อะไร..ที่จะทำให้ความอิจฉาริษยาบรรเทาเบาบางลงค่ะ

 puaw    

ภายในจิตใจ...เมื่อเห็นคนๆ นึงมีความสุขกว่า มีทรัพย์มากกว่า สวยกว่า หรือเขาประสบความสำเร็จ
ทำไมจะต้องร้อนรน รู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อย บุญน้อย และไม่อยากเห็นใครดีกว่าตัวเอง
(แต่ไม่ได้แสดงออกมาให้เขารู้ เขาเห็น) แบบนี้เรียกว่าความอิจฉา ใช่ไหมค่ะ
และจะต้องทำยังไงให้ให้เลิกอิจฉาคนอื่น และรู้สึกยินดีกับผู้อื่นอย่างจริงใจ แนะนำด้วยค่ะ




สำหรับผมนะครับ เคยได้ฟัง ถ้าจำไม่ผิดจากวิทยุ

พรหมวิหาร4

1.เมตตา ถ้าเรามีเมตตา หรือมีจิตต้องการให้คนๆนึงนั้นมีความสุข ถ้าทำบ่อยๆเข้า จะเหมือนช่วยแก้เรื่องความไม่พอใจ ไม่ชอบใจกับคน กึ่งๆเป็นตัวช่วยให้เบาบางเรื่องความแค้น

2.กรุณา เช่นเดียวกันครับ ต้องการให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ถ้าเราหมั่นทำเช่น การทำทาน หรือช่วยเหลือกัน ก็จะช่วยให้เบาบางเรื่อง ความอาฆาต (เหมือนกับเมตตาเปล่าน๊า)

3.มุทิตา (อันนี้น่าจะเกี่ยวกับกระทู้นี้) ยินดีเมื่อผู้อื่นใดดี ถ้าเราหมั่นยินดีเมื่อมีคนเขาได้ดี ก็จะเบาบางเรื่องอิจฉา ริษยา

4.อุเบกขา วางเฉย ข้อนี้สำหรับบุคคลที่ยังประพฤติทางโลกอยู่ เราไม่ควรจะวางเฉยกับคนที่เรารู้จักหรือสามารถช่วยได้ โดยทันที ควรจะมี เมตตา และ กรุณา นำทางก่อน ถ้าเราทำทุกอย่างแล้ว ยังไม่สามารถมีอะไรดีขึ้นมาได้แต่วางเฉยครับ

เคยได้ยินคนอุปมาไว้ว่า พรหมวิหาร 4 เหมือนเลี้ยงลูก เลี้ยงหลาน

1.เมตตา เมื่อเด็กคนนั้นยังไม่สามาช่วยตนเองได้เท่าที่ควร ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือหลายๆเรื่อง เช่นเด็กเล็กๆ
เราควรมีความตั้งใจให้เขามีความสุข

2.กรุณา เมื่อเด็กคนนั้นโตขึ้นมาในระดับนึงแล้ว อาจจะช่วง 12-20 เราก็อยู่ดูเขาห่างๆระดับนึงแค่คอยประคอง
ไม่เห็นเจอความทุกข์ เช่น ซื้อจักรยานยนต์โดยไม่สาเหตุที่สมควร

3.มุทิตา อาจจะเป็นคนวัยกลางคนแล้ว เมื่อลูกเริ่มทำงานได้ระดับนึง เราก็ควรห่างเขาอีกระดับนึง แค่สอบถาม
อะไรเล็กๆน้อยๆ ให้ข้อคิดเขายามเมื่อเขาเจอทางที่ลำบาก และยินดีเมื่อเขาได้ดี

4.อุเบกขา เมื่อลูกๆโตได้ระดับที่สมควรแล้ว อาจจะเช่น 40-50 อะไรจะกต้องเกิด เขาสามารถดูแลตนเองได้
ระดับนึงแล้ว ไม่ต้องคอยจ่ำจี้ จำไช อะไรเขานักหนา

สำหรับอีกวิธีนึงที่พอจะแก้เรื่องนี้ได้ ผมได้ฟังได้่อ่านมา แล้วนำมาปฏิบัติระดับนึง ก็ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ที่เรารู้สึก ที่เราสัมผัส นั้น เป็นกรรมของเรา ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นสุขหรือทุกข์ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นกับ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้นคือกรรมของเรา ส่วนกรรมใหม่ที่เราจะสร้าง คือสิ่งที่เรากำลังจะทำหรือทำอยู่ ก็มี กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม

ถ้าผมกล่าวอะไรผิดพลาด ตกหล่นประการรบกวรผู้รู้ชี้แนะด้วยนะครับ


คนมักริษยาเป็นคนไม่มีความสุข บาปให้ผลเป็นความทุกข์ ทุกข์ทั้งในยามที่บาปเกิด และทุกข์ในยามที่ผล คือ วิบากส่งผลแม้ในชาตินี้และชาติต่อๆไปไม่สิ้นได้เลย

คนมักริษยา หากผลนี้เกิดขึ้นเบียดเบียนในภพชาติใดแล้ว... ย่อมจะทำให้ได้เกิดเป็นคนในตระกูลต่ำ ถูกเหยียบย่ำให้เจ็บช้ำน้ำใจเสมอๆ ตรงกับจิตตนเองที่เคยคิดเบียดเบียนด้วยอิจฉริษยาแม้ด้วยทางใจ ....ในยามผลเกิด ตนก็ย่อมจะต้องเสวยผลอันเป็นทุกข์เดือดร้อนเพราะวาจาประทุษร้ายจากคนอื่นๆ เกิดความแตกแยกเพราะการส่อเสียดนั้นๆด้วย

พึงทราบว่า ผล นั้นมาจากเหตุ...การที่บุคคลเฝ้าร่ำร้องหาผลในสิ่งที่ตนต้องการโดยไม่ พิจารณาเหตุที่ตนสมควรกระทำนั้น ย่อมเป็นไปกับความเขลา ความไม่รู้ความจริงนั่นเอง ....และนี่ย่อมจะถูกกิเลสลากถูลู่ถูกังใช้ให้กระทำบาป แม้ทางกาย วาจา และใจเสมอๆโดยไม่รู้ตัว.... และผลต่อไปเบื้องหน้าย่อมเป็นความชอกช้ำที่สุด และแม้ผลในปัจจุบัน ตนก็ต้องเป็นทุกข์เพราะความบีบคั้นของกิเลส และต้องมารับรู้อารมณ์ที่ไม่ดีเพราะอำนาจแห่งบาปนั้นๆเสมอๆ

จึงสมควรรู้ว่า การที่บุคคลได้อัตภาพอันต่ำต้อยมาบ้าง ..อันไม่ทัดหน้าเทียมตาบ้าง... ไม่สะไม่สวยอย่างคนอื่นๆบ้าง.. รูปชั่วตัวดำบ้าง ...ผิวพรรณทรามบ้าง... ยากจนบ้าง...พิการบ้าง... ด้อยความสามารถบ้าง ..พูดจาไม่น่าเชื่อถือบ้างหรือไม่มีคนเชื่อบ้าง... ถูกทอดทิ้งบ้าง ...อยู่ที่ไหนก็มักมีแต่คนติฉินนินทาด้วยเรื่องไม่จริงบ้าง.. เรียนหนังสือไม่เก่ง ทำงานไม่เก่งสติหลงลืม สมาธิสั้นบ้าง ฯลฯ เหล่านี้ ล้วนเป็นผลทั้งสิ้น ผลที่มีเหตุมาแล้ว ทำไว้เอง เหตุต่างๆนานา.. แล้วจะโทษใครกันเล่า? โทษคนอื่นได้กิเลส โทษตนเองได้ปัญญา จะโทษใครดี?เพราะทำเหตุเสียเอาไว้มากมาย ผลก็ฟ้องออกมาตามนั้น..

คำตอบทั้งหมด จึงอยู่ที่การกระทำของตนเอง คือ กรรมทั้งสิ้น....กรรมที่เกิดทั้งสามทวาร คือทางกาย วาจา และใจ ...เหล่านี้เป็นเสมือนเมล็ดพันธุ์ที่ดีบ้าง ที่ชั่วบ้าง ที่บุคคลได้หว่านเอาไว้ในกาลก่อนนั่นเอง
หากทราบเหตุผลความจริงอย่างนี้ ใจจะเกิดหิริโอตตัปปะ ละอายและเกรงกลัวต่อบาปมากขึ้น...ไม่ปรารถนาจะทำร้ายตนเองให้มากไปกว่านี้ ...ย่อมจะขวนขวายสร้างเมล็ดพันธุ์ที่ดี หว่านลงที่นาคือ จิตใจของตนนั่นเอง...นี่คือ การรักตนเอง เมตตาต่อตนเอง อย่างถูกต้อง
เพราะศรัทธาเกิดแล้วว่า กรรมทุกชนิดนั้นมีผล...ตนจึงเร่งทำแต่ประโยชน์ เว้นจากโทษในทุกๆทาง...เพราะบุญนี้แล ย่อมจะนำสุขมาให้...ย่อมจักเป็นสมบัติต่อไปของตนที่ไม่มีใครมาแย่งเอาไปได้ ..เกิดมาแล้วย่อมเป็นที่รักและเป็นที่เมตตาของคนอื่นๆ...เพราะตนเองทำเหตุ แห่งเมตตาเอาไว้

คงไม่สนุกนักที่เกิดมาแล้ว ไปในที่ไหนๆก็มีแต่คนชิงชังและริษยาอย่างไร้เหตุผล แต่ถ้าหากตนเพาะหว่านเมล็ดแห่งความริษยาเอาไว้ ..ต้นที่เกิด ผลที่เกิดจะเอาแบบอื่นจะได้หรือไร?
ทำเหตุไว้ไม่ดีในกาลก่อน ก็ขวนขวายทำเหตุใหม่ให้ดีได้นับต่อแต่นี้เถอะ

ยุติความน้อยเนื้อต่ำใจเพราะใจเป็นไปกับโทสะทั้งนั้น
บาปนั้น อย่างไรเสียก็ให้ผลเป็นความทุกข์ ... เราทำของเราเอาไว้อย่างนี้ จะเลือกเอาพันธุ์อื่นที่ดีๆ จะมีมาแต่ไหนกันเล่า?
รักตนเองมากพอ ดีพอแล้ว... ย่อมกำจัดเสียซึ่งความน้อยใจ การเปรียบเทียบ การริษยา.. เพราะตนย่อมรู้ว่า ธรรมชาติเหล่านั้นหากเกิดในใจตนแล้วย่อมไม่ชื่อว่า เป็นผู้รักตน... แต่ชื่อว่า เป็นผู้กำลังทำลายตน ทำลายความสุขของตนทั้งในปัจจุบันและอนาคตทีเดียว


ขออนุโมทนาท่านผู้ถามที่มีความดำริที่จะกำจัดความรู้สึกที่ไม่ดีจากจิตใจด้วยครับ เมื่อมีความตั้งใจ ย่อมสำเร็จ ได้ดังใจหวังครับ..


1.นั่นแหละครับความอิจฉาแต่ผมอยากบอกว่าความอิจฉาไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดีเสมอไปหรอกครับ ความอิจฉาคือการที่เราอยากมีอยากเป็นให้มากขึ้นเป็นแรงผลักดันให้เราอยากทำอย่างนั้นอย่างนี้ได้เหมือนกันเป็นการสร้างอย่างหนึ่ง แต่ที่ควรระวังคือความริษยาเพราะความริษยา คือการที่เราอยากให้คนอื่นมีน้อยลงเป็นน้อยลง ซึ่งเป็นการทำลาย

2. การที่เราคิดจะสละละอะไรไม่สามารถเป็นไปได้หรอกครับ ทุกวินาทีที่เราคิดจะสละละอะไรเป็นการตอกยำตัวตนภายในจิตใต้สำนึกว่าเรายังมีสิ่งนั้นให้สละละ หรือเป็นการบอกตัวเองว่าสิ่งที่คิดจะละเด่นชัดยิ่งขึ้นทางที่ดีกว่าคือ การรู้ว่าว่าเรารู้สึกอย่างไรแค่นั้นครับ

3.เมื่อรู้ว่าเรารู้สึกอย่างไรขณะที่กำลังอิจฉาหรือริษยาเราก็เปรีบยเสมือนกับเรารู้แล้วว่าเราเป็นโรคอะไร ยาที่ผมเสนอแนะคือการสังเกตคือสังเกตทั้งตัวเองและคนอื่นตามความเป็นจริงอย่ามองผ่านสายตาแห่งความโกรธแค้นถ้าคุณมองให้ดีพอสิ่งที่คุณมองอยู่จะหายไป เพราะไม่มีสิ่งใดเลยที่เป็นอัตตา

4.ให้เอาใจเขามาใส่ใจเราให้มากๆ เมื่อคุณเห็นว่าเขากับเราก็ไม่ต่างกันคุณจะคิดแบบเดิมไม่ได้อีก


ขอบคุณสำหรับทกคำแนะนำที่ดีค่ะ
ดิฉันจะนำไปปรับใช้
ถึงแม้มันจะไม่ได้ง่ายสำหรับการเริ่มต้นก็ตาม



สวัสดีปีใหม่ครับ คุณPUAW

......... ธรรมที่เป็นคู่ปรับกัน


พระพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี ได้ตรัสสอนพระราหุลถึงธรรมที่เป็นคู่ปรับกัน ๖ คู่ คือ

๑.“ราหุล! เธอจงเจริญเมตตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญเมตตาภาวนาอยู่ จักละพยาบาท (คือความคิดที่จะแก้แค้น) ได้

๒. เธอจงเจริญกรุณาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญกรุณาภาวนาอยู่ จักละวิหิงสา (คือการเบียดเบียน) ได้

๓. เธอจงเจริญมุทิตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญมุทิตาภาวนาอยู่ จักละอรติ (คือความริษยา)ได้

๔. เธอจงเจริญอุเบกขาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอุเบกขาภาวนาอยู่ จักละปฏิฆะ (คือความขัดใจ) ได้

๕. เธอจงเจริญอสุภภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอสุภภาวนาอยู่ จักละราคะ (ความยินดีในกาม) ได้

๖. เธอจงเจริญอนิจจสัญญาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอนิจจสัญญาภาวนา จักละอัสมิมานะ (คือการถือตัว) ได้

มหาราหุโลวาทสูตร ๑๓/๑๒๗

ลองเจริญภาวนา ตามมหาราหุโลวาทสูตร คงช่วยได้ครับ

อีกนิด คำตอบจากคุณWIT จากลานธรรม คงช่วยได้บ้างครับ..........

พระพุทธองค์ทรงสอนว่า ในภพชาติและวัฏฏะสงสารอันยาวนานนี้ ส่วนใหญ่คนเราล้วนต่างเคยเกิดมาเป็น พ่อแม่พี่น้องกันบ้าง เป็นญาติกันบ้าง เป็นเพื่อนกันบ้าง อยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าสมมติว่าเราเห็นคนที่เป็นพ่อแม่พี่น้องเป็นญาติองเราได้ดี เราก็คงจะรู้สึกยินดีด้วยใช่มั๊ยล่ะครับ หรือถ้าเราเห็นพ่อแม่พี่น้องหรือญาติเราทำสิ่งไม่ดีหรือหลงทางผิดเราก็ต้องเป็นกังวลและหาทางคอยตักเตือนช่วยเหลือให้สติพวกเขาใช่มั๊ยล่ะครับ

การคิดเช่นนี้จะทำให้เราเกิดความรักเกิดความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กับบุคคลต่างๆ เมื่อเห็นคนทำดีหรือไม่ดี เราก็จะมีมุมมองที่ถูกต้องที่ให้กำลังใจ ปลอบโยน แก้ไข และช่วยเหลือ ทั้งคนที่ทำดีหรือไม่ดีเหล่านั้น ด้วยจิตที่เมตตา และก็ยินดีเมื่อคนที่ทำดีอยู่แล้วดียิ่งๆขึ้นไป ส่วนคนที่ทำไม่ดีก็กลับตัวกลับใจมาทำสิ่งที่ดี เหมือนสายตาของพ่อแม่ที่มองดูลูกๆ ฯลฯ

เห็นคนอื่นได้ดีเราก็ยินดีด้วยน่ะครับ คนอื่นได้ดีก็เหมือนเราได้ดีไปด้วย คนเราต้องมีความเสียสละครับ อะไรที่ให้คนอื่นได้ก่อน อะไรที่ทำให้คนอื่นได้ดีแม้เราจะเสียเปรียบไปบ้าง นั่นก็คือคุณธรรม ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และความเสียสละครับ ในจูฬกัมมวิภังคสูตร ก็กล่าวถึงโทษของความอิจฉาริษยาเอาไว้ว่า จะทำให้เราเป็นคนไม่มีเดชมีศักดาน้อยน่ะครับ สังเกตได้ว่าบุคคลที่ยินดีกับความดีของผู้อื่นมักจะมีความน่าเกรงขาม มีอำนาจอยู่ในตนเอง ไม่ใช่อิทธิพลทางภายนอก แต่เป็นอำนาจทางกุศลที่แผ่ออกมาจากใจที่ทำให้บุคคลอื่นๆเมื่อได้สัมผัสแล้วเกิดความอ่อนโยน คล้อยตามและรู้สึกปลอดภัยรวมถึงไว้เนื้อเชื่อใจ มีความเกรงใจและเคารพอยู่ในที กระแสธรรมเหล่านี้ก็เป็นอานิสงส์จากการมี มุทิตาจิต หรือการยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีอยู่อย่างสม่ำเสมอนั่นเองครับ

เจริญในธรรมครับ




 4,085 

  แสดงความคิดเห็น


RELATED STORIES




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย