ทุกข์เกิดที่ไหน

     

ทุกข์เกิดที่ไหน
โดยพระครูพิศาลปัญโญภาส (คำดี ปัญโญภาส)

แม้ว่าธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงประกาศ หรือบัญญัติไว้มากมายหลายหัวข้อด้วยกัน แยกย่อยออกจากกาย วาจา และใจนี้ เพราะว่ากาย วาจา และใจนี้เป็นผู้กระทำทั้งสิ่งที่ดีและที่ชั่ว และเป็นผู้รองรับทั้งความสุขและความทุกข์

ซึ่งมีความเข้าใจกันว่าทุกข์อยู่ที่โน้น ทุกข์อยู่ที่นี่ แล้วก็ดิ้นรนหาทางแก้ทุกข์ เช่น เข้าใจว่าทุกข์อยู่กับการไม่มีทรัพย์สมบัติสิ่งของต่างๆและปัจจัยเครื่องใช้อะไรก็แล้วแต่ เช่นทุกข์เพราะไม่มีเงินเพียงพอ ไม่มีบ้าน ไม่มีรถยนต์ ไม่มีเครื่องใช้ทัดเทียมผู้อื่น เป็นต้น เราก็ไปโยนความทุกข์ไว้กับสิ่งของวัตถุภายนอก

แต่ถ้าเราพิจารณาให้ละเอียดลึกซึ้งลงไปแล้ว ทุกข์มันไม่ได้เกิดที่ข้างนอก ทุกข์มันอยู่ที่กาย วาจา และใจของเรา เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติเพื่อแก้ทุกข์เพื่อดับทุกข์ในเบื้องต้นนั้น เราเข้าใจว่าทุกข์อยู่ที่กาย เช่นทุกข์อยู่ที่ชาติความเกิด ทุกข์อยู่ที่ความชราความแก่ ทุกข์อยู่ที่พยาธิความป่วยไข้ และก็ทุกข์อยู่ที่ความตายความแตกดับ

แต่สำหรับผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมวินัยสำรวมใจของตน ให้เกิดความระงับจนเกิดปัญญาความรู้ตามสภาพความเป็นจริงแล้ว ทุกข์นั้นไม่ได้อยู่ที่เกิด ไม่ได้อยู่ที่แก่ ไม่ได้อยู่ที่เจ็บ และไม่ได้อยู่ที่ตาย เพราะสิ่งที่เกิดคือรูปธาตุสี่นั้นเป็นส่วนหนึ่งของ ดิน น้ำ ลม ไฟ จะเป็นรูปใครก็แล้วแต่ ฉะนั้นความทุกข์ไม่ได้อยู่ที่นั่น ความทุกข์อยู่ที่หัวใจ คืออยู่ที่ใจเป็นผู้รับรู้เรื่องนั้นที่ทำให้ทุกข์

ข้อนี้เราจะสังเกตเห็นได้ว่า อย่างความทุกข์เกิดขึ้นจากความเจ็บ ซึ่งเราเข้าใจว่าความเจ็บอยู่ที่กาย ฉะนั้นความทุกข์ แม้เราจะเข้าใจว่าชาติปิทุกข์ ทุกข์เพราะความเกิดนี้ความเกิดก็คือธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ แต่ว่าดิน น้ำ ลม ไฟ ถูกชราพยาธิคือความแก่ ความแตกดับ ความสลายแยกกันไป เราเข้าใจว่าทุกข์อยู่ที่นั่น อันที่จริงทุกข์อยู่ที่ “ใจ”เป็นผู้รับรู้

ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในอริยสัจอันเป็นสัจธรรมของจริงว่า ทุกข์ให้กำหนดรู้ รู้ว่าทุกข์นั้นมันมีจริง แล้วสาวหาสาเหตุและเหตุ เหตุมาจากไหนต้องแก้ที่เหตุ เหตุก็คือใจเราเองเป็นต้นเหตุมาแก้ที่ใจ เพราะใจเป็นต้นเหตุไปยึดทุกข์ ไปยึดสมมติ ยึดธาตุ ยึดขันธ์ ยึดรูป ยึดนามขึ้นมาจึงเป็นทุกข์ ยึดมากก็ทุกข์มาก ยึดน้อยก็ทุกข์น้อย ไม่ยึดไม่ทุกข์






ขอบคุณ คุณ popeye มากครับ
ที่นำแก่นธรรมมาสู่จิตใจของผู้ปฏิบัติ

รู้ทางแล้ว...แต่มันไม่ยอมก้าวเดินนี่ซิ....มันน่าเจ็บใจตัวเอง


ทุกข์เกิดจาก... อายตนะภายใน(ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) กระทบ(ผัสสะ)
กับอายตนะภายนอก (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธัมมารมณ์) แล้วเกิดเวทนา
--->ตัณหา--->อุปาทานขันธ์(ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์) -->ภพ-->ชาติ(เกิด แก่ เจ็บ ตาย
ความโศกเศร้ารำไรรำพัน ไม่สบายใจ ไม่สบายกาย คับแค้นใจ ..ฯ)

..ก็เวทนา ตัณหา อุปาทานขันธ์ อยู่ที่ใดเล่า?

..อยู่ที่"จิต" นั้นแหละ

ทุกข์เกิดที่ใด? ก็เกิดที่จิต ..จิตที่ยังคงประกอบตัณหาอันเข้าไปยึดมั่นถือมั่น
ในขันธ์๕ ..เป็นอุปาทานขันธ์๕ ..เรียกว่าเหล่านี้ "เกิดร่วม เกิดพร้อม" ในจิตนั้นเอง

การปฏิบัติธรรมด้วยมรรค๘(ทางดับทุกข์)นั้น ก็เพื่อทำให้ "จิต" นั้นบรรลุแจ้งใน
ธรรม เท่ากับเปลี่ยนจิตดวงใหม่(ที่ผุดขึ้นใหม่)นั้น เป็นจิตที่ผ่องใส บริสุทธิ
ปราศจากธุลี(กิเลส ตัณหา อุปาทาน)เพราะแจ้งในธรรม(ญาณ)นั้น
(บรรลุมรรค๔ ผล๔)ตามลำดับ

จำเริญในธรรมแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าครับ


ขอน้อมเอาคำตรัสของพระพุทธเจ้ามาอ้างอิงนะค่ะ "สิ่งใดทั้งปวงในโลกไม่ควรยึดมั่นถือมั่น" ค่ะ ทุกอย่างคือความว่างเปล่า


 4,120 

  แสดงความคิดเห็น


RELATED STORIES




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย