วัดทุ่งศรีเมือง
ตั้งอยู่เลขที่ 95 ถนนหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
อยู่ทางทิศตะวันออกของ ทุ่งศรีเมือง ใกล้กับสถานที่ราชการ
คือ ไปรษณีย์โทรเลข สำนักงานเทศบาลนครอุบลราชธานี โรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานี
มีเนื้อที่
19 ไร่ 2 งาน 23 ตารางวาสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.
2356 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
รัชกาลที่ 2
เจ้าคุณพระอริยาวงศาจารย์ญาณวิมล
อุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย หลักคำ) แห่งวัดป่าแก้วมณีวัน (คือวัดมณีวนาราม
หรือวัดป่าน้อยในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานีโดยกำเนิด
ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองคณะสงฆ์เมืองอุบลราชธานี
(หรือตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน) ท่านมีอัธยาศัยน้อมไปทางวิปัสสนากรรมมัฎฐาน
แต่เดิมท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ
ต่อมาได้มา เจริญสมณธรรม อยู่ที่ป่าหว้าชายดงอู่ผึ้ง เพราะเป็นที่สงบสงัด
ที่นั่นคือ บริเวณวัดทุ่งศรีเมืองในปัจจุบันนั้นเอง
-
พระอุโบสถหรือหอพระพุทธบาท
-
ต่อมาท่านได้สร้างหอพระพุทธบาทขึ้น
ณ บริเวณที่เจริญสมณธรรม โดยมีจุดประสงค์ที่จะจำลองพระพุทธบาทจำลอง
จากวัดสระเกศมาให้พุทธบริษัทที่อุบลราชธานีได้กราบไหว้
จึงให้ครูช่างชาวเวียงจันทน์ ดำเนินการก่อสร้าง
-
พระพุทธบาทจำลอง จากวัดสระเกศ
-
หอพระพุทธบาท
มีความกว้าง 6 เมตร ยาว 13 เมตร หลังคาทรงไทยศิลปะเวียงจันทน์
ต่อมาได้พูนดินบริเวณลานหอพระพุทธบาทเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมในฤดูฝน
โดยได้สร้างเป็นเขื่อนกำแพงแก้วหอพระพุทธบาท เป็นสองชั้นรอบๆพระพุทธบาท
กำแพงมีขนาด กว้าง 23 เมตร ยาว 32 เมตร ภายในพูนดินให้สูงเหมือนเป็นฐานรองรับหอพระพุทธบาท
โดยได้ขุดเอาดินมาจากสระด้านทิศเหนือ ซึ่งมีขนาดกว้าง
13 เมตร ยาว 24 เมตร ลึก 3 เมตร (สระนี้ ต่อมาภายหลังได้สร้างหอไตรไว้กลางน้ำ
จึงได้ ชื่อว่า สระหอไตร)
-
หอไตรกลางน้ำ -
เมื่อขุดหอไตรแล้ว
ปรากฎว่า ดินที่จะนำมาพูนหอพระบาทยังไม่พอ ก็ได้ขุดสระอีก
1 สระทางด้านทิศตะวันตกของวัด สระนี้เรียกว่าสระหนองหมากแซว
เพราะมีต้นหมากแซวใหญ่ต้นหนึ่งอยู่ข้างสระขุดลึกประมาณ
3 เมตรกว้างและยาวพอๆ กับสระหอไตร (ปลายสมัยหลวงปู่พระครูวิโรจน์รัตนโนบล
เป็นเจ้าอาวาสได้ปูกระเบื้องซีเมนต์ที่ลานหอพระบาท และได้สร้างกำแพงแก้ว
ล้อมรอบที่ซุ้มประตูด้านทิศเหนือ, ใต้และทิศตะวันตก ส่วนทางทิศตะวันออก
ได้สร้างภายหลัง และได้สร้างให้มีขนาดใหญ่ที่สุด เพราะเป็นทางเข้าและอยู่หน้าหอพระบาท)
เมื่อพระอริยวงศาจารย์ฯ
สร้างหอพระพุทธบาทเสร็จแล้ว ก็ได้สั่งให้ญาคูช่าง สร้างหอไตรที่สระกลางน้ำ
โดยมีจุดประสงค์ ใช้เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก คือ คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา
และปรัชญาพื้นบ้าน รวมถึงตำราต่าง ๆ มากมาย
ส่วนมากเป็นหนังสือใบลานจารึกด้วยอักษรธรรมและสมุดข่อย
ไม่ให้แห้งและกรอบและเพื่อกันปลวก มิให้ทำลายพระไตรปิกฎให้เสียหาย
(ก่อนที่พระราชรัตนโนบลมาปกครองวัด พระไตรปิฎกได้สูญหายไปมากแล้ว)
เมื่อได้สร้างหอพระพุทธบาทและหอไตรกลางน้ำเสร็จแล้ว ก็ได้สร้างกุฎิเป็นที่อยู่ของพระภิกษุและสามเณร
เพราะวัดนี้ตั้งอยู่ปลายทุ่ง ท่ามกลางเมืองอุบลราชธานี
จึงได้ชื่อว่า ทุ่งศรีเมือง เป็นเหตุให้ทุ่งนากลางเมืองอุบลราชธานี
ได้ชื่อว่า ทุ่งศรีเมืองตามไปด้วย
ในยุคสมัยสมเด็จกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์
ข้าหลวงต่างพระองค์ ได้ตกลงกับเจ้าของที่ดินหลายคน ยกที่ดิน
(ที่ทำนา) ให้กับทางราชการ
เมื่อ
พ.ศ.2458 พระครูวจีสุนทร เจ้าคณะอำเภอม่วงสามสิบ ท่านพระครูวิโรจน์รัตโนบล
เป็นเจ้าอาวาส ได้พาพระเณร ไปทำพลับพลา ตัดเสาศาลาการเปรียญที่คำน้ำแซบ
วัดวารินทรารามในปัจจุบัน สมัยนั้นมีแต่ป่า ยังไม่มีบ้านเรือนคน
และค่ายทหาร แต่เมื่อตัดเสาได้แล้ว ก็สร้างล้อลากลงแม่น้ำมูลข้ามมาสร้างศาลาการเปรียญ
โดยในวันไหนมีการล่องมูล จะให้ชาวบ้านที่หาปลา หรือคนที่อยู่แถวนั้นมาช่วย
เพราะเสาต้นใหญ่มาก บางวันต้องใช้กลองยาวตีเร้าใจ เพื่อให้จังหวะ
ครั้นลากเสามาถึงวัดแล้ว ก็จัดแจงตกแต่งศาลาการเปรียญ
ครั้นเตรียมการเสร็จแล้ว ก็ได้ป่าวประกาศเชิญชวนทำบุญปลูกศาลาการเปรียญ
ยกศาลาและสร้างต่อจนเสร็จ
-
พระเจ้าใหญ่ศรีเมือง -
เมื่อสร้างศาลาการเปรียญเสร็จแล้ว
วัดเหนือท่า ร้างทางราชการจะสร้างเป็นสถานีอนามัย พระเจ้าใหญ่ในศาลาการเปรียญวัดเหนือท่า
ไม่มีพระสงฆ์อยู่ดูแล พระครูวิโรจน์รัตโนบลจึงได้นำญาติโยมไปอาราธนา
มาเป็นพระประธานที่ศาลาการเปรียญวัดทุ่งศรีเมือง
-
ศาลาการเปรียญวัดทุ่งศรีเมือง
-
**อ้างอิงจาก หนังสือประวัติวัดทุ่งศรีเมือง
จัดพิมพ์เผยแพร่ ครั้งที่ 2/2546 สนับสนุนโดย อีซูซุ ตังปักอุบลราชธานี
|