สมถะและวิปัสสนา เกิดร่วมเกิดพร้อมในจิตดวงเดียวกันไม่แยกจากกัน เพราะจิตเกิดดับได้ทีละดวง จิตนี้จึง

 Apipanyo    


 สมถะและวิปัสสนา เกิดร่วมเกิดพร้อมในจิตดวงเดียวกันไม่แยกจากกัน เพราะจิตเกิดดับได้ทีละดวง ๆ กุศลจิตนี้จึงเป็นฌานจิต

ไม่ว่าจะมีสมถะเป็นเบื้องหน้า หรือวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า สมถะและวิปัสสนาต้องเกิดร่วมกันในจิตดวงเดียวกัน

เมื่อจิตนั้นสงัดจากกามสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลายกุศลจิตนี้เราเรียกว่า...ฌาน..

การเจริญวิปัสสนาจึงปราศจาก ..ฌาน..ไม่ได้ อย่างน้อยต้องบรรลุปฐมฌาน ต่ำกว่าปฐมฌานไม่ได้
จิตนั้นสงัดจากกามสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลายกุศลจิตนี้ เป็นคุณสมบัติของ..ฌานจิต..ทันที




ยุคนัทธวรรค ยุคนัทธกถา


[๕๓๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้พระนครโกสัมพี ณ ที่นั้นแล ท่านพระอานนท์เรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระอานนท์แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กล่าวว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ก็ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง พยากรณ์อรหัตในสำนักเรา ด้วยมรรค ๔ ทั้งหมดหรือด้วยมรรคเหล่านั้นมรรคใดมรรคหนึ่ง มรรค ๔ เป็นไฉน ฯ

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้ ย่อมเจริญวิปัสสนาอันมีสมถะเป็นเบื้องต้น เมื่อภิกษุนั้นเจริญวิปัสสนาอันมีสมถะเป็นเบื้องต้นอยู่ มรรคย่อมเกิด ภิกษุนั้นเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อภิกษุนั้นเสพ เจริญทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป ฯ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น เมื่อภิกษุนั้นเจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้นอยู่ มรรคย่อมเกิดขึ้น ภิกษุนั้นเสพ เจริญทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อภิกษุนั้นเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป ฯ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป เมื่อภิกษุนั้นเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป มรรคย่อมเกิด ภิกษุนั้นเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อภิกษุนั้นเสพ เจริญทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป ฯ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีใจนึกถึงโอภาสอันเป็นธรรมถูกอุทธัจจะกั้นไว้ สมัยนั้น จิตย่อมตั้งมั่นสงบอยู่ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นอยู่ มรรคย่อมเกิดแก่ภิกษุนั้น ภิกษุนั้นเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อภิกษุนั้นเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ก็ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง พยากรณ์ อรหัตในสำนักเรา ด้วยมรรค ๔ นี้ทั้งหมด หรือด้วยมรรคเหล่านั้นมรรคใดมรรคหนึ่ง ฯ


[๕๓๕] ภิกษุเจริญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องต้นอย่างไร ฯ ความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่านด้วยสามารถแห่งเนกขัมมะเป็นสมาธิวิปัสสนาด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็นธรรมที่เกิดในสมาธินั้น โดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา ด้วยประการดังนี้ สมถะจึงมีก่อน วิปัสสนามีภายหลัง เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เจริญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องต้น ฯ
ภาวนา ในคำว่า ภาเวติ มี ๔ คือ ภาวนาด้วยอรรถว่าธรรมทั้งหลายที่เกิดในภาวนานั้นไม่ล่วงเกินกัน ๑ ด้วยอรรถว่าอินทรีย์ทั้งหลายมีกิจเป็นอันเดียวกัน ๑ ด้วยอรรถว่านำไปซึ่งความเพียรอันสมควรแก่ธรรมที่ไม่ล่วงเกินกัน ๑ ด้วยอรรถว่าเป็นที่เสพ ๑ ฯ
คำว่า มรรคย่อมเกิด ความว่า มรรคเกิดอย่างไร ฯ
สัมมาทิฐิด้วยอรรถว่าเห็น เป็นมรรคย่อมเกิด สัมมาสังกัปปะด้วย อรรถว่าดำริ เป็นมรรคย่อมเกิด สัมมาวาจาด้วยอรรถว่ากำหนด เป็นมรรคย่อมเกิด สัมมากัมมันตะด้วยอรรถว่าเป็นสมุฏฐาน เป็นมรรคย่อมเกิด สัมมาอาชีวะด้วยอรรถว่าผ่องแผ้ว เป็นมรรคย่อมเกิด สัมมาวายามะด้วยอรรถ
ว่าประคองไว้ เป็นมรรคย่อมเกิด สัมมาสติด้วยอรรถว่าตั้งมั่น เป็นมรรคย่อมเกิด สัมมาสมาธิด้วยอรรถว่าไม่ฟุ้งซ่าน เป็นมรรคย่อมเกิด มรรคย่อมเกิดอย่างนี้ ฯ
คำว่า ย่อมเสพ ในคำว่า ภิกษุนั้นย่อมเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ดังนี้ ความว่า ย่อมเสพอย่างไร ฯ
ภิกษุนั้น นึกถึงอยู่ชื่อว่าเสพ รู้อยู่ชื่อว่าเสพ เห็นอยู่ชื่อว่าเสพพิจารณาอยู่ชื่อว่าเสพ อธิษฐานจิตอยู่ชื่อว่าเสพ น้อมจิตไปด้วยศรัทธาชื่อว่า เสพ ประคองความเพียรไว้ชื่อว่าเสพ ตั้งสติไว้มั่นชื่อว่าเสพ ตั้งจิตไว้อยู่ ชื่อว่าเสพ ทราบชัดด้วยปัญญาชื่อว่าเสพ รู้ยิ่งซึ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่งอยู่ชื่อว่าเสพ
กำหนดรู้ซึ่งธรรมที่ควรกำหนดรู้ชื่อว่าเสพ ละธรรมที่ควรละชื่อว่าเสพ เจริญธรรมที่ควรเจริญชื่อว่าเสพ ทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้งชื่อว่าเสพ ย่อมเสพอย่างนี้ ฯ
คำว่า เจริญ ความว่า เจริญอย่างไร ฯ
ภิกษุนั้นนึกถึงอยู่ชื่อว่าเจริญ ... ทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้งชื่อว่า เจริญ ย่อมเจริญอย่างนี้ ฯ
คำว่า ทำให้มาก ความว่า ทำให้มากอย่างไร ฯ
ภิกษุนั้นนึกถึงอยู่ชื่อว่าทำให้มาก ... ทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ชื่อว่าทำให้มาก ทำให้มากอย่างนี้ ฯ
คำว่า เมื่อภิกษุนั้นเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป ความว่า ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป อย่างไร ฯ
ย่อมละสังโยชน์ ๓ นี้ คือ สักกายทิฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส อนุสัย ๒ นี้ คือ ทิฐิอนุสัย วิจิกิจฉาอนุสัย ย่อมสิ้นไปด้วย โสดาปัตติมรรค ฯ
ย่อมละสังโยชน์ ๒ นี้ คือ กามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์ ส่วนหยาบๆ อนุสัย ๒ นี้ คือ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย ส่วนหยาบๆ ย่อมสิ้นไปด้วยสกทาคามิมรรค ฯ
ย่อมละสังโยชน์ ๒ นี้ คือ กามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์ ส่วนละเอียดๆ อนุสัย ๒ นี้ คือ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย ส่วนละเอียดๆ ย่อมสิ้นไปด้วยอนาคามิมรรค ฯ
ย่อมละสังโยชน์ ๕ นี้ คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา อนุสัย ๓ นี้ คือ มานานุสัย ภวราคานุสัย อวิชชานุสัย ย่อมสิ้นไปด้วยอรหัตมรรค ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป อย่างนี้ ฯ

[๕๓๖] ความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยสามารถความไม่พยาบาท เป็นสมาธิ ความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยสามารถแห่ง อาโลกสัญญา เป็นสมาธิ ฯลฯ ความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยสามารถความเป็นผู้พิจารณาเห็นความสละคืนหายใจออก ด้วยสามารถความเป็นผู้พิจารณาเห็นความสละคืนหายใจเข้า เป็นสมาธิ วิปัสสนาด้วยอรรถว่า พิจารณาเห็นธรรมที่เกิดในสมาธินั้นโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา ด้วยประการดังนี้ สมถะจึงมีก่อน วิปัสสนามีภายหลัง เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า เจริญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องต้น ฯ
ภาวนา ในคำว่า ภาเวติ นี้มี ๔ คือ ภาวนาด้วยอรรถว่า ธรรมทั้งหลายที่เกิดในภาวนานั้นไม่ล่วงเกินกัน ... ภาวนาด้วยอรรถว่าเป็นที่เสพ ฯ
คำว่า มรรคย่อมเกิด ความว่า มรรคย่อมเกิดอย่างไร ฯ
สัมมาทิฐิด้วยอรรถว่าเห็น เป็นมรรคย่อมเกิด ... มรรคย่อมเกิดอย่างนี้ ฯ คำว่า ย่อมเสพ ในคำว่า ภิกษุนั้นย่อมเสพ ฯลฯ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ความว่า ย่อมเสพอย่างไร ฯ
ภิกษุนึกถึงอยู่ชื่อว่าเสพ รู้อยู่ชื่อว่าเสพ ฯลฯ ทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควร ทำให้แจ้งชื่อว่าเสพ ย่อมเสพอย่างนี้ ฯ
คำว่า ย่อมเจริญ ความว่า ย่อมเจริญอย่างไร ฯ
ภิกษุนึกถึงอยู่ชื่อว่าเจริญ รู้อยู่ชื่อว่าเจริญ ฯลฯ ทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้งชื่อว่าเจริญ ย่อมเจริญอย่างนี้ ฯ
คำว่า ทำให้มาก ความว่า ย่อมทำให้มากอย่างไร ฯ
ภิกษุนึกถึงอยู่ชื่อว่าทำให้มาก รู้อยู่ชื่อว่าทำให้มาก ฯลฯ ทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้งชื่อว่าทำให้มาก ย่อมทำให้มากอย่างนี้ ฯ
คำว่า เมื่อภิกษุนั้นเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป ความว่า ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป อย่างไร ... ฯ

[๕๓๗] ภิกษุนั้นย่อมเจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้นอย่างไร ฯ
วิปัสสนา ด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็นโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา ความที่จิตมีการปล่อยธรรมทั้งหลายที่เกิดในวิปัสสนานั้นเป็นอารมณ์ เพราะความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่าน เป็นสมาธิด้วยประการดังนี้ วิปัสสนาจึงมีก่อน สมถะมีภายหลัง เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า เจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น ฯ
ภาวนา ในคำว่า ภาเวติ นี้มี ๔ ฯลฯ ภาวนาด้วยอรรถว่าเป็นที่เสพ ฯลฯ คำว่า มรรคย่อมเกิด ความว่า มรรคย่อมเกิดอย่างไร ฯลฯ มรรคย่อมเกิดอย่างนี้ ฯลฯ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไปอย่างนี้ วิปัสสนาด้วย อรรถว่าพิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา ความที่จิตมีการปล่อยธรรมทั้งหลายที่เกิดในภาวนานั้นเป็นอารมณ์ และความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่าน เป็นสมาธิ ด้วยประการดังนี้ วิปัสสนามีก่อน สมถะมีภายหลัง เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า เจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น ฯ
ภาวนา ในคำว่า ภาเวติ นี้มี ๔ ฯลฯ ภาวนาด้วยอรรถว่าเป็นที่เสพ ฯ
คำว่า มรรคย่อมเกิด ฯลฯ มรรคย่อมเกิดอย่างนี้ ฯลฯ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไปอย่างนี้ วิปัสสนาด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จักษุ ฯลฯ ชรา และมรณะ โดยความเป็นสภาพ ไม่เที่ยง ฯลฯ โดยความเป็นทุกข์ ฯลฯ โดยความเป็นอนัตตา ความที่จิตมี
การปล่อยธรรมทั้งหลายที่เกิดในภาวนานั้นเป็นอารมณ์ และความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่าน เป็นสมาธิ ด้วยประการดังนี้ วิปัสสนาจึงมีก่อน สมถะมีภายหลัง เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า เจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น ฯ
ภาวนา ในคำว่า ภาเวติ นี้มี ๔ ฯลฯ คำว่า ย่อมเกิด ความว่า มรรคย่อมเกิดอย่างไร ฯลฯ มรรคย่อมเกิดอย่างนี้ ฯลฯ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไปอย่างนี้ ภิกษุย่อมเจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้นอย่างนี้ ฯ


[๕๓๘] ภิกษุย่อมเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไปอย่างไร ฯ
ภิกษุย่อมเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป ด้วยอาการ ๑๖ คือ ด้วย ความเป็นอารมณ์ ๑ ด้วยความเป็นโคจร ๑ ด้วยความละ ๑ ด้วยความสละ ๑ ด้วยความออก ๑ ด้วยความหลีกไป ๑ ด้วยความเป็นธรรมละเอียด ๑ ด้วยความเป็นธรรมประณีต ๑ ด้วยความหลุดพ้น ๑ ด้วยความไม่มีอาสวะ ๑ ด้วยความเป็นเครื่องข้าม ๑ ด้วยความไม่มีนิมิต ๑ ด้วยความไม่มีที่ตั้ง ๑ ด้วยความว่างเปล่า ๑ ด้วยความเป็นธรรมมีกิจเป็นอันเดียวกัน ๑ ด้วยความไม่ล่วงเกินกันและกัน ๑ ด้วยความเป็นคู่กัน ๑ ฯ
ภิกษุเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไปด้วยอารมณ์อย่างไร ฯ
เมื่อภิกษุละอุทธัจจะ สมาธิ คือความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่าน มีนิโรธเป็นอารมณ์ ด้วยประการดังนี้ สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความเป็นอารมณ์ เพราะเหตุดังนี้นั้นท่าน จึงกล่าวว่าเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไปด้วยความเป็นอารมณ์ ฯ
ภาวนา ในคำว่า ภาเวติ นี้มี ๔ ฯลฯ ภาวนาด้วยอรรถว่าเป็นที่เสพ ฯลฯ คำว่า มรรคย่อมเกิด ความว่า มรรคย่อมเกิดอย่างไร ฯลฯ มรรคย่อมเกิดอย่างนี้ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไปอย่างนี้ ภิกษุย่อมเจริญสมถะ และวิปัสสนาคู่กันไปด้วยความเป็นอารมณ์ อย่างนี้ ฯ
ภิกษุย่อมเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไปด้วยความเป็นโคจรอย่างไร ฯ
เมื่อภิกษุละอุทธัจจะ สมาธิ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่าน มีนิโรธเป็นโคจร เมื่อภิกษุละอวิชชา วิปัสสนาด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็น มีนิโรธเป็นโคจร ด้วยประการดังนี้ สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความเป็นโคจร เพราะเหตุดังนี้นั้นท่านจึงกล่าวว่า เจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไปด้วยความเป็นโคจร ฯ


[๕๓๙] ภิกษุย่อมเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไปด้วยความละอย่างไร ฯ
เมื่อภิกษุละกิเลสอันประกอบด้วยอุทธัจจะ และขันธ์ สมาธิ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่าน มีนิโรธเป็นโคจร เมื่อภิกษุละกิเลสอัน ประกอบด้วยอวิชชา และขันธ์ วิปัสสนาด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็น มีนิโรธเป็นโคจร ด้วยประการดังนี้ สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความละ เพราะเหตุดังนี้นั้นท่านจึงกล่าวว่า เจริญสมถะ และวิปัสสนาเป็นคู่กันด้วยความละ ฯ
ภิกษุเจริญสมถะและวิปัสสนาเป็นคู่กันด้วยความสละอย่างไร ฯ
เมื่อภิกษุสละกิเลสอันประกอบด้วยอุทธัจจะ และขันธ์ สมาธิ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่าน มีนิโรธเป็นโคจร เมื่อภิกษุสละกิเลสอันประกอบด้วย อวิชชา และขันธ์ วิปัสสนาด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็น มีนิโรธเป็นโคจร ด้วยประการดังนี้ สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกัน และกัน ด้วยความสละ เพราะเหตุดังนี้นั้นท่านจึงกล่าวว่า เจริญสมถะและวิปัสสนาเป็นคู่กันด้วยความสละ ฯ
ภิกษุเจริญสมถะและวิปัสสนาเป็นคู่กันด้วยความออกอย่างไร ฯ
เมื่อภิกษุออกจากกิเลสอันประกอบด้วยอุทธัจจะ และจากขันธ์ สมาธิ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่าน มีนิโรธเป็นโคจร เมื่อภิกษุออกจาก กิเลสอันประกอบด้วยอวิชชา และจากขันธ์ วิปัสสนา ด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็น มีนิโรธเป็นโคจร ด้วยประการดังนี้ สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกันเป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความออก เพราะเหตุดังนี้นั้น ท่านจึง กล่าวว่า เจริญสมถะและวิปัสสนาเป็นคู่กัน ด้วยความออก ฯ
ภิกษุเจริญสมถะและวิปัสสนาเป็นคู่กัน ด้วยความหลีกไปอย่างไร ฯ
เมื่อภิกษุหลีกไปจากกิเลสอันประกอบด้วยอุทธัจจะ และจากขันธ์ สมาธิคือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน มีนิโรธเป็นโคจร เมื่อภิกษุหลีกไป จากกิเลสอันประกอบด้วยอวิชชา และจากขันธ์ วิปัสสนาด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็น มีนิโรธเป็นโคจร ด้วยประการดังนี้ สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความหลีกไป เพราะเหตุดังนี้นั้น ท่านจึงกล่าวว่า เจริญสมถะและวิปัสสนาเป็นคู่กัน ด้วยความหลีกไป ฯ


[๕๔๐] ภิกษุเจริญสมถะและวิปัสสนาเป็นคู่กัน ด้วยความเป็นธรรมละเอียดอย่างไร ฯ
เมื่อภิกษุละอุทธัจจะ สมาธิ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่านเป็นธรรมละเอียด มีนิโรธเป็นโคจร เมื่อภิกษุละอวิชชา วิปัสสนาด้วยอรรถว่า พิจารณาเห็น เป็นธรรมละเอียด มีนิโรธเป็นโคจร ด้วยประการดังนี้ สมถะ และวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความเป็นธรรมละเอียด เพราะเหตุดังนี้นั้น ท่านจึงกล่าวว่า เจริญสมถะและวิปัสสนาเป็น คู่กัน ด้วยความเป็นธรรมละเอียด ฯ
ภิกษุเจริญสมถะและวิปัสสนาเป็นคู่กัน ด้วยความเป็นธรรมประณีต อย่างไร ฯ
เมื่อภิกษุละอุทธัจจะ สมาธิ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่านเป็นธรรมประณีต มีนิโรธเป็นโคจร เมื่อภิกษุละอวิชชา วิปัสสนาด้วยอรรถว่า พิจารณาเห็น เป็นธรรมประณีต มีนิโรธเป็นโคจร ด้วยประการดังนี้ สมถะและ วิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความเป็นธรรมประณีต เพราะเหตุดังนี้นั้น ท่านจึงกล่าวว่า เจริญสมถะและวิปัสสนาเป็นคู่กัน ด้วยความเป็นธรรมประณีต ฯ
ภิกษุเจริญสมถะและวิปัสสนาเป็นคู่กัน ด้วยความหลุดพ้นอย่างไร ฯ
เมื่อภิกษุละอุทธัจจะ สมาธิ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน เป็นธรรมหลุดพ้น มีนิโรธเป็นโคจร เมื่อภิกษุละอวิชชา วิปัสสนาด้วยอรรถว่า พิจารณาเห็น เป็นหลุดพ้น มีนิโรธเป็นโคจร ด้วยประการดังนี้ ชื่อว่าเจโตวิมุติ เพราะสำรอกราคะ ชื่อว่าปัญญาวิมุติเพราะสำรอกอวิชชา ด้วยประการดังนี้ สมถะ และวิปัสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความหลุดพ้น เพราะเหตุดังนี้นั้น ท่านจึงกล่าวว่า เจริญสมถะและวิปัสนาเป็นคู่กัน ด้วยความหลุดพ้น ฯ


[๕๔๑] ภิกษุเจริญสมถะและวิปัสนาเป็นคู่กัน ด้วยความไม่มีอาสวะอย่างไร ฯ
เมื่อภิกษุละอุทธัจจะ สมาธิ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน เป็นธรรมไม่มีอาสวะด้วยกามาสวะ มีนิโรธเป็นโคจร เมื่อภิกษุละอวิชชา วิปัสนาด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็น เป็นธรรมไม่มีอาสวะด้วยอวิชชาสวะ มีนิโรธเป็นโคจร ด้วยประการดังนี้ สมถะและวิปัสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กัน
ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความไม่มีอาสวะ เพราะเหตุดังนี้นั้น ท่านจึงกล่าวว่า เจริญสมถะและวิปัสนาเป็นคู่กัน ด้วยความไม่มีอาสวะ ฯ
ภิกษุเจริญสมถะและวิปัสนาเป็นคู่กัน ด้วยความเป็นเครื่องข้ามอย่างไร ฯ
เมื่อภิกษุข้ามจากกิเลสอันประกอบด้วยอุทธัจจะ และจากขันธ์ สมาธิ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน มีนิโรธเป็นโคจร เมื่อภิกษุข้ามจากกิเลส อันประกอบด้วยอวิชชา และจากขันธ์ วิปัสนาด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็น มีนิโรธเป็นโคจร ด้วยประการดังนี้ สมถะและวิปัสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความเป็นเครื่องข้าม เพราะเหตุดังนี้นั้น ท่านจึงกล่าว
ว่า เจริญสมถะและวิปัสนาเป็นคู่กัน ด้วยความเป็นเครื่องข้าม ฯ
ภิกษุเจริญสมถะและวิปัสนา ด้วยความไม่มีนิมิตร อย่างไร ฯ
เมื่อภิกษุละอุทธัจจะ สมาธิ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน เป็นธรรมไม่มีนิมิตรด้วยนิมิตรทั้งปวง มีนิโรธเป็นโคจร เมื่อภิกษุละอวิชชา วิปัสนาด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็น เป็นธรรมไม่มีนิมิตรด้วยนิมิตรทั้งปวง มีนิโรธเป็นโคจร ด้วยประการดังนี้ สมถะและวิปัสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความไม่มีนิมิตร เพราะเหตุดังนี้นั้น ท่านจึงกล่าวว่า เจริญสมถะและวิปัสนาเป็นคู่กัน ด้วยความไม่มีนิมิตร ฯ
ภิกษุเจริญสมถะและวิปัสนาเป็นคู่กัน ด้วยความไม่มีที่ตั้ง อย่างไร ฯ
เมื่อภิกษุละอุทธัจจะ สมาธิ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน เป็นธรรมไม่มีที่ตั้งด้วยที่ตั้งทั้งปวง มีนิโรธเป็นโคจร เมื่อภิกษุละอวิชชา วิปัสนาด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็น เป็นธรรมไม่มีที่ตั้งด้วยที่ตั้งทั้งปวง มีนิโรธเป็นโคจร ด้วยประการดังนี้ สมถะและวิปัสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความไม่มีที่ตั้ง เพราะเหตุดังนี้นั้น ท่านจึงกล่าวว่า เจริญสมถะและวิปัสนาเป็นคู่กัน ด้วยความไม่มีที่ตั้ง ฯ
ภิกษุเจริญสมถะและวิปัสนาเป็นคู่กัน ด้วยความว่างเปล่า อย่างไร ฯ
เมื่อภิกษุละอุทธัจจะ สมาธิ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน เป็นธรรมว่างเปล่าจากความยึดมั่นทั้งปวง มีนิโรธเป็นโคจร เมื่อภิกษุละอวิชชา วิปัสนาด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็น เป็นธรรมว่างเปล่าจากความยึดมั่นทั้งปวง มีนิโรธเป็นโคจร ด้วยประการดังนี้ สมถะและวิปัสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความว่างเปล่า เพราะเหตุดังนี้นั้น ท่านจึงกล่าวว่า
เจริญสมถะและวิปัสนาเป็นคู่กัน ด้วยความว่างเปล่า ฯ
ภาวนา ในคำว่า ภาเวติ นี้มี ๔ คือ ภาวนาด้วยอรรถว่า ธรรมทั้งหลายที่เกิดในภาวนานั้นไม่ล่วงเกินกัน ๑ ด้วยอรรถว่าอินทรีย์ทั้งหลายมีกิจเป็น อันเดียวกัน ๑ ด้วยอรรถว่านำไปซึ่งความเพียรอันสมควรแก่ธรรมที่ไม่ล่วงเกินกัน และอินทรีย์มีกิจเป็นอันเดียวกัน ๑ ด้วยอรรถว่าเป็นที่เสพ ๑ ฯลฯ คำว่า มรรคย่อมเกิด ความว่า มรรคย่อมเกิดอย่างไร ฯลฯ มรรคย่อมเกิดอย่างนี้ ฯลฯ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไปอย่างนี้ ภิกษุเจริญสมถะและวิปัสนาเป็นคู่กัน ด้วยความว่างเปล่าอย่างนี้ ภิกษุเจริญสมถะและวิปัสนาเป็นคู่กัน ด้วยอาการ ๑๖ เหล่านี้ ภิกษุเจริญสมถะและวิปัสนาเป็นคู่กันอย่างนี้ ฯ


[๕๔๒] ใจที่นึกถึงโอภาสอันเป็นธรรมถูกอุทธัจจะกั้นไว้ ย่อมมี อย่างไร ฯ
เมื่อภิกษุมนสิการโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง โอภาสย่อมเกิดขึ้น ภิกษุนึกถึงโอภาสว่า โอภาสเป็นธรรม เพราะนึกถึงโอภาสนั้น จึงมีความฟุ้งซ่านเป็นอุทธัจจะ ภิกษุมีใจอันอุทธัจจะนั้นกั้นไว้ ย่อมไม่ทราบชัดตามความเป็นจริง ซึ่งความปรากฏโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า มีใจที่นึกถึงโอภาสอันเป็นธรรมถูกอุทธัจจะกั้นไว้ สมัยนั้น จิต ที่ตั้งมั่นสงบอยู่ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้นตั้งมั่นอยู่ มรรคย่อมเกิดแก่ภิกษุนั้น มรรคย่อมเกิดอย่างไร ฯลฯ มรรคย่อมเกิดอย่างนี้ ฯลฯ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไปอย่างนี้ เมื่อภิกษุมนสิการโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง ญาณ ปีติ ปัสสัทธิ สุข อธิโมกข์ (ความน้อมใจเชื่อ) ปัคคาหะ (ความเพียร) อุปัฏฐานะ (ความตั้งมั่น) อุเบกขา นิกันติ (ความพอใจ) ย่อมเกิดขึ้น ภิกษุนึกถึงความพอใจว่า ความพอใจเป็นธรรม เพราะนึกถึงความพอใจนั้น จึงมีความ ฟุ้งซ่านเป็นอุทธัจจะ ภิกษุมีใจอันอุทธัจจะนั้นกั้นไว้ ย่อมไม่ทราบชัดตามความ เป็นจริงซึ่งความปรากฏโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความ เป็นอนัตตา เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า มีใจที่นึกถึงความพอใจอันเป็นธรรม ถูกอุทธัจจะกั้นไว้ สมัยนั้น จิตที่ตั้งมั่นสงบอยู่ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นอยู่ มรรคย่อมเกิดแก่ภิกษุนั้น มรรคย่อมเกิดอย่างไร ฯลฯ มรรคย่อมเกิดอย่างนี้ ฯลฯ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไปอย่างนี้ ฯลฯ เมื่อภิกษุ มนสิการโดยความเป็นทุกข์ ฯลฯ เมื่อภิกษุมนสิการโดยความเป็นอนัตตา โอภาส ญาณ ปีติ ปัสสัทธิ สุข อธิโมกข์ ปัคคาหะ อุปัฏฐานะ อุเบกขา นิกันติ ย่อมเกิดขึ้น ภิกษุนึกถึงความพอใจว่า ความพอใจเป็นธรรม เพราะนึกถึงความพอใจนั้น จึงมีความฟุ้งซ่านเป็นอุทธัจจะ ภิกษุมีใจอันอุทธัจจะนั้นกั้นไว้ ย่อมไม่ทราบชัดตามความเป็นจริง ซึ่งความปรากฏโดยความเป็นอนัตตา โดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ เพราะเหตุนั้น ท่านกล่าวว่า มีใจที่นึกถึงความพอใจอันเป็นธรรมถูกอุทธัจจะกั้นไว้ ฯลฯ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป อย่างนี้ ฯ


[๕๔๓] เมื่อภิกษุมนสิการรูปโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง ฯลฯ เมื่อภิกษุมนสิการรูปโดยความเป็นทุกข์ เมื่อภิกษุมนสิการรูปโดยความเป็นอนัตตา เมื่อภิกษุมนสิการเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จักษุ ฯลฯ ชราและมรณะ โดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา โอภาส ญาณ ปีติ ปัสสัทธิ สุข อธิโมกข์ ปัคคาหะ อุปัฏฐานะ อุเบกขา นิกันติ ย่อมเกิดขึ้น ภิกษุนึกถึงความพอใจว่า ความพอใจเป็นธรรม เพราะนึกถึงความ พอใจนั้น จึงมีความฟุ้งซ่านเป็นอุทธัจจะ ภิกษุมีใจอันอุทธัจจะนั้นกั้นไว้ ย่อมไม่ทราบชัดตามความเป็นจริง ซึ่งชราและมรณะอันปรากฏโดยความเป็นอนัตตา โดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า มีใจที่นึกถึงความพอใจอันเป็นธรรมถูกอุทธัจจะกั้นไว้ สมัยนั้น จิตที่ตั้งมั่นสงบ อยู่ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นอยู่ มรรคย่อมเกิดแก่ภิกษุนั้น มรรคย่อม เกิดอย่างไร ฯลฯ มรรคย่อมเกิดอย่างนี้ ฯลฯ ย่อมละสังโยชน์ อนุสัยย่อมสิ้นไป อย่างนี้ ใจที่นึกถึงความพอใจอันเป็นธรรมถูกอุทธัจจะกั้นไว้อย่างนี้ ฯ


จิตย่อมกวัดแกว่งหวั่นไหวเพราะโอภาส ญาณ ปีติ ปัสสัทธิ สุข อธิโมกข์ ปัคคาหะ อุปัฏฐานะ ความวางเฉยจาก ความนึกถึงอุเบกขา และนิกันติ ภิกษุนั้นกำหนดฐานะ ๑๐ ประการนี้ ด้วยปัญญาแล้ว ย่อมเป็นผู้ฉลาดในความ นึกถึงโอภาสเป็นต้นอันเป็นธรรมฟุ้งซ่าน และย่อมไม่ถึง ความหลงใหล จิตกวัดแกว่ง เศร้าหมอง และเคลื่อนจาก จิตภาวนา จิตกวัดแกว่ง เศร้าหมอง ภาวนาย่อมเสื่อมไป จิตบริสุทธิ์ ไม่เศร้าหมอง ภาวนาย่อมไม่เสื่อม จิตไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เศร้าหมอง และไม่เคลื่อนจากจิตภาวนาด้วยฐานะ ๔ ประการนี้ ภิกษุย่อมทราบชัดซึ่งความที่จิตกวัด แกว่งฟุ้งซ่าน ถูกโอภาสเป็นต้นกั้นไว้ ด้วยฐานะ ๑๐ ประการ ฉะนี้แล ฯ


จบยุคนัทธกถา


เจริญในธรรมครับ


อภิปัญโญ ภิกขุ
    







สาธุ +++ !!! +++


• ดนตรีฟื้นฟูความเหนื่อยล้า - ดนตรีผ่อนคลายกับดนตรีธรรมชาติ!

• วัดวังผาแดง ต.นาสวน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี

• พุทธศาสนา ๒ นิกาย ใหญ่ มหายาน กับ หีนยาน

• ธรรมให้รู้ : ตอนที่45 - ทำให้จิตตั้งมั่นด้วยสติเต็มฐาน โดย พระมหาวรพรต กิตติวโร

• บทสวดมนต์ฉบับหลวงพ่อจรัญ

• "ทาน ศีล ภาวนา" (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)

RELATED STORIES




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย