ศูนย์เผยแผ่ธรรมะออนไลน์ กัณฑกะ มีธรรมะดีๆมาฝาก

 กัณฑกะ    9 ธ.ค. 2554

ใน ศ า ส น า พุ ท ธ จำแนกพระอริยะ เป็น 2 แบบ 4 ประเภท คือพระเสขะ ผู้ที่ยังต้องศึกษาต่อ มีพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอเสขะ ผู้ที่ไม่ต้องศึกษาแล้ว มีพระอรหันต์

กำลังสมาธิในการบรรลุธรรมนั้น * พระโสดาบันและพระสกทาคามี ใช้เพียงอุปจารสมาธิเป็นขั้นต่ำ * ส่วนพระอนาคามีและพระอรหันต์ ใช้ปฐมฌานเป็นขั้นต่ำ

นี่เป็นสาเหตุที่พระอริยะจำนวนมากมายไม่มีฤทธิ์ เพราะผู้ได้ฤทธิ์อภิญญา จะต้องเป็นผู้คล่องในฌานสี่หรือสูงกว่าในขั้นอรูปฌาน พระอริยะเมื่อเห็นปรมัตถธรรมแล้ว ก็ไม่ค่อยนำพาต่อฤทธิ์เท่าใดนัก เพราะไม่ใช่ทาง นอกจากจะมีจริตฝักใฝ่เพื่อใช้ฤทธิ์ในประโยชน์ต่อไป

แม้จะเห็นว่าการบรรลุธรรมนั้นใช้สมาธิเพียงอุปจารสมาธิในอริยบุคคลขั้นต้น แต่อุปจารสมาธิก็ใช้ว่าจะเจริญได้ง่าย ยิ่งในยุคนี้.. ที่ผู้คนจิตใจฟุ้งซ่านไปด้วยความวิตกกังวล หรือลุ่มหลงไปกับความศิวิไลซ์ ทำให้ผู้ถึงธรรม นับวันจะน้อยลงไปทุกขณะ ทั้งที่ความรู้เรื่องศาสนาพุทธ มีให้ศึกษามากมาย เทียบกับสมัยก่อนแล้ว ไม่มีตำรา เพียงตั้งใจฟังพระพุทธเจ้าครั้งเดียว ก็สามารถเข้าสู่กระแสธรรมได้ แต่ตอนนี้ ทั้งตำรามากมาย เครื่องรางของขลังช่วยเหลือมีไม่จำกัด แต่ก็ดูเหมือนศาสนาพุทธจะกลายไปเป็นเพียงความรู้เสริมสมอง กลายเป็นพระเครื่องเฟื่องฟู หรือเป็นการนับถือพระนับถือเจ้าเพื่อวิงวอนร้องขอ ไม่ต่างไปจากศาสนาฮินดูเท่าไหร่

ธรรมะ ไม่ได้มีในผู้รู้แค่ตำรา บางคนเขียนหนังสือธรรมะวางขายไม่ใช่น้อย แต่ไม่สามารถหยุดใจให้ปล่อยวางได้ ทุกข์ไปกับราคะ-โทสะ-โมหะเสียจนเกินงาม เพราะธรรมะแต่มีเฉพาะนักปฏิบัติเท่านั้น ใครไม่รู้ตำราเลย แต่มีศีลมีธรรม หมั่นทำใจให้ว่าง แต่ไม่เขลาเบาปัญญา นั่นแล เป็นพุทธแท้

ก า ร เ จ ริ ญ ส ติ - ส ม า ธิ หรือภาวนา-สมาธิ หรือที่เรียกในสมัยก่อนว่า “สมาธิ-ภาวนา” ซึ่งนิยมมาเรียกกันว่า “วิปัสสนา” กลายเป็นวิปัสสนากรรมฐานที่มีหลายสำนักปฏิบัติ เปิดเป็นกรรมฐานรูปแบบต่างๆ ให้เลือกปฏิบัติได้ตามจริต ใครชอบอานาปานสติผสมการเคลื่อนไหว ก็ไปสายพองยุบได้ หรือไม่ชอบหลับตา ก็ไปสายแนวหลวงพ่อเทียนที่เน้นการเคลื่อนไหว โดยมีการคิดค้นท่าการเคลื่อนไหวที่ลงตัวเอาไว้ให้ปฏิบัติแล้ว

สมาธิ หมายถึง จิตใจแน่วแน่เป็นหนึ่ง ไม่แตกซ่าน จดจ่ออยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้
สติสัมปชัญญะ ทำงานร่วมกัน นิยมพูดด้วยคำสั้นๆ ว่าสติ ซึ่งก็หมายถึงสติสัมปชัญญะนั่นเอง สติ – หมายถึงการระลึกรู้ , สัมปชัญญะ – หมายถึงรู้ตัวทั่วพร้อม ...การเจริญสติ จึงหมายถึงทำความระลึกได้และรู้ตัวได้ ไม่หลงลืมตัวว่าทำอะไรอยู่หรือหลงตามความคิดไปไกลตัว การเจริญสติหรือการภาวนานั้น เป็นการกำหนดรู้รูปและนามด้วยการระลึกและรู้ตัวให้ได้โดยตลอด เสมือนเป็นการแต่งตั้งตัวรู้(สติ) เฝ้าตามรู้ตัวเอง รักษาไม่ให้ตกลงไปเป็นทาสอารมณ์กิเลส ที่เข้ามาจู่โจมตามความเคยชิน ที่เราทำมาอย่างคุ้นเคย จนกลายเป็นอนุสัยนอนเนื่อง ที่พร้อมปะทุขึ้นมาได้ทันที หากขาดสติ

การทำกรรมฐานแนววิปัสสนา มีทั้งแบบสมถวิปัสสนากรรมฐาน และแบบวิปัสสนากรรมฐาน

สมถวิปัสสนากรรมฐาน ..ที่จริงสมถกรรมฐานมีมานานก่อนศาสนาพุทธ หลังจากพุทธถือกำเนิด และใช้คำว่าวิปัสสนาแทนความหมายว่ากำหนดรู้เห็นตามจริง นำมาใช้ในสมถกรรมฐาน เท่ากับเป็นการต่อยอดกรรมฐานจากภูมิสมถะยกขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนา คือกำหนดเห็นตามจริงหลังจากที่มีกำลังสมาธิสูงมากพอดูแล้ว ต่างจากวิปัสสนาล้วน ที่กำหนดรู้รูปนามไปด้วยสติ จนสมาธิจากขณิกะมีกำลังตามขึ้นมาเอง เข้าสู่อุปจารสมาธิหรือขั้นฌานได้ด้วยสติ ยิ่งการภาวนามีกำลังมากขึ้นเท่าใด สมาธิแก่กล้าขึ้นเท่าใด กำลังในการประหารสังโยชน์อาสวะกิเลสก็มากขึ้นตามนั้น

วิปัสสนากรรมฐาน ..หรือการมีสติกำหนดรู้เห็นธรรมชาติตามจริง เป็นการกำหนดจิตให้อยู่กับกายและจิตเอง ไม่ฟุ้งซ่านไปกับความคิด (จิตที่ปรุงกิเลสตัณหาอุปาทาน) เพื่อให้จิตนี้เห็นรูป-นามตามธรรมชาติของมัน ว่ามีการเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป เป็นทุกข์ ทั้งรูปและนามไม่ใช่ตัวตน บังคับไม่ได้ ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ได้เป็นของเรา เมื่อจิตกำหนดได้ต่อเนื่องมากขึ้น สติไม่วอกแวก สมาธิมีการจดจ่อต่อเนื่อง จากขณิกะสมาธิ ก็เข้าสู่อุปจารสมาธิ หรือเข้าสู่ฌานสมาธิได้ แต่จะถึงฌานสี่หรือไม่แล้วแต่บุคคล เพราะการเข้าออกฌานสี่สามสองหนึ่ง ไม่ยากเกินไปสำหรับผู้ที่คล่อง พูดง่ายๆ วิปัสสนานั้น หากกำหนดดีๆ ต่อเนื่องไม่ขาดสาย สมาธิก็จะมีกำลังมากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับสมถะ-วิปัสสนา สมาธิมีกำลังมาก่อน ส่วนวิปัสสนานั้น สติมาก่อน เรียกว่าเมื่ออริยมรรคสมังคีพร้อมที่จะประหารกิเลสนั้น ตัวอริยสมาธิก็จะมีกำลังเสมออริยมรรคตัวอื่นๆ ในภายหลัง เพราะขณิกสมาธินั้น (สงบชั่วคราวแล้วถอนขึ้นมา) เป็นสมาธิทีละขณะ ไม่ต่อเนื่อง ฟุ้งซ่านไปกับเรื่องราวต่างๆ จึงขาดกำลัง แต่หากกำหนดสติให้ดีจนต่อเนื่อง สมาธิย่อมมีกำลังสูงขึ้นจนไปถึงอุปจารสมาธิหรือฌาน เพื่อนำมาใช้พิจารณาธรรมได้ ใช้ในการประหารกิเลสได้ วิปัสสนาจึงใช้ขณิกสมาธิให้เป็นประโยชน์ ด้วยการกำหนดรู้รูปนามอย่างต่อเนื่องจนมีกำลังขึ้นมาในภายหลัง

บุคคลที่มีสมาธิดี จึงเป็นผู้มีกำลังดี ขาดแต่ปัญญาอีกเพียงน้อย ส่วนบุคคลที่มีปัญญา หรือเจริญสติได้ดี จึงเป็นผู้ที่ต้องการกำลังสมาธิอีก เมื่อกำหนดตามรู้กายและจิตดีๆ มีสมาธิในการจดจ่อไม่ฟุ้งไป สมาธิก็จะรวมมีกำลังในภายหลังเพื่อนำมาใช้งานได้ (สมาธิทุกประเภทพึงทราบว่าเป็นเครื่องหนุนปัญญาได้ตามกำลังของตน คือสมาธิอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ก็หนุนปัญญาอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียดเป็นชั้นๆไป แล้วแต่ผู้มีปัญญาจะนำออกใช้ – หลวงตามหาบัว)

การบรรลุธรรม หรือตัดขาดจากสันโยชน์สิบนั้น จะต้องหลุดจากกิเลส-ตัณหา-อุปาทาน อันเป็นม่านมายาปิดปังความจริง ซึ่งจะต้องเจริญสติต่อเนื่องจนขาดจากการปรุงแต่งทางความคิดสิ้นเชิง (ความคิดดับ-ที่จริงคือขันธ์ดับ) เรียกมรรคสมังคีคืออริยมรรคมาประชุมเสมอกันในการประหารกิเลส หรือจะเรียกว่ามีอินทรีย์แก่กล้าคือมีเบญจพลเสมอกันในการประหารกิเลส หรือจะเรียกว่ามีศีล-สมาธิ-ปัญญาสมบูรณ์จึงประหารกิเลส หรือที่เรียกว่าเจริญสติปัฏฐานสี่ครบรอบจนทำอาสวะให้สิ้นไป ก็ได้


ผู้บรรลุธรรม (อรหันต์) มีกี่ประเภท


พระอรหันต์ผู้แจ้งในธรรมนั้น มี 2 แบบ 6 ประเภท
2 แบบคือ 1. เป็นพระปัญญาวิมุต 2. เป็นพระอุภโตภาควิมุต

1. พระปัญญาวิมุต คือผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา ได้แก่ท่านผู้มุ่งบำเพ็ญแต่วิปัสสนา อาศัยสมาธิเท่าที่จำเป็น พอเป็นบาทฐานของวิปัสสนาให้บรรลุอาสวักขยญาณเท่านั้น ไม่มีความสามารถพิเศษ ไม่ได้โลกียอภิญญา 5 จำแนกได้ดังนี้
ก. พระสุขวิปัสสก ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน ได้สมาธิระดับฌานต่อเมื่อถึงขณะแห่งมรรค
ข. พระปัญญาวิมุต ผู้ได้ฌานสี่อย่างน้อยขั้นหนึ่ง ก่อนเจริญวิปัสสนาให้บรรลุอรหัตตผล
ค. พระปฏิสัมภิทัปปัตตะ ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา 4 คือทรงปัญญาแตกฉาน 4 ประการ
1) อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ ปรีชาแจ้งเจนในความหมาย
2) ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม ปรีชาแจ้งเจนในหลัก
3) นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุกติ ปรีชาแจ้งเจนในภาษา
4) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ แจ้งเจนในความคิดทันการ

2. พระอุภโตภาควิมุต แปลว่าผู้พ้นโดยส่วนทั้งสอง คือหลุดพ้นจากรูปกายด้วยอรูปสมาบัติและหลุดพ้นจากนามกายด้วยอริยมรรค เป็นการหลุดพ้นสองวาระ คือด้วยวิกขัมภะ ข่มไว้ด้วยฌาน และด้วยสมุจเฉท ตัดกิเลสด้วยปัญญา จำแนกได้ดังนี้

ก. พระอุภโตภาควิมุต ผู้ได้สมถะถึงอรูปฌานอย่างน้อยขั้นหนึ่ง แต่ไม่ได้โลกียวิชชา โลกียอภิญญา

ข. พระเตวิชชะ เป็นอรหันต์ผู้ได้วิชชาสาม
1.ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ญาณอันเป็นเหตุระลึกได้ซึ่งขันธ์เคยอาศัย คือระลึกชาติได้
2.จุตูปปาตญาณ ญาณหยั่งรู้การจุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลายตามกรรม หรือเทียบได้กับทิพพจักขุ
3.อาสวักขยญาณ ญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปในอาสวะทั้งหลาย คือความรู้ที่ทำให้อาสวะสิ้นไป

ค. พระฉฬภิญญะ เป็นอรหันต์ผู้ได้อภิญญาหก
1.อิทธิวิธี ความรู้ที่ทำให้แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้
2.ทิพพโสต ญาณที่ทำให้มีหูทิพย์
3.เจโตปริยญาณ ญาณที่กำหนดรู้ความคิดนึกในใจของคนและสัตว์ได้
4.ปุพเพนิวาสานุสติ ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้
5.ทิพพจักขุ ญาณที่ทำให้เกิดตาทิพย์
6.อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นไป

ง. พระปฏิสัมภิทัปปัตตะ เป็นพระอรหันต์ประเภทพระอุภโตภาควิมุตและบรรลุปฏิสัมภิทา 4

รวมพระอรหันต์ 6 ประเภท ดังนี้
1. พระสุขวิปัสสก ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน ได้สมาธิระดับฌานต่อเมื่อถึงขณะแห่งมรรค
2. พระปัญญาวิมุต ผู้ได้ฌานสี่อย่างน้อยขั้นหนึ่ง ก่อนเจริญวิปัสสนาให้บรรลุอรหัตตผล
3. พระอุภโตภาควิมุต ผู้ได้สมถะถึงอรูปฌานอย่างน้อยขั้นหนึ่ง แต่ไม่ได้โลกียวิชชา โลกียอภิญญา
4. พระเตวิชชะ เป็นอรหันต์ผู้ได้วิชชาสาม
5. พระฉฬภิญญะ เป็นอรหันต์ผู้ได้อภิญญาหก
6. พระปฏิสัมภิทัปปัตตะ เป็นผู้บรรลุปฏิสัมภิทา 4

พระอรหันต์ที่เป็นทั้ง พระฉฬภิญญะและปฏิสัมภิทัปปัตตะ นับว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนครอบคลุมทั้งหมด   


ที่มา : ศูนย์เผยแผ่ธรรมะออนไลน์ กัณฑกะ www.youtube.com/witsanutripprasert


อนุโมทนา สาธุ


• กรรมทั้งปวงของแต่ละคน ย่อมเป็นไปตามอำนาจแห่งจิตใจ

• ดนตรีเพื่อสมาธิ4 (ผ่อนคลาย บำบัดความเครียด) Meditation music

• ขอเชิญชวนชาวพุทธร่วมเดินทางไปกราบสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ณ ประเทศอินเดีย-เนปาล

• ปฏิบัติธรรมวันสงกรานต์ แบบเจโตวิมุติ 12 - 15 เมษายน 2567 ณ ปัณฑิตารมย์สระบุรี

• "ทานกับความตระหนี่" (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)

• เพลง ความสุขเล็กๆ - เสถียรธรรมสถาน

RELATED STORIES




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย