อะปะมาโรอีกที(แก้ไข)

 คืนถิ่น    18 พ.ย. 2553

ผมไป copy รายละเอียดของเรื่องบุคคลห้ามบวชจากพระไตรปิฎกฉบับประชาชนมาน่ะครับและขอถือโอกาสแก้คำผิดด้วยนะครับ

อนุปสัมบัน ต้องพิมพ์แบบนี้ครับ คราวที่แล้วผมพิมพ์ผิดน่ะครับ แล้วในส่วนที่บอกว่าไม่รู้คำแปลของคำขอบวชนั้นส่วนที่ควรรู้ก็รู้นะครับ เช่น ศีล 5 ,8 คำสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ และ อื่นๆที่ควรรู้ในฆราวาสวิสัยนะครับ สิ่งเหล่านี้ขอละไว้ในฐานที่เข้าใจนะครับ มาอ่านที่เคยตั้งกระทู้ไว้อีกทีเลยพยายามเช็คว่าตรงไหนอาจจะกลายเป็น "มุสาวาท" ที่ไม่ได้ตั้งใจได้บ้าง ก็พยายามแก้ให้ถูกธรรมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้อ่ะครับ


ห้ามบวชให้คนเป็นโรค ๕ ชนิด
สมัยนั้น มีโรค ๕ ชนิดเกิดขึ้นมากในแคว้นมคธ คือโรคเรื้อน, โรคฝี, โรคกลาก, โรคมองคร่อ และโรคลมบ้าหมู๑ มนุษย์ทั้งหลายที่เป็นโรคเหล่านี้ ก็พากันไปหาหมอชีวกเพื่อให้ช่วยรักษาให้. หมอชีวกไม่รับรักษา อ้างว่า มีภาระต้องรักษาพระราชา, บุคคลในราชสำนักและภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข, คนเหล่านั้นเห็นไม่มีทางอื่น จึงขอบวช ภิกษุทั้งหลายก็บวชให้ เป็นภาระแก่ภิกษุทั้งหลายที่จะต้องพยาบาล. แม้หมอชีวกเองก็ต้องทำงานหนักจนเสียราชกิจ. ชายคนหนึ่งออกบวชให้หมอชีวกรักษา พอหายแล้วก็สึกไป. หมอชีวกเห็นเข้าจำได้ ถามทราบความ ก็ติเตียน. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติวินัย ห้ามบวชแก่คนเป็นโรค ๕ ชนิด ผู้ใดบวชให้ ต้องอาบัติทุกกฏ.

ห้ามบวชให้ข้าราชการ
เกิดความไม่สงบชายแดน พระเจ้าพิมพิสารตรัสสั่งมหาอำมาตย์ที่เป็นนายทัพให้ไปปราบ มีหลายคนหนีไปบวช ภิกษุทั้งหลายก็บวชให้ พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงขอให้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติวินัย มิให้พระบวชคนที่เป็นข้าราชการ เพราะอาจมีพระราชาที่ไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเบียดเบียนภิกษุเหล่านั้น. พระผู้มีพระภาคจึงตรัสห้ามบวชให้ข้าราชการ ทรงปรับอาบัติทุกกฏแก่ภิกษุที่บวชให้ (ในสมัยนี้ ผู้เป็นข้าราชการจะต้องมีใบอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ที่พระมหากษัตริย์ทรงมอบหมายให้อนุญาตแทนพระองค์, พระอุปัชฌายะและสงฆ์จึงบวชให้).

ห้ามบวชให้โจรที่มีชื่อ
สมัยนั้น โจรองคุลิมาลบวชอยู่ในสำนักภิกษุทั้งหลาย. คนเห็นก็ตกใจกลัวบ้าง สะดุ้งบ้าง วิ่งหนีบ้าง มีผู้ติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติวินัย ห้ามบวชให้โจรที่มีชื่อเสียงทรงปรับอาบัติทุกกฏแก่ภิกษุผู้บวชให้.

ห้ามบวชโจรที่ทำลายเครื่องพันธนาการ
ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารทรงประกาศมิให้ใครทำอะไร (เช่น จับกุม) บุคคลที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา. โจรผู้หนึ่งทำโจรกรรม ถูกพันธนาการด้วยเครื่องจองจำ แต่ทำลายเครื่องจองจำได้ จึงหนีไปบวช. คนทั้งหลายพากันติเตียนภิกษุผู้บวชให้. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติพระวินัย ห้ามบวชให้โจรที่ทำลายเครื่องพันธนาการ, ผู้บวชให้ ต้องอาบัติทุกกฏ.

ห้ามบวชบุคคลที่ไม่สมควรอื่นอีก
ได้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ภิกษุทั้งหลายให้บุคคลผู้ไม่สมควร มีผู้ติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรง
บัญญัติพระวินัย ห้ามบวชให้บุคคลผู้ไม่สมควรอื่นอีก คือ

โจรที่ถูกหมายประกาศให้ฆ่า
บุคคลที่ถูกโบยด้วยแส้ ถูกลงโทษแล้วเนรเทศ
บุคคลที่ถูกนาบด้วยเหล็กแดงให้เสียโฉม
บุคคลที่เป็นหนี้
บุคคลที่เป็นทาส

ให้บอกสงฆ์เมื่อจะโกนศีรษะคนบวช
เด็กลูกช่างทอง๒ ทะเลาะกับพ่อแม่ หนีมาบวช พ่อแม่มาถาม ภิกษุทั้งหลายไม่ทราบจึงปฏิเสธ ครั้นเขาพบว่ามาบวชก็ติเตียน หาว่าภิกษุเหล่านั้นพูดปด (ความจริงไม่รู้). พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาตให้บอกกล่าวสงฆ์เมื่อจะโกนศีรษะคนบวช (ภัณฑุกัมม์-การโกนศีรษะ).

ห้ามบวชผู้มีอายุยังไม่ครบ ๒๐
เด็ก ๑๗ คนขออนุญาตมารดาบิดาออกบวช ถึงเวลากลางคืนลุกขึ้นร้องไห้ขออาหาร, พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงบัญญัติพระวินัย ห้ามบวชให้คนมีอายุไม่ถึง ๒๐ ทั้งที่รู้อยู่ (ว่าอายุไม่ถึง). ถ้าบวชให้ให้จัดการตามควร. (มีวินัยที่อื่นปรับอาบัติปาจิตตีย์อยู่แล้ว).

๑. คำแปลโรคทั้งห้าชนิดนี้ เป็นไปตามที่ฝ่ายไทยเราเคยแปลกันมา มีข้อที่ควรอธิบาย คือโรคมองคร่อนั้น ได้แก่โรคที่เมีเสมหะแห้งอยู่ในลำหลอดปอด ได้สอบดูกับคำแปลของศาสตราจารย์ริดส์ เดวิดส์ ร่วมกับ โอลเดนเบอร์ก มีดังนี้ ๑. โรคเรื้อน (Leprosy) ๒. โรคฝี (Boils) ๓. โรคเรื้อนแห้ง (Dry leprosy) ๔. วัณโรคแห่งปอด ZConsumption) ๕. โรคลมชัก (Fit)
๒. ลูกช่างทองคนหนึ่ง ในภาษาบาลีใช้คำว่า กัมมารภัณฑุ ฝรั่งแปลว่า ลูกช่างทอง ซึ่งมีศีรษะโล้นหรือล้าน แต่อรรถกถาอธิบายไว้ว่า ไว้ผมแหยม ๕ แหยม ตรงอื่นโกนหมด
   




 4,213 

  แสดงความคิดเห็น


RELATED STORIES




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย