วัดโสธรวรารามวรวิหาร
ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมือง ริมแม่น้ำบางปะกง เดิมชื่อว่า "วัดหงษ์"
สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเป็นที่ประดิษฐาน "หลวงพ่อพุทธโสธร"
พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของฉะเชิงเทรา เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ
หน้าตักกว้าง ๑.๖๕ เมตร สูง ๑.๔๘ เมตร ฝีมือช่างล้านช้าง
ตามประวัติเล่าว่าได้ปาฏิหาริย์ลอยน้ำมาและมีผู้อัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานที่วัดแห่งนี้
แต่เดิมเป็นพระพุทธรูปหล่อสำริดปางสมาธิหน้าตักกว้างศอกเศษ รูปทรงสวยงามมาก
แต่พระสงฆ์ในวัดเกรงจะมีผู้มาลักพาไปจึงได้เอาปูนพอกเสริมหุ้มองค์เดิมไว้จนมีลักษณะที่เห็นในปัจจุบัน
ทุกวันจะมีผู้คนมานมัสการปิดทองหลวงพ่อพุทธโสธรจำนวนมาก
เนื่องจากอุโบสถหลังเก่ามีสภาพทรุดโทรมและคับแคบ
ทางคณะกรรมการวัดจึงได้มีมติให้รื้อพระอุโบสถหลังเก่าและสร้างพระอุโบสถหลังใหม่
โดยมีสำนักงานโยธาจังหวัดเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างเป็นอาคารทรงไทย
ที่ออกแบบพิเศษเฉพาะรัชกาล ลักษณะแบบพระอุโบสถเป็นหลังคาประกอบเครื่องยอดชนิดยอดทรงมณฑปแบบไทย
ต่อเชื่อมด้วยวิหารทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้านข้างต่อเชื่อมด้วยอาคารรูปทรงเดียวกับพระวิหารเป็นอาคารมุขเด็จ
จึงมีลักษณะเป็นอาคารมีหลังคาแบบจตุรมุขอย่างปราสาทไทย กว้าง ๔๔.๕
เมตร ยาว ๑๒๓.๕๐ เมตร ส่วนกลางพระอุโบสถมียอดมณฑปสูง ๘๕ เมตร ยอดมณฑปมีลักษณะเป็นฉัตร
๕ ชั้น มีความสูง ๔.๙๐ เมตร ยอดฉัตรเป็นทองคำน้ำหนัก ๗๗ กิโลกรัม
มูลค่า ๔๔ ล้านบาท ผนังด้านนอกพระอุโบสถปูด้วยหินอ่อนจากเมืองคาร์ราร่า
ประเทศอิตาลี ผนังด้านในเป็นงานจิตรกรรมฝาผนัง โดยศิลปินแห่งชาติซึ่งเป็นผู้เขียนภาพประกอบพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก
ส่วนสำคัญที่สุดคือ
ส่วนกลางของพระอุโบสถซึ่งเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพุทธโสธร ประกอบด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังโดยรอบนับตั้งแต่พื้นพระอุโบสถ
เสา ผนัง และเพดานจะบรรจุเรื่องราวให้เป็นแดนแห่งทิพย์ เป็นเรื่องราวของสีทันดรมหาสมุทร
จตุโลกบาล สวรรค์ดาวดึง พรหมโลก ดวงดาว และจักรวาลตำแหน่งของดวงดาวบนเพดานจะกำหนดตำแหน่งตามดาราศาสตร์
ตรงกับวันที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งเป็นวันยกยอดฉัตรทองคำเหนือมณฑปพระอุโบสถ
และภาพของจักรวาลบนเพดานจะเป็นภาพเขียน ประดับโมเสกสี จึงเป็นพระอุโบสถที่มีขนาดใหญ่และสวยงามที่สุด |