ตอนที่ ๒ เชิญอ่านต่อนะครับ
ตอนหลังอาตมาก็คิดว่าคนส่วนมาก ก็เหมือนกับเด็กชาวเขาในอินเดีย ฉันก็เป็นอย่างนี้
แหละ เป็นตั้งแต่ไหนแต่ไรมา นี่ก็คือปกติของฉัน ปกติของฉันเป็นอย่างนี้ แต่ก็ไม่รู้จักสบู่
ของพระพุทธเจ้า ถูสบู่ของพระพุทธเจ้ามันสวย มันสะอาดกว่านี้เยอะเลย สิ่งที่เราถือว่ามัน
ปกติ จริงๆมันไม่ปกติ แต่เราไม่มีเครื่องเปรียบเทียบ ดังนั้นการปฏิบัติธรรมในทางพระพุทธ
ศาสนา ก็เพื่อจะรู้ เพื่อจะเห็นความจริงของชีวิต ไม่ใช่เรื่องจะยัดเยียดคำสอน บังคับให้
เชื่อ ถึงจะบังคับก็แค่บังคับให้ลอง บังคับให้ดู บังคับให้สนใจศึกษาความจริง ตอนนั้น
อาตมาบวช ครอบครัวของอาตมา ไม่ค่อยสนใจเรื่องศาสนาเท่าไหร่ ก็มีคนหนึ่งเป็นน้า รู้
ว่าอาตมาจะออกบวช พูดว่าไม่เคยรู้ว่าหลานสนใจเรื่องศาสนา อาตมาบอก ฉันก็ไม่เคยรู้
เหมือนกัน คืออาตมาไม่เคยสนใจเรื่องศาสนา เห็นว่า หนึ่ง ไม่จำเป็น แล้วก็ สอง ฟังแล้วก็
รู้สึกเรื่องราวพิลึกๆ ไม่มีเหตุผล อาตมาคิดว่าสิ่งที่ต้องการ สิ่งที่แสวงหาในชีวิต คงไม่ได้
ด้วยคัมภีร์ใดคัมภีร์หนึ่ง พอมาเจอพระพุทธศาสนา แทนที่จะมีความรู้สึกว่าพิลึกและไม่จำ
เป็น กลับรู้สึกว่าจำเป็นจะต้องลอง จะต้องปฏิบัติ
เรื่องของพระพุทธศาสนาอยู่ที่การกระทำ ไม่ได้อยู่ที่ความชั่ว จึงเป็นศาสนาสากล สากล
ถือว่าใครจะละบาปบำเพ็ญกุศล ทำความดีความงามให้เกิดขึ้น ไม่ว่านับถือศาสนา ไม่ว่า
เชื่ออะไรก็ตาม ก็สามารถไปที่ดี สามารถเข้าถึงความสุขที่แท้จริงได้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า
เป็นพุทธ กับเชื่อในคัมภีร์ของพุทธ มันอยู่ที่การกระทำ เป็นศาสนาแห่งการกระทำ ดังนั้น
การประพฤติปฏิบัติของเรา จึงเริ่มต้นด้วยความเชื่อเหมือนกัน แต่ไม่ได้เชื่อสิ่งนอกตัว เชื่อ
ว่าตัวเองสามารถลดความทุกข์ในชีวิตของตนได้ สามารถเพิ่มความสุขในชีวิตได้ เพราะ
ความทุกข์และความสุข ไม่ใช่การให้รางวัล หรือการลงโทษจากเทพใดเทพหนึ่ง ไม่ใช่ว่า
ชีวิตของเราไปตามดวง ไปตามชะตากรรม มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย และคนเรา
สามารถมีศักยภาพพอ ที่จะลดสิ่งที่ทำให้จิตใจเราทุกข์เดือดร้อนได้ สามารถสร้างสิ่งที่นำ
ไปสู่ความสุขได้ ถ้าเราเชื่ออะไรให้เชื่อในความสามารถของตัวเอง ถ้าเชื่อแล้วก็ต้องลอง
ทำดู เราไม่ได้เริ่มต้นด้วยปรัชญา หรืออุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่ง แต่เราเรียนรู้จากการ
สังเกตชีวิตจริงของเรา
อย่างเช่นเรื่องง่ายๆ เรื่องความทุกข์ ความสุข น่าจะเห็นได้ว่าทุกข์กาย ทุกข์ใจต่างกัน ต่าง
กันตรงไหน สมมุตว่ามีใครมาตบหน้าเรา ตบหน้าแล้วเจ็บตรงไหน เจ็บที่หน้า ผู้ชายก็เจ็บ
ผู้หญิงก็เจ็บ คนไทยก็เจ็บ คนอังกฤษก็เจ็บ ปุถุชนก็เจ็บ พระอรหันต์ก็เจ็บ เหมือนกันหมด
เพราะธรรมชาติของร่างกาย ของคนเป็นเช่นนั้นเอง อันนี้เรื่องทุกข์กาย
แต่เรื่องทุกข์ใจไม่เหมือนกัน สมมุติว่าเราถูกด่า แล้วมีคนมาดูถูกดูหมิ่น บางคนอาจจะทุกข์
มาก บางคนอาจจะทุกข์น้อย บางคนอาจจะไม่ทุกข์เลย มันมีความแตกต่างกันใช่ไหม
ปุถุชนอาจจะทุกข์มาก พระอริยะเจ้าไม่ทุกข์เลย มีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่เป็นตัวกำหนดว่า
ทุกข์หรือไม่ทุกข์ อย่างเช่นคนที่ดูถูกเรา เป็นคนที่เราเคารพนับถือไหม เป็นคนที่พูดอะไรมี
น้ำหนักกับชีวิตเราหรือเปล่า เพราะฉะนั้นเมื่อเราได้ศึกษาในเรื่องความทุกข์ที่เกิดขึ้นในจิต
ใจของเราเองว่า เรื่องหนึ่งอาจจะทำให้เราทุกข์มากในเวลาหนึ่ง อีกเวลาหนึ่งอาจจะไม่
ทุกข์เลย เช้านี้บางทีอารมณ์หงุดหงิด รำคาญอยู่แล้ว ใครพูดอะไรทำอะไรก็พร้อมที่จะเป็น
ทุกข์มาก อีกเวลาหนึ่ง จิตใจของเราปกติ เมื่อมีการกระทบบางอย่างก็ไม่ค่อยกระเทือน
เฉยๆ อันนี้จากการสังเกตเรื่องง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน ก็นำไปสู่ผลสรุปว่า จิตใจเราจะเป็น
ทุกข์ไม่ใช่เพราะสิ่งนอกตัว สิ่งนอกตัวนั้นก็เป็นแค่ปัจจัย แต่ตัวเหตุนั้นอยู่ที่เรา มันต้องมี
ส่วนหนึ่งมาจากเรา จึงจะสำเร็จเป็นทุกข์ได้ ถ้าเราชอบพูดว่าคนนั้นเขาทำให้ฉันเสียใจ
มาก ทำให้ฉันผิดหวัง ทำให้ฉันโกรธ นี้เป็นการใช้ภาษาอย่างสะเพร่า ไม่ตรงตามความเป็น
จริง มันเป็นไปไม่ได้ที่ใครจะทำให้เราเป็นทุกข์ ถ้าหากว่าไม่มีสิ่งภายในจิตใจของเราผสม
โรง อันที่จริงแล้วจิตใจของเรามันมีส่วน มีบทบาทมากกว่าสิ่งที่มาจากข้างนอกด้วยซ้ำ
ไป เราอาจจะเปรียบเทียบเหมือนกับว่า สิ่งนอกตัวเรานี่เป็นห่วง ไม่ใช่ว่าตัวเราเป็นห่วง จิต
ใจของเรานี่เป็นตะขอ คราวนี้เรามาเจอห่วง ห่วงใหญ่ แต่ห่วงก็เป็นแค่ห่วง ห่วงไม่มีความ
หมายถ้าไม่มีตะขอ มาชัก มาเกี่ยว ถ้าเราตัดตัวตะขอออกจากจิตใจ เราเจออะไรก็เป็นแค่
เจอห่วงเฉยๆ ไม่มีความหมาย พระอริยะเจ้าเป็นผู้จิตใจไม่มีตะขอ คำพูดคนเขาทำให้เรา
โกรธไหม ไม่นะ คำพูดเขาเป็นห่วงเฉยๆ ถ้าจิตใจเราไม่มีตะขอ ก็สักแต่ว่าคำพูดเฉยๆ แค่
นั้นเอง ตรงนี้ที่เราจะเห็นความสุขเกิดขึ้นอย่างมาก เพราะเราเปลี่ยนความคิดเสียใหม่
ทุกวันนี้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่กดดันมาก ทำให้เราเครียด ทำให้เราวุ่นวาย ทำให้เรานั้น....
เหมือนกับดูถูกตัวเอง ดูถูกตัวเองว่าเราเป็นเหยื่อ อะไรเป็นยังไงเราก็เป็นอย่างนั้น มันเป็น
การไม่ให้เกียรติกับตัวเอง แล้วมันเป็นการมองข้ามความจริงว่า สิ่งเหล่านั้นมันไม่ได้ทำให้
เราเครียด ไม่ได้ทำให้เรากังวล ไม่ได้ทำให้เราหวาดระแวง ไม่ได้ทำให้เราซึมเศร้า อย่าง
มากสิ่งเหล่านั้นก็แค่ชวนให้เครียด ชวนให้กังวล ชวนนั่นชวนนี่ แต่เรามีศักยภาพ มีสติที่จะ
ไม่รับการชวนเชิญนั้นได้ สิ่งนั้นก็เป็นแค่ห่วงที่แขวนไว้ต่อหน้าเรา แต่เราไม่ต้องไปชักไว้
ไม่ไปเกี่ยวไว้ก็ได้ มันอยู่ที่เรา ทีนี้เราจะเห็นว่า ความเป็นอิสระของเราเป็นสิ่งที่ไม่เหลือ
วิสัย เป็นสิ่งที่เป็นได้ เราจะมีความรู้สึก ท้าทายคำพูดและการกระทำของคนอื่น สิ่งแวด
ล้อมเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ท้าทายให้เราเป็นทุกข์ ทำอย่างไรเราจะไม่เป็นทุกข์กับมัน
แต่พอเรามาดูจิตใจอย่างละเอียดหน่อย เราจะปรับความคิดปรับความเห็นหลายประการ
ภาษาธรรมะว่า ทำทิฐิให้ตรง ทำทิฐิให้ตรงไม่ใช่บังคับให้เชื่อ แต่มันเป็นการปรับความคิด
ปรับความเข้าใจ ปรับค่านิยม ปรับความเข้าใจในสิ่งที่ควร ไม่ควร ตามข้อมูลที่เรารับรู้อยู่
ในเวลานั้น
อาตมาจึงชอบบอกว่าปัจจุบันขณะเป็นห้องเรียน การอยู่กับปัจจุบันไม่ใช่เป้าหมาย แต่เป็น
เงื่อนไข เป็นเหตุให้เราเรียนรู้เรื่องทุกข์ เรื่องสุขอย่างเป็นประสบการณ์ตรง ในเมื่อเรา
สามารถอยู่ในปัจจุบัน อยู่ในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง เราก็เรียนรู้ นี่ทุกข์นะ นี่สุข ถ้าทำอย่าง
นี้ พูดอย่างนี้ คิดอย่างนี้ ความสุขก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ถ้าคิดอย่างนี้ตั้งอย่างนี้ ความทุกข์ก็เกิด
ขึ้น หรือความทุกข์ดับไป เกิดความสุข ฯลฯ เราจะฉลาด ฉลาดในวิถีจิต ฉลาดในการรู้จัก
ว่าสิ่งไหนควรจะอดทน สิ่งไหนควรจะปล่อยวาง มันไม่มีสูตรตายตัวที่เราจะท่องได้ แต่จิต
ใจที่สามารถอยู่ในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง จะมีความยืดหยุ่น พร้อมที่จะทำ จะพูด จะคิดใน
สิ่งที่เหมาะสม สิ่งที่สมควร
จิตใจเรามันมีอำนาจมาก เพราะสิ่งหนึ่งที่จิตใจทำ เพื่อเป็นการสร้างกรอบของข้อมูลที่เรา
รับมาจาก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ต่างๆ เราสร้างกรอบไว้อยู่ตลอดเวลา ถ้าเรารู้เท่าทัน
กรอบของตนแล้ว เปลี่ยนกรอบเสียใหม่ ก็สามารถพลิกความรู้สึกได้ ถ้าเราพลิกไม่ได้ ก็จะ
เป็นเหยื่อของสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ระวัง กิเลสมะรุมมะตุ้มเข้ามาครอบงำจิตใจ ไม่มีทางออก
แล้วก็รู้สึกเหมือนกับสิ้นหวัง สิ้นหวังก็ขาดสตินั่นเอง กรอบคืออะไร เป็นอย่างไร หลวงพ่อ
ชาท่านเคย เปรียบเทียบอุปมาอย่างนี้ สมมุติว่าเราเดินตามถนน สวนทางกับคนๆ หนึ่ง เขา
เห็นหน้าแล้วก็ด่า ใช้ภาษาหยาบคายเหลือเกิน ด่าๆ เราก็รู้สึกทุกข์ใจ สะเทือนใจ แล้วมี
เพื่อนคนหนึ่งบอกว่า อย่าไปถือสาเลย คนนั้นเป็นโรคจิต พอเรารู้ว่าคนนั้นเป็นโรคจิตแล้ว
ความรู้สึกหายไปหลายสิบเปอร์เซ็นต์ เกือบจะไม่มีเหลือ ทั้งๆ ที่เขากำลังด่าอยู่ กำลัง
แสดงอาการเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่ความหมายที่เราให้กับสิ่งนั้น กรอบ
ความหมายที่เราสร้างไว้ เข้าใจสิ่งนั้นเปลี่ยนไป สิ่งนั้นก็เลยหมดฤทธิ์ ทำให้จิตใจของเรา
ปกติได้ นี่ก็เป็นตัวอย่างง่ายๆชัดๆในชีวิตประจำวัน
ศิลปะอย่างหนึ่งต้องการจะรู้เท่าทันว่า เรากำลังสร้าง กำลังมองเรื่องผ่านกรอบอะไรบ้าง
พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ทุกข์เพราะปรารถนาใช่ไหม ฉะนั้นเราจำคำนี้ไว้ ทุกครั้งที่จิตใจ
เราเริ่มเป็นทุกข์ ให้รู้ว่าถ้าไม่มีตัณหาเป็นตะขออยู่ในใจ ความทุกข์เกิดขึ้นไม่ได้ หลังจาก
นั้นนำไปสู่การดู การสืบสาวหาตัวตัณหาในขณะนั้น ซึ่งเป็นตัววาดกรอบให้เรามีความ
อยากได้ อยากมี อยากเป็น ไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ต้องมีข้อใดข้อหนึ่งอยู่ใน
ขณะนั้น จึงเป็นทุกข์ได้
เรามักจะเป็นทุกข์กับใครมากที่สุด ทุกข์กับคนรอบข้าง เพราะว่าอะไร เพราะการกระทำของ
เขามีความหมาย แล้วเรามีความคาดหวัง กรอบที่เรามอง ภายในใจที่เราปราถนาจากคน
รอบข้าง เราควรจะ เขาน่าจะ สามีของเราน่าจะ เมียของเราก็น่าจะ ลูกของเราก็ควรจะ ลูก
ของเราก็ไม่ควรจะ นี่คือกรอบ ที่เราจะแปลความหมายของสิ่งที่เขาทำ ของสิ่งที่เขาพูด นี้
คือตัวตัณหา คือไม่ใช่ว่าทุกข์เพราะเขาพูดอย่างนั้น ทุกข์เพราะไม่อยากให้เขาพูดอย่าง
นั้น ทุกข์เพราะอยากให้เขาทำอย่างอื่น ไม่อยากให้เขาทำอย่างนี้ นี้คือตะขอ นี้คือเหตุให้
เกิดทุกข์ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นนักปฏิบัติแล้ว แล้วต้องเป็นคนทำใจ บางคนก็เข้า
ใจผิดอย่างนั้น
มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งมีงูไปฟังเทศน์พระ งูก็คงเข้าใจภาษาคน พูดก็พูดไปบ้างแบบงูๆ
ปลาๆ ฟังพระท่านเทศน์เรื่องศีล เรื่องการไม่เบียดเบียน ก็เกิดความเข้าใจ เกิดความ
ศรัทธา ไปกราบพระ บอกว่าต่อจากนี้ไปข้าพเจ้าจะไม่ฉกใคร จะไม่กัดใคร ข้าพเจ้าจะ
เมตตาคน พระก็อนุโมทนาสาธุ และหลังจากนั้นงูตัวนั้นก็พยายามสำรวม พยายามไม่ฉก
ใคร เด็กๆ ในหมู่บ้านทราบว่างูอสรพิษตัวนี้ไม่กัดใครแล้ว ก็เลยชอบไปเล่น ไปรังแก ไปจับ
เหวี่ยงๆ ไปทรมานงูมาก งูก็อดทน พยายามแผ่เมตตาให้คนที่ทำอย่างนั้น วันหนึ่งพระ
ธุดงค์กลับมาที่ป่าช้าแห่งนั้นอีกครั้งหนึ่ง ไปเยี่ยมงู ซึ่งเป็นลูกศิษย์ ไงเจ้างู โอ๊ย ผมแย่
ครับ ผมมีศรัทธา ผมพยายามไม่กัดใคร ไม่ทำร้ายใคร แต่พวกเด็กในหมู่บ้านเขามาทำร้าย
ผมอยู่เรื่อย พระธุดงค์บอกงูเข้าใจผิดนะ อาตมาห้ามไม่ให้ฉก ไม่ให้กัด แต่เรื่องขู่ฟ่อไม่
ห้ามนะ ฟ่อได้ คนเราเป็นคนที่ไม่กัดใคร ไม่เบียดเบียนใคร แต่บางครั้งฟ่อได้ ไม่ใช่ว่า
ปล่อยให้เขาเอารัดเอาเปรียบ อย่างนั้นก็ไม่ถูกนะ บางทีปล่อยให้เขาเอารัดเอาเปรียบเรา
แล้ว เราก็บาปด้วย บาปเพราะอะไร ก็เราส่งเสริมให้เขาทำไม่ดี
ตอน ๓ ตอนสุดท้ายครับ
เราพยายามอยู่ในปัจจุบันเพื่อเรียนรู้ เรียนรู้อะไร เรียนรู้ว่าความทุกข์เกิดยังไง ดับยังไง
ความสุขเกิดยังไง ความสุขดับยังไง แล้วจะรู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรื่องที่อ่าน
หนังสือ อ่านปรัชญาไม่ค่อยเข้าใจ โอ้..มันไม่ใช่เรื่องยาก เรื่องแค่นี้เอง เรื่องการย่อย
อาหาร ถ้าเราดูตำราหมอ เรื่องย่อยอาหาร โอ้โห..หลายสิบหน้า อ่านยาก เข้าใจยาก แต่
ทำไมเราย่อยอาหารได้ทุกวัน ถ้าต้องอ่านหนังสือก่อนนี่ลำบากนะ โชคดีไม่ต้องอ่าน
เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าคนเราสนใจ อยู่ในปัจจุบัน เราก็จะป้องกันความทุกข์ได้ ก็
ส่งเสริมความสุขที่ดีงามได้ บางคนนี่กลัวความสุขก็มีนะ นั่งสมาธิกลัว กลัวจะติดสุข สุข
ทางโลกนี่ไม่กลัวเลย แต่พอนั่งสมาธิกลัวติดสุขไม่ค่อยสงบเท่าไหร่ คือความสุขในสมาธิ
เป็นทางผ่าน ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นมาก แต่อย่าปฏิเสธเดี๋ยวจะไปไม่ถึงหัวลำโพง จะไป
อยุธยา แต่ไปไม่ถึงหัวลำโพงได้ไง มันเป็นทางผ่าน ก็ต้องผ่าน ถ้าเรามีสัมมาทิฐิ สุขก็รู้ว่า
สุข เป็นส่วนหนึ่งเป็นประสบการณ์หนึ่งในระหว่างการเดินทาง รู้และเข้าใจขอบเขตของมัน
ที่สำคัญก็คือผู้ที่ได้ความสุขภายในแล้ว จะเป็นผู้ที่ไม่ดิ้นรนวุ่นวาย ในการที่จะแสวงหา
ความสุขนอกตัว คนที่ละอบายมุขไม่ได้ เพราะกลัวจะไม่มีอะไร เราจะละในสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็
ต้องมีสิ่งที่ดีกว่าทดแทน ผู้ที่ไม่มีความสุขภายใน ไม่สงบแล้วจะเลิก จะละ ในสิ่งเหลว
ไหล สิ่งไร้ค่านอกตัวได้ยาก การพัฒนาชีวิตไปสู่ความสุขที่แท้จริง เราก็ต้องการความสุขที่
เป็นกุศลเสียก่อน ความสุขที่เป็นกุศลนั้นมันจะนำไปสู่ความสุขที่สูงกว่า ระหว่างการเดิน
ทางก็เรียนรู้
ครูบาอาจารย์สอนให้เรามองทุกสิ่งทุกอย่างว่ามันไม่แน่นอน ชอบก็ไม่แน่ ไม่ชอบก็ไม่แน่
รักก็ไม่แน่ ชังก็ไม่แน่ สุขก็ไม่แน่ ทุกข์ก็ไม่แน่ ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ไม่ปฏิเสธอะไรง่ายๆ เรียน
รู้คอยดูไปๆ เรียนรู้อย่างใจเย็น เราชอบด่วนสรุป ครั้งหนึ่งมีพระธุดงค์รูปหนึ่งต้องการเจริญ
เมตตาภาวนา ได้ข่าวหลวงปู่องค์หนึ่งอยู่ในวัดในที่อัตคัดกันดารอยู่ในที่ห่างไกลความ
เจริญ ไปยาก ท่านใจสู้ท่านเดินธุดงค์ไปใช้เวลาหลายวันเหลือเกิน สุดท้ายท่านก็ถึงวัด
เดินเข้าไปในเขตวัด ลูกวัดออกไปรับ พาไปที่กุฏิให้พักผ่อนให้เก็บบริขารเสร็จแล้ว บอกว่า
จะนิมนต์ไปกราบคุณปู่ พระท่านขึ้นบนกุฏิเปิดหน้าต่าง มองออกไปข้างล่าง ก็เห็นคุณปู่พอ
ดี คุณปู่อยู่ชายป่า โอ้..นี่คือหลวงปู่ผู้มีเมตตาธรรม รู้สึกซาบซึ้ง เลื่อมใส พอดีมีกวางตัว
หนึ่งออกมาจากป่า หน้าตาของหลวงปู่ผู้เต็มอิ่มด้วยเมตตาธรรมเปลี่ยน ท่านยกไม้เท้า
ของท่านไปตีกวางอย่างหนักเลย กวางก็วิ่งหนีเข้าป่า พระเห็นแล้วหมดศรัทธาเลย โอ๊ย..
ถูกหลอก เดินทางมาลำบากลำบนแทบตาย ได้ข่าวว่าหลวงปู่องค์นี้มีเมตตา เราจะได้เจริญ
เมตตาภาวนา ไม่เอาแล้ว เก็บบริขารออกจากวัดเลย ไปที่ไหนท่านก็บอก อย่าไปเชื่อเลย
พระองค์นั้นที่บอกมีเมตตานะ ไม่ใช่หรอก ผมไปเอง ผมไม่ได้นินทาท่านนะ ไม่ใช่ฟังเขา
มา เห็นกับตาตัวเอง เห็นชัดๆ เลยนะ ท่านทรมานสัตว์ ท่านตีสัตว์ ผมเห็นแล้วตกใจ ไป
ไหนก็พูดอย่างนั้น ที่วัดหลวงปู่ก็ถามว่าพระธุดงค์องค์นั้นอยู่ไหน ไหนว่าจะมากราบ หรือ
ไปแล้ว หลวงปู่รู้แล้วเห็นพระองค์หนึ่งมองจากข้างบน น่ากลัวเข้าใจผิดมั้ง ท่านก็ยิ้ม คือ
อย่างนี้ท่านก็เล่าให้ลูกวัดฟังว่าทุกวันนี้พระเรานะชอบทิ้งเศษอาหารที่ชายป่า กวางก็ชอบ
มากิน กวางมากินแล้ว เริ่มจะคุ้นเคยกับคน ก็เข้าไปแถวหมู่บ้าน ถูกชาวบ้านยิงตายมา
หลายตัวแล้ว เข้าหม้อชาวบ้านไม่รู้กี่ตัวแล้ว ก็มีวิธีแก้วิธีเดียวต้องทำให้กวางกลัวคน หลวง
ปู่ต้องตีๆ ให้กลัวคน จะได้ปลอดภัยจากความโหดร้ายของคน เห็นไหม นี่คือเมตตาของ
หลวงปู่ เมตตาที่ประกอบด้วยปัญญา มองภาพใหญ่ ภาพรวม คือในกระบวนการที่จะทำสิ่ง
ที่เป็นประโยชน์กับคนอื่น ที่จะช่วยคนอื่น สงสารคนอื่น ในบางช่วงอาจจะทำในสิ่งที่คนอื่น
เขามอง ไม่น่าทำเลย แต่ทำด้วยเมตตาเหมือนกัน อันนี้ก็คือข้อคิดข้อหนึ่ง ข้อคิดข้อที่
สองคือพระธุดงค์ท่านเห็นกับตาใช่ไหม ไม่ใช่ว่าฟังจากคนอื่น แต่ตาเรานี่มันเชื่อไม่ค่อย
ได้เหมือนกัน เพราะถ้าเป็นกิจกรรมที่ใช้เวลานาน เห็นเป็นช่วงหนึ่ง วาระหนึ่งแล้วสรุปจาก
ประสบการณ์ตรงของเราแล้วไม่ถูกก็ได้ มันไม่แน่นอน
เรื่องการปฏิบัติจึงขอให้เราได้ดูกาย ดูใจ เรียนรู้จากประสบการณ์ เวลาทุกข์อย่าไปเลี่ยงหนี
ความทุกข์ทันที โดยเฉพาะทุกข์ทางใจ เพราะทุกข์ทางใจกำลังบอก กำลังสอนเราว่าคิด
ผิดแล้ว ตัณหาเกิดขึ้นแล้ว ตะขอกำลังจะชักห่วงแล้ว มาดูตรงจุดนั้น เราไม่ได้แก้ที่ทุกข์
ละทุกข์ไม่ได้ ทุกข์เราก็กำหนดรู้ สมุทัยสิ่งที่อยู่เบื้องหลังเป็นสิ่งที่เราต้องละ แต่ต้องอยู่กับ
ทุกข์ก่อน ต้องเรียนรู้ ต้องไม่กลัวทุกข์ มันจึงจะได้รู้ว่าทุกข์มันเกิดอย่างไร เราจะได้แก้มัน
ถูก วันนี้ทุกข์เหลือเกิน ทุกข์ๆ บางคนเช่นคนที่เป็นโรคซึมเศร้า จริงเหรอ ทุกลมหายใจ
ไหม เวลากินข้าว ทุกข์ทุกคำที่กินไหม คนที่บอกว่าทุกข์ๆ หลายวันแล้ว หลายเดือนแล้ว
มองไม่ละเอียดไม่ถี่ถ้วนเท่าที่ควร ส่วนที่มีทุกข์ก็มี ไม่ทุกข์ก็มี เราก็พยายามลดส่วนที่เป็น
ทุกข์ เพิ่มส่วนที่เป็นสุข แต่ถ้าจิตใจของเราชอบคิดปรุงแต่งมันจะยาก ทุกข์ปัจจุบันก็มีอยู่
แล้ว ถ้าเผื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้นแล้วจะแย่มาก แล้วสิ่งนั้นทุกข์กับอะไร ทุกข์กับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น
ในส่วนนี้เราตัดออกได้เลย จะเกิดหรือไม่เกิดเราไม่รู้ อาจจะเกิดก็ได้ ไม่เกิดก็ได้ ไม่แน่
นอน แต่เราทำสิ่งที่เราทำได้ในปัจจุบัน ถ้าสิ่งที่เป็นปัญหา มีสองอย่าง แก้ได้ก็แก้ไม่ได้ ถ้า
แก้ไม่ได้จะไปคิดทำไมใช่ไหม แก้ได้จะไปคิดทำไม ก็ค่อยๆ แก้ แก้ไม่ได้ก็ไม่ต้องคิดมาก
แก้ได้ก็ไม่ต้องคิดมาก ก็ทำตามเรื่องของมัน ถ้าเราไม่ดูจิตใจเราก็จะประมาท ว่าเออมี
เวลาๆ แต่พอทุกข์แล้วต้องการธรรมะแบบปฐมพยาบาล แต่เราควรจะทำตั้งแต่ตอนนี้
ตั้งแต่ยังไม่ทุกข์มาก มีกำลัง แต่เราชอบเบี้ยว ชอบทำอย่างอื่นมากกว่า โยมคนหนึ่งไปหา
พระ พระก็สอนเรื่องนี้บอกว่า ภาวนาทุกวันไหม เขาบอกว่า ก็เกือบจะทุกวันครับ พระก็
สาธุ อนุโมทนา ครับวันจันทร์ผมก็เกือบจะภาวนาครับ วันอังคารผมก็เกือบจะภาวนาครับ
ผมเกือบจะทุกวัน อย่างนี้ก็ไม่ได้ผลนะ เกือบจะได้ผลแต่ไม่ได้ผล การภาวนาบทสวดของ
คนที่ไม่ปฏิบัติ จำเป็นไหม ไม่เห็นจำเป็น ผมไม่ได้เบียดเบียนใคร ผมไม่ได้ทำให้ใครเดือด
ร้อน อะไรแบบนี้ เป็นบทสวดฟังบ่อยๆ ไม่ได้จำเป็นต้องตื่นแต่เช้า ต้องทรมานนั่งสมาธิ
เดินจงกรม ไม่จำเป็น ไม่ทำก็ไม่ตายหรอก อาตมาก็อุปมาอย่างนี้ สมมุติว่ามีคนตีกอล์ฟ
แถวบ้าน แล้วมีผู้รู้เข้าไปคุยด้วยแล้วบอกว่าคุณนี่เก่งมาก คุณนี่มีแววมาก ถ้าคุณไปฝึกทุก
วันๆ นะ คุณสามารถเก่งเท่าไทเกอร์วู้ดได้ รับรอง คุณสามารถเป็นมหาเศรษฐีได้ ชื่อเสียง
โด่งดังทั่วโลกได้ แล้วถ้าสมมุติเขาตอบว่า จำเป็นหรอ ไม่เห็นจำเป็นต้องเก่งเท่าไทเกอร์วู้
ด ไม่จำเป็นต้องเป็นมหาเศรษฐี ผมเป็นแชมป์ตำบลแล้ว กรรมการ อบต. สู้ผมไม่ได้เลย
ผมเก่งที่สุดแถวนี้ มันผิดไหม มันชั่วไหม มันก็ไม่เสียหาย แต่มันเสียดาย จำเป็นไม่จำเป็น
แต่มันเสียดาย มันทำได้ ที่จริงแล้วคนเราก็ไม่ชอบความทุกข์แม้แต่เล็กน้อย ความสุขแม้
แต่เล็กน้อยก็เอา ทำให้เราไม่ได้ปรับชีวิตให้ตรงกับอุดมการณ์ของเรา ความต้องการอันแท้
จริงของชีวิต
พระพุทธเจ้าท่านว่า ความสุขกับความจริงอยู่ด้วยกัน นี่คือหลักคำสอนพระพุทธศาสนา
ต้องการความสุขค้นหาความความจริง ความสุขที่ไม่รับรู้ต่อความจริง หลับหูหลับตาต่อ
ความจริง เก็บกดความจริงบางประการ เป็นความสุขที่เราไว้ใจไม่ค่อยได้ จะหาความสุข
ไม่ใช่จะหาความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่หาความจริง อยู่กับความจริง ความสุขมันก็เกิด
ขึ้นเอง ความสุขที่เป็นธรรมชาติ ทุกข์ก็เกิดมันก็เรื่องของมัน แล้วเราก็ค่อยฉลาด ค่อย
เรียนรู้ในการป้องกัน ความทุกข์ก็เกิดน้อยลง ฉลาดในการบริหารจัดการกับอารมณ์ เมื่อมัน
เกิดขึ้นแล้ว เราก็พร้อมที่จะจัดการให้ได้ ทุกข์ก็ทุกข์ไม่นาน ความเชื่อมั่นก็เกิดขึ้นแล้ว ไม่
ต้องเกร็ง ไม่ต้องกลัวว่าจะเกิดความทุกข์อย่างนั้นอย่างนี้ เพราะเรารู้ว่าอาวุธของเรา
เครื่องมือของเราพร้อมแล้ว พร้อมที่จะเรียนรู้ พร้อมที่จะปล่อยวาง การปล่อยวางนี้สำคัญ
ถ้าไม่ปล่อยวางนี่ก็ทุกข์นะ สังเกตไหม เหมือนเราจับเชือก จะชักคะเย่อ บางทีต้องถือไว้ให้
แน่นเหมือนกัน แต่พอถึงจุดหนึ่งไม่ไหวแล้ว ถ้าหากว่าเราไม่ปล่อยเชือก เชือกจะไหม้มือ
ถ้าเราฉลาดในเวลาดึงๆ เชือกเอาไว้ แต่มันดึงไม่อยู่แล้ว อย่าไปจับไว้ มันจะไหม้มือ ไม่
เกิดประโยชน์ รู้จักปล่อย ปล่อยในสิ่งที่ควรปล่อย ไม่ปล่อยในสิ่งที่ไม่ควรปล่อย นี่คือ
ศิลปะชีวิตของเรา เมื่อเราไม่ปฏิบัติบางทีเรารู้สึกอ้างว้าง รู้สึกเปล่าเปลี่ยว รู้สึกโดดเดี่ยว
เหมือนเราเป็นเรือลำเล็กๆ อยู่กลางมหาสมุทร มีพายุ มีอะไรก็รู้สึกแย่ แต่เราปฏิบัติแล้ว
ความรู้สึกเปลี่ยน ความรู้สึกว่าเราคือมหาสมุทร อารมณ์คือเรือ อันนี้คือกรอบ พอจิตใจ
สงบแล้วความรู้สึกที่เกิดขึ้น โอ้..ที่จริงแล้วเราเป็นมหาสมุทรที่กว้างใหญ่อันลึก อารมณ์ก็
แค่นี้เอง เป็นเรือลำเล็กๆ เท่านั้นเอง ไม่มีอะไรเปลี่ยน แต่กรอบมันเปลี่ยน ความรู้สึกเรา
เปลี่ยน จิตใจเราก็สม่ำเสมอเหมือนปกติ
วันนี้ก็ได้แสดงธรรมพอสมควร
จบแล้วครับ
ขออนุโมทนากับทุกท่านที่สนใจศึกษาและปฏิบัติธรรมครับ
วันนี้ วันพระ วันมหามงคลฤกษ์ดี สาธุ...สาธุ...สาธุ