วิปัสสนาคืออะไร?

     


ต่างจากสมถะอย่างไร





วิปัสสนาภาวนา


วิปัสสนา แปลว่า เห็นประจักษ์แจ้งพระไตรลักษณ์ในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน อาการที่เคลื่อน ไหว ใจที่คิด เป็นต้น เป็นวิธีการปฏิบัติที่จะนำกายและใจของผู้ปฏิบัติให้เข้าถึงสภาวดับ สงบ เย็น(นิพพาน)ได้ ถ้าต้องการสุขแท้ สุขถาวรที่ไม่กลับมาทุกข์อีกก็ต้องดำเนินไปตามหนทางนี้เท่านั้น ไม่มีทางอื่น

ความรู้สึกของผู้ปฏิบัติหลายท่าน คิดว่า “การปฏิบัติสมถกรรมฐานดีกว่า วิปัสสนากรรมฐาน เพราะสมถะฝึกแล้วทำให้เหาะได้ รู้ใจคนอื่นได้ เสกคาถาอาคม ได้ ส่วนวิปัสสนาทำไม่ได้” แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ผู้ปฏิบัติสมถกรรมฐานก็ยังเป็นเพียงปุถุชนที่ยับต้องเวียนว่ายตายเกิดใน ๓๑ ภูมิ หาที่สุดของภพชาติไม่ได้ ยังต้องตกอบาย ทรมานในนรกอีก ส่วนผู้ปฏิบัติวิปัสสนานั้น ถึงแม้จะเหาะไม่ได้ เสกคาถาไม่ขลัง แต่เมื่อบรรลุได้เพียงขั้นโสดาบันเท่านั้น ก็จะเหลือภพชาติเพียง ๗ ชาติเป็นอย่างยิ่ง และตั้งแต่ชาตินี้เป็นต้นไปก็จะไม่ตกอบายอีกเลย ไม่ว่าในอดีตจะเคยทำบาปอกุศลไว้มากมายปานใดก็ตาม ก็จะไม่ตกนรกอีกแล้ว...



วิปัสสนาภาวนา คือ การฝึกจิตให้เกิดปัญญารู้แจ้ง ตามความเป็นจริง พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๔ ข้อ ๕๕ หน้า ๓๐ ได้ให้ความหมายของวิปัสสนาไว้ว่า

กตมา ตสฺมึ สมเย วิปสฺสนา โหติ ยา ตสฺมึ สมเย ปญฺญา ปชานานา วิจโย ปวิจโย ธมฺมวิจโย สลฺลกฺขณา อุปลกฺขณา ปจฺจุปลกฺขณา ปณฺฑิจฺจํ โกสลฺลํ เนปุญฺญํ เวภพฺยา จินฺตา อุปปริกฺขา ภูรีเมธา ปริณายิกา วิปสฺสนา สมฺปชญฺญํ ปโตโท ปญฺญา ปญฺญินฺทฺริยํ ปญฺญาพลํ ปญฺญาสตฺถํ ปญฺญาปาสาโท ปญฺญาอาโลโก ปญฺญาโอภาโส ปญฺญาปชฺโชโต ปญฺญารตนํ อโมโห ธมฺมวิจโย สมฺมาทิฏฐา อยํ ตสฺมึ สมเย วิปสฺสนา โหติ ฯ

แปลความว่า วิปัสสนาที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น เป็นไฉน คือ ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความกำหนดหมาย ความเข้าไปกำหนด ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด ความรู้อย่างแจ่มแจ้ง ความค้นคิด ความใคร่ครวญ ปัญญาเหมือนแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเครื่องนำทาง ความเห็นแจ้ง ความรู้ดี ปัญญาเหมือนรัตนะ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฎฐิ ในสมัยนั้น นี้ชื่อว่า วิปัสสนา ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น อย่างไรก็ตาม

คัมภีร์อรรถกถา ให้ความหมาย ว่า วิปัสสนา คือ การเห็นแจ้ง หรือวิธีทำให้เกิดการเห็นแจ้ง วจนัตถะว่า อนิจฺจาทิวเสน วิวิเธน อากาเรหิ ธมฺเม ปสฺสตีติ วิปสฺสนา ปัญญาใด ย่อมเห็นสังขตธรรมมีขันธ์เป็นต้น ด้วยอาการต่างๆมีความไม่เที่ยงเป็นต้น ฉะนั้น ปัญญานั้น ชื่อว่า วิปัสสนา

คัมภีร์อรรถกถาให้ความหมายไว้ดังนี้
๑. คัมภีร์อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ให้ความหมายว่า ปัญญาที่กำหนดรู้สังขาร

๒. คัมภีร์อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ให้ความหมายว่า การใคร่ครวญธรรม หมายถึงการเพ่งพินิจพิจารณาเห็นธรรม โดยความเป็นสภาวะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา

๓. เอกัคคตาจิตและสังขารปริคคหวิปัสสนาญาณ ปัญญาเห็นแจ้งการกำหนดสังขารว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

๔. ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง ที่กำหนดรู้สังขารคือปัญญาอันยิ่งและความเห็นแจ้งในธรรมคือเบญจขันธ์

๕. ปัญญากิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความกำหนดหมาย ความเข้าไปกำหนด ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด ความรู้อย่างแจ่มแจ้ง ความค้นคิด ความใคร่ครวญปัญญาเหมือนแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเครื่องนำทาง ความเห็นแจ้ง ความรู้ดี ปัญญาเหมือนปฏัก ปัญญาปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ปัญญาเหมือนศัสตรา ปัญญาเหมือนปราสาท ความสว่างคือปัญญา แสงสว่างคือปัญญาปัญญาเหมือนประทีป ปัญญาเหมือนดวงแก้ว ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ

๖. วิปัสสนา คือ ความรู้ที่ทำให้เกิดความเห็นแจ้ง เข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงมี ๙ อย่าง
๑. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ญาณอันตามเห็นความเกิดและความดับ
๒. ภังคานุปัสสนาญาณ ญาณอันตามเห็นความสลาย
๓. ภยตูปัฏฐานญาณ ญาณอันหยั่งเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว
๔. อาทีนวานุปัสสนาญาณ ญาณอันตามเห็นโทษ
๕. นิพพิทานุปัสสนาญาณ ญาณอันตามเห็นด้วยความหน่าย
๖. มุญจิตุกัมยตาญาณ ญาณอันคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย
๗. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ญาณตามเห็นการพิจารณาหาทาง
๘. สังขารุเปกขาญาณญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร
๙. สัจจานุโลมิกญาณหรืออนุโลมญาณ ญาณเป็นไปโดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจ

๗. วิปัสสนา คือ อนุปัสสนา ๗ ประการ คือ
๑. อนิจจานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง)
๒. ทุกขานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความเป็นทุกข์)
๓. อนัตตานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความไม่มีตัวตน)
๔. นิพพิทานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความน่าเบื่อหน่าย)
๕. วิราคานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความคลายกำหนัด)
๖. นิโรธานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความดับกิเลส)
๗. ปฏินิสสัคคานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความสลัดทิ้งกิเลส)


๘. วิปัสสนาญาณ ความหยั่งรู้ที่เกิดขึ้นแก่ผู้เจริญวิปัสสนาตามลำดับ มี ๑๖ ประการ
๑) นามรูปปริจเฉทญาณ ญาณกำหนดรู้นามและรูป
๒) ปัจจยปริคคหญาณ ญาณกำหนดรู้ปัจจัยของนามและรูป
๓) สัมมสนญาณ ญาณกำหนดรู้ด้วยพิจารณาเห็นนามและรูปโดยไตรลักษณ์
๔) อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ญาณอันตามเห็นความเกิดและความดับ
๕) ภังคานุปัสสนาญาณ ญาณอันตามเห็นคว่าสังขารทั้งปวงล้วนจะต้องสลายไปหมด
๖) ภยตูปัฏฐานญาณ ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว เพราะล้วนแตจะต้องสลายไปไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น
๗) อาทีนวานุปัสสนาญาณ ญาณอันคำนึงเห็นสังขารทั้งปวงนั้นว่าเป็นโทษ
๘) นิพพิทานุปัสสนาญาณ ญาณอันคำนึงเห็นด้วยความหน่าย
๙) มุญจิตุกัมยตาญาณ ญาณอันคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย เมื่อหน่ายสังขารทั้งหลายแล้ว ย่อมปรารถนาที่จะพ้นไปเสียจากสังขารเหล่านั้น
๑๐) ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ญาณอันคำนึงพิจารณาหาทาง เพื่อมองหาอุบายที่จะปลดเปลื้องออก
๑๑) สังขารุเปกขาญาณ ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร ไม่ยินดียินร้ายต่อสังขารทั้งหลาย
๑๒) สัจจานุโลมิกญาณ หรือ อนุโลมญาณ ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลม ได้แก่การหยั่งรู้อริยสัจ
๑๓) โคตรภูญาณ ญาณหยั่งรู้ที่เป็นหัวต่อแห่งการข้ามพ้นจากภาวะปุถุชน เข้าสู่ภาวะอริยบุคคล
๑๔) มัคคญาณ ในอริยมรรค ความหยั่งรู้ที่ให้สำเร็จภาวะอริยบุคคลแต่ละขั้น
๑๕) ผลญาณในอริยผล ความหยั่งรู้ที่เป็นผลสำเร็จของพระอริยบุคคลชั้นนั้น ๆ
๑๖) ปัจจเวกขณญาณ ญาณหยั่งรู้ด้วยการพิจารณาทบทวน สำรวจรู้มรรคผลกิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่เหลืออยู่และนิพพาน


พระราชวรมุนี ให้ความหมายว่า ข้อปฏิบัติต่างๆ ในการฝึกฝนอบรมปัญญาให้เกิดความเห็นแจ้งรู้ชัดสิ่งทั้งหลายตรงต่อสภาวะของมัน คือให้เข้าใจตามความเป็นจริง หรือตามที่สิ่งเหล่านั้นมันเป็นของมันเอง (ไม่ใช่เห็นไปตามที่เราวาดภาพให้มันเป็นด้วยความชอบความชัง ความอยากได้ หรือ ความขัดใจของเรา) รู้แจ้งชัดเข้าใจจริง จนถอนความหลงผิดรู้ผิดและยึดติดในสิ่งทั้งหลายได้ ถึงขั้นเปลี่ยนท่าทีต่อโลกและชีวิตใหม่ทั้งท่าทีแห่งการมอง การรับรู้ การวางจิตใจและความรู้สึกทั้งหลาย ความรู้ความเข้าใจถูกต้องที่เกิดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในระหว่างการปฏิบัตินั้น เรียกว่า ญาณ มีหลายระดับญาณสำคัญในขั้นสุดท้ายเรียกว่า วิชชา เป็นภาวะตรงข้ามที่กำจัดอวิชชา คือความหลงผิดไม่รู้แจ้งไม่รู้จริงให้หมดไป ภาวะจิตที่มีญาณหรือวิชชานั้น เป็นภาวะที่สุขสงบผ่องใสและเป็นอิสระ เพราะลอยตัวพ้นจากอำนาจครอบงำของกิเลส เช่น ความชอบความชังความติดใจและความขัดใจเป็นต้นไม่ถูกบังคับหรือชักจูงโดยกิเลสเหล่า นั้น ให้มองเห็นหรือรับรู้สิ่งต่าง ๆอย่างบิดเบือน จนพาความคิดและการกระทำที่ติดตามมาให้หันเหเฉไปและไม่ต้องเจ็บปวดหรือเร่าร้อนเพราะถูกบีบคั้นหรือต่อสู้กับกิเลสเหล่านั้น ญาณและวิชชา จึงเป็นจุดมุ่งของวิปัสสนา เพราะนำไปสู่วิมุตติ คือความหลุดพ้นเป็นอิสระที่แท้จริงซึ่งยั่งยืนถาวร ท่านเรียกว่า สมุจเฉทนิโรธ หรือสมุจเฉทวิมุตติ
แปลว่า ดับกิเลส หรือหลุดพ้นโดยเด็ดขาด



วิปัสสนา แปลว่า "การเห็นตามจริง" เป็นการศึกษาความจริงของกายของใจ(ขันธ์ 5)ว่าเป็นไตรลักษณ์
เพื่อให้รู้ว่า " กายใจเป็นทุกข์ กายใจเป็นของเปลี่ยนแปลง กายใจไม่ใช่เราหรอก "
ในการปฎิบัติไม่จำเป็นมีความสงบก็ได้ มีอะไรให้รู้ก็รู้ไป เช่น ฟุ้งซ่านให้รู้ว่าฟุ้งซ่าน
โกรธอยู่ให้รู้ว่าตอนนี้กำลังโกรธอยู่ สงบอยู่ก็รู้ว่าสงบอยู่ เผลอก็ให้รู้ว่าเผลอ เป็นต้น
หากรู้อย่างแจ่มแจ้งก็จะรู้ว่าเราไม่สามารถบังคับกายใจได้จริงหรอก ผู้นั้นย่อมไม่ยึดหมั้นในขันธ์(กายใจ)
" เมื่อไม่มีกายใจให้ยึด ชาติภพย่อมไม่เกิดอีก "

การทำวิปัสสนาทำได้ 4 แบบ เรียก "สติปัฏฐาน4" เป็นทางเดียวที่ทำให้พ้นทุกข์
1.กายานุปัสสนา - ดูกาย
2.เวทนานุปัสสนา - ดูเวทนา
3.จิตตานุปัสสนา - ดูจิต
4.ธัมมานุปัสสนา - ดูสภาวะธรรม


สมถะ มีจุดประสงค์เพื่อทำความสงบ เป็นที่พักผ่อนของจิต หากทำได้ดีเป็นสัมมาสมาธิจะเกิดจิตผู้รู้ จะสามารถนำมาเจริญวิปัสสนาแบบกายานุปัสสนาและแบบเวทนานุปัสสนาได้
(เอามาดูกายและเวทนาได้)

หลวงพ่อพุธเคยกล่าวว่า " สมาธิเกิดขึ้นได้เมื่อเราหมดความตั้งใจ วิปัสสนาจะเกิดขึ้นได้เมื่อเราหมดความคิด "

สำหรับที่กล่าวมาเป็ึนความรู้แบบคร่าวๆ นะครับ หากผิดพลาดอะไรก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
ยังไงก็ให้เจ้าของกระทู้ศึกษาเพิ่มเติมอีกนะครับ

หากจะศึกษาเพิ่มเติมผมขอแนะนำพระปราโมทย์ ปาโมชฺโช
http://www.dhammathai.org/sounds/pramote.php
หรือที่ http://www.wimutti.net
หรือที่ http://larndham.net




วิปัสสนาคืออะไร ?

ต่างจากสมถะอย่างไร ?


โดย : montasavi [202.28.111.17] 12 พ.ค. 2551 13:58 น.


แท้ที่จริงทั้งสมถะและวิปัสสนา เป็นองค์ธรรมที่เป็นกุศล
ที่เกิดร่วมเกิดพร้อมกับองค์ธรรมที่เป็นกุศลอื่น ๆ ในกุศลจิต และกุศลวิบากจิตทุกดวง
ไม่ใช่วิธีการปฏิบัติธรรมแบบใดแบบหนึ่งหรอกครับ

แต่พระภิกษุสมัยต่อมาได้บิดเบือนความหมายออกไป ตั้งชื่อเสียใหม่ว่า
สมถะ คือวิธีการปฏิบัติเพื่อโลกียะฌาน
และวิปัสสนา คือวิธีการปฏิบัติเพื่อปัญญาญาณ หรือโลกุตตระฌาน

ซึ่งเป็นการใช้นิรุติไม่ตรงกับสภาวะธรรมที่ถูกต้อง
และเป็นการยากที่จะแก้ไขให้ชาวพุทธส่วนใหญ่กลับมาใช้ภาษาให้ตรงกับสภาวะธรรมที่ถูกต้อง เพราะใช้ภาษาผิด ๆ กันมานาน โดยผู้ใช้ภาษาผิดเป็นพระภิกษุเสียเอง ก็ต้องขอภัยท่านผู้อ่านด้วยนะครับ เพราะภิกษุสมัยปัจจุบันไม่ค่อยจะได้ศึกษาพระไตรปิฎกครับ


และขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านทำความเข้าใจกันเสียให้ถูกต้องตามพระไตรปิฎกนะครับ เป็นการเอื้อเฟื้อแก่พระพุทธศาสนานะครับ เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาให้มีอายุยืนยาวสืบไปนะครับ


ความหมายที่ถูกต้องของคำว่า สมถะ และวิปัสสนา คือสภาวะธรรมที่เป็นกุศล ที่เกิดร่วมเกิดพร้อมในกุศลจิตและกุศลวิบากจิตเสมอ จะแยกจากกันไม่ได้ครับ


สมถะ คือสภาวะธรรมที่เป็นสัมมาสมาธิ
และวิปัสสนา คือสภาวะธรรมที่เป็นความรู้ในเรื่องโลกุตตระอันเป็นเครื่องนำออกไปจากโลก นำไปสู่นิพพาน เป็นปัญญาเครื่องทำลายกิเลสสังโยชน์ให้หมดสิ้น

ส่วนความรู้ที่เป็นโลกียะ เป็นไปเพื่อวัฏฏะเวียนตายเวียนเกิด เรียกว่า อนุปัสสนา ครับ


ดูตัวอย่างสภาวะธรรมที่เกิดในกุศลจิตนะครับ

                       โลกุตตรกุศลจิต
                            มรรคจิตดวงที่ ๑.....( จิตพระโสดาบันครับ )
     [๑๙๖] ธรรมเป็นกุศล เป็นไฉน?
     โยคาวจรบุคคล เจริญฌานเป็นโลกุตตระ อันเป็นเครื่องออกไปจากโลกนำไปสู่นิพพาน
เพื่อละทิฏฐิ เพื่อบรรลุภูมิเบื้องต้น สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน เป็น
ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา ประกอบด้วยวิตก วิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก อยู่ในสมัยใด

ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา จิต วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์
สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ มนินทรีย์ โสมนัสสินทรีย์ ชีวิตินทรีย์ อนัญญตัญญัสสามีตินทรีย์ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัทธาพละ วิริยพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ หิริพละ โอตตัปปพละ อโลภะ อโทสะ อโมหะ อนภิชฌา อัพยาปาทะ สัมมาทิฏฐิ หิริ โอตตัปปะ กายปัสสัทธิ จิตตปัสสัทธิ กายลหุตา จิตตลหุตา กายมุทุตา จิตตมุทุตา กายกัมมัญญตา จิตตกัมมัญญตา กายปาคุญญตา จิตตปาคุญญตา กายุชุกตา จิตตุชุกตา สติ สัมปชัญญะ สมถะ วิปัสสนา ปัคคาหะ อวิกเขปะ มีในสมัยนั้น หรือนามธรรมที่อิงอาศัยเกิดขึ้นแม้อื่นใด มีอยู่ในสมัยนั้น

     สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นกุศล



[๒๕๓] สมถะ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน?
ความตั้งอยู่แห่งจิต ความดำรงอยู่แห่งจิต ความมั่นคงแห่งจิต ความไม่ส่ายไปแห่งจิต
ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ภาวะที่จิตไม่ส่ายไป ความสงบ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ ความตั้งใจชอบ สมาธิสัมโพชฌงค์ อันเป็นองค์แห่งมรรค นับเนื่องในมรรค ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า
สมถะ มีในสมัยนั้น.

[๒๕๔] วิปัสสนา มีในสมัยนั้น เป็นไฉน?
ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความกำหนดหมาย
ความเข้าไปกำหนด ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด ความ รู้แจ่มแจ้ง ความค้นคิด ความใคร่ครวญ ปัญญาเหมือนแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเครื่องนำทาง ความเห็นแจ้ง ความรู้ชัด ปัญญาเหมือนปฏัก ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ปัญญาเหมือนศาตรา ปัญญาเหมือนปราสาท ความสว่างคือปัญญา แสงสว่างคือปัญญา ปัญญาเหมือนประทีป ปัญญาเหมือนดวงแก้ว ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิ ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ อันเป็นองค์แห่งมรรค นับเนื่องในมรรค ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า วิปัสสนา มีในสมัยนั้น.


เจริญในธรรมครับ


อภิปัญโญ ภิกขุ





๘. วิปัสสนาญาณ ความหยั่งรู้ที่เกิดขึ้นแก่ผู้เจริญวิปัสสนาตามลำดับ มี ๑๖ ประการ

พระมหาประเสริฐ มนฺตเสวี - 202.28.111.17 [12 พ.ค. 2551 14:05 น.] คำตอบที่ 1


ท่านผู้อ่านครับ วิปัสสนาญาณไม่ได้มีเพียง 16 ญาณตามที่พระมหาประเสริฐ มนฺตเสวี
แสดงมานะครับ แต่วิปัสสนาญาณมีมากถึง 73 ญาณครับ

วิปัสสนาญาณ 16 แต่งเอาเองต่อเติมเองโดยพระชาวพม่าครับ พระราชวรมุนี ซึ่งเป็นศิษย์ของพระพม่า เคยไปศึกษาการปกิบัติธรรมจากประเทศพม่า จึงได้นำคำสอนเหล่านี้มาสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาอย่างแพร่หลายกว้างขวางหลายสิบปี

ปัจจุบันได้ข่าวว่าพระพม่าได้จดสิมธิบัตรเป้นทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศพม่าไปแล้วครับ

และญาณทั้ง 16 เหล่านี้เนื้อหาสาระไม่ตรงกับในพระไตรปิฎกอีกด้วยครับ
อ่านพระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่ของไทยได้ความรู้ที่ถูกต้องจริงและปฏิบัติให้ผลสำเร็จจริงพ้นทุกข์จริงครับ


ในพระไตรปิฎกมีวิปัสสนาญาณ 73 ญาณดังนี้ครับ

1.ปัญญาในการทรงจำธรรมที่ได้ฟังมาแล้ว เป็นสุตมยญาณ [ญาณอันสำเร็จมาแต่การฟัง]

2. ปัญญาในการฟังธรรมแล้ว สังวรไว้ เป็นสีลมยญาณ [ญาณอันสำเร็จมาแต่ศีล]

3. ปัญญาในการสำรวมแล้วตั้งไว้ดี เป็นภาวนามยญาณ[ญาณอันสำเร็จมาแต่การเจริญสมาธิ]

4. ปัญญาในการกำหนดปัจจัย เป็นธรรมฐิติญาณ [ญาณในเหตุธรรม]

5. ปัญญาในการย่อธรรมทั้งหลาย ทั้งส่วนอดีตส่วนอนาคตและส่วนปัจจุบันแล้วกำหนดไว้ เป็นสัมมสนญาณ [ญาณในการพิจารณา]

6. ปัญญาในการพิจารณาเห็นความแปรปรวนแห่งธรรมส่วนปัจจุบันเป็นอุทยัพพยานุปัสนาญาณ [ญาณในการพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อม]

7. ปัญญาในการพิจารณาอารมณ์แล้วพิจารณาเห็นความแตกไป เป็นวิปัสนาญาณ[ญาณในความเห็นแจ้ง]

8. ปัญญาในการปรากฏโดยความเป็นภัย เป็นอาทีนวญาณ[ญาณในการเห็นโทษ]

9. ปัญญาในความปรารถนาจะพ้นไปทั้งพิจารณาและวางเฉยอยู่ เป็นสังขารุเบกขาญาณ

10. ปัญญาในการออกและหลีกไปจากสังขารนิมิตภายนอก เป็นโคตรภูญาณ

11. ปัญญาในการออกและหลีกไปจากกิเลส ขันธ์และสังขารนิมิตภายนอกทั้งสอง เป็นมรรคญาณ

12. ปัญญาในการระงับประโยคเป็นผลญาณ

13. ปัญญาในการพิจารณาเห็นอุปกิเลสนั้นๆ อันอริยมรรคนั้นๆ ตัดเสียแล้ว เป็นวิมุติญาณ

14. ปัญญาในการพิจารณาเห็นธรรมที่เข้ามาประชุมในขณะนั้น เป็นปัจจเวกขณญาณ

15. ปัญญาในการกำหนดธรรมภายใน เป็นวัตถุนานัตตญาณ [ญาณในความต่างแห่งวัตถุ]

16. ปัญญาในการกำหนดธรรมภายนอก เป็นโคจรนานัตตญาณ [ญาณในความต่างแห่งโคจร]

17. ปัญญาในการกำหนดจริยา เป็นจริยานานัตตญาณ [ญาณในความต่างแห่งจริยา]

18. ปัญญาในการกำหนดธรรม ๔ เป็นภูมินานัตตญาณ [ญาณในความต่างแห่งภูมิ]

19. ปัญญาในการกำหนดธรรม ๙ เป็นธรรมนานัตตญาณ [ญาณในความต่างแห่งธรรม]

20. ปัญญาที่รู้ยิ่ง เป็นญาตัฏฐญาณ [ญาณในความว่ารู้]

21. ปัญญาเครื่องกำหนดรู้เป็นตีรณัฏฐญาณ [ญาณในความว่าพิจารณา]

22. ปัญญาในการละ เป็น ปริจจาคัฏฐญาณ [ญาณในความว่าสละ]

23. ปัญญาเครื่องเจริญ เป็นเอกรสัฏฐญาณ [ญาณในความว่ามีกิจเป็นอันเดียว]

24. ปัญญาเครื่องทำให้แจ้ง เป็นผัสสนัฏฐญาณ [ญาณในความว่าถูกต้อง]

25. ปัญญาในความต่างแห่งอรรถ เป็นอัตถปฏิสัมภิทาญาณ

26. ปัญญาในความต่างแห่งธรรม เป็นธรรมปฏิสัมภิทาญาณ

27. ปัญญาในความต่างแห่งนิรุติ เป็นนิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ

28. ปัญญาในความต่างแห่งปฏิภาณ เป็นปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ

29. ปัญญาในความต่างแห่งวิหารธรรม เป็นวิหารัฏฐญาณ [ญาณในความว่าธรรมเครื่องอยู่]

30. ปัญญาในความต่างแห่งสมาบัติ เป็นสมาปัตตัฏฐญาณ [ญาณในความว่าสมาบัติ]

31. ปัญญาในความต่างแห่งวิหารสมาบัติ เป็นวิหารสมาปัตตัฏฐญาณ [ญาณในความว่าวิหารสมาบัติ]

32. ปัญญาในการตัดอาสวะขาด เพราะความบริสุทธิ์แห่งสมาธิอันเป็นเหตุไม่ให้ฟุ้งซ่าน เป็น อานันตริกสมาธิญาณ [ญาณในสมาธิอันมีในลำดับ]

33. ทัสนาธิปไตย ทัสนะมีความเป็นอธิบดี วิหาราธิคม คุณเครื่องบรรลุ คือวิหารธรรมอันสงบ และปัญญาในความที่จิตเป็นธรรมชาติน้อมไปในผลสมาบัติอันประณีต เป็นอรณวิหารญาณ [ญาณในวิหารธรรมอันไม่มีกิเลสเป็นข้าศึก]

34. ปัญญาในความเป็นผู้มีความชำนาญ ด้วยความเป็นผู้ประกอบด้วยพละ ๒ ด้วยความระงับสังขาร ๓ ด้วยญาณจริยา ๑๖ และด้วยสมาธิจริยา ๙ เป็นนิโรธสมาปัตติญาณ [ญาณในนิโรธสมาบัติ]

35. ปัญญาในความสิ้นไปแห่งความเป็นไปแห่งกิเลสและขันธ์ของบุคคลผู้รู้สึกตัว เป็นปรินิพพานญาณ

36. ปัญญาในความไม่ปรากฏแห่งธรรมทั้งปวง ในการตัดขาดโดยชอบและในนิโรธ เป็นสมสีสัฏฐญาณ [ญาณในความว่าธรรมอันสงบและธรรมอันเป็นประธาน]

37. ปัญญาในความสิ้นไปแห่งกิเลสอันหนา สภาพต่างๆ และเดช เป็นสัลเลขัฏฐญาณ [ญาณในความว่าธรรมเครื่องขัดเกลา]

38. ปัญญาในความประคองไว้ซึ่งจิตอันไม่หดหู่และจิตที่ส่งไป เป็นวิริยารัมภญาณ

39. ปัญญาในการประกาศธรรมต่างๆ เป็นอรรถสันทัสนญาณ [ญาณในการเห็นชัดซึ่งอรรถธรรม]

40. ปัญญาในการสงเคราะห์ธรรมทั้งปวงเป็นหมวดเดียวกันในการแทงตลอดธรรมต่างกัน และธรรมเป็นอันเดียวกัน เป็นทัสนวิสุทธิญาณ

41. ปัญญาในความที่ธรรมปรากฏ โดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น เป็นขันติญาณ

42. ปัญญาในความถูกต้องธรรม เป็นปริโยคาหนญาณ [ญาณในความย่างเข้าไป]

43. ปัญญาในการรวมธรรม เป็นปเทสวิหารญาณ [ญาณในวิหารธรรมส่วนหนึ่ง]

44. ปัญญาในความมีกุศลธรรมเป็นอธิบดีเป็นสัญญาวิวัฏฏญาณ [ญาณในความหลีกไปด้วยปัญญาที่รู้ดี]

45. ปัญญาในธรรมเป็นเหตุละความเป็นต่างๆ เป็นเจโตวิวัฏฏญาณ [ญาณในการหลีกออกจากนิวรณ์ด้วยใจ]

46. ปัญญาในการอธิษฐาน เป็นจิตตวิวัฏฏญาณ [ญาณในความหลีกไปแห่งจิต]

47. ปัญญาในธรรมอันว่างเปล่า เป็นญาณวิวัฏฏญาณ [ญาณใน ความหลีกไปด้วยญาณ]

48. ปัญญาในความสลัดออก เป็นวิโมกขวิวัฏฏญาณ [ญาณในความหลีกไปแห่งจิตด้วยวิโมกข์]

49. ปัญญาในความว่าธรรมจริง เป็นสัจจวิวัฏฏญาณ [ญาณในความหลีกไปด้วยสัจจะ]

50. ปัญญาในความสำเร็จด้วยการกำหนดกาย [รูปกายของตน] และจิต [จิตมีญาณเป็นบาท]เข้าด้วยกัน และด้วยสามารถแห่งความตั้งไว้ซึ่งสุขสัญญา [สัญญาประกอบด้วยอุเบกขาในจตุตถฌานเป็นสุขละเอียด] และลหุสัญญา [สัญญาเบาเพราะพ้นจากนิวรณ์และปฏิปักขธรรม] เป็นอิทธิวิธญาณ [ญาณในการแสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ]

51. ปัญญาในการกำหนดเสียงเป็นนิมิตหลายอย่างหรืออย่างเดียวด้วยสามารถการแผ่วิตกไป เป็นโสตธาตุวิสุทธิญาณ [ญาณอันหมดจดแห่งโสตธาตุ]

52. ปัญญาในการกำหนดจริยาคือ วิญญาณหลายอย่างหรืออย่างเดียว ด้วยความแผ่ไปแห่งจิต ๓ ประเภท และด้วยสามารถแห่งความผ่องใสแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นเจโตปริยญาณ [ญาณในความกำหนดรู้จิตผู้อื่นด้วยจิตของตน]

53. ปัญญาในการกำหนดธรรมทั้งหลายอันเป็นไปตามปัจจัย ด้วยสามารถความแผ่ไปแห่งกรรมหลายอย่างหรืออย่างเดียว เป็นบุพเพนิวาสานุสสติญาณ [ญาณเป็นเครื่อง ระลึกถึงชาติก่อนๆ ได้]

54. ปัญญาในความเห็นรูปเป็นนิมิตหลายอย่างหรืออย่างเดียว ด้วยสามารถแสงสว่าง เป็นทิพจักขุญาณ

55. ปัญญาในความเป็นผู้มีความชำนาญในอินทรีย์ ๓ ประการ โดยอาการ ๖๔ เป็นอาสวักขยญาณ [ญาณในความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย]

56. ปัญญาในความกำหนดรู้ เป็นทุกขญาณ

57. ปัญญาในความละ เป็นสมุทยญาณ

58. ปัญญาในความทำให้แจ้ง เป็น นิโรธญาณ

59. ปัญญาในความเจริญ เป็นมรรคญาณ

60. ทุกขญาณ [ญาณ ในทุกข์]

61. ทุกขสมุทยญาณ [ญาณในเหตุให้เกิดทุกข์]

62. ทุกขนิโรธญาณ [ญาณในความดับทุกข์]

63. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาญาณ [ญาณในข้อปฏิบัติ เครื่องให้ถึงความดับทุกข์]

64. อรรถปฏิสัมภิทาญาณ

65. ธรรมปฏิสัมภิทาญาณ

66. นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ

67. ปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ




68. อินทริยปโรปริยัติญาณ [ญาณในความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย]

69. อาสยานุสยญาณ [ญาณในฉันทะเป็นที่มานอนและกิเลสอันนอนเนื่องของสัตว์ทั้งหลาย]

70. ยมกปาฏิหิรญาณ [ญาณในยมกปาฏิหาริย์]

71. มหากรุณาสมาปัตติญาณ

72. สัพพัญญุตญาณ

73. อนาวรณญาณ


ญาณเหล่านี้รวมเป็น 73 ญาณ ในญาณทั้ง 73 นี้ ญาณ 67 [ข้างต้น] ทั่วไปแก่พระสาวก

ญาณ 6 [ในที่สุด] ไม่ทั่วไปด้วยพระสาวก เป็นญาณเฉพาะพระตถาคตเท่านั้น ฉะนี้แล ฯ .


ศึกษารายละเอียดที่ถูกต้องเพิ่มเติมได้จากพระไตรปิกออนไลน์ครับ
http://www.tipitaka.com/tipitaka31.htm


เจริญในธรรมครับ


อภิปัญโญ ภิกขุ



วิปัสสนาคืออะไร?

วิปัสสนาคือ...คิดดี

ต่างจากสมถะอย่างไร

สมถะ...เพื่อรวบรวมจิตสำหรับใช้คิดดีจ้า....อะ อะ อะ อะ



อนุโมทนาครับท่านอภิปัญโญ

การบิดเบือนคำสอนโดยไม่เจตนาของเถระ-ภิกษุบางรูปที่คิดค้นเพียรหาวิธีปฏิบัติ
อันเป็นแบบง่ายๆ เข้าใจง่ายๆให้ถูกจริต(ทิฏฐิ) ด้วยความไม่รู้ชัดนี้น่าเป็นห่วงต่อ
พระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง เพราะศาสนิกชนเองก็ไม่ได้ตรวจสอบและศึกษาจาก
พระไตรปิฎก มัวมุ่งได้แต่หวังพึ่งในคำสอนของท่านเหล่านั้น โดยคิดว่านั่นเป็นคำสอน
ที่เที่ยงตรงถูกต้อง ด้วยให้ความเคารพเชื่อถือโดยความนิยมที่เกิดจากปัจจัยภายนอก

ตราบใดที่ภิกษุในพระศาสนานี้ไม่ศึกษา(ปริยัติ) ปฏิบัติจากพระไตรปิฎก
แต่กลับยึดตำราที่แต่งขึ้นหลังๆจากพระเถระบางรูปเป็นหลักสูตร
โดยไม่มีการตรวจสอบ ก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงให้สัทธรรมปฏิรูป(ธรรมปลอม)เจริญ
มากขึ้นได้ในปัจจุบัน

ปัญญาของปุถุชนนั้น สั่งสมอนุสัยกิเลสมานับไม่ถ้วน การปรุงแต่งเอง แต่งตำราเอง
นำปฏิบัติโดยไม่ยึดสัทธรรมของพระพุทธองค์ที่ปรากฎในพระไตรปิฎกไว้เป็นเข้มทิศนั้น ย่อมไม่พ้นวนเวียนอยู่ในโมหะ(หลง) พาพ้นกองทุกข์นี้ไปไม่ได้หรอกครับ
(ผู้นำสอนเองต้องรับวิบากกรรม คือภาระที่ต้องรับผิดชอบต่อผู้ปฏิบัติตามท่านในภาย
ภาคหน้าแน่นอนครับ)

แต่ก็นั้นแหละครับ บ้างมิได้หวังในพระนิพพาน ก็พอใจเพียงความสุขสงบที่เป็น
กองกุศลชนิดที่เป็นโลกียะวิสัยที่ยังวนข้องอยู่ในวัฏฏะสังสารนั้นเอง ก็ธรรมดาๆครับ




 4,154 

  แสดงความคิดเห็น


RELATED STORIES




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย