ค้นหาในเว็บไซต์ :
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร จ.พิษณุโลก

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร จ.พิษณุโลก
 พระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร 

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) ตั้งอยู่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองฯ จังหวัดพิษณุโลก เป็นวัดสำคัญที่สุดของจังหวัดพิษณุโลก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก ริมถนนพุทธบูชา เป็นวัดหลวงชั้นเอก ชนิด วรมหาวิหาร


ภายในวิหารของวัดเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธชินราช” หรือที่ชาวเมืองพิษณุโลกเรียกว่า “หลวงพ่อใหญ่” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) โปรดให้สร้างขึ้นพร้อมกับพระพุทธชินสีห์ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดสุทัศนเทพวราราม และพระศรีศาสดาซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร

   พุทธลักษณะของพระพุทธชินราชนั้นสวยงามมาก เส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย พระขนงโก่ง พระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิง พระหัตถ์มีปลายนิ้วทั้งสี่เสมอกัน ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษเรียกว่า ทีฒงฺคุลี ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในโลก มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมาชมและสักการบูชาพระพุทธชินราชเป็นจำนวนมาก


   ทุก ๆ ปี จะมีงานนมัสการพระพุทธชินราชในวันขึ้น 6 ค่ำ ถึงวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 3 (ประมาณปลายเดือนมกราคม) เรียกว่า “งานวัดใหญ่” ทางเข้าพระวิหารด้านหน้ามีบานประตูขนาดใหญ่ประดับมุกสวยงาม สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2299 เป็นฝีมือช่างหลวงสมัยอยุธยาตอนปลาย ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมโกศ


บริเวณหลังวิหารพระพุทธชินราชมีพระอัฏฐารส ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติสูง 18 ศอก สร้างในสมัยเดียวกับพระพุทธชินราช ราว พ.ศ.1800 เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหารใหญ่แต่วิหารได้พังไปจนหมด เหลือเพียงเสาที่ก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ 3 – 4 ต้น เรียกว่า “เนินวิหารเก้าห้อง”

   ด้านหลังพระอัฏฐารส เป็นพระปรางค์ประธาน สร้างแบบสมัยอยุธยาตอนต้น ฐานย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ สันนิษฐานว่าเดิมเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ (ดอกบัวตูม) ซึ่งถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัยแท้ ต่อมาถูกแปลงให้เป็นพระปรางค์ในสมัยอยุธยา


[ พระพุทธชินสีห์ ]

[ พระศรีศาสดา ]

[ วิหารพระเหลือ ]

   นอกจากนี้ยังมี “พระเหลือ” ซึ่งพระยาลิไทรับสั่งให้ช่างนำเศษทองสัมฤทธิ์ที่เหลือจากการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดามารวมกันหล่อพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดเล็ก และพระสาวกยืนอีก 2 องค์ ประดิษฐานในวิหารน้อย เรียกยกว่า “วิหารพระเหลือ”

[ พระพุทธชินราช ]

พระพุทธชินราช
พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูป ปางมารวิชัย ที่มีลักษณะงดงาม ที่สุดในโลกมีขนาดหน้าตักกว้าง ห้าศอก 1 คืบ ห้านิ้ว(2.875 เมตร) สูงเจ็ดศอก(3.5 เมตร) หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ขัดเงาเกลี้ยง สมเด็จพระเอกาทศรถได้ทรงปิดทองเป็นครั้งแรกเมื่อพ.ศ .2146 และเมื่อ พ.ศ. 2478 ได้มีการลงรักปิดทองเต็มองค์อีกครั้งหนึ่ง และเป็นการถาวร อยู่จนทุกวันนี้

พระพุทธชินราชประดิษฐานอยู่ ณ พระวิหารทางทิศตะวันนตกของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร องค์พระนั่งขัดสมาธิอยู่บนฐานชุกชีบัวคว่ำบัวหงาย พระพักตร์หันไปทางทิศ ตะวันตก (ด้านริมน้ำน่าน) พระพุทธชินราชมีซุ้มเรือนแก้วและสลักด้วยไม้สักลงรักปิดทอง ประดับเบิ้องพระปฤษฎางค์ ปราณีตอ่อนช้อยงดงามช่วยเน้นให้พระวรกายของพระพุทธชินราช งดงามเด่น ชัดเจนยิ่งขึ้น พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปศิลปสุโขทัย แต่มีลักษณะพิเศษที่ แตกต่างไ ปจากสุโขทัยคลาสสิก เพราะมี พระเกศรัศมียาวเป็นเปลวเพลิง วงพระพักตร์ ค่อนข้างกลมไม่ยาวรีเหมือนผลมะตูมเช่นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย มีพระอุณาโลมผลิก อยู่ระหว่างพระโขนง พระวรกายอวบอ้วนมีสังฆายาวปลายหยักเป็นเขี้ยวตะขาบ ฝังด้วยแก้วนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน ฝ่าพระบาท แบนราบ ค่อนข้างแคบ เมื่อเทียบกับยุคสุโขทัย ส้นพระบาทยาว มีรูปอาฬวกยักษ์และรูปท้าวเวสสุวัณ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์เฝ้าอยู่ ที่พระเพลาเบื้องขวาและซ้ายขององค์ตามลำดับ

พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปศิลปสุโขทัย ที่มีลักษณะเด่นเป็นพิเศษ ต่างไปจากพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย แบบอื่น ๆ อย่างชัดเจน เป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยสุโขทัยหมวดพิเศษ คือ พระพุทธชินราช ตามตำนาน การสร้างพระพุทธชินราช พระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไทย) รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์ ได้โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1900 พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในคราวเดียวกันนั้น มี 3 องค์ คือ
1. พระพุทธชินราช หน้าตักกว้าง ห้าศอกคืบห้านิ้ว ณ วิหารใหญ่ทิศตะวันตก
2. พระพุทธชินสีห์ หน้าตักกว้าง ห้าศอกคืบสี่นิ้ว ณ วิหารทิศเหนือ
3. พระศรี ศาสดา หน้าตักกว้าง สี่ศอกคืบหกนิ้ว ณ วิหารด้านทิศใต้

ในการหล่อพระพุทธรูป เมื่อหล่อเสร็จแล้วยังมีทองเหลืออยู่ จึงเอามารวมกันหล่อเป็นพระพุทธรูป นั่งขัดสมาธิปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง หนึ่งศอกเศษ เรียกพระนามว่า พระเหลือกับพระสาวเป็นพระยืนอีก 2 องค์ และอิษฐที่ก่อเตาหลอมทองและสุ่มหุ่นในการหล่อพระได้เอามารวมกันก่อเป็นชุกชี สูงสามศอก ตรงตำแหน่งที่หล่อพระพุทธชินราชและปลูกต้นมหาโพธิ์บนชุกชี 3 ต้น แสดงว่าเป็นมหาโพธิ์สถานของพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี และพระศรีศาสดา ทั้งสามองค์จึงเรียกว่า "โพธิ์สามเส้าสืบมา"

พร้อมกันนั้นได้สร้างวิหารน้อยขึ้นระหว่างต้นโพธิ์หลักหนึ่ง และได้อัญเชิญพระเหลือพร้อมพระสาวกเข้าประดิษฐาน ณ ในวิหารนั้น วิหารน้อย หลังนี้นิยมเรียกกันต่อมาว่า " วิหารพระเหลือ" หรือ "วิหารหลวงพ่อเหลือ" ตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหารพระพุทธชินราชเยื้องไปทางใต้เล็กน้อย

พระพุทธรูปในประเทศไทยมีพระนามว่า " พระพุทธชินราช" อยู่ 2 องค์ คือ

1.พระพุทธชินราชที่ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร
2.พระพุทธชินราชวโรภาสธรรมจักรอรรคปฐมเทศนา นราสบพิตร ประดิษฐานอยู่ ณ พระวิหารวัดพระเชตุพนฯ เป็นพระพุทธรูปนั่ง ปางปฐมเทศนา หน้าตักกว้าง สี่ศอกห้านี้ว

เมื่อการสร้างพระพุทธรูปเสร็จสมบูรณ์แล้ว พระมหาธรรมราชชาที่ 1 โปรดให้อัญเชิญพระพุทธชินราช ประดิษฐาน ณ พระวิหารใหญ่ด้านทิศตะวันตก พระพุทธชินศรีประดิษฐาน ณ พระวิหารด้านทิศเหนือ พระศรีศาสดา ประดิษฐาน ณ พระวิหารด้านทิศใต้

เนื่องจากพระพุทธชินราช มีลักษณะงดงามที่สุดในบรรดาพระพุทธรูปในประเทศไทย และเป็นที่เคารพสักการบูชาของประชาชนทุกชั้น พระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดให้หล่อพระพุทธชินราชจำลองขึ้นใหม่เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ร.ศ.120 (พ.ศ.2444) แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานเป็นพระประธาน ณ พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตร จังหวัดพระนคร (กรุงเทพฯปัจจุบัน)

พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ที่ประดิษฐานในวัดพระศรี รัตนมหาธาตุปัจจุบันนี้
เป็นพระพุทธรูปปั้นก่ออิฐถือปูน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้สร้างขึ้นใหม่แทน พระพุทธชินสีห์ และพระ ศรีศาสดาองค์เดิม และอัญเชิญองค์เดิมไปประดิษฐาน ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

 

- พระอุโบสถ -


เจ้าอาวาส

พระธรรมเสนานุวัตร (บำรุง ฐานุตฺตโร ป.ธ.๗)

เจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร


วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร
ที่อยู่: 92/3 พุทธบูชา ตำบล ในเมือง อำเภอ เมืองพิษณุโลก พิษณุโลก 65000
โทรศัพท์: 055 258 966
ความสำคัญ : พระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร
สังกัดคณะสงฆ์ :
พระพุทธรูปสำคัญ :
เว็บไซต์วัด :  



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย