ถามผู้รู้ครับ

 คนธรรมดา    

คือ ทำไมผมจะมีอารมณ์หงุดหงิดมากเมื่อแฟนหรือใครบอกให้ผมไหว้พระ/ไปทำบุญ ผมเป็นคนไทยนับถือศาสนาพุทธ การไหว้พระ/ทำบุญผมก็ทำนะครับ และทุกครั้งที่จะไหว้พระที่บ้านหรือทำบุญ มันเหมือนกับว่าต้องให้ความรู้สึกภายในบอกให้ทำเอง ไม่ต้องมาบังคับ รวมทั้งหลายๆครั้งที่ไปทำบุญที่วัด แต่ไม่เกิดปิติในการทำบุญนั้นๆเช่น เห็นโยมผู้หญิงจับต้องบาตรพระ อย่างนี้เป็นต้นครับ ใช่ว่าผมมีกรรมหรือทำบาปอะไรไว้หรือเปล่าครับถึงรับการบอกให้ไปทำบุญไม่ได้ครับ




ชาติก่อนคุณคงเคยตำหนิติเตียนพระรัตนตรัยมามั๊ง


ขออภัยหากคำตอบจะทำให้เคืองขุ่นใจครับ..

ทำไมผมจะมีอารมณ์หงุดหงิดมากเมื่อแฟนหรือใครบอกให้ผมไหว้พระ...ไม่ต้องมาบังคับ ...

ขอวิเคราะห์ว่าเกิดจากกิเลส คือ มานะ ความเย่อหยิ่ง ถือตัว เพราะคิดว่าเราเป็นผู้รู้ดีกว่าใครๆว่าอะไรควรไม่ควร ความรู้สึก"เสียหน้า"จะเกิดขึ้นฉับพลันเมื่อคนอื่นมาแนะนำ และติดตามมาด้วยโทสะคือความขุ่นเคืองครับ

ใช่ว่าผมมีกรรมหรือทำบาปอะไรไว้หรือเปล่าครับถึงรับการบอกให้ไปทำบุญไม่ได้ครับ
คงเป็นอกุศลวิบากของบาปกรรมประเภทไปขัดขวางการบอกบุญของคนอื่นมานะครับ ผลจึงเกิดขึ้นคือการปฏิเสธ หรือไม่ยินดีที่จะรับการบอกบุญจากผู้อื่น


เห็นด้วยครับท่านddman



ผมไม่โกรธหรอกครับ คุณ ddman ที่ผมมาถามเพราะผมอยากหาทางออก กับการที่
1. คนที่มาสอนผมเรื่องธรรมะ แต่ยังมีโมหะ โทสะ จิตที่ต้องการให้ผู้อื่นยอมรับว่าประเสริฐกว่าผู้อื่น .....ผมจะทำใจอย่างไรไม่ให้ขุ่นข้องใจครับ
2.คนมาบอกให้ผมทำบุญไหว้พระ แล้วทำไมตัวเองไม่ทำ.......ผมจะทำอย่างไรไม่ให้ขุ่นข้องใจ
อีกอย่างคือ ใช่ไหมครับ (ผมจำไม่ได้ว่ารับรู้มาจากไหน) ที่พระพุทธองค์ ทรางสั่งสอนบรรดาศิษท์ ว่า1. อย่าเชื่อเรา เพราะว่าเราเป็นครู .2 อย่าเชื่อ เพราะเขาบอกว่าดี 3. อย่าเชื่อเพราะบอกต่อกันมา 4 อย่าเชื่อ เพรา ฯลฯ.....จากคำสอนนี้หรือเปล่าที่ผมยังไม่ได้เห็นการพิสูจน์ จึงไม่ยอมศรัทธา เชื่อใคร ทำตามใครง่ายๆ ......
ช่วยไขปัญหาทางใจให้ผมด้วยครับ( ศาสนาพุทธ เป็นดังเสมือนวิทยาศาสตร์ ที่พิสูจน์ได้ )


ที่ท่าน คนธรรมดา กล่าวมาคือบท กาลามสูตรครับ

ท่านตรัสสอนสำหรับผู้ที่มีปัญญาอยู่แล้วบ้างบางส่วนเพื่อไม่ให้ไปยึดติดกับครูอาจารย์หรือความเชื่อเก่าๆ

ส่วนบุคคลที่มีปัญญาน้อยอย่างผมกับ คนธรรมดา ถ้านำธรรมบทนี้มาพิจารนาต้องระมัดระวังอย่างมากครับเพราะจะไม่เชื่ออะไรเลยสักอย่าง พ่อแม่ครูอาจารย์สอนก็ไม่เชื่อ

คำตอบไม่ได้คิดเองนะครับฟังมาอีกที รบกวนผู้รู้ท่านอื่นด้วยครับ

อีกอย่างที่เขาแนะนำให้ทำบุญไห้วพระอย่าไปโกรธท่านเหล่านั้นเลยครับ
เขาอาจไม่ใช่คนดีเท่าไร แต่พวกเขากำลังจะเป็นคนดีครับเพราะกำลังศึกษาพระพุทธศาสนา และเขาก็หวังดีกับท่านด้วยใจบริสุทครับ(จากคนเคยแนะนำคนอื่นอย่างผม)



ddman DT07247 [17 ก.ค. 2552 17:30 น.] คำตอบที่ 2

                       สาธุเจ้าค่ะ คุณ ddman DT07247

มาอ่านมามีความรู้เรื่อง "มานะ" ในลักษณะต่างๆ กัน ทางพุทธศาสนา กันค่ะ






จากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส


ความถือตัว กิริยาที่ถือตัว ความเป็นผู้ถือตัว ความกำเริบขึ้น ความฟูขึ้น
มานะดังว่าธงไชย มานะอันประคองจิตไว้ ความที่จิตใคร่ดังว่าธงยอดเห็นปานนี้ นี้เรียกว่า มานะ.



มานะอย่างหนึ่งได้แก่ความฟูขึ้นแห่งจิต.

มานะ ๒ อย่าง ได้แก่มานะในความยกตน ๑ มานะในความข่มผู้อื่น ๑

มานะ ๓ อย่าง ได้แก่
มานะว่าเราดีกว่าเขา ๑ มานะว่าเราเสมอเขา ๑ มานะว่า เราเลวกว่าเขา ๑.

มานะ ๔ อย่าง ได้แก่บุคคล
ให้มานะเกิดเพราะลาภ ๑ ให้มานะเกิดเพราะยศ ๑ ให้มานะเกิดเพราะสรรเสริญ ๑ ให้มานะเกิดเพราะสุข ๑.

มานะ ๕ อย่าง ได้แก่บุคคล
ให้มานะเกิดว่า เราได้รูปที่ชอบใจ ๑ ให้มานะเกิดว่า เราได้เสียงที่ชอบใจ ๑
ให้มานะเกิดว่า เราได้กลิ่นที่ชอบใจ ๑ ให้มานะเกิดว่าเราได้รสที่ชอบใจ ๑
ให้มานะเกิดว่า เราได้โผฏฐัพพะที่ชอบใจ ๑.

มานะ ๖ อย่าง ได้แก่บุคคล
ให้มานะเกิดเพราะความถึงพร้อมแห่งจักษุ ๑ ให้มานะเกิดเพราะความถึงพร้อมแห่งหู ๑
ให้มานะเกิดเพราะความถึงพร้อมแห่งจมูก ๑ ให้มานะเกิดเพราะความถึงพร้อมแห่งลิ้น ๑
ให้มานะเกิดเพราะความถึงพร้อมแห่งกาย ๑ ให้มานะเกิดเพราะความถึงพร้อมแห่งใจ ๑.

มานะ ๗ อย่างได้แก่
ความถือตัว ๑ ความดูหมิ่น ๑ ความถือตัวและความดูหมิ่น ๑ ความถือตัวต่ำ ๑
ความถือตัวสูง ๑ ความถือตัวว่าเรามั่งมี ๑ ความถือตัวผิด ๑.

มานะ ๘ อย่าง ได้แก่บุคคล
ให้ความถือตัวเกิดเพราะลาภ ๑ ให้ความถือตัวต่ำเกิดเพราะความเสื่อมลาภ ๑
ให้ความถือตัวเกิดเพราะยศ ๑ ให้ความถือตัวต่ำเกิดเพราะความเสื่อมยศ ๑
ให้ความถือตัวเกิดเพราะความสรรเสริญ ๑ ให้ความถือตัวต่ำเกิดเพราะความนินทา ๑ ให้ความถือตัวเกิดเพราะสุข ๑ ให้ความถือตัวต่ำเกิดเพราะทุกข์ ๑

มานะ ๙ อย่าง ได้แก่
มานะว่าเราดีกว่าคนที่ดี ๑ มานะว่า เราเสมอกับคนที่ดี ๑ มานะว่า เราเลวกว่าคนที่ดี ๑
มานะว่า เราดีกว่าผู้เสมอกัน ๑ มานะว่า เราเสมอกับผู้เสมอกัน ๑ มานะว่า เราเสมอกับผู้เลว ๑
มานะว่า เราดีกว่าผู้เลว ๑ มานะว่า เราเสมอกับผู้เลว ๑ มานะว่าเราเลวกว่าผู้เลว ๑

มานะ ๑๐ อย่าง ได้แก่ บุคคลบางคนในโลกนี้
ยังมานะให้เกิดเพราะชาติบ้าง เพราะโคตรบ้าง เพราะความเป็นบุตรแห่งสกุลบ้าง
เพราะความเป็นผู้มีรูปงามบ้าง เพราะทรัพย์บ้าง เพราะความเชื้อเชิญบ้าง เพราะหน้าที่การงานบ้าง
เพราะศิลปศาสตร์บ้าง เพราะวิทยฐานะบ้าง เพราะการศึกษาบ้าง เพราะปฏิภาณบ้าง เพราะวัตถุอื่นๆ บ้าง


                       เจริญในธรรมเจ้าค่ะ



กำลังนึกถึงคุณแม่หิ่งห้อยน้อยว่าคุณแม่น่าจะให้คำแนะนำท่าน คนธรรมดา ได้ เพราะดูจากคุณสมบัติแล้ว...ผมก็ยังมีโลภะโทสะโมหะอยู่เลยครับ เลยไม่กล้าแสดงความเห็นแล้ว กลัวท่านคนธรรมดา โกรธเอาครับ...

กราบอนุโมทนาสำหรับข้อธรรมที่กว้างขวางครับ คุณแม่หิ่งห้อยน้อย ด้วยความเคารพยิ่งครับ ..นับว่าผมมีบุญได้อ่าน บางส่วนเป็นความรู้ใหม่ ดีใจมากครับ สาธุๆ






พระสูตร
อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ มหาวรรค
เกสปุตตสูตร (กาลามสูตร)
ว่าด้วย ข้อห้ามมิให้เชื่อโดยอาการ ๑๐ อย่าง
พระไตรปีฎกภาษาไทย ฉบับหลวง พ.ศ. ๒๕๒๕
เล่ม ๒๐ ข้อ ๕๐๕ หน้า ๑๗๙ - ๑๘๔
ดูพระสูตรความย่อตอนเดียวกัน โดยคลิกที่



{น.๑๗๙}[๕๐๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงนิคมของพวกกาลามะ ชื่อว่าเกสปุตตะ พวกชนกาลามโคตรชาวเกสปุตตนิคม ได้สดับข่าวมาว่า พระสมณโคดมศากยบุตรทรงผนวชจากศากยสกุลแล้ว เสด็จมาถึงเกสปุตตนิคม โดยลำดับ
ก็กิตติศัพท์อันงามของพระสมณโคดมพระองค์นั้นแล ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์... ทรงเบิกบานแล้ว ทรงจำแนกธรรม พระองค์ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกให้แจ้งชัด ด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม พระองค์ทรงแสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การได้เห็นพระอรหันต์ทั้งหลาย เห็นปานนั้น ย่อมเป็นความดีแล
ครั้งนั้น ชนกาลามโคตร ชาวเกสปุตตนิคมได้เข้าไปเฝ้าผู้มีพระภาคเจ้าจนถึงที่ประทับ บางพวกถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกนั่งประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกประกาศชื่อและโคตรแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกนั่งเฉยๆ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
เมื่อต่างก็นั่งลงเรียบร้อยแล้ว จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมายังเกสปุตตนิคม สมณพราหมณ์พวกนั้น พูดประกาศแต่เฉพาะวาทะของตัวเท่านั้น ส่วนวาทะของผู้อื่นช่วยกันกระทบกระเทียบ ดูหมิ่น พูดกด ทำให้ไม่น่าเชื่อ พระเจ้าข้า มีสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งมายังเกสปุตตนิคม ถึงพราหมณ์พวกนั้น ก็พูดประกาศแต่เฉพาะวาทะของตนเท่านั้น ส่วนวาทะของผู้อื่นช่วยกันกระทบกระเทียบ ดูหมิ่น พูดกด ทำให้ไม่น่าเชื่อ พระเจ้าข้า พวกข้าพระองค์ยังมีความเคลือบแคลงสงสัย ในสมณพราหมณ์เหล่านั้นอยู่ทีเดียวว่า ท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็ควรแล้วที่ท่านทั้งหลายจะเคลือบแคลงสงสัย และท่านทั้งหลายเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในฐานะที่ควรแล้ว มาเถิดท่านทั้งหลาย
ท่านทั้งหลายอย่าได้เชื่อถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา อย่าได้เชื่อถือ ตามถ้อยคำสืบๆ กันมา อย่าได้เชื่อถือ โดยตื่นข่าวว่าได้ยินอย่างนี้ {น.๑๘๐}อย่าได้เชื่อถือ โดยอ้างตำรา อย่าได้เชื่อถือโดยเดาเอาเอง อย่าได้เชื่อถือโดยคาดคะเน อย่าได้เชื่อถือโดยความตรึกตามอาการ อย่าได้เชื่อถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับทิฏฐิของตัว อย่าได้เชื่อถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้เชื่อถือ โดย ความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา
เมื่อใดท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้ บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ เมื่อนั้นท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย
ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน?
ความโลภ เมื่อเกิดขึ้นในภายในบุรุษย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ หรือเพื่อสิ่งไม่ เป็นประโยชน์ พวกชนกาลามโคตร ต่างกราบทูลว่า เพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ พระเจ้าข้า
พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็บุคคลผู้โลภ ถูกความโลภครอบงำ มีจิตอันความโลภ กลุ้มรุมนี้ ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้ สิ่งใดเป็นไปเพื่อสิ่ง ไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน บุคคลผู้โลภย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้
กา. จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า
พ. ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน?
ความโกรธเมื่อเกิดขึ้นในภายในบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ หรือเพื่อสิ่งไม่ใช่ประโยชน์? กา. เพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ พระเจ้าข้า
พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็บุคคลผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำ มีจิตอันความ โกรธกลุ้มรุมนี้ ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้ สิ่งใดเป็นไปเพื่อ สิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน บุคคลผู้โกรธย่อม ชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้
กา. จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า
พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน?
ความหลงเมื่อเกิดขึ้นในภายในบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ หรือเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์? กา. เพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ พระเจ้าข้า
พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็บุคคลผู้หลง ถูกความหลงครอบงำ มีจิตอันความหลงกลุ้มรุมนี้ ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูด เท็จก็ได้ สิ่งใดเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน บุคคล ผู้หลงย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้
กา. จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า
{น.๑๘๑}พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน? ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลหรืออกุศล? กา. เป็นอกุศล พระเจ้าข้า
พ. มีโทษหรือไม่มีโทษ?
กา. มีโทษ พระเจ้าข้า
พ. ท่านผู้รู้ติเตียนหรือท่านผู้รู้สรรเสริญ?
กา. ท่านผู้รู้ติเตียน พระเจ้าข้า
พ. ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์หรือหาไม่ ในข้อนี้ท่านทั้งหลายมีความเห็นอย่างไร?
กา.ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ ในข้อนี้ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็นเช่นนี้
พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย เราได้กล่าวคำใดไว้ว่า ดูกรกาลามชนทั้งหลาย มาเถอะท่านทั้งหลาย
ท่านทั้งหลาย อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟัง.....อย่าได้ยึดถือโดยนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ได้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้ สมบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ เมื่อนั้นท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย
เพราะอาศัยคำที่เราได้กล่าวไว้แล้วนั้น เราจึงได้กล่าวไว้ดังนี้
ดูกรกาลามชนทั้งหลาย มาเถอะท่านทั้งหลาย
ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา.....อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา เมื่อใดท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้ บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อสุข เมื่อนั้นท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่
ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน?
ความไม่โลภเมื่อเกิดขึ้นในภายในบุรุษ ย่อมเกิดเพื่อประโยชน์ หรือเพื่อสิ่งไม่ เป็นประโยชน์? กา. เพื่อประโยชน์ พระเจ้าข้า
พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ไม่โลภ ไม่ถูกความโลภครอบงำ มีจิตไม่ถูกความโลภกลุ้มรุมนี้ ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูด เท็จ สิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน บุคคลผู้ไม่โลภ ย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น.
{น.๑๘๒}กา. จริงอย่างนั้นพระเจ้าข้า
พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน?
ความไม่โกรธเมื่อเกิดขึ้นในภายในบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ หรือเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์? กา. เพื่อเป็นประโยชน์ พระเจ้าข้า
พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ไม่โกรธ ไม่ถูกความโกรธครอบงำ มีจิตไม่ถูกความโกรธกลุ้มรุมนี้ ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่ พูดเท็จ สิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อเป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน บุคคลผู้ไม่โลภ ย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น
กา. จริงอย่างนั้นพระเจ้าข้า
พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน?
ความไม่หลงเมื่อเกิดขึ้นในภายในบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ หรือเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์? กา. เพื่อประโยชน์ พระเจ้าข้า
พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ไม่หลง ไม่ถูกความหลงครอบงำ มีจิตไม่ถูกความหลงกลุ้มรุมนี้ ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูด เท็จ สิ่งใดเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน บุคคลผู้ไม่หลง ย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น
กา. จริงอย่างนั้นพระเจ้าข้า
พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน? ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลหรืออกุศล? กา. เป็นกุศล พระเจ้าข้า
พ. มีโทษหรือไม่มีโทษ?
กา. ไม่มีโทษ พระเจ้าข้า
พ. ท่านผู้รู้ติเตียนหรือท่านผู้รู้สรรเสริญ?
กา. ท่านผู้รู้สรรเสริญ พระเจ้าข้า
พ. ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขหรือหาไม่ ในข้อนี้ท่านทั้งหลายมีความเห็นอย่างไร?
กา. ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ในข้อนี้ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็นเช่นนี้
{น.๑๘๓} พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย เราได้กล่าวคำใดไว้ว่า ดูกรกาลามชนทั้งหลาย มาเถอะท่านทั้งหลาย
ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่สืบๆ กันมา อย่าได้ยึดถือโดยตื่นข่าวว่าได้ยินว่าอย่างนี้ อย่าได้ยึดถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ยึดถือโดยคาดคะเน อย่าได้ยึดถือโดยตรึกตามอาการ อย่าได้ยึดถือโดยชอบ ใจว่าต้องกันกับทิฏฐิของตน อย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรเชื่อได้ อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ใครสมาทาน ให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่
เพราะอาศัยคำที่เราได้กล่าวไว้แล้วนั้น เราจึงได้กล่าวไว้ดังนี้
ดูกรกาลามชนทั้งหลาย อริยสาวกนั้นปราศจากความโลภ ปราศจากความพยาบาท ไม่หลงแล้วอย่างนี้ มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นคง มีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจ อันประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ มีใจประกอบด้วยกรุณา... มีใจประกอบด้วยมุทิตา... มีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
ดูกรกาลามชนทั้งหลาย อริยสาวกนั้นมีจิตไม่มีเวรอย่างนี้ มีจิต ไม่มีความเบียดเบียนอย่างนี้ มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตผ่องแผ้วอย่างนี้ ย่อมได้รับความอุ่นใจ ๔ ประการ ในปัจจุบันว่า
ก็ถ้าปรโลกมีจริง ผลวิบากของกรรมทำดีทำชั่วมีจริง เหตุนี้เป็น เครื่องให้เราเมื่อแตกกายตายไป จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้ ความอุ่นใจ ข้อที่ ๑ นี้ พระอริยสาวกนั้นได้แล้ว
ก็ถ้าปรโลกไม่มี ผลวิบากของกรรมทำดีทำชั่วไม่มี เราไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีทุกข์เป็นสุข บริหารตนอยู่ในปัจจุบัน ดังนี้ ความอุ่นใจข้อที่ ๒ นี้ พระอริยสาวกนั้นได้แล้ว
ก็ถ้าเมื่อบุคคลทำอยู่ ชื่อว่าทำบาป เราไม่ได้คิดความชั่วให้แก่ใคร ๆ ไหนเลยทุกข์จักมาถูกต้องเรา ผู้ไม่ได้ทำบาปกรรมเล่า ดังนี้ ความอุ่นใจในข้อที่ ๓ นี้ พระอริยสาวกนั้นได้แล้ว
ก็ถ้าเมื่อบุคคลทำอยู่ ไม่ชื่อว่าทำบาป เราก็ได้พิจารณาเห็นตนว่า เป็นคนบริสุทธิ์แล้วทั้งสองส่วน ดังนี้ ความอุ่นใจในข้อที่ ๔ นี้ พระอริยสาวกนั้นได้แล้ว
ดูกรกาลามชน{น.๑๘๔}ทั้งหลาย อริยสาวกนั้นมีจิตไม่มีเวรอย่างนี้ มีจิตไม่มีความเบียดเบียนอย่างนี้ มีจิตใจไม่เศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตผ่องแผ้วอย่าง นี้ ย่อมได้รับความอุ่นใจ ๔ ประการนี้แลในปัจจุบัน
กา. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต ข้อนี้ เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระอริยสาวกนั้น มีจิตไม่มีเวรอย่างนี้ มี จิตไม่มีความเบียดเบียนอย่างนี้ มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตผ่องแผ้วอย่างนี้ ท่านย่อมได้ความอุ่นใจ ๔ ประการในปัจจุบัน... ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอพระองค์โปรดทรงจำพวกข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป

http://www.navy.mi.th/newwww/code/special/budham/tp/tp200366.htm


คุณคนธรรมดา
1.เวลาเกิดความขุ่นใจ แบบนี้อีก ให้รู้ว่าคุณกำลังขุ่นใจ รู้เฉยๆนะครับ ถ้าโกรธก็ให้รู้ว่าโกรธ ดูรู้อารมณ์ตนเฉยๆ แล้วลองถามเจ้าอารมณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นสิว่ามันจะเกิดขุ่นใจ โกรธได้นานสักแค่ไหน แล้วอารมณ์ต่างๆมันจะดับไปเอง ถ้าเราจะอยากหรือไม่อยากมันก็ดับ แล้วค่อยๆลองทำใจยอมรับว่าคำชวนให้ทำบุญกุศลของคนรอบข้างเป็นความปรารถนาดี และเป็นความดี แล้วทำความดีนั้นต่อไป
2. ตั้งใจกราบขอขมาพระรัตนตรัยว่าถ้าแม้นเราเคยประมาสท่านด้วยประการใด ข้าพเจ้าขอกราบขอขมา และขอให้ข้าพเจ้ามีจิตเป็นกุศล กรวดน้ำแผ่กุศลความดีที่เราเคยทำมาให้แก่เจ้ากรรมนายเวร ที่ทำให้เรามีความรู้สึกนึกคิดแบบนี้
นี่เป็นความคิดส่วนตัว ไม่ทราบจะถูกมากน้อยเพียงใด แต่แสดงมาเผื่อช่วยให้คุณได้สร้างกุศลต่อไปได้สะดวก ขออนุโมทนาล่วงหน้าครับ


เยี่ยมยุทธทั้งนั้น สาธุ


ขอขอบคุณที่แบ่งปันความรู้ครับ


โอ้ย....ปวดเฮดอย่าเหลือล้น

น่าจะอธิบายสั้นๆให้เข้าใจง่ายๆหน่อยอะ

วัยรุ่นขึ้นเกียจอ่าน

เชื่อในสิ่งที่ทำ ทำในสิ่งที่เชื่อ (ประกอบไปด้วยศีล สมาธิ แอนด์ปัญญาน่ะ)

ส่วนตัวผมต้องเชื่อไม่เชื่อมีหวังสอบตกแน่


 4,061 

  แสดงความคิดเห็น


RELATED STORIES




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย