดียวกัน โดยกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ ในรัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างขั้นใหม่ วัดนี้ได้รับการทะนุบำรุง และสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆขึ้นจนเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่ง โดยเฉพาะในสมัยปลายรัชกาลที่ ๓ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงอาราธนาสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าฟ้ามงกุฏ ซึ่งผนวชเป็นพระภิกษุอยู่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) เสด็จมาครอง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๕ ทำให้วัดนี้ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ และเสริมสร้างสิ่งต่างๆขึ้น



    เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชาคณะเสด็จประทับที่วัดนี้แล้วทรง บูรณะปฏิสังขรณ์และสร้างถาวรวัตถุต่างๆเพิ่มเติมขึ้นหลายอย่าง พร้อมทั้งได้รับพระราชทาน ตำหนักจากรัชกาลที่ ๓ ด้วย ในสมัยต่อมาวัดนี้ เป็นวัดที่ประทับของพระมหากษัตริย์ เมื่อทรง ผนวชหลายพระองค์ เช่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ และ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน จึงทำให้วัดนี้ได้รับการทะนุบำรุงให้คงสภาพดีอยู่เสมอ ในปัจจุบัน นี้ ศิลปกรรมโบราณวัตถุ และ ศิลปวัตถุ หลายสิ่งหลายอย่างอยู่ในสภาพดีพอที่จะชม และ ศึกษาได้ เป็นจำนวนไม่น้อย



ศิลปกรรมที่ควรชมภายในวัดบวรนิเวศวิหาร


   วัดบวรนิเวศวิหารนี้มีศิลปกรรม และถาวรวัตถุที่มีค่าควรแก่การศึกษาไม่น้อย แบ่งออกเป็น ศิลปกรรมในเขตพุทธาวาสและศิลปกรรมในเขตสังฆวาส เขตทั้งสองนี้ถูกแบ่งโดย กำแพง และ คูน้ำมีสะพานเชื่อมถึงกันเดินข้ามไปมาได้สะดวก ศิลปกรรมที่สำคัญ ของวัดนี้ที่น่า สนใจ มีดังนี้



ศิลปกรรมในเขตพุทธาวาส

{ พระอุโบสถ }

   ศิลปกรรมในเขตพุทธาวาสที่สำคัญเริ่มจากพระอุโบสถซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่สร้างวัดในรัชกาลที่ ๓ แต่ได้รับการบูรณะซ่อมแซมต่อมาอีกหลายครั้ง รูปแบบของพระอุโบสถ ที่สร้างตามแบบ พระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีมุขหน้ายื่นออกมา เป็นพระอุโบสถและมีปีกยื่นออก ซ้ายขวา เป็นวิหารมุขหน้าที่เป็นพระอุโบสถมีเสาเหลี่ยมมีพาไลรอบซุ้มประต?หน้าต่าง และ หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้น


พระอุโบสถหลังนี้ได้รับการบูรณะในสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยโปรดฯ ให้มุงกระเบื้องเคลือบลูกฟูก ประดับ ลายหน้าบันด้วยกระเบื้องเคลือบสี และโปรดฯให้ขรัวอินโข่งเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ ส่วนภายนอกได้รับการบูรณะ บุผนัง ด้วยหินอ่อนทั้งหมด เสาด้านหน้าเป็นเสาเหลื่ยมมีบัวหัวเสาเป็นลายฝรั่ง ซุ้มประตูหน้าต่างปิดทองประดับกระจก


ด้านหน้ามีใบเสมารุ่นเก่าสมัยอู่ทองทำด้วยหินทรายแดงนำมาจากวัดวังเก่า เพชรบุรี ส่วนใบเสมาอื่นทำแปลกคือติดไว้กับผนังพระอุโบสถแทน การตั้งไว้บนลานรอบพระอุโบสถ หลังพระอุโบสถเป็นเจดีย์กลมสมัยรัชกาลที่ ๔ ต่อมาได้หุ้มกระเบื้องสีทอง ในรัชกาลปัจจุบัน


พระอุโบสถหลังนี้มีรูปแบบที่มีลักษณะเฉพาะต่างไปจากพระอุโบสถทั่วไป เพราะเป็นการผสมกันระหว่างศิลปะแบบพระราชนิยมของรัชกาลที่ ๓ ซึ่งกระเดียดไปทาง ศิลปะจึนและศิลปะแบบรัชกาล ที่ ๔ ซึ่งเป็นศิลปะที่มีอิทธิพลฝรั่ง จึงทำให้พระอุโบสถหลังนี้ีมีลักษณะผสมของอิทธิพลศิลปะต่างชาติทั้งสองแบบ แต่ทั้งหมดตั้งอยู่บนพื้นฐาน ของศิลปะไทย เมื่อโดยรวมแล้วพระอุโบสถหลังนี้ มีเอกลักษณ์เฉพาะตนที่งดงามแปลกตาไม่น้อยทีเดียว


ศิลปกรรมภายในพระอุโบสถ นอกเหนือไปจากพระพุทธรูปแล้วก็มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้ขรัวอินโข่งเขียนขึ้น เป็นงานจิตรกรรม ฝาผนัง ที่มีค่ายิ่ง เพราะเป็นรูปแบบของ จิตรกรรมหัวเลี้ยวหัวต่อของการรับอิทธิพลยุโรป หรือ ฝรั่งเข้า มาผสมผสานกับแนวคิดตามขนบนิยมของไทย ภาพจิตรกรรมฝาผนังนี้ สันนิษฐานว่าเขียนตั้งแต่สมัยที่ พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏฯเข้าครองวัด โดยเขียนบนผนังเหนือประตูหน้าต่างขึ้นไป มีอยู่ ๑๖ ตอน เริ่มต้นจากทางหลังของผนังด้านซ้ายทางทิศตะวันตก นับเป็นผนังที่ ๑ วนทักษิณาวัตพระพุทธรูปในพระอุโบสถตามลำดับ มีคำจารึกพรรณาเขียนไว้ที่ช่องประตู หน้าต่างรวม ๑๖ บาน

    นอกจากภาพจิตรกรรมฝาผนังแล้วที่เสาพระอุโบสถเขียนภาพแสดงปริศนาธรรมเปรียบด้วย น้ำใจคน ๖ ประเภทเรียกว่า ฉฬาภิชาติ ด้วย ภายในพระอุโบสถนี้ มีพระพุทธรูปสำคัญอยู่ ๒ องค์ คือ พระประธานเป็นพระพุทธรูปหล่อโลหะขนาดใหญ่หน้าพระเพลากว้าง ๙ ศอก ๑๒ นิ้ว กรมพระราชวังบวรฯ ผู้สร้างวัดได้ทรงอัญเชิญมาจากวัดสระตะพาน เพชรบุรี โดยรื้อออกเป็น ท่อนๆ แล้วนำมาประกอบขึ้นใหม่ สันนิษฐานว่าเดิมเป็นพระทวาราวดี พระศกเดิมโต พระยาชำนิหัตถการ นายช่างกรม พระราชวังบวรฯ เลาะออกทำพระศกใหม่ด้วยดินเผาให้เล็กลง ลงรักปิดทองมีพระสาวกใหญ่ นั่งคู่หนึ่งเป็นพระปั้นหน้าตัก ๒ ศอก


{ พระพุทธชินสีห์(องค์หน้า) - หลวงพ่อโต(องค์หลัง) }

   ส่วนพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งคือ พระพุทธชินสีห์ ซึ่งอัญเชิญมาจากวิหารทิศเหนือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก โดยอัญเชิญมาทั้งองค์เมื่อฤดูน้ำปี พ.ศ.๒๓๗๓ และ ในปีต่อมาได้ปิดทองกาไหล่พระรัศมี ฝังพระเนตรใหม่ และตัดพระอุณาโลม พระพุทธรูปองค์นี้ เป็นพระพุทธรูปที่งดงามอย่างยิ่งองค์หนึ่ง ถัดจากพระอุโบสถออกไปเป็นเจดีย์กลมขนาดใหญ่สร้างสมัยรัชกาลที่ ๔ หุ้มกระเบื้องสีทอง ในรัชกาลปัจจุบัน รอบฐานพระเจดีย์มี ศาลาจีนและซุ้มจีน หลังเจดีย์ออกไปเป็นวิหารเก๋งจีน ข้างในมีภาพเขียน ฝีมือช่างจีน เทคนิค และฝีมืออยู่ในเกณฑ์ดี


{ พระศาสดา }

พระศาสดา เป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย หน้าตักกว้าง ๔ ศอก ๑ คืบ ๘ นิ้ว เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุพิษณุโลก ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ เจ้าอาวาสวัดบางอ้อยช้าง จังหวัดนนทบุรี ให้อัญเชิญพระศาสดาจากเมืองพิษณุโลกมาไว้ที่วัด ครั้นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค) ทราบเรื่อง จึงให้อัญเชิญพระศาสดาจากวัดบางอ้อยช้างมาไว้ที่วัดประดู่ฉิมพลี ซึ่งเป็นวัดที่ท่านสร้างขึ้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบและมีพระราชดำริว่า พระศาสดานั้นสร้างขึ้นพร้อมกับพระพุทธชินสีห์ซึ่งสมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาศักดิพลเสพทรงให้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร พระศาสดาก็ควรประดิษฐานอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหารที่เดียวกับพระพุทธชินสีห์ เป็นเสมือนพระพุทธรูปผู้พิทักษ์พระพุทธชินสีห์ แต่ยังมิได้สร้างสถานที่ประดิษฐาน จึงโปรดให้อัญเชิญไปประดิษฐานยังมุขหน้าพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวรารามไปพลางก่อนเมื่อพุทธศักราช ๒๓๙๖ ครั้นสร้างพระวิหารพระศาสดาจวนแล้วเสร็จจึงโปรดให้อัญเชิญพระศาสดามาประดิษฐาน เมื่อพุทธศักราช ๒๔๐๗


{ พระพุทธไสยา }

เป็นพระพุทธรูปสำริดลงรักปิดทองปางไสยาสน์ สมัยสุโขทัย ยาวตั้งแต่พระบาทถึงพระจุฬา ๖ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้ว สร้างขึ้นราว พุทธศักราช ๑๘๐๐ – ๑๘๙๓ เดิมประดิษฐาน ณ วัดพระพายหลวง จังหวัดสุโขทัย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่ ได้เสด็จประพาสเมืองสุโขทัย เมื่อพุทธศักราช ๒๓๗๖ ทอดพระเนตรว่ามีลักษณะงามกว่าพระไสยาองค์อื่นๆ ครั้นเมื่อเสด็จประทับจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร จึงได้โปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่มุขหลังของพระอุโบสถ เมื่อพุทธศักราช ๒๓๙๐ ครั้นสร้างวิหารพระศาสดาแล้วจึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วิหารพระศาสดาห้องทิศตะวันตก ที่ฐานพระพุทธไสยาบรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส


{ พระพุทธบาทจำลอง }

   ในบริเวณพุทธาวาสนั้นมีศิลปกรรมน่าสนใจอีกหลายอย่างเช่น พระพุทธบาทจำลอง ซึ่งเป็น พระ พุทธบาทโบราณสมัยสุโขทัย ประดิษฐานอยู่ในศาลาข้าง พระอุโบสถพลับพลา เปลื้อง เครื่อง สร้างเป็นเครื่องแสดงว่าวัด นี้รับพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตรา ที่พระเจ้าแผ่นดิน เสด็จ เปลื้องเครื่องทรงในศาลานี้ก่อนเสด็จเข้าวัด


   นอกจากนี้ที่ซุ้มประตูด้านหน้าพระอุโบสถบานประตูมีรูปเซี่ยวกาง แกะสลักปิดทอง เป็นฝีมือ ช่างงดงามทีเดียว


ศิลปกรรมในเขตสังฆวาส

{ ตำหนักปั้นหยา }

   ศิลปกรรมในเขตสังฆวาสส่วนใหญ่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ เพื่อเป็น ตำหนักที่ประทับของพระมหากษัตริย์ที่ผนวชในวัดนี้ เริ่มจากตำหนักปั้นหยา ซึ่งเป็นตึกฝรั่ง ๓ ชั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระราชทานพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏ เมื่อทรง อาราธนาให้เสด็จมาประทับที่วัดนี้ และประทับอยู่ที่ตำหนักปั้นหยาตลอดเวลาผนวช ต่อมา ตำหนักนี้ได้เป็นที่ประทับของเจ้านายหลายพระองค์ที่ผนวชและประทับอยู่ที่วัดนี้ รูปทรงของ ตำหนักเป็นตึกก่ออิฐถือปูนหน้าจั่วประดับด้วยกระเบื้องเคลือบอยู่ซ้ายมือของกลุ่ม ตำหนัก ต่างๆ


{ ตำหนักจันทร์ }

   ถัดจากตำหนักปั้นหยาคือ ตำหนักจันทร์ เป็นตำหนักที่พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ทรงสร้างด้วยทรัพย์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจันทราสรัทธาวาส กรมขุน พิจิตเจษฐฃฏาจันทร์ถวายเป็นที่ประทับของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระวชิรญาณวโรรส ในบริเวณตำหนักจันทร์ด้าน ทิศตะวันออกติดกับรั้วเหล็กมีศาลาเล็กๆ มีพาไล ๒ ด้าน ฝาล่องถุนก่ออิฐถือปูนโถงเป็นเครื่องไม้ หลังคามุงกระเบื้อง ศาลาหลังนี้เดิมเป็นพลับพลา ที่ ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรง สร้างไว้ในสวนพระราชวังเดิม โปรดให้ย้ายมาปลูกไว้ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๒ ในกลุ่มพระตำหนัก นี้

 

{ ตำหนักเพชร }

ยังมี พระตำหนักเพชร อีกตำหนักหนึ่งอยู่ขวามือเมื่อเข้าจากหน้าวัด เป็นตำหนัก สองชั้นแบบ ฝรั่ง มุขหน้าประดับด้วยลวดลายไม้ฉลุงดงาม ตำหนักนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้า เจ้าอยู่หัว ทรงสร้างถวายเป็นท้องพระโรง ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา วชิรญาณวโรรส อย่างไรก็ตามศิลปกรรมและถาวรวัตถุของวัดบวรนิเวศวิหารยังมีอีกหลายอย่างส่วนใหญ่ ยังคงอยู่ ในสภาพดี


{ มหามกุฏราชวิทยาลัย }

มหามกุฏราชวิทยาลัย

   ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2436 โดยพระบรมราชานุญาตในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามดำริพระสมเด็จ พระมหาสมณเจ้า กรมพระยาพระวชิรญาณวโรรส เพื่อเป็นสถานศึกษาชั้นสูงของคณะสงฆ์ ต่อมาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ได้ทรงประกาศตั้งสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาขึ้นเมื่อวันที 30 ธันวาคม 2488 และมหาเถรสมาคมได้รับรองสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยเป็นการศึกษาของคณะสงฆ์ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2517 เป็นการศึกษาที่ไม่เก็บค่าเล่าเรียน 


    การศึกษาระดับปริญญาตรีแบ่งเป็น 4 คณะคือ คณะศิลปศาสตร์ คณะศาสนาและปรัชญา คณะสังคมศาสตร์ และคณะ ศึกษาศาสตร์ พระภิกษุสามเณรที่จะเข้ารับศึกษาในระดับปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิตจะต้องมีความรู้เปรียญ 4 ประโยค นักธรรมเอก หรือเทียบเท่า ม.ศ.5 หรือ ม.6 สายปรยัติ กำหนดเวลาเรียน 7 ปี แบ่งเป็นชั้นบุรพศึกษา 1 ปี เตรียมปี 1 และ เตรียมปี 2 รวม 3 ปี ทั้งนี้เฉพาะผู้ที่ไม่มีคุณวุฒิเทียบเท่า ม.ศ.5 หรือ ม.6 ส่วนชั้นนักศึกษา 4 ปี และต้องออกปฏิบัติงาน 1 ปี รวมเป็น 8 ปี จึงจะจบหลักสูตร และต้องสอบได้เป็นเปรียญ 5 ประโยคด้วยจึงจะได้รับปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิต    ส่วนการศึกษาระดับปริญญาโทศาสนศาสตรมหาบัณฑิตเริ่มเปิดสอนตั้งแต่ปีการศึกษา 2531 เป็นต้นมา

 




เจ้าอาวาส
สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต)
เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร

วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร
248 ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทรศัพท์ 02 282 8303, 02 281 6427
ความสำคัญ - - พระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร, วัดประจำรัชกาลที่ ๖, มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.)
สังกัดคณะสงฆ์ - ธรรมยุติกนิกาย
พระประธานในอุโบสถ - พระพุทธชินสีห์ พระโต (องค์ใหญ่)
เว็บไซต์ วัดบวรนิเวศวิหาร
เฟซบุุ๊ก - วัดบวรนิเวศวิหาร @WatBovoranivesVihara



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย