คำขยายความของ "ลัทธิกรรมเก่า"

 คืนถิ่น    4 พ.ค. 2554

ได้อ่านในหนังสือพระท่านบอกว่า พระพุทธเจ้าสอนว่าลัทธินอกพระพุทธศาสนามีสามลัทธิ
สนใจในข้อหนึ่งที่ท่านกล่าวว่า "ลัทธิกรรมเก่า" ผมไม่เคยรู้ตรงจุดนี้มาก่อนว่า่มีคำอธิบายขยายความว่าอย่างไร
เนื่องจากเคยทราบจากการอ่านมาว่า การจุติ(ตาย)และการกำเนิดของสัตว์เป็นไปตามอำนาจกรรม เลยคิดว่าทุกสิ่งในชีวิตเราขึ้นอยู่กับ "อดีตกรรม" จึงมาหาคำขยายความของคำว่า "ลัทธิกรรมเก่า" รู้ความหมายแล้วก็ไม่อยากรู้คนเดียว อยากนำมาให้ท่านอื่นๆได้อ่านด้วย จึง ก็อบปี้ คำอธิบายตามที่ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ได้อธิบายไว้ในปี 2552 มาโพสท์ครับ


กรรมใหม่สำหรับทำ กรรมเก่าสำหรับรู้ -พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ. ปยุตฺโต)

จุดสังเกตสำคัญที่อยากจะเน้น คือ ใครก็ตามที่ปลงว่า แล้วแต่กรรม(เก่า) นั้น เขากำลังทำบาปใหม่ที่เกิดจากโมหะความหลงงมงาย คือ เขากำลังทำความประมาท ที่จะมีผลร้ายต่อไป


พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่ามีลัทธิเดียรถีย์(ติตถายตนะ) ผิดหลักพุทธศาสนา เพราะเป็นไปเพื่อการไม่กระทำ (พุทธศาสนาถือหลักการกระทำ)อยู่ ๓ ลัทธิ คือ
๑. ลัทธิกรรมเก่า
เรียกสั้นๆ ว่า ปุพเพกตวาท สุข-ทุกข์หรือไม่ ย่อมเป็นตามกรรมที่ได้ทำไว้แต่ปางก่กน
๒. พวกลัทธิพระเป็นเจ้าบันดาล
เรียกสั้นๆ ว่า อิศวรนิรมิตวาท สุข-ทุกข์หรือไม่ แล้วแต่เทพเจ้าดลบันดาล
๓. ลัทธิแล้วแต่โชค
เรียกสั้นๆ ว่า อเหตุวาท สุข-ทุกข์หรือไม่ ย่อมเป็นไปเอง

เรื่องกรรมที่เชื่อกันในแง่กรรมเก่านี้ มีจุดพลาดอยู่ ๒ แง่ คือ

๑. ไปจับเอาส่วนเดียวเฉพาะอดีต
ทั้งที่กรรมนั้นเป็นกลางๆ ไม่จำกัด ถ้าแยกตามกาลเวลาก็ต้องมี ๓ กรรม ต้องมองให้ครบ คือ
กรรมเก่า (ในอดีต)
กรรมใหม่ (ในปัจจุบัน)
กรรมข้างหน้า (ในอนาคต)
๒. มองแบบแยกขาดตัดตอน
ไม่มองให้เห็นความเป็นไปของเหตุปัจจัยที่ต่อเนื่องกันมาโดยตลอด
คือไม่มองเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา เลยไปมองเหมือน
กับว่ากรรมเก่าเป็นอะไรก้อนหนึ่งที่ลอยตามเรามาจากชาติก่อน
แล้วมารอทำอะไรกับเราอยู่เรื่อยๆ

จุดสังเกตในการทำความเข้าใจ
• หนึ่ง กรรมเก่าที่ทำทั้งหมด คือกรรมที่ได้ทำไปแล้ว ส่วนกรรมใหม่(ในปัจจุบัน) คือที่กำลังทำๆ อีกต่อไปก็จะกลายเป็นกรรมเก่า กรรมข้างหน้าก็ยังมาไม่ถึง เช่น ถ้าจะศึกษาหรือตัดสินคน ก็ดูจากกรรมเก่าย้อนหลังไปก็ใช้เป็นประโยชน์ได้
• สอง กรรมเก่านั้นสำคัญยิ่งต่อเราทุกคน เพราะเราแต่ละคนที่เป็นอยู่ขณะนี้ ก็คือผลรวมจากกรรมที่สะสมมา กรรมเก่านี้ก็ให้ผลแก่เราเต็มที่อยู่ เช่น เรามีวิสัยขีดความสามารถทางกาย วาจา ทางจิตใจ และปัญญาเท่าไร และจะทำอะไรต่อไปได้แค่ไหน ก็อยู่ที่กรรมเก่าดังว่า
• สาม แม้กรรมเก่าจะสำคัญมาก ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปสยบยอมต่อมัน แต่ตรงข้าม เรามีหน้าที่พัฒนากรรมเก่านั้นให้ดีขึ้น

สรุปวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องต่อกรรมทั้ง ๓ ส่วนว่า
กรรมใหม่ (ในปัจจุบัน) คือกรรมที่เราทำได้ และจะต้องตั้งใจทำให้ดีที่สุด
กรรมเก่า (ในอดีต) เราทำไม่ได้ แต่เราควรรู้ เอาความรู้จักนั้นมาใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปรับปรุงกรรมใหม่ให้ดียิ่งขึ้น
กรรมข้างหน้า (ในอนาคต) เรายังทำมันไม่ได้ แต่สามารถเตรียมหรือวางแผนเพื่อจะทำกรรมที่ดีที่สุด ด้วยการทำกรรมปัจจุบันที่จะพัฒนาเราให้ดีงามและงอกงามยิ่งขึ้น เมื่อเวลานั้นมาถึงเราก็จะสามารถทำกรรมที่เป็นกุศลอย่างเยี่ยมยอด

ขอย้ำอีกครั้งว่า กรรม ใหม่สำหรับทำ กรรมเก่าสำหรับรู้ อย่ามัวรอกรรมเก่าที่เราทำอะไรมันไม่ได้แล้ว แต่หาความรู้จากกรรมเก่านั้น เพื่อเอามาปรับปรุงการทำกรรมปัจจุบัน จะได้พัฒนาตัวเราให้สามารถทำกรรมอย่างเลิศประเสริฐได้ในอนาคต

ผมต้องพิมพ์ไว้อ่านก่อนน่ะครับ เพราะเคยเชื่อ(ตามๆกันมา) ในสิ่งที่ท่านสอนว่าเป็นจุดผิดพลาด เลยต้องนำไปพิจารณาว่าเราเคยพลาดตรงจุดไหน เลยถือโอกาสนำมาโพสท์ให้ท่านอื่นๆได้อ่านด้วยน่ะครับ
   




ที่ชาวพุทธไม่เข้าใจเรื่องกรรมและการให้ผลกรรม เพราะไม่เรียนอภิธรรม จิต เจตสิก รูป นิพพาน ปัจจยต่างๆ ก็เลยคิดเอาเองอย่างนั้นอย่างนี้ข้างเดียวแบบสุดโต่งบ้าง (นานๆจะเข้ามาที )


• ซีดีชุด อริยสัจ 4 พระอาจารย์ปัญญา นีลวณฺโณ - (( มรรค 8 )) # 4

• พระคุณแม่ทดแทนไม่รู้หมด

• วัดวังผาแดง ต.นาสวน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี

• ขอเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมบุญสมทบทุนถมดินถวายวัด ณ วัดท่าทองน้อย หลวงพ่อโต (ซำปอกง) ต.ศรีภิรมย์ อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก

• ผู้เชื่อกรรม ผู้เชื่อผลของกรรม

• บทสวดมนต์ วันวิสาขบูชา พ.ศ. ๒๕๖๒

RELATED STORIES




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย