วัดเทพธิดาราม วรวิหาร ( วัดเทพธิดาราม ) ตั้งอยู่ริมถนนมหาไชยใกล้วัดราชนัดดา หันหน้าออกสู่คลองรอบกรุง หรือ กำแพงพระนครด้านทิศตะวันออกในสมัยก่อน
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดเทพธิดาราม เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙ และสร้างเสร็จ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๒ คำว่า เทพธิดา หมายถึง กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ หรือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองศ์เจ้าวิลาส พระราชธิดาองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ ๓ ซึ่งมีพระสิริโฉมงดงาม ทรงได้รับใช้เป็นที่โปรดปรานอย่างยิ่งของพระราชบิดา กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงบริจาคทุนทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อร่วมในการก่อสร้างวัดเทพธิดารามด้วย
วัดเทพธิดารามมีสถาปัตยกรรมเป็นแบบจีน ในวัดมีตุ๊กตาจีนจำหลักทั้งรูปสัตว์และรูปคน ที่น่าสนใจ คือ บางตัวสลักเป็นรูปหญิงไทยไว้ผมปีกแบบโบราณนั่งอุ้มลูก
พระพุทธเทววิลาศ (หลวงพ่อขาว): พระพุทธปฏิมาประธานในพระอุโบสถ สลักด้วยศิลายวง (ขาว) สีขาวบริสุทธิ์ ปางมารวิชัย หน้าพระเพลากว้าง ๑๕ นิ้ว สูง ๑๙ นิ้ว (หนา ๘ นิ้ว พระอังสา (ไหล่) ๙ นิ้ว รอบพระอุระ (อก) ๑๘ นิ้ว) ลักษณะมีพระพักต์กลม พระเนตรเหลือบต่ำ มีพระศกขมวดก้น มีไรพระศก พระรัศมีรูปเปลวเพลิงซึ่งสามารถถอดออกได้ ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาติเป็นลายเขี้ยวตะขาบ พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางบนพระชานุ ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร บนกลีบดอกบัวหงาย ไม่ทราบประวัติการสร้างหรือที่มา ปรากฏแต่เพียงว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯ ให้อัญเชิญมาจากพระบรมมหาราชวัง ประดิษฐานอยู่เหนือเวชยันต์บุษบก เดิมเรียกว่า หลวงพ่อขาว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเฉลิมพระนามว่า พระพุทธเทววิลาส ตามหนังสือราชเลขาธิการที่ รล.๐๐๐๒/๒๕๒๒ ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๑๔
สุนทรภู่เคยมาจำพรรษาที่นี่ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๒๘ - ๒๓๘๕ และได้เขียนบทกลอนเรื่องรำพันพิลาปขึ้น มีบทพรรณนาลักษณะปูชนียสถานปูชนียวัตถุของวัดอย่างละเอียด บรรยายถึงความงามของพระอารามไว้ และเรียกว่า "กุฏิสุนทรภู่" มีการจัดกิจกรรมรำลึกถึงกวีเอกผู้นี้ในวันที่ ๒๖ มิถุนายน เป็นประจำทุกปี
ตั้งอยู่เลขที่ ๗๐ ถนนมหาไชย แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 |
โทร 02 621 1178 |
พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร |
สังกัดคณะสงฆ์ : มหานิกาย |
เจ้าอาวาส : พระเทพวิสุทธิเมธี(แผ่ว ปรกกฺโม ป.ธ. ๙ ) |
เฟซบุ๊กวัดเทพธิดาราม วรวิหาร |