ความรู้สึกนึกคิดเป็นนานาจิตตัง

 หัวหอม    5 เม.ย. 2554

เมื่อเราอยู่ร่วมกัน ความรู้สึกนึกคิดของเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่เรามักจะยึดถือความรู้สึกนึกคิดของตัวเองเป็นใหญ่ เช่น ตุ๊กแกตัวเดียว ถ้ามันร้องแล้ว หลายคนก็คงนึกคิดไม่เหมือนกัน คนหนึ่งรู้สึกว่าไม่ชอบตุ๊กแก เพราะทำให้สถานที่สกปรก อีกคนหนึ่งก็ไม่ชอบ เพราะตุ๊กแกมีผิวหนังน่าเกลียด บางคนก็อาจจะกลัว แต่ก็มีบางคนที่ชอบ เพราะ ตุ๊กแกนี้กินได้ สมัยเด็กๆเคยกินอร่อยมาก หรือว่าชอบเพราะทำให้มีรายได้ ตอนสมัยเด็กๆเคยจับตุ๊กแกไปขาย ได้ค่าขนมมา บางคนก็คิดว่าตุ๊กแกนี้เสียงไพเราะดี


คนต่างชาติทำงานธนาคาร เขามาวัดมาฝึกสมาธิกับอาจารย์ คุยว่าผมชอบตุ๊กแก ผมชอบมาก มีความสุข ตอนเช้าอากาศเย็นๆ ฟังเสียงนก ฟังเสียงตุ๊กแกร้อง โอ้ ธรรมชาตินี่ดี แค่ฟังเสียงตุ๊กแกก็รู้สึกผ่อนคลาย คุ้มค่าขับรถจากกรุงเทพฯมาไกลกว่าจะถึงวัด เวลานอนคล้ายกับอยู่ในป่า ฟังเสียงตุ๊กแกแล้วรู้สึกมีความสุขดี


ตุ๊กแกตัวเดียวนี้ ถ้ามีสิบคนก็สิบความรู้สึก สิบความคิดเห็น ทีนี้เรารู้ไหม เราก็คือตุ๊กแก ทั้งๆที่ตัวเราเองไม่เหมือนตุ๊กแก แต่คนที่อยู่รอบตัวเราสิบคนนี้ ก็มีความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ กลัวเรา รู้สึกต่างๆนานา ถึงแม้เราเป็นคนดีขนาดไหน ใจดีขนาดไหน บางคนก็อาจจะไม่ชอบเรา ทั้งที่เราเองรู้สึกตัวชัดเจนว่า เราดำเนินชีวิตตามปกติ เราเป็นคนดี เป็นคนธรรมดา แต่บางคนก็ชอบเราบ้าง ไม่ชอบเราบ้าง กลัวเราบ้าง มีสารพัดความรู้สึก เราก็เลยเปรียบเหมือนเป็นตุ๊กแกตัวนั้น เราจึงควรเข้าใจความเป็นนานาจิตตัง เพื่อที่จะได้มีใจหนักแน่น ไม่แคร์ความนึกคิดของคนอื่นมาก หากเราคิดว่าเราทำดีทำถูกแล้วก็ให้มีความสุขกับการกระทำที่ดีของเราเอง ใครจะว่าอย่างไรก็ไม่เป็นอะไร เพราะความรู้สึกนึกคิดเป็นนานาจิตตัง

เมื่อใจของเราไม่ดี เช่นโกรธ น้อยใจ เป็นต้น ให้หยุดทำ หยุดพูด หยุดคิด เพราะเมื่อใจของเราไม่ดีแล้ว เราก็จะคิดไม่ดี ทำไม่ดี พูดไม่ดี มีความลำเอียงไปในเชิงลบไม่ได้มองตามความเป็นจริง สรุปก็คือถ้าใจของเราเสียๆแล้ว ทำอะไรๆ ผลก็จะออกมาไม่ดี ต้องหยุดหมดทุกอย่าง เมื่อจิตใจเป็นปกติ สุขภาพใจดีแล้วจึงค่อยลงมือทำ พูดหรือคิด

จากหนังสือวัคซีนธรรมะ และเล่มอื่นๆของ พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
   




นมัสการท่านมิตซูโอะ ฯ และสวัสดีคุณเจ้าของกระทู้ครับ เหมือนที่ผมเคยฟังพระมาเลยว่า
สุขเวทนาของคนคนหนึ่งอาจเป็นทุกขเวทนาของอีกคนหนึ่งก็ได้ หรือ อาจเป็นอทุกขมสุขเวทนาหรืออุเบกขาเวทนาของอีกคนหนึ่งก็ได้(ตรงนี้ผมเติมเองอ่ะครับ) พระท่านสอนเหมือนกันเลย สาธุ


• ขอเชิญชวนชาวพุทธร่วมเดินทางไปกราบสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ณ ประเทศอินเดีย-เนปาล

• มงคลที่ ๑๕ การให้ทาน - มงคล ๓๘ ประการ

• พิจารณาปัญญาจากสัจจธรรม

• วัดภคินีนาถ วรวิหาร

• เทศกาลวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนา

• ✨ขอเชิญร่วมเป็นเจ้าภาพบูรณะห้องผู้มาปฏิบัติธรรม 12 ห้อง ✨

RELATED STORIES




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย