"ผู้มีปัญญา" ท่าน "รักษาศีล" อย่างไร ?

 มิตรตัวน้อย    

  “ศีล”   คือ ความเป็นปกติ ความปกติกาย ปกติวาจา ปกติใจ โดยทั่วไปมักจะอธิบายกันแค่ ความปกติกาย ปกติวาจา แต่ก็ควรจะถึงใจด้วย หากเทียบกับกรรมบถ คือ ท่านก็แบ่งออกเป็น กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ทั้งฝ่ายอกุศลและทั้งฝ่ายกุศล

ศีล ๕ ข้อนั้น ศีลข้อ ๑,๒,๓ และข้อ ๕ ท่านเรียกปกติกาย คือการไม่ประพฤติผิดทางกาย ศีลข้อ ๔ ท่านเรียก ปกติวาจา คือการไม่ประพฤติผิดทางวาจา

ในกรรมบถ ๑๐ ท่านแยกศีลข้อ ๔ ออกได้เป็นสี่ข้อโดยละเอียด คือ

 - มุสาวาท  เว้นจากการพูดเท็จ ผิดไปจากความเป็นจริง
 - ผรุสวาจา  เว้นจากการพูดคำหยาบ ให้เขาสะเทือนใจ เจ็บช้ำน้ำใจ
 - ปิสุณวาท  เว้นจากการพูดส่อเสียด ให้เขาแตกสามัคคีกัน
 - สัมผัปลาปะวาท  เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ เหลวไหล ยกตนเอง ข่มคนอื่น

ข้อมุสาวาท ข้อนี้จะว่ายากก็ยาก สำหรับผู้ที่ไม่สำรวมวาจา
แต่ท่านให้พิจารณาอย่างนี้ว่า

“ความจริงวาจาที่เป็นมุสาวาทนี้  ต้องมีเจตนาทำลายประโยชน์เป็นสำคัญ  ถ้าการกล่าววาจาที่ไม่ตรงความจริงนั้น  เพื่อเป็นการรักษาประโชน์  องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวว่า ไม่มีโทษตามนี้ : โดยพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อ ฤาษีลิงดำ)”

ในกรรมบถ ๑๐ นี้ ท่านแยกเป็น
ข้อ ๑-๗ ท่านเรียก  ศีล  (กายกรรม วจีกรรม)
ข้อ ๘-๑๐ ท่านเรียก  ธรรม  (มโนกรรม)

การรักษาศีลของสามท่าน คือ
- ปุถุชนคนธรรมดา
- ปิยะชนผู้มีปัญญา
- พระโพธิสัตว์

ต่างกันอย่างไร ?

 - ปุถุชนคนธรรมดา  อย่างเราๆ ท่านๆ การรักษาศีลของนั้น จะทำตามกันมาเป็นประเพณีบ้าง ตามตำรา ตามคัมภีร์บ้าง ครูบาอาจารย์บ้าง โดยมากจะยึดตามครูบาอาจารย์ ไม่ใช้ปัญญานำหน้า ส่วนใหญ่จะเอากิเลสนำ วันไหนแพ้กิเลสก็ขึ้นต้นใหม่ ขอศีลใหม่เป็นประจำ ลักษณะดังกล่าวเรียกว่า  “ลูบคลำศีล” (สีลตปรามาส) 

บางท่านหัวหมอ เมื่อทำไม่ได้ รักษาศีลไม่เป็น  “ก็จับผิดศีล หาจุดอ่อนของศีล เพื่อแสดงให้คนอื่นเห็นว่าตนไม่ผิดศีล”  เมื่อทำบ่อยๆ จับผิดบ่อยๆ คิดหาจุดอ่อนบ่อยๆ ก็เกิดความหลงผิดว่า จริงดังที่ตนคิด ตนนึก นำเอาศีลข้อนั้นมาประกาศให้คนอื่นรู้ ให้คนอื่นทราบ  “ศีลข้อนี้ ทำอย่างนี้ (อย่างที่ตนทำ) ไม่ผิดศีลข้อนั้น ทำอย่างนั้นไม่ผิด”  เป็นต้น

 - ปิยะชนผู้มีปัญญา  ท่านจะใช้ปัญญานำหน้า เอามาศึกษาศีลให้เข้าใจเสียก่อนว่า ศีลข้อนี้รักษาอย่างไร อย่างไรคือศีลขาด ศีลเป็นช่อง ศีลด่างพร้อย เมื่อเข้าใจแล้วการรักษาศีลก็ง่าย  “ไม่ลูบคลำศีล”  

อย่างศีลข้อที่ ๑ ปาณาติบาตินั้น
- ฆ่าสัตว์ตั้งต้นแต่มีอกุศลเจตนาที่จะฆ่า แล้วก็ทำการฆ่า แล้วสัตว์นั้นตายด้วยอกุศลเจตนานั้น แปลว่าครบองค์  เรียกว่าศีลขาด  
- หากสัตว์นั้นไม่ตาย  เรียกว่าศีลเป็นช่อง 
- หากคิดงุ่นง่านอยู่ในใจ  เรียกว่าศีลด่างศีลพร้อย  
- ไม่ถึงคิดว่าจะฆ่า แต่จิตเดือดร้อนคิดที่จะทำร้าย  เรียกว่าไม่บริสุทธิ์ 
อย่างนี้ ท่านผู้มีปัญญา ท่านไม่ทำ แม้แต่ “ใจ” ท่านก็ไม่คิดเบียดเบียน

มีหลายท่านกล่าวว่า รักษาศีล   “รักษาที่ใจ”  ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ คำพูดประโยคนี้เป็นของ  “พระอริยะ”  เพราะศีลของพระอริยเจ้า  "เป็นไปโดยอัตโนมัติ (สมุจเฉทวิรัติ )"  พวกเราทั้งหลาย จำกันได้ พูดกันได้ ซึ่งก็ไม่มีผลอะไร กิเลสมีเท่าไรก็มีอยู่เท่าเดิม

 - พระโพธิสัตว์  เพื่อพระโพธิญาณ การรักษาศีลของพระโพธิสัตว์ ท่านเรียก   “การบำเพ็ญบารมี”   การบำเพ็ญบารมีอันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณเหล่านี้ จัดแบ่งเป็น บารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ ปรมัตถบารมี ๑๐ เรียก   “บารมี ๓๐ ทัศ” 

ศีลก็เช่นกัน
สีลบารมีนี้ยังแบ่งออกไปเป็น ๓ ชั้น คือ

 - สีลบารมี  ได้แก่ ศีลที่บำเพ็ญ   “ด้วยรักศีลยิ่งกว่าบุคคลที่รักทรัพย์สิน” 
ดังภาษิตว่า “ผู้รักษาศีลพึงรักศีล เคารพในศีล เหมือนนกต้อยตีวิดรักษาไข่
เหมือนจามรีรักษาขนหางเหมือนมารดารักษาลูกที่รัก
หรือเหมือนคนตาบอดข้างหนึ่งรักษานัยต์ตาอีกข้างหนึ่งที่เหลืออยู่”

 - สีลอุปบารมี  ได้แก่ ศีลที่บำเพ็ญ  “ด้วยรักศีลยิ่งกว่าอวัยวะร่างกายของตน”   ดังคำของจัมเปยยกนาคว่า “ร่างกายของเราจงแตกกระจัดกระจายอยู่ในที่นี้
เหมือนแกลบที่เขาโปรยกระจัดกระจายอยู่ก็ตามที เราจะไม่ทำลายศีล”

 - สีลปรมัตถบารมี  ได้แก่  ศีลที่บำพ็ญ “ด้วยรักศีลยิ่งกว่าชีวืตของตน”  
ดังคำของภูริทัตว่า “ความสละชีวิตของตนเบายิ่งกว่าหญ้าในเรา ความละเมิดศีลสำหรับเราเหมือนพลิกแผ่นดิน” และดังภาษิตว่า “นรชนพึงสละทรัพย์เพราะเหตุแห่งอวัยวะเมื่อจะรักษาชีวิตพึงสละอวัยวะ
เมื่อระลึกถึงธรรม พึงสละทุกอย่างทั้งอวัยวะ ทรัพย์ และแม้ชีวิต”

พระโพธิสัตว์และท่านผู้ทรงปัญญา ท่านจึงรักษาศีลอย่างยิ่งยวดเอาชีวิตเข้าแลก เพียงเพราะไม่ให้ศีลเศร้าหมอง ศีลด่างพร้อยหรือศีลไม่บริสุทธิ์   “แต่ปุถุชนผู้มีปัญญา (น้อย) นั้น หาเหตุเพื่อละเมิดศีลได้ทุกเรื่อง ทุกโอกาส”  

ดังนี้ การรักษาศีลของแต่ละท่านแต่ละบุคคลจึงแตกต่างกันไปตามปัญญา ความรู้ ความสามารถและวัตถุประสงค์เป็นสำคัญ

ศีลนั้น ท่านว่าเป็นเลิศในโลก   “ท่านผู้มีปัญญา (มาก)จึงสามารถรักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์อยู่ได้”   ฉะนี้แล....


เจริญธรรม

   




อนุโมทนา สาธุ


• หลักวินิจฉัยศีลข้อที่ ๒

• แสดงอิทธานุภาพสยบคณาจารย์ใหญ่นักบวชชฏิล

• นาฏมวยไทย ประเพณีไทย

• สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร (2331 - 2415)

• "ยึดแล้วเอามาเผาใจ" (หลวงปู่ขาว อนาลโย)

• บรรยายธรรมแก่นักเรียน สอนนั่งสมาธิ โดย #พระอาจารย์ต้น #ธรรมนาวา #dhammanava ๒๒/๐๗/๒๕๖๕

RELATED STORIES




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย