ทำไมเกิดความง่วงระหว่างทำสมาธิ

     

ตอนที่ข้าพเจ้านั่งสมาธิครั้งแรกจะไม่รู้สึกง่วง แต่ครั้งต่อๆไป พอเริ่มทำสมาธิทำไมง่วงมากๆ ทุกครั้ง และเกิดผลข้างเคียง คือ จะมีอาการซึมๆง่วงนอนตลอดเวลา แม้ไม่ได้นั่งสมาธิ




ทำไมเกิดความง่วงระหว่างทำสมาธิ

โดย : ผู้ใฝ่ธรรม [125.27.113.92] 29 พ.ค. 2551 11:53 น.

เป็นผลจากสมาธิตกลงจิต โมหะทั้งหลาย (โลภ โกรธ หลง) กำลังคลายตัวออกจากจิตเรา
ยังผลให้เกิดความง่วง ถ้าทำต่อไปเรื่อยๆ ความง่วงก็จะลดลงเรื่อยๆ ตามความมากน้อยที่จิตเคยเก็บสั่งสมไว้(ตัวจำ)ในอดีต เมื่อทนปฏิบัติไปทุกๆ วัน โมหะจะจางหายไป ความเป็นผู้ตื่น (พุทโธ) จะเข้ามาแทนที่ ต่อไปคุณก็จะมีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับ เพราะติดสุขจากความเป็นผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จากอำนาจของผลสมาธิที่ทำทุกๆ วัน แล้วตอนนั้นค่อยคุยกันจ้า....อะ อะ อะ อะ

ปล. คุณควรมีศีลอย่างน้อยหนึ่งข้อ เพื่อสมาธิที่คุณทำจะได้เป็น "สัมมาสมาธิ" นะจ๊ะ...



น้องม้า เอาอะไรมาตอบ ฝึกมาหรือลอกตำราเขามาจ้ะ





ถ้ามีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับแล้วจะแก้ยังไงครับ...ผู้ใฝ่ธรรม

รบกวนตอบด้วยครับ (ช่วยคลายความสงสัยด้วยครับ)


จะรออ่านอยู่นะครับ

ด้วยมิตรภาพเสมอ...แก้ม


ความง่วง เป็นหนึ่งใน นิวรณ์ ๕
นิวรณ์ หมายถึง สิ่งที่กั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณความดี
ไม่ให้บรรลุสมาธิได้ มี ๕ อย่าง คือ

๑. กามฉันท์ พอใจในกามคุณ ๕ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสทางกาย ที่น่ารักน่าใคร่
๒. พยาบาท คิดร้ายผู้อื่น
๓. ถีนมิทธะ ความหดหู่ ท้อแท้ และซึมเซา ง่วงซึม เคลิ้มหลับ
๔. อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน และหงุดหงิด รำคาญใจ
๕. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจในคุณพระรัตนตรัย และวิธีการที่ปฏิบัติ

วิธีแก้ ถีนมิทธะ คือ เดินจงกรมบ้าง ล้างหน้าบ้าง มองดูท้องฟ้าบ้าง เป็นต้น

เจริญธรรม



ถ้ามีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับแล้วจะแก้ยังไงครับ...ผู้ใฝ่ธรรม

รบกวนตอบด้วยครับ (ช่วยคลายความสงสัยด้วยครับ)

แก้ม (ผู้ชายครับกระผม) - 124.120.86.147 [29 พ.ค. 2551 14:49 น.] คำตอบที่ 3

ความหลับเป็นผลพวงมาจาก โมหะจิต (โลภ โกรธ หลง) ท่านแตกละเอียดลงไปเป็น...
นิวรณ์ห้า ดังมิตรตัวน้อยเขียนบอก

ความตื่น เป็นผลพวงของกุศลทั้งหลาย เมื่อจิตเป็นกุศล จะไปปลุก กุศลทั้งหลาย
ให้ตามมา เช่น ศรัทธา ความเพียร ความกตัญญู ความเคารพ การรู้จักธรรมตามความเป็นจริง ฯลฯ และกุศลอีกมากมาย....ตามจริตตน ความตื่นจึงไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว แต่เป็นสัญลักษณ์ของความดี

คุณควรปฏิบัติให้ถึงจุดนั้นให้ได้ก่อน....ถ้าสมาธิของคุณเป็นสัมมาสมาธิ
คือประกอบไปด้วยศีล แม้เพียงหนึ่งข้อ ความตื่นที่เกิดจากการปฏิบัติ จะนำธรรม
ที่ถูกจริตกับท่าน มาให้ท่านฝึกฝนเอง เมื่อเห็นธรรมนั้นได้ ก็จบพรหมจรรย์

แต่ถ้าสมาธิที่คุณปฏิบัติ ไม่ใช่สัมมาสมาธิ คือไม่มีศีลกำกับ ผลที่ใด้ยังคงอยู่
ภายใต้ โลภ โกรธ หลง ต่อไปจ้า....หาประโยชน์มิได้

"ลำดับแห่งนิวรณ์ธรรมสิ้นสุดลง....ปฐมฌาณก็ตั้งขึ้น...."


หากเวลานั่งสมาธิแล้วง่วง อาจจะเป็นเพราะตัวสมาธิมากกว่าตัวสติ ต้องเพิ่มตัวสติให้มากโดยหากเกิดอาการง่วงขึ้นมาให้เดินจงกรม แล้วค่อยมานั่งสมาธิ

เราต้องทำให้พละ 5 นั้นสมบูรณ์ วิปัสสนาญาณจึงจะก้าวหน้า

1.ศรัทธา
2.วิริยะ
3.สติ
4.สมาธิ
ปัญญา


ผู้ใฝ่ธรรม...
คำถามที่ดีคำถามหนึ่ง ในการปฏิบัติสมาธิภาวนา
ความง่วงงุน ความหดหู่ ปรากกฏ

พระพุทธองค์ ก็ได้เคยมีพุทธดำรัสเกี่ยวกับ ถีนมิทธะ ดังนี้

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=19&A=3082&Z=3189

[๕๒๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นอาหารให้ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น
หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความไม่ยินดี ความเกียจคร้านความบิดขี้เกียจ ความเมาอาหาร ความที่ใจหดหู่มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการในสิ่งเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น.
-----

ในกรณีของคูณผู้ใฝ่ธรรม ... คงจะพิจารณาได้กระมังว่า ปัจจัยใด เป็นเหตุให้เกิดความง่วงงุนและความหดหู่




ผู้ใฝ่ธรรม...

ยังมีพุทธดำรัส เกี่ยวกับเรื่องถีนมิทธะ ต่อไปอีกดังนี้ว่า
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=19&A=3277&Z=3327

๕๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมัยใด จิตหดหู่ สมัยนั้น มิใช่กาลเพื่อเจริญปัสสัทธิ
สัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะจิตหดหู่ จิตที่หดหู่นั้น ยากที่จะให้ตั้งขึ้นได้ด้วยธรรมเหล่านั้น

เปรียบเหมือนบุรุษต้องการจะก่อไฟดวงน้อยให้ลุกโพลง เขาจึงใส่หญ้าสด โคมัยสด ไม้สด พ่นน้ำ และโรยฝุ่นลงในไฟนั้น บุรุษนั้นจะสามารถก่อไฟดวงน้อยให้ลุกโพลงขึ้นได้หรือหนอ?

ภิ. ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า.
พ. ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตหดหู่ สมัยนั้นมิใช่กาลเพื่อเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะจิตหดหู่ จิตที่หดหู่นั้น ยากที่จะให้ตั้งขึ้นได้ด้วยธรรมเหล่านั้น.
-------

พุทธดำรัสตรัสชัดเจนนะครับว่า เมื่อง่วง หรือจิตหดหู่ ไม่ใช่เวลาทำสิ่งใด







ผู้ใฝ่ธรรม...
พุทธดำรัสยัง ตรัสสอนต่อไปอีกว่า

[๕๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมัยใด จิตหดหู่ สมัยนั้น เป็นกาลเพื่อเจริญธัมม-
*วิจยสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะจิตหดหู่ จิตที่หดหู่นั้น ให้ตั้งขึ้นได้ง่ายด้วยธรรมเหล่านั้น

เปรียบเหมือนบุรุษต้องการจะก่อไฟดวงน้อยให้ลุกโพลง เขาจึงใส่หญ้าแห้ง โคมัยแห้ง ไม้แห้ง เอาปากเป่าและไม่โรยฝุ่นในไฟนั้น บุรุษนั้นสามารถจะก่อไฟดวงน้อยให้ลุกโพลงขึ้นได้หรือหนอ?
ภิ. ได้ พระเจ้าข้า ฯ

พ. ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตหดหู่ สมัยนั้นเป็นกาลเพื่อเจริญ
ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญปีติสัมโพชฌงค์ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะจิตหดหู่ จิตที่หดหู่นั้น ให้ตั้งขึ้นได้ง่ายด้วยธรรมเหล่านั้น.

--------

เป็นการดีแล้วที่ คุณผู้ใฝ่ธรรม รู้ว่า จิตนั่นง่วงงุน จิตนั้นหดหู่
ธัมมวิจยได้ทำแล้ว
แต่ให้เร่งความเพียรลงไปอีก โดยให้เจริญปิติสร้าง เวทนาอันแช่มชื่นเป็นปิติในธรรมให้ได้ เมื่อจิตรู้แช่มชื่นเมื่อไร ความง่วงงุน ความหดหู่ ก็จะคลาย

เจริญธรรม




สวัสดีครับ...ผู้ใฝ่ธรรม [125.27.113.92]

เมื่อก่อนผมก็เป็นเช่นนี้ครับ เพราะเอาแต่สมาธิอย่างเดียว แล้วก็นั่งอย่างเดียว

สมัยนั้นไม่รู้เรื่องการเดินจงกรม ไม่รู้เรื่องการปฏิบัติ ต่อมาได้ไปกราบหลวงปู่ทางสาย

ปฏิบัติ ท่านก็เมตตาสั่งสอนแนะนำให้ ดังนี้

1. ให้ลุกขึ้นล้างหน้า แหงนดูฟ้า

2. ให้เปลี่ยนอิริยาบท ทั้งสามสลับกัน ได้แก่ นั่ง เดิน ยืน

3. เมื่อจิตเริ่มเป็นสมาธิ แค่เริ่ม อย่าให้เข้าสู่สมาธิ พอรู้ว่าจิตเริ่มเป็นสมาธิ ให้เริ่มการ

พิจารณากรรมฐานห้า คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง

แล้วให้พิจารณาอย่างต่อเนื่องในอิริยาบททั้งสาม โดยไม่ต้องเอาจิตเข้าสมาธิอีก


วิธีแก้คือให้รู้ความจริงไปเรื่อยๆ มันเป็นอย่างไร ทำความรู้ว่ามันเป้นอย่างนั้น มีอาการอย่างทำความรู้สึกตัวว่า มีอาการอย่างนั้น ทำความรู้สึกตัว เป็นวิธีแก้


ถึง ผู้ใฝ่ธรรม

จริงๆ แล้วข้างบนที่เขียนคำตอบมาก็ถูกทั้งหมดนะคะ ก็ลองเอามารวมๆกัน แล้วพิจารณดูก็น่าจะครบอยู่บ้าง แต่ของอนุญาติเสริมเพิ่มเติม ตัวเองไม่ได้เก่งอะไรเลยนะคะ แต่ถือว่าเล่าสู่กับฟัง ตามประสาเพื่อนๆกันคะ หรืออาจจะมีอย่างอื่นเพิ่มเติมอีกก็จะลองเข้ามาอ่านศึกษาดูเพื่อให้มุมมองกว้างขึ้นอีกคะ คิดเสียว่ามาเล่าประสบการณ์ให้ฟังแล้วกันนะจ๊ะ ^^

อันที่จิงก็เคยเจอปัญหานี้มาเหมือนกันคะ แต่นานมาแล้ว ตอนนี้ไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลยเราเอาชนะมันได้แล้ว พอนั่งแล้วง่วงนอน ก็ให้เปิดตาขึ้นเล็กน้อยพอให้มีแสงสว่างลอดเข้ามาไรๆ เท่านั้น แล้วก็กำหนดลมหายใจเข้าออกตามปกติ จนหายง่วงนอนแล้วก็ปิดตาสนิทอย่างเดิม โดยที่ไม่ต้องขยับตัวเลยนะคะ ที่นี้ก็จะนั่งได้นานเลย แต่เวทนา (ความปวดเมื่อยขา) ก็จะเข้ามาทดสอบแทน แต่ก็ถือว่าเป็นการทดสอบร่างกายไป ความง่วงนอนก็จะหายไปเลย กลายเป็นเราต้องสู้กับเวทนาแทน แต่เราว่าดีกว่าง่วงนะ เวทนาเราอดทนได้ ถ้าเรารู้จักแยกจิตออกจากกายได้ เราก็จะไม่ปวดไม่เมื่อย และตอนนี้ก็ชนะมันได้อีกแล้ว โดยอาศัยความเพียร (วิริยะ) ไม่ใช่เรื่องวิเศษอะไร มันเป็นของธรรมดาที่ใครฝึกก็สามารถทำได้ ทำได้หลายๆ ชั่วโมง ก็ไม่แปลก เพราะเราฝึกร่างกายมาดี ร่างกายเกิดความเคยชินและชำนาญก็เท่านั้น มันเป็นธรรมชาติของกายและจิต ความง่วงนอนซึ่งเป็นหนึ่งในนิวรณ์ห้านั้น ขจัดได้ด้วยความเพียร เมื่อเราเพิ่มความเพียรมากขึ้นมันก็จะหายไปเอง โดยธรรมชาติ แต่ต้องทำจริงถึงจะได้ (ที่เสนอนี่เป็นเพียงอุบายส่วนตัวที่เคยใช้ได้ผล แต่ตอนนี้ไม่ได้ใช้แล้วเพราะเอาชนะได้แล้วด้วยความเพียรจริง)

มาทราบที่หลังจากที่ได้เรียนคัมภีร์วิสุทธิมรรค 1/163 (อัปปนาโกศล 10) และการฟังเทศน์ต่างๆ สรุปสั้นๆได้ว่า การทำสมาธิได้ไม่ดีนั้นเพราะเราขาด อัปปนาโกศล คือ ความฉลาดหรืออุบายในการทำอัปนาสมาธิให้เกิดขึ้น ดังนั้นในการทำสมาธิจึงจำเป็นต้องเข้าใจในอัปปนาโกศล 10 อย่างด้วย (ข้อยกตัวอย่างที่จำเป็นสำหรับการเริ่มต้นเพียง 2 ข้อ นะคะ เพราะค่อนข้างเกี่ยวกับสิ่งที่ถามมากที่สุด)

1.การทำวัตถุให้เรียบร้อย หมายถึงการทำร่างกายและสถานที่ให้สะอาดเรียบร้อย เหมาะสมกับการปฏิบัติธรรม
2.การปรับอินทรีย์ให้สมดุล อินทรีย์ แปลว่า "ความเป็นใหญ่” (คือความเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน) อินทรีย์ห้า มี 5 ประการคือ

2.1 ศรัทธา (ความเชื่อ)
2.2 วิริยะ (ความเพียร)
2.3 สติ (ความระลึกได้)
2.4 สมาธิ (ความตั้งใจมั่น)
2.5 ปัญญา (ความรอบรู้)

ถ้าคุณธรรมทั้ง 5 ประการนี้ยังมีพลังไม่เท่ากัน และไม่ปรับให้เท่ากันแล้วจะไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ วิธีการปรับอินทรีย์ให้เสมอหรือสมดุลกันคือ ปรับสัทธา กับปัญญาให้สมดุลกัน และปรับสมาธิกับความเพียรให้สมดุลกัน โดยมีตัวสติเป็นตัวกลางในการควบคุม สติยิ่งมีมากยิ่งดี

ปรับอย่างไร? ในกรณีนี้ (การง่วงนอน) น่าจะเกิดจากการมีสมาธิกับความเพียรไม่สมดุลกัน ต้องปรับให้สมดุลกัน โดยถ้าความเพียรมากไป หนักไป ทำให้ร่างกายปวดเมื่อ และจิตกระสับกระส่าย (แต่ในเรื่องของความเพียรของแต่ละคนมันก็.. เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน อธิบายยาก มันก็ต้องขึ้นกับความอดทน และความทนได้ของบุคคลนั้นๆ ด้วย แต่ละคนก็ไม่เท่ากัน เอาเป็นว่าต้องทดทน และต้องทนได้ด้วย)

ส่วนสมาธินั้นถ้าทำน้อยไปจิตก็จะไม่สงบ แต่ถ้ามากไปก็จะเกิดง่วงนอนได้ง่าย เมื่อเกิดความง่วงนอนขึ้นแล้ว จิตจะไม่ถูกยกขึ้นสู่อารมณ์กรรมฐาน หรือเมื่อจิตยกขึ้นแล้วก็มักตกไปได้ง่าย เพราะสมาธิมาก แต่ความเพียรน้อยไป บางคนใช้สมาธิมากไปจิตจึงมักตกสู่ภวังค์ หรือจะหลับในขณะนั่งสมาธินั่นเอง

สรุป คนที่ทำสมาธิไม่สงบหรือไม่ได้ผลนั้น น่าจะเนื่องมาจากเหตุผล 3 ประการ

1.ปฏิบัติไม่ถูกทาง
2.อินทรีย์ 5 ยังมีพลังไม่เต็มที่
3.อินทรีย์ 5 ยังปรับไม่สมดุลกัน

ที่มา: วิสุทธิมรรค ภาค 1 หน้า 163 ของพระพุทธโฆษาจารย์



ผมมีวิธี ครับ ถ้านั่งตัวตรง ขาขวาทับซ้าย มือขวามทับมือซ้าย หัวนิ้วแม่มือจรดกัน ห้ามหลังงครับต้องนั่งอย่างนี้ 20 นาทีจิตใต้สำนึกมองไปที่ปลายเส้นผม ไล่ลงมาเรื่อยๆๆจนมาที่ฝ่าเท้า แล้วไล่ขึ้นมาจากฝ่าเท้าไปที่น่องหลังขึ้นมาเรื่อยครับจนมาถึงปลายเส้นผม ทำวนไปเรื่อยๆๆครับ ถ้าง่วงอีก ก็ให้หลับไปเลยครับ หลับ แบบ ท่านั่งนั่นแหละดีนักแล แล้วจะรู้สึกหลับสบายมากๆ
ส่วนคนนอนไม่หลับ สวดมนต์ สัก3-4บท พอจิตนิ่งแล้ว จะรู้สึกง่วงมากๆๆ การสวดมนต์นี้จิตจะนิ่งที่สุดเพราะจิตรตะไม่ฟุ้งซ่าน จิตรจะจับจ้องไปที่ตัวหนังสือครับ เพราะกลัวอ่านผิดครับ ขออ้างอิงคำสอนของครูอุปฌาที่สอนมาครับ


ผมว่านะ ปกติไม่นั่งสมาธิก็ง่วงได้เหมือนกันไม่เห็นต้องกังวลเลยครับ ถ้าง่วงก็ลุกไปล้างหน้าล้างตาให้สดชื่น แล้วเดินจงกรมแทนครับ


ถึง ผู้ใฝ่ธรรม

ถ้ามีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับแล้วจะแก้ยังไงค่ะ

การนั่งสมาธิ นั่งไปอีกนานไหมความง่วงถึงจะหายไป

ขอคำแนะนำด้วยค่ะ


 4,031 

  แสดงความคิดเห็น


RELATED STORIES




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย