พื้นฐานการปฏิบัติกรรมฐาน เพื่อการปฏิบัติที่ได้ผล

 ศรีโคมคำ    29 ธ.ค. 2554

โดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (ฤาษีลิงดำ) วัดท่าซุง.

...แต่ทว่าการเจริญพระกรรมฐานจะเป็นกสิณก็ดี อนุสสติก็ดี หรืออสุภกรรมฐานก็ดี อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัฏฐาน ๔ พรหมวิหาร ๔ ก็ตามทั้งหมด และเวลาขึ้นต้นใหม่ๆขึ้นเหมือนกัน การขึ้นต้นของกรรมฐานทั้งหมดก็คือ หนึ่งก่อนที่ทุกคนจะภาวนาหรือพิจารณาอย่างอื่นให้นึกถึงไตรลักษณญาณเสียก่อน ไตร แปลว่า สาม ญาณ คือ ความรู้ คือรู้ในลักษณะ ๓ ประการ ได้แก่ ๑. อนิจจัง ความไม่เที่ยง ๒.ทุกขัง ความทุกข์ ๓.อนัตตา การสลายตัว ให้มีความรู้สึกตามความเป็นจริงว่าร่างกายของเรานี่มีสภาพไม่เที่ยง มันมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้นและก็แปรปรวนค่อยๆ แก่ไป ทีละน้อยๆ ในท่ามกลาง ในที่สุดมันก็ตาย ร่างกายของเราถ้ายังทรงชีวิตอยู่เพียงใดก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ทุกข์คือความหิว ความกระหาย ความหนาว ความร้อน ความป่วยไข้ไม่สบาย การปวดอุจจาระ ปัสสาวะ การพลัดพลากจากของรักของชอบใจ ความตายที่จะมีถึงที่สุด ทั้งหมดนี้ทุกข์หมด เมื่อเราคิดอย่างนี้แล้วก็คิดว่าเราจะหนีการเกิดเพราะเกิดเป็นปัจจัยแห่งความทุกข์ ไอ่การทุกข์ทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วนี้มันมาจากการเกิด ถ้าเราไม่เกิดมันก็ไม่ตาย ถ้าเราไม่เกิดมันก็ไม่ป่วย ถ้าเราไม่เกิดมันก็ไม่หิว อย่างนี้เป็นต้น

วิธีที่จะหนีความเกิดทั้งหมดนี้ เฉพาะนักเรียนหรือญาติโยมก็ตามปฏิบัติเหมือนกัน เฉพาะนักเรียนเป็นกฎปฏิบัติของโรงเรียนโดยเฉพาะ ทุกคนต้องปฏิบัติได้ เพราะก่อนจะเข้าโรงเรียนนี้ทุกคนยืนยันว่าจะปฏิบัติในคุณธรรมตามที่จะกล่าวต่อไปและเจริญกรรมฐานได้ด้วย ว่าทุกคนต้องได้มโนมยิทธิแล้วจึงเข้าโรงเรียนนี้ได้ ก็เป็นอันว่านักเรียนทุกคนก่อนจะเข้ามาก็ได้กรรมฐานคือมโนมยิทธิและก็ยืนยันว่าจะปฏิบัติตามนี้ คือ
สังคหวัตถุ ๔ คำว่า สังคห แปลว่า การสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน มี ๔ อย่าง คือ ๑.ทาน การให้ ให้รู้จักสงเคราะห์ซึ่งกันและกันตามสมควร ๒.ปิยะวาจา พูดดี พูดเป็นที่รักของบุคคลผู้รับฟัง ๓.อัตถจริยา การช่วยเหลือการงาน เขาทำไม่ไหวเราช่วย ๔.สมานัตตตา คือไม่ถือตัวไม่ถือตน รวมความแล้วลักษณะ ๔ ประการนี้คือ ๑.รู้จักสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน ๒.พูดดีเป็นที่รักของบุคคลผู้รับฟัง ๓.ช่วยเหลือการงานซึ่งกันและกัน ๔.ไม่ถือตัวไม่ถือตนซึ่งกันและกัน ถ้าทั้ง ๔ อย่างนี้ใครทำได้บุคคลนั้นจะเป็นที่รักของทุกคนที่ประสบพบเห็นและคบหาสมาคม เพราะเป็นเสน่ห์ใหญ่จับใจบุคคลผู้พบเห็นและคบหาสมาคม

และก็คุณธรรมขั้นที่ ๒ คือ พรหมวิหาร ๔ คือ ๑.เมตตา ความรัก ๒.กรุณา ความสงสาร ๓.มุทิตา มีจิตอ่อนโยนไม่อิจฉาริษยากัน ๔.อุเบกขา วางเฉย เมื่อตื่นเช้าเราจะมีความรู้สึกและทำกำลังใจว่าเราจะเป็นมิตรที่ดีของคนและสัตว์ทั่วโลก ถ้าใครได้รับความลำบากเราจะสงสารสงเคราะห์ให้มีความสุขตามกำลัง ถ้าใครได้ดีเราจะพลอยยินดีด้วย ถ้าใครเพลี่ยงพล้ำมีความทุกข์ถ้าเราช่วยไม่ได้เราจะเฉยไม่ซ้ำเติม อันนี้เป็นคุณธรรมขั้นที่ ๒ ของนักเรียนจะต้องปฏิบัติ และญาติโยมพุทธบริษัทปฏิบัติด้วยก็ดี เพราะเป็นพื้นฐานเดิมในการเจริญพระกรรมฐานเป็นการปูพื้นฐานเพื่อการเจริญกรรมฐาน

ในขั้นต่อไปคือ ศีล ๕ ร่วมกรรมบถ ๑๐ ทางกาย ๑.ไม่ฆ่าสัตว์ ๒.ไม่ลักทรัพย์ ๓.ไม่ประพฤติผิดในกาม ๔.ไม่ดื่มสุราและเมรัย ทางวาจา มี ๔ คือ ๑.ไม่พูดปด ๒.ไม่พูดคำหยาบ ๓.ไม่พูดส่อเสียดยุให้เขาแตกร้าวกัน คือนินทาชาวบ้าน ๔.ไม่พูดวาจาเพ้อเจ้อเหลวไหลไร้ประโยชน์ ทางด้านจิตใจ มี ๓ อย่าง คือ ๑.ไม่คิดอยากได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่นใดมาเป็นของเราโดยไม่ชอบธรรม ๒.ไม่อาฆาตจองล้างจองผลาญใคร ความโกรธอาจจะมี โกรธแล้วก็แล้วกันไป ๓.ยอมรับนับถือคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและปฏิบัติตาม

ทั้งหมดนี้ขอบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทก็ดี ภิกษุสามเณรและบรรดาเด็กนักเรียนก็ตามทั้งหมด ความจริงแล้วต้องปฏิบัติได้ เพราะว่าเราเกิดมาเป็นมนุษย์เราพ้นอบายภูมิไปแล้ว ถ้าเราปฏิบัติตามกฏและคุณธรรมที่กล่าวมานี้ไม่ได้ก็หมายความว่าเราต้องไหลลงอบายภูมิไปใหม่ ตายจากความเป็นคนต้องลงนรก เป็นสัตว์นรกบ้าง เป็นเปรตบ้าง เป็นอสุรกายบ้าง เป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง เป็นแล้วมันหนักหรือเบา
ต่อไปนี้เรามาพูดถึงเรื่องกสิณ พื้นฐานที่พูดมาเมื่อกี้นี้มีความจำเป็นที่การจะปฏิบัติกรรมฐาน กรรมฐานจะทรงตัวหรือไม่ทรงตัวก็อาศัยพื้นฐานตามที่กล่าวมาแล้ว ถ้าพื้นฐานตามที่กล่าวมาแล้วครบถ้วน ฌานสมาบัติหรือสมาธิที่ได้จะไม่เคลื่อนจะไม่เศร้าหมอง...   


ที่มา : คัดบางส่วนจากเรื่อง เตโชกสิณ นิตยสารธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ ๓๑๔ ประจำเดือน พฤษภาคม ๒๕๕๐ หน้าที่ ๖๗-๖๙. ถอดความโดย ศรีโคมคำ.


สาธุ


• ๑๕.ปางถวายเนตร

• ."หยุดคิด จิตจึงจะมีกำลัง" (หลวงปู่ชา สุภัทโท)

• คำสอนหลวงพ่อ

• ขอเชิญชวนชาวพุทธร่วมเดินทางไปกราบสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ณ ประเทศอินเดีย-เนปาล

• ขอเชิญชวนชาวร้อยเอ็ดร่วมบุญทอดกฐิน

• อบรมหลักสูตร “พัฒนาจิตให้เกิดปัญญาและสันติสุข” *** ฟรี *** (๑๗-๒๕ เม.ย. ๒๕๖๗)

RELATED STORIES




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย