ช่วยอธิบายให้ด้วยครับ

 ttum    

"เจริญจิตภาวนา ให้ได้บุญให้ได้กุศลเยอะๆ" หมายความว่าอย่างไร และทำอย่างไร ช่วยขยายความให้เข้าใจด้วยครับ ขอบคุณครับ




จิตตภาวนา เป็นการอรมรมจิตใจให้พ้นจากเครื่องเศร้าหมองต่าง ๆ น่ะค่ะ การเจริญจิตตภาวนาเป็นการเจริญบุญขั้นละเอียดและสูงสุดแล้วนะคะ คือได้กุศลเยอะแน่นอน เพราะเป็นไปเพื่อแนวแห่งความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง แบ่งเป็น 2 ประเภทน่ะค่ะ

1. สมถภาวนา เป็นการอบรมจิตให้เกาะเกียวอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียว ซึ่งการภาวนาลักษณะนี้ จะช่วยให้จิตใจเราพ้นจากเครื่องเศร้าหมองเป็นการชั่วคราว คือเฉพาะตอนที่เราภาวนาน่ะค่ะ ส่วนแนววิธีทำสมถภาวนาให้ได้ผลดี ก็ลองหาอ่านกรรมฐาน 40 ประเภทดู เหมาะแก่จริตนิสัยที่แตกต่างกันค่ะ

2. วิปัสสนาภาวนา เป็นการอบรมจิตให้รู้แจ้งเห็นจริง ในขั้นของปัญญา คือเห็นจริงตรงกับสภาวะที่แท้จริงของธรรมชาติทั้งปวง จนถอนความหลงผิด การยึดติดในสิ่งทั้งหลายได้ คือเมื่อฝึกแล้วเราจะมีมุมมองและการวางตัวกับโลกแบบใหม่ในทางที่ถูกต้องตามความจริง ซึ่งวิปัสสนาญาณก็จะมีหลายขั้นนะคะ แต่ไม่ขอลงละเอียดลึกอ่ะค่ะ คือญาณที่เกิดขึ้นเหล่านี้ก็จะพัฒนาไปสู่ความเข้าใจถูก คือลดจากความครอบงำของกิเลส คือตัวราคะ โทสะ โมหะเป็นขั้น ๆ อย่างที่ตามสมมติเค้าอาจเรียกว่า อริยบุคคล 4 คู่ 8 จำพวก คือ ตั้งแต่ โสดา สกิทา..จนถึงอรหันต์น่ะค่ะ คือสุดท้ายก็ไม่ถูกครอบงำและชักจูงของกิเลสได้อีกเลย เป็นบุญสูงสุดเลยนะคะ เป็นเนื้อนาบุญของโลกเลยก็ว่าได้ ถ้าอยากศึกษาส่วนนี้ ลองไปหาอ่านเรื่องสังโยชน์ 10 ดูนะคะ จะช่วยชี้ทางให้ได้อีกมากทีเดียว

อย่างไรก็ตามพื้นฐานการทำภาวนาให้ได้เกิดผลดีนั้น ศีล 5 ต้องมาเป็นหลักเป็นฐานให้แก่ใจอย่างแนบแน่นนะคะ ไม่อย่างนั้นการภาวนาจะเป็นไปด้วยดีได้ยากน่ะค่ะ

อนุโมทนา..


รักษาศีลให้สมบูรณ์ ศึกษาพระไตรปิฎก แล้วพอพิจารนาก็จะเข้าใจเอง โดยไม่รู้ตัวแล้วมาเทียบในพระไตรปิฎกดู


ขออนุโมทนากับคุณ mina ด้วยนะคะ


สังโยชน์ 10 คืออะไรคับคุณ mina บอกหน่อยคร้าบ


สังโยชน์ 10 คือ กิเลสที่เป็นเครื่องผูกมัดจิตใจสรรพสัตว์ ให้มีอันเวียนว่าย ตายเกิดอีกน่ะค่ะ สาเหตุที่ให้ศึกษาสังโยชน์ 10 ก็เพื่อเป็นเครื่องชี้วัดให้กับผู้ปฏิบัติด้วยตนเองง่าย ๆ ทางหนึ่ง บางทีเราสามารถปฏิบัติธรรมโดยเทียบเคียงจากเหล่าสังโยชน์เป็นการนำปฏิบัติดูจิตไปทีละตัวก็ได้นะคะ ทั้งนี้ สังโยชน์ทั้ง 10 ตัวนี้ไม่ได้ตั้งไว้เพื่อละค่ะ แต่เพื่อให้เราทำความเข้าใจได้โดยง่าย กับการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของกิเลสเหล่านี้ คือสังโยชน์ทุกตัวมีอยู่เป็นธรรมดา แต่ผู้ปฏิบัติจะต้องใช้สติเป็นตัวกำหนด และปัญญาอันแยบคายในการพิจารณาในความเกิดจนกระทั่งมันดับไป(ไม่แน่ใจว่าอธิบายแบบนี้เข้าใจรึเปล่านะคะ แต่ถ้าไม่เข้าใจก็สอบถามมาอีกทีก็ได้นะคะ^-^)

จริง ๆ แล้วเนื้อหาในสังโยชน์มีอยู่ทั่วไปอยู่แล้ว จึงขออธิบายในรายละเอียดสั้นนิดนึงนะคะ

สังโชน์ 3 ข้อแรกนี้ท่านผู้รู้ว่า หากละจากเครื่องร้อยรัดนี้แล้วจะเกิดอีกเพียงอย่างน้อย 7 ชาติก็จะเข้าถึงนิพพานได้เลยหรือเรียกว่าเป็นโสดาบันนั่นเองคือปิดประตูอบายแน่นอน อันนี้ก็ขึ้นกับความรุนแรงที่สั่งสมมาของราคะ โทสะ โมหะของแต่ละคน รวมถึงอินทรีย์บารมีที่สั่งสมมาด้วยอ่ะค่ะ คือถ้าเบาบางหน่อยชาติเดียวก็ทำได้นะคะ

1. สักกายทิฐิ อันนี้เป็นเพียงความเห็นถูกในขันธ์ 5 ในร่างกาย ในสิ่งทั้งปวง ขอย้ำว่าแค่ความเห็นถูกเท่านั้นเองนะคะ ว่าทุกอย่างเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์แน่นอน คือ เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง และไม่ใช่ตัวตน รวมถึงสิ่งทังปวงมีเกิดมากจากเหตุ หรือมีเหตุมาทำให้เกิดน่ะค่ะ คืออันนี้เป็นเพียงมุมมองเท่านั้น จะว่าง่ายก็ง่าย แต่ก็มีบางคนที่ไม่ยอมรับเช่นมองว่าตัวเราเที่ยง มีตัวตน ไม่เคยเห็นว่าสักวันนึงกายเราต้องแก่ ชราหรือดับสูญไป หรือแม้กระทั่งในสมัยพุทธกาลก็มีคนชอบมาถามพระพุทธเจ้าว่าตายไปแล้วเกิดใหม่รึไม่ (แม้ปัจจุบันก็ยังมีค่ะ!?) แต่คำถามนี้พระพุทธเจ้าทรงไม่ตอบนะคะ ตรัสทำนองที่ว่า หาคำตอบไปจนตายก็ไม่รู้ รังแต่จะทำการเกิดให้เสียเปล่า เพราะพระองค์ทรงสอนว่าทุกอย่างล้วนมีเหตุปัจจัยเพราะเหตุอย่างนี้ๆ จึงมีผลอย่างนี้ๆ เป็นต้นน่ะค่ะ

2. วิจิกิจฉา เป็นความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัยน่ะค่ะ ว่ามีจริง เป็นจริงรึเปล่า อันนี้ก็มีบางประเภทที่ไม่ยอมเชื่อไม่ยอมเข้าใจเลย ทำให้เป็นเครื่องขวางกั้นในการปฏิบัติน่ะค่ะ อันที่จริงพระพุทธเจ้าก็ไม่เคยบอกให้เหล่าสาวกเชื่อนะคะ ท่านบอกแต่เพียงว่าทุกแนวทางของท่านที่ทรงนำมาเปิดเผยแก่ชาวโลกนั้น สามารถพิสูจน์ได้ด้วยตนเองทุกอย่างเลยค่ะ เรื่องนี้ต้องทำเองจึงจะรู้เท่านั้น :)

3. สีลัพพัตปรามาส เป็นความคิดความเข้าใจในศีลหรือข้อปฏิบัติที่ผิด ๆ น่ะค่ะ อย่างเช่นการรักษาศีล 5 แบบลูบ ๆ คลำ นี่ก็ใช่ หรือไปเชื่อว่าเมื่อปฏิบัติธรรมแล้วจะรวยขึ้น ไม่ผิดหวังในชีวิตเลย(อันนี้คนผิดหวังกันเยอะนะคะ อันที่จริงท่านสอนให้ทำใจ รับได้กับทุกเรื่องเพราะทุกอย่างมันไม่เที่ยงอ่ะค่ะ) หรือการบนบานศาลกล่าว ลัทธิบูชายันห์ต่าง ๆ นี่ก็มิใช่วิธีที่ท่านสอน คือท่านสอนให้พยามปฏิบัติด้วยตัวเองน่ะค่ะ หรือการเชื่อดวง ฤกษ์ ยามเหล่านี้ หรือแม้กระทั่งการไปยึดถือรักษาศีล จนเป็นมิจฉาทิฐิ เช่น รักษาศีล 8 แต่เบียดเบียนตนเอง หรือเพื่อนำมาอวดอ้าง คือทำทุกอย่างควรประกอบไปด้วยปัญญา มิใช่งมงาย

อีก 2 ข้อถัดไปผู้ที่เข้าถึงได้แห่งความดับไปในกิเลสเหล่านี้ได้เพียงเบาบางหรือบางส่วนก็กลับมาเกิดอีกเพียงหนึ่งชาติก็จะบรรลุอรหันต์หรือเรียกว่าอริยบุคคลขั้นสกิทาคามี

แต่ถ้าผู้ใดเข้าถึงความดับไปได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด มีสติระลึกรู้และดับไปได้ในทุกสถานการณ์จนเป็นธรรมชาตินี้ก็ เกิดอีกทีไปอยู่บนพรหมโลกแล้วค่ะ แล้วนิพพานที่นั่นเลย ซึ่งจะเรียกว่าอริยบุคคลขั้นอนาคามีนะคะ

4. กามราคะ เป็นเรื่องของความโลภ ความอยาก ความรักสวยงาม ความชื่นชอบเก็บสะสมสิ่งของส่วนตัว แม้กระทั่งเรื่องทางเพศคือท่านเห็นเป็นธรรมดาหรืออกจะน่ารังเกียจเป็นสิ่งสกปรกด้วยซ้ำไป คือว่าง่าย ๆ ให้เห็นเป็นเรื่องพื้นฐานธรรมดามิใช่ติดใจ ชอบใจรักใคร่จนเป็นกิเลสเผาลนใจให้มัวหมองน่ะค่ะ กิเลสข้อนี้จะค่อนข้างเห็นยาก เพราะค่อย ๆ มาแบบแทรกซึมทีละนิด ๆ ถ้าแสดงออกมาทีก็อาจเรียกได้ว่า โงหัวไม่ขึ้นเลยอ่ะค่ะ ต้องระวัง

5. ปฏิฆะ เป็นข้อตรงข้ามค่ะ คือ ความโกรธ ไม่ชอบใจ หงุดหงิด ไม่พอใจ เบื่อ เซ็ง รำคาญ เหล่านี้เป็นต้น กิเลสข้อนี้มาเร็ว แรงแต่จะดับง่ายสักหน่อยนะคะถ้าฝึกกันจริง ๆ

อีก 5 ข้อสุดท้ายค่ะ ทำไมอีกครึ่งนึงถึงไปโยนให้ความเป็นอรหันต์หมด คือตามความจริงแล้ว มนุษย์ทั่วไปที่ถูกเกาะเกี่ยวจริง ๆ ก็แค่ 5 ข้อแรกนั่นแหละค่ะ มันชนะไม่ได้ซักกะที อีก 5 ข้อหลังมันก็เป็นกิเลสที่ค่อนข้างละเอียด คนสำเร็จน้อย เพราะว่าพระอรหันต์ไม่ได้เกลื่อนตลาด อาจจะยากที่จะมีคนมาชี้ทางให้เห็น ต้องใช้ปัญญาแบบเต็มขั้นเต็มภูมิทีเดียวจึงจะทะลุปรุโปร่งได้หมด 5 ข้อนี้อ่ะค่ะ

6. รูปราคะคือความติดใจพอใจในกิเลสที่ละเอียดขึ้นไปอีก เช่นพวกที่ชอบนั่งสมาธิ เล่นฌาณได้ถึงรูปฌาณ ก็จะติดในความสุขความสงบ เข้าใจว่านี้คือสิ่งสูงสุดแล้ว แท้จริงก็คือไปยึดกับความสุขนั่นแหละค่ะ หรือแม้กระทั่งในสิ่งภายนอกที่จิตไปกระทบในรูป เสียงกลิ่นรสแล้วเกิดความพอใจ สุขใจ นั่นก็ใช่นะคะ มันเพลินไปเอง อันนี้ท่านก็ให้มีสติระลึกรู้เอา

7 อรูปราคะ ยิ่งละเอียดไปอีก คือปฏิบัติไปๆ ความละเอียดหรือกิเลสมันหนีไปปรุงแต่ง จนใจเจ้าของจับได้ยาก ซึ่งต้องอาศัยปัญญาให้ละเอียดยิ่งกว่ามันอีกค่ะ คือติดในอรูปฌาณ หรือกิเลสภายนอกในแง่ของยศ สรรเสริญ คำเยินยอ หรือไประลึกเอาสิ่งใด ๆ ที่ทำให้ใจติดสุข เรื่องราวในอดีต ความทรงจำดี ๆ เป็นต้น

8. มานะ เมื่อใดก็ตามที่มีจิตไปเปรียบเทียบว่าตนดีว่า เสมอกว่าหรือเลวกว่า นั่นก็ใช่แล้วอ่ะค่ะ มันเป็นไปเองเพราะจิตไม่มีกิเลสใดมาปรุงแต่งแล้ว เสมือนน้ำลด ตอผุด

9.อุทธัจจะ เป็นเรื่องของความฟุ้งซ่านในใจ หรือทำอะไรเกินพอดี เกินขอบเขตแบบหาทางมัชฌิมาของตนไม่ได้น่ะค่ะ เช่น บางคนมีจริตชอบคิดมากน่ะค่ะทำอะไรก็คิดก็สงสัยไปหมด ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อยแบบว่า คนอื่นต้องถามว่าคิดไปทำไม?? หรือติดปฏิบัติๆๆๆ ไปอยู่นั่นแหละ คือมันสุดทางแล้ว แต่ก็ไม่มั่นใจซักที เหมือนเครื่องยนต์ที่สตาร์ทติดแล้ว แต่ก็ยังหมุนกุญแจอยู่นั่นแหละค่ะ หรือคนที่ปฏิบัติแนวดูจิต มีสติมาเรื่อย ๆ มาถึงจุดนี้ก็ไม่วางตัวรู้ซักที คอยมองคอยดูอยู่นั่น ว่านี่กิเลสตัวนี้ นี่กิเลสตัวนั้น ซึ่งจริง ๆ แล้วถ้าข้ามพ้นกิเลส 5 ข้อแรกแล้ว ไม่ได้ติดฌาณ และไม่ค่อยมีจิตไปเปรียบเทียบความเป็นตัวตนกับใคร ก็จบแล้วค่ะ..หมดแล้ว..วางไปเลย คือไม่ต้องไปคอยดูมันอีก เพราะมันมีในจิตจนเป็นธรรมชาติซะแล้ว อันนี้เป็นมากสำหรับคนที่มาในแนวสุขวิปัสสโกน่ะค่ะ คือ จิตไม่ค่อยได้บ่มเรื่องฌาณมาเท่าที่ควร ปฏิบัติเพื่อทางปัญญาล้วน ๆ ก็เลยติดคิดน่ะค่ะ

10. อวิชชา อันนี้ 9 ข้อแรกมองเห็นทางข้อนี้มันหมดไปเองเลยน่ะค่ะ บางท่านบอกว่าเป็นการรู้อริยสัจสี่แบบแจ่มแจ้งตลอดทั้งสาย จะว่าอย่างนั้นก็ได้ เพราะตัวทุกข์ก็กำหนดรู้ได้หมด เหตุแห่งทุกข์ก็วางได้ละได้ ทางที่เป็นไปเพื่อให้แจ้งก็เข้าใจแบบถึงแก่นอย่างถ่องแท้ จะเปรียบเทียบง่าย ๆ ก็คือผู้ที่มาอยู่จุดนี้ท่านว่า ปกติทางอันสำหรับการประพฤติปฏิบัติเพื่อเป็นไปให้ถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์นั้นเป็นทางอันเอก คือมีทางสายเดียวที่เหมาะสำหรับบุคคลแต่ละประเภทที่แตกต่างกันตามจริตนิสัย แต่ผู้ที่ลุถึงข้อนี้เปรียบเหมือนผู้ที่มายืนบนจุดสูงสุดแห่งเป้าหมายบนยอดเขาอันสูงชัน เมื่อมองลงมาจากยอดเขาแล้ว ไม่ว่าจะมีใครกำลังปีนป่ายมาจากสายไหน ก็สามารถชี้ชัด เข้าใจชัดได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง

เหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่ถูกอธิบายมาอย่างกว้างขวาง มีเวบไซด์และหนังสือมากมายที่ตีพิมพ์เรื่องนี้เป็นอย่างดี ก็ลองหาอ่านเพิ่มเติมดูได้เพื่อเป็นการศึกษาอย่างลึกซึ้งมากขึ้น ตัวอย่างที่นำมาประกอบอาจไม่ครบเพราะเห็นว่าเรื่องนี้ถูกตีพิมพ์บ่อยจนนับไม่ถ้วนแล้วอ่ะค่ะ

อย่างไรก็ดี หากมีผิดพลาดประการใดก็เชิญผู้รู้แนะนำเพิ่มเติมได้นะคะ หรืออาจสอบถามเพิ่มเติมถ้าอ่านแล้วรู้สึกงง งง ไม่เข้าใจ ด้วยปัญญาแบบจำ ๆ มาอันน้อยนิดน่ะค่ะ

อนุโมทนาผู้มีใจใฝ่ศึกษาค่ะ ^-^


 3,961 

  แสดงความคิดเห็น


RELATED STORIES




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย