เส้นทางสายเอก ของการปฏิบัติธรรม

 หัวหอม    16 เม.ย. 2554

พระพุทธเจ้าตรัสว่า หนทางเดียวที่จะทำให้สัตว์บริสุทธิ์ได้ หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้ คือ การเจริญสติปัฏฐาน 4 หรือเจริญวิปัสสนา

ผู้รู้ทั้งหลายต่างกล่าวว่า “การปฏิบัติธรรมย่อมนำสุขมาให้”

ถ้าเปรียบวิธีการปฏิบัติธรรมเป็นถนน ที่นำไปสู่ความสุขแล้ว การเจริญสติปัฏฐาน4 หรือเจเริญวิปัสสนาเป็นถนนสายเอก เพราะเป็นถนนที่จะนำเราไปสู่ความสุขที่แท้จริงและหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้ ไม่มีเส้นทางสายอื่นใดอีกแล้ว นอกจากเส้นทางสายนี้

สติปัฏฐาน 4 และวิปัสสนา เหมือนกันเพราะมีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน คือ เพื่อให้เราเข้าใจตัวตนของเราว่าคืออะไร

เอ เราคืออะไร เราคือมนุษย์ใช่ไหม? แล้วถ้าชาติหน้าเราเกิดบนสวรรค์ เราคือเทวดาหรือนางฟ้าหรอ? แล้วถ้าสมมุติเราทำผิดศีล5ซึ่งเป็นศีลของผู้ที่จะเกิดเป็นมนุษย์ เมื่อเราตายไปๆเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เราคือสัตว์เดรัจฉานหรอ? หรือว่าเราคือจิตวิญญาณดวงกลมๆเหมือนในละคร? เอ สรุปแล้ว เราคืออะไร?

ถ้าอยากจะรู้เราก็ต้องมาพิจารณาตัวของเรา พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตัวของเรานี้ประกอบด้วย ร่างกาย กับ จิตใจ

ร่างกาย เป็นรูปธรรม ส่วน จิตใจเป็นนามธรรมซึ่งประกอบด้วย

1.เวทนา แปลว่าความรู้สึก เช่น ความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ ดีใจ เสียใจ หรือแม้กระทั่งความรู้สึกเฉยๆ
2.สัญญา แปลว่า ความจำ ความจำต่างๆของเราในสมอง สิ่งที่ได้เคยพบเห็นมา สิ่งที่เคยได้ยินมา เป็นต้น
3.สังขาร แปลว่า ความนึกคิด เช่น นึกคิดต่างๆ นึกอยากจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ นึกอยากจะกินไอศครีม นึกอยากจะเดินเล่น เป็นต้น
4.วิญญาณ แปลว่า ความรับรู้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เช่น เมื่อตาของเราเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นชิมรสชาด กายได้สัมผัส ใจนึกคิดอะไร ก็เกิดความรับรู้

เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ประกอบกันเป็นจิตใจของเรา

เมื่อตัวของเราประกอบด้วยร่างกายกับจิตใจ สรุปแล้วตัวของเราคือ กาย เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ 5อันนี้ พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า ขันธ์ 5

การเจริญวิปัสสนาอันเป็นทางสายเอกของการปฏิบัติธรรม ก็คือการพิจารณาขันธ์ 5 ซึ่งก็คือตัวของเราเองนี้ตามความเป็นจริง

พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสอีกว่า ความเป็นจริงนี้ มีลักษณะอยู่ 3 ประการ เรียกว่า ไตรลักษณ์
ไตร แปลว่า สาม ลักษณ์ มาจาก คำว่าลักษณะ ไตรลักษณ์คือลักษณะ 3 ประการ คือ

1.อนิจจัง แปลว่า ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน
2.ทุกขัง แปลว่า ความคงสภาพไม่ได้
3.อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ของเขา สรุปแล้วก็คือไม่มีตัวตน

ลำดับแรกเราอาจจะเริ่มพิจารณาจากกายก่อนก็ได้

1.กาย
ร่างกายของเรานี้ ตอนเกิดมาใหม่ๆก็มีขนาดเล็ก พ่อแม่หรือผู้มีพระคุณท่านก็เลี้ยงเรามา ให้อาหาร น้ำดื่มแก่เรา ร่างกายของเราก็ค่อยๆเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เป็นหนุ่มเป็นสาวเป็นผู้ใหญ่ แล้วก็ค่อยๆแก่ลงเรื่อยๆ จากที่ดูแล้วสวยงาม ร่างกายแข็งแรง ก็ค่อยๆเสื่อมลงเรื่อยๆ ถ้ามีอายุยืนมากๆร่างกายที่ใช้งานมานานก็หมดสภาพ อาจจะต้องนั่งหรือนอนเฉยๆ จนในที่สุดเราก็ต้องตาย ต้องทิ้งร่างกายอันนี้ไป สละร่างกาย ญาติๆของเราก็เอาไปเผาให้ เมื่อเผาแล้วก็ไม่มีอะไรเหลือ นอกจากเศษฝุ่น ส่วนเราถ้ายังมีกิเลสอยู่ก็ไปเกิดชาติใหม่ มีร่างกายอันใหม่อาจจะไม่เหมือนเดิม อาจจะดีกว่าเดิม หรือแย่กว่าเดิมก็ขึ้นอยู่กับการรักษาศีล ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ร่างกายของเรานี้ เป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน คงสภาพไม่ได้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา หรือถ้าพิจารณากายของคนอื่น ก็ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ของเขา กายไม่มีตัวตน

มีใครยังไม่เชื่ออีกไหม ว่ากายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ถ้าเชื่อแล้วก็ไปพิจารณา เวทนาต่อไปก็ได้

2.เวทนา
ความรู้สึกของเรา ใครเคยดีใจบ้าง ทุกคนก็เคยดีใจ แล้วใครเคยเสียใจบ้าง ทุกคนก็เคยเสียใจ แล้วใครเคยรู้สึกเฉยๆบ้าง ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ ทุกคนก็เคยรู้สึกเฉยๆ ถ้าเรานึกย้อนไปในอดีตถึงตัวเรา ความรู้สึกของเรามันก็มีมากมาย สุขมากก็มี สุขหน่อยนึงก็มี เป็นทุกข์มาก เช่นสูญเสียของรัก หรือคนที่เรารัก ก็มี เป็นทุกข์นิดหน่อยก็มี ไม่สุขไม่ทุกข์ เฉยๆก็มี เราก็จะเห็นได้ว่า ความรู้สึกของเรามันก็จะเปลี่ยนแปลงไปอยู่เรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็สุข แล้วเดี๋ยวมันก็ทุกข์ ก็ความจริงมันก็เป็นอย่างนี้ คือความรู้สึกของเรามันไม่เที่ยงแท้แน่นอน มันคงสภาพไม่ได้ จะบอกว่าเราสุขก็ไม่ใช่ เพราะเดี๋ยวมันก็ทุกข์ จะบอกว่าเราทุกข์ก็ไม่ใช่อีก เพราะเดี๋ยวมันก็สุข หรือต่อไปอาจจะรู้สึกเฉยๆ เพราะฉะนั้นเมื่อความรู้สึกมันไม่เที่ยงแท้แน่นอน มันคงสภาพไม่ได้ มันจึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา หรือถ้าพิจารณาจากความรู้สึกของคนอื่น มันก็ไม่ใช่เขา และไม่ใช่ของเขา เวทนาไม่มีตัวตน

ทีนี้ เมื่อเราพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว ก็เห็นว่า กาย และแวทนา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของๆเรา กายและเวทนาไม่ใช่เขา ไม่ใช่ของๆเขา แล้วยังเหลืออะไรอีกที่เป็นเรา สรุปแล้วเราเป็นอะไร?

ก็เหลืออีก 3 ขันธ์ คือ สัญญา สังขาร และก็วิญญาณ

3.วิญญาณ
ความเข้าไปรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สิ่งเหล่านี้ล้วนอาศัยกาย ถ้าไม่มีกายสิ่งเหล่านี้ก็ไม่มี เราก็ได้พิจารณามาตั้งแต่ต้นแล้วว่า กาย ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ของเขา เพราะฉะนั้น วิญญาณคือความเข้าไปรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ของเขา ไม่มีตัวตน

4.สัญญา
ความจำ พวกเราเคยจำอะไรแล้วลืมไหม? อันนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนเป็นหมด เพราะความจำมันก็เป็นของไม่เที่ยง คงสภาพไม่ได้ จะบอกว่าเราจำสิ่งๆนี้ได้ก็ไม่ใช่ วันหนึ่งก็ต้องลืม อย่างมากที่สุดก็แค่ในชาตินี้ เพราะฉะนั้นสัญญาจึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ของเขา เป็นอนัตตา คือไม่มีตัวตน

อันสุดท้าย

5.สังขาร
ความนึกคิดปรุงแต่ง ก็เหมือนๆกับกาย เวทนา สัญญา วิญญาณ คือเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเหมือนกัน ความนึกคิดปรุงแต่ง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ของเขา ไม่มีตัวตน
สรุปแล้วก็คือ ขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ของเขา เป็นอนัตตาคือ ไม่มีตัวตน

ใครหาตัวของเราเจอแล้วบ้าง?

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ยังกิญจิสะมุทะยะธัมมัง สัพพันตังนิโรธะธัมมัง” สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งเหล่านั้นทั้งหมดย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา

เมื่อไม่มีกาย จิตใจก็ไม่มี เหมือนก้อนเมฆที่เมื่อตกลงมาเป็นฝนแล้ว เมฆก็สลายไป

แล้วทำไมเราถึงเกิดขึ้นมา?

ตอบ เพราะมีกิเลสเป็นเหตุ ถ้าหมดกิเลส ก็ไม่ต้องเกิดอีกต่อไป

“ มีสุข คุ่กับ หมดสุข
มีทุกข์ คู่กับ หมดทุกข์
มีอะไรๆก็ตาม คู่กับ ไม่มี ”

ผู้สนใจในรายละเอียด สามารถอ่านได้จากหนังสือชื่อ “อานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข” ของพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
   




สาธุ....ก็เคยว่าบทสวดมนต์ที่เราสวดทุกวันที่ว่ากายไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยงนี้ หมายถึงอะไร ก็เริ่มจะเข้าใจแล้ว ขอขอบพระคุณมาก ๆ ค่ะ


• "ทุกชีวิต ล้วนเป็นไปตามกรรม" (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)

• ฝึกสมาธิง่ายๆ 5 นาที ตามแบบฉบับคุณหมอสันต์ (5 Minutes Meditation)

• ทำโลโก้ลงบนจานชามเมลามีนราคาพิเศษ

• "ปฏิบัติกันเถิด" (หลวงปู่ชา สุภัทโท)

• 📜ขายที่ดินเปล่า 60 ไร่ (มีโฉนด) ราคาไร่ละ 3 แสนบาท บ้านแดนพนา ต.พญาแก้ว อ.เชียงกลาง จ.น่าน

• ขอเชิญชวนชาวพุทธร่วมเดินทางไปกราบสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ณ ประเทศอินเดีย-เนปาล

RELATED STORIES




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย