ค้นหาในเว็บไซต์ :

วัดป้อมวิเชียรโชติการาม


วัดป้อมวิเชียรโชติการาม จ.สมุทรสาคร
พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ

วัดป้อมวิเชียรโชติการาม ตำบลมหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร

สภาพฐานะและที่ตั้งวัด

วัดป้อมวิเชียรโชติการาม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิด สามัญ ตั้งอยู่เลขที่ ๙๕๗ ถนนวิเชียรโชฎก ตำบลมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย

ที่ดินที่ตั้งวัดมีเนื้อที่
๑๙ ไร่ ๗๖ ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ ๗๗๐๐
ตั้งวัดเมื่อพ.ศ. ๒๓๒๓ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อพ.ศ. ๒๔๑๘
เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๖ เมตร ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙
อาณาเขต
ทิศเหนือจรดถนนสรศักดิ์ ทิศใต้จรดแม่น้ำท่าจีน
ทิศตะวันออกจรดถนนเจษฏางค์ ทิศตะวันตกจรดที่ดินเอกชน

ประวัติความเป็นมา

   วัดป้อมวิเชียรโชติการามเป็นวัดที่ เก่าแก่ สร้างมาแล้วประมาณ ๒๐๐ ปีเศษหรืออาจก่อนหน้านั้น ซึ่งยังไม่มีหลักฐานชัดเจน เข้าใจว่าแต่เดิมคงเป็นชุมชนของชาวรามัญ ซึ่งอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นราชธานี เพราะความที่ชาวรามัญเป็นผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด เมื่ออยู่รวมกันจึงได้สร้างวัดขึ้น เพื่อเป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนา และได้ตั้งชื่อวัดตามชื่อหมู่บ้าน หรืออาจสร้างวัดขึ้นพร้อมกับป้อมปราการ ซึ่งก็คือ ป้อมวิเชียรโชฎก ซึ่งปรากฏตามหลักฐานการสร้างป้อม ตามพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ตามประกฎ สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ตอนหนึ่งว่า

   สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชการที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ยกเมืองสาครบุรีขึ้นกรมเจ้าท่า ความปรากฏตามประชุมพงศาวดารฉบับความสำคัญของหลวงตรีวิจิตรวาทการว่า "……...แบ่งหัวเมืองขึ้น กลาโหม, มหาดไทย, กรมเจ้าท่าในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์….. ยังคงเมืองขึ้นกรมท่าอีก ๘ เมือง คือ เมืองนนทบุรี ๑ เมืองสมุทรปาการ ๑ เมืองสาครบุรี ๑…"

    ในปี ๒๓๑๗ ในแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้สร้าง ป้อมวิเชียรโชฎก และขุดคลองสุนัขหอน ขึ้น โดยโปรดให้พระยาโชฎิกราชเศรษฐี (ทองจีน) เป็นผู้สร้าง สิ้นค้าใช้จ่ายดังนี้ ค่าแรงจีนถือปูน ๔๗ ชั่ง ๑๕ ตำลึง ๓ บาท ๒ สลึง ๑ เฟื่อง และโปรดให้ยกครัวมอญในเจ้าพระยามหาโยธา ซึ่งไปตั้งทำมาหากินอยู่เมืองสาครบุรี เจ้ากรมป้อมชื่อหลวงพหลมหึมา ขุนเดชชำนาญ ปลัดกอง แล้วโปรดเจ้าพระยาพระคลังเป็นแม่กอง ไปขุดคลองสุนัขหอน เจ้าพระยาพระคลังพินิจเห็นว่า น้ำชนกันตรงบริเวณนั้นคงตื้นเขินทุกแห่ง หากขุดคลองแยกเข้าไปที่น้ำชนนั้นจะไม่ตื้นเขิน จึงจ้างจีนขุดที่ชนแยกเข้าไปทุ่งริมบ้านโพธิ์หักสายหนึ่ง แล้วขอแรงกระบือราษฎรลงลุยในคลองนั้น น้ำขึ้นลงเชี่ยวก็ลึกอยู่ได้ ไม่ตื้นเขินมาจนปัจจุบัน สิ้นเงินค่าแรงจีนขุดเป็นเงิน ๑๒๐ ชั่ง ๔ ตำลึง ๑ สลึง ๑ เฟื่อง

   ปัจจุบันป้อมวิเชียรโชฎกแม้จะทรุดโทรมไปบ้าง แต่ก็ยังมั่นคงแข็งแรงได้รับการอนุรักษ์ปรับปรุงให้เป็นสวนสาธารณะ และสวนสุขภาพ เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อน หย่อนใจ และออกกำลังกาย จึงสันนิษฐานว่า เมื่อได้สร้างป้อมวิเชียรโชฎกและหมู่บ้านขึ้นแล้ว จึงได้สร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นที่ประกอบบุญกุศล ตามแบบอย่างของผู้นับถือพระพุทธศาสนา


อุโบสถ ขนาดกว้าง ๔๒ เมตร ยาว ๔๔ เมตร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ทรงจตุรมุข ๒ ชั้น

ปูชนียวัตถุ


๑. พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปเนื้อโลหะ สร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
๒. พระพุทธรูปศิลาแรง ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ หลวงพ่อแดง ”
๓. พระพุทธวชิรปราการ (หลวงพ่อเพชร) ซึ่งทางวัดได้หล่อขึ้นเป็นพระประธานประจำพระอุโบสถหลังใหม่

การบริหารและการปกครอง

มีเจ้าอาวาสเป็นผู้ปกครอง แต่งตั้งผู้ช่วยเจ้าอาวาสและพระภิกษุในวัดให้มีหน้าที่ต่าง ๆ โดยแบ่งออกเป็นการปกครอง การศึกษา การเผยแผ่ การสาธารณูปการ และการสงเคราะห์ โดยยึดหลักให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย ระเบียบ กฎ คำสั่งของมหาเถรสมาคม ในการบริหารและการปกครองมีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนามดังนี้
   ๑. พระอุปัชฌาย์ทอง -
   ๒. พระครูสาครคุณาธาร -
   ๓. พระมหาเข็ม โชติปาโล -
   ๔. พระรามัญมุนี (สมัย กมโล) พ.ศ. ๒๔๘๙ - ๒๕๓๗
   ๕. พระปริยัติกิจโกศล (สมพงษ์ สุวโจ ) พ.ศ. ๒๕๓๗ - ปัจจุบัน

วัดป้อมวิเชียรโชติการาม (พระอารามหลวง)
๙๕๗ ถนนวิเชียรโชฎก ตำบลมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร 74000
โทรศัพท์ 034-424600
ความสำคัญ : วัดเก่าแก่ของชาวรามัญ ตั้งแต่สมัยอยุธยา
สังกัดคณะสงฆ์ : มหานิกาย



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย