อานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข

 หัวหอม    26 พ.ค. 2554

อานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข

อานะ (อัสสาสะ) คือ ลมหายใจเข้า
อาปานะ (ปัสสาสะ) คือ ลมหายใจออก
อานะ + อาปานะ = อานาปานะ คือ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
สติ คือ ความระลึกรู้ การกำหนดรู้ในปัจจุบัน ไม่ใช่การคิด จำเอา
อานาปานสติ คือ การกำหนดรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ในปัจจุบันแต่ละขณะ

ถ้าเราสามารถมีสติระลึกรู้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าในแต่ละขณะ หมายความว่าเราสามารถอยู่กับปัจจุบันแต่ละขณะได้

เราจะไม่ติดอารมณ์ เราจะไม่เก็บความรู้สึกเก่าๆ ที่เคยสร้างความขุ่นเคืองเศร้าหมองแก่จิตใจของเราเอาไว้ รวมทั้งไม่เก็บความจำที่เคยทำให้เรามีความสุขจนเราไม่อยากพลัดพรากจากความสุขนั้น

พระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่า
การระลึกรู้ลมหายใจเข้า – ออกนี้มีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่

พระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้ ครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ ได้บำเพ็ญอานาปานสติมาหลายภพหลายชาติ ในพระชาติสุดท้าย เมื่อครั้งที่พระองค์ยังทรงเป็นพระกุมาร ประทับใต้ร่มต้นหว้า ในคราวที่พระพุทธบิดาทรงประกอบพิธีแรกนาขวัญ ทรงกำหนดลมหายใจออก ลมหายใจเขา และได้บรรลุปฐมฌานในครั้งนั้น

ในวันที่ทรงตรัสรู้เป็นพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงประทับใต้ร่มศรีมหาโพธิ์ ก็ทรงอาศัยอานาปานสติเป็นพื้นฐาน

หลังจากตรัสรู้ก็ทรงใช้อานาปานสติเป็นวิหารธรรม ได้ทรงสอนลูกศิษย์ว่า ถ้ามีใครถามว่า พระสมณโคดมอยู่อย่างไรในพรรษา ให้ตอบว่า ท่านอยู่ด้วยอานาปานสติเป็นส่วนใหญ่

นิวรณ์5 : คบคนพาล พาลพาใจไม่สงบ

เราพยายามสร้างความพอใจที่จะอยู่กับกาย อยู่กับลมหายใจนี้ พยายามสำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และพยายามไม่ให้จิตนี้คิดออกไปภายนอก คือไม่ส่งจิตออกนอก

เมื่อใดก็ตามที่เราเกิดความรู้สึกไม่สงบ แสดงว่ามีเพื่อนเก่าแวะเข้ามาเยี่ยมเยียนเราแล้ว เพื่อนกลุ่มนี้มีชื่อว่า นิวรณ์5 ซึ่งก็คือความ “ไม่สงบ” คำเดียวนี่แหละ

นิวรณ์5 มีอะไรบ้าง
1.กามฉันทะ คือ ความชอบใจ พอใจ รักใคร่ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส
2.พยาบาท คือ ความคิดที่จะทะเลาะกัน ความขัดเคืองแค้นใจ ไม่ชอบสิ่งนี้ ไม่ชอบคนนี้ ความคิดปองร้ายอาฆาตพยาบาท
3.ถีนะมิทธะ คือ ความหดหู่ เซื่องซึม ง่วงเหงาหาวนอน ความขี้เกียจ
4.อุทธัจจกุกกุจจะ คือ ความคิดฟุ้งซ่าน ความรำคาญใจ คิดไปสารพัดอย่าง
5.วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย จะทำอะไรก็ทำไม่ได้เพราะทำไปได้นิดหน่อยก็เกิดความสงสัยขึ้นมา

เจริญอานาปานสติ : การเลือกคบกัลยาณมิตร ทำให้ไม่ติดอารมณ์

เมื่อเราได้ยินได้ฟังธรรมแล้ว ได้รู้จักเพื่อนใหม่ เป็นกัลยาณมิตร เป็นเพื่อนที่ดีจริงๆ คือ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกของตัวเราเองนี่แหละ
ลมหายใจอยู่กับเราตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้าน อยู่ที่ทำงาน หรือไปเที่ยวที่ไหน ขึ้นเขาหรืออยู่ในถ้ำคนเดียว ตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่กัลยาณมิตรท่านนี้อญู่กับเราตลอด แต่เราจะคบไม่คบขึ้นกับเราเอง

ในชีวิตประจำวันของเรา เมื่อทำงานเราก็ทำงานตามปกติ เราต้องพูด ต้องทำงาน ต้องสั่งงาน ลักษณะสับสนวุ่นวาย ต้องรีบทำงาน ทำอะไรหลายๆอย่าง ในกรณีเช่นนั้นก็ไม่ต้องนั่งกำหนดลมหายใจ ให้ตั้งใจทำในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ทำงานป็นปกติ ให้จิตอยู่กับปัจจุบัน อดีตก็ไม่สำคัญอนาคตก็ไม่ต้องห่วง ปัจจุบันนี่สำคัญ หลักอานาปานสติคือหลักปัจจุบันธรรม

ถ้าอยู่ด้วยอานาปานสติแล้วอย่างน้อยก็รักษาสุขภาพใจได้ดี สุขภาพกายก็ช่วยได้มาก แต่อย่างน้อยที่สุดก็รักษาสุขภาพใจตลอดไป ถึงแม้จะตายก็ตายด้วยใจดี นี่เป็นอานิสงส์ของการเจริญอานาปานสติ มีประโยชน์ขณะที่ตาย มีประโยชน์ต่อชาติหน้า หลายภพหลายชาติ

หายใจเข้าลึก ลึกกก หายใจออกยาว ยาววว หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย กลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น ให้ร่างกายได้รับโอโซนอย่างเต็มที่ ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง สมองแจ่มใส ให้ลมหายใจเข้าและออกมีความต่อเนื่องกัน ติดต่อกัน ค่อยๆปรับปรุงลมหายใจให้เข้าออกสบายๆเป็นธรรมชาติ

“อกขาตาโร ตถาคตา”
“พระตถาคต เป็นแต่เพียงผู้บอก ผู้ชี้แนวทาง”
“ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ”
“เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน”

หมายความว่า ผู้ปฏิบัติจะเป็นผู้รู้ เป็นผู้ได้ลิ้มรสชาติของการปฏิบัติเอง เราชิมรส สัมผัสพระธรรมแทนกันไม่ได้ ไม่สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ เช่น ถ้าเราได้ลิ้มรสผลไม้ที่มาจากต่างประเทศ อร่อยที่สุด เราจะอธิบายให้เพื่อนฟัง เราก็ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร ถึงจะอธิบายเท่าไร คนฟังก็เข้าใจไม่ได้ จึงต้องต่างคนต่างปฏิบัติ ต่างคนต่างสัมผัสด้วยตัวเอง จึงจะรู้ว่า “อ้อ เช่นนี้เอง” จึงจะหายสงสัยได้

คัดลอกจากบางส่วนของหนังสือ "อานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข" พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
   




การเจริญอานาปานุสติ
ที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก เป็นไฉน ?? .


อานาปานสติที่ถูกต้องเจริญดังนี้เจ้าค่ะ


• คาถามหาจักรพรรดิ ๙ จบ เปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี แผ่เมตตาให้แก่เจ้ากรรมนายเวร

• ราชสีห์ ๘ พี่น้อง (สิคาลชาดก)

• วัดวังผาแดง ต.นาสวน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี

• อย่าน้อยใจ ที่พ่อแม่ยากจน

• สจิตฺตมนนุรกฺขถ ท่านทั้งหลายจงตามรักษาจิตของตน

• พระธรรมทุกข้อตกอยู่ในกลุ่มอริยสัจ ๔

RELATED STORIES




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย