การพัฒนาชีวิต

     

ผมชอบอ่านหนังสือด้านจิตวิทยามาตั้งแต่เรียนมัธยมปลาย คือตั้งแต่ยังแต่งชุดนักเรียนนุ่งกางเกงขาสั้น โดยซื้อหนังสือจิตวิทยาสำหรับนักศึกษาโรงเรียนหรือวิทยาลัยฝึกหัดครูสมัยนั้น จากร้านศึกษาภัณฑ์ใกล้สี่แยกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผมจึงรู้จักชื่อ Sigmund Fleud (ค.ศ. 1856-1939 หรือ พ.ศ. 2399-2482) ซึ่งเป็นแพทย์และนักจิตวิทยาชาวออสเตรียเชื้อสายยิวก่อนผมเข้ามหาวิทยาลัยเสียอีก แม้ผมจะไม่เข้าใจหรือเห็นด้วยกับทฤษฎีที่เขาตั้งขึ้นมาทั้งหมด
Sigmund Freud (ชื่อเดิม Sigismund Schlomo Freud) เป็นผู้สร้างทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic Theory), พฤติกรรมจากกลไกทางจิต (Psychological Mechanism of Behavior) ซึ่งถูกควบคุมด้วยจิตใร้สำนึก (Unconscious mind), จิตก่อนสำนึก (Preconscious mind) หรือบางคนเรียกจิตใต้สำนึก (Subconscious mind) และจิตรู้สำนึก (Conscious mind), จิตไม่หยุดนิ่งเปลี่ยนแปลงได้ (Psychodynamic), ทฤษฎีบุคลิกภาพ (Personality Theory) และทฤษฎีพัฒนาการ (Developmental Theory) ซึ่ง Sigmund Freud เชื่อว่าเพศ (Sex) หรือกามารมณ์ (Libido) มีอิทธิพลต่อการพัฒนามนุษย์ (Psychosexual Development) และเชื่อว่า ความเป็นตัวตนซึ่งได้แก่การกระทำ ความคิด ความเชื่อ ถูกกำหนดโดยจิตใต้สำนึก (Unconscious), พลังขับ (Drive), และแรงปรารถนา (Desire)
Freud เชื่อว่า มนุษย์มีธรรมชาติดังเดิมเป็นสัญชาตญาน ที่สำคัญคือ สัญชาติญาณแห่งการมีชีวิต (Eros or Life) และสัญชาติญาณความตาย (Thanatos or Death Instinct) ซึ่งสัญชาติญาณทั้ง 2 มีพลังเพศ (Libido) เป็นแรงผลักดัน และแสดงออกมาในรูปของสัญชาตญาณทางเพศ (Sexual Instinct) กล่าวคือสัญชาตญาณจะแสดงออกมาในรูปของพลังทางจิตที่เกี่ยวข้องกับพลังขับทางเพศเรียกว่า กามารมณ์หรือพลังความต้องการทางเพศ (Libido) พลัง Libido เคลื่อนไปอยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับช่วงอายุของคนหรือวัยของบุคคล ทำให้มนุษย์มีความปรารถนาและความต้องการที่จะได้รับการตอบสนอง พลัง Libido เคลื่อนไปอยู่ที่ส่วนใดก็จะทำให้เกิดความตึงเครียด (Tension) ขึ้นที่ส่วนนั้น วิธีการขจัดความตึงเครียดกระทำได้โดยการกระตุ้นส่วนนั้นอย่างเหมาะสม เมื่อได้รับการตอบสนองเหมาะสมก็เกิดความพึงพอใจ (Gratification) และเกิดการพัฒนาการของบุคลิกเหมาะสม (Personality Development) ถ้าไม่พอใจก็จะเกิดความคับข้องจิต (Frustration) และความวิตกกังวล (Anxiety)  ความพึงพอใจนี้อยู่ในรูปแบบต่างๆ และสามารถเคลื่อนที่หรือเปลี่ยนรูปได้ เช่นเคลื่อนที่หรือเปลี่ยนที่ไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตามระยะเวลาของการพัฒนาของมนุษย์จากขั้นหนึ่งไปสู่อีกขั้นหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ทารกแรกเกิดหรือทารกเล็กๆในหนึ่งขวบปีแรก มีความพึงพอใจทางปากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้ดูดนม เมื่อโตขึ้นความพึงพอใจเปลี่ยนไปเป็นที่ ทวารหนัก อวัยวะเพศ ตามลำดับ เรียกว่าเป็นบริเวณที่ก่อให้เกิดความพึงพอใจ (Erogeneous Zone)  สัญชาติญาณยังสามารถเคลื่อนที่ย้ายไปยังบุคคลอื่นนอกตัวเอง หรือไปยังวัตถุได้ เช่นหากพลัง Libido เคลื่อนไปอยู่ที่แม่ หรือวัตถุ ก็จะทำให้เด็กเกิดความรักและความหวงแหนแม่ หรือวัตถุนั้น เป็นต้น
ในทฤษฎีบุคลิกภาพ ตัวตนของคนแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ Id, Ego, และ Superego ซึ่ง Freud เชื่อว่าทั้ง 3 ส่วนประกอบกันขึ้นเป็นโครงสร้างของบุคลิกภาพมนุษย์ อิด (Id) ก็คือสัญชาติญาณที่ซ่อนเร้นอยู่ในจิตไร้สำนึกของมนุษย์ ผลักดันให้มนุษย์กระทำการต่างๆ เช่นเดียวกับสัญชาติญาณของสัตว์ที่แสดงพฤติกรรมต่างๆเพื่อการดำรงชีพ การมีชีวิตรอด และการดำรงเผ่าพันธุ์โดยไม่ได้มีการดัดแปลงตาม คุณธรรม จริยธรรม มโนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี หรือวัฒนธรรม จึงกล่าวง่ายๆคือ Id เป็นสัญชาตญาณดิบของสิ่งมีชีวิตที่มีเพื่อการดำรงชีวิต ได้แก่ การกิน นอน สืบพันธุ์ ดังนั้นถ้ามี Id เพียงอย่างเดียวมนุษย์จะไม่ต่างอะไรจากสัตว์ เพราะไม่มีความยับยั้งชั่งใจในการกระทำตามสัญชาติญาณดิบ ขณะที่ ซูเปอร์อีโก้ (Superego) คือ คุณงามความดี คุณธรรม จริยธรรม มโนธรรม ศิลธรรม และบรรทัดฐานความดีงามต่างๆ Superego เป็นพลังในส่วนดีที่คอยควบคุมหักล้างพลัง Id ส่วน อีโก้ (Ego) คือ พลังขับดันที่อยู่ระหว่างความเป็นสุดขั้วของ Id และ Superego ทำหน้าที่ควบคุมให้คนเราแสดงออกมาพอเหมาะสำหรับคนๆนั้นตามการเรียนรู้และประสพการณ์ของเขา โดยไม่เป็นสัญชาติญาณดิบอย่างเดียว หรือเป็นคุณงามความดีแบบอุดมคติอย่างเดียว แต่ละคนมี Ego ไม่เท่ากัน จึงอาจแสดงออกมาไม่เหมือนกัน ความคับข้องจิตและความวิตกกังวลเป็นผลมาจากการที่ Ego ไม่สามารถทำหน้าที่ประนีประนอม Id และ Superego ได้อย่างเหมาะสม
ตามทฤษฎีของ Freud พลังทั้งสามส่วนผลักดันบุคคลหนึ่งๆให้มีตัวตนเป็นเอกลักษณ์ขึ้นมา เกิดเป็นบุคคลิกภาพ (Personality) และแสดงออกเป็นพฤติกรรม (Behavior) ซึ่งตามทฤษฎีของ Freud สัมพันธุ์กับพลัง Libido หรือพลังทางเพศ (Psychosexual) 
อิด (Id) จะเป็นต้นกำเนิดของบุคลิกภาพ เป็นส่วนสัญชาติญาณ (Instinct) ที่มีมาแต่กำเนิด กระตุ้นให้มนุษย์ตอบสนองความต้องการ ความสุข ความพอใจ ส่วนใหญ่ที่อยู่ในระดับจิตไร้สำนึก ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ลดความเครียดที่เกิดขึ้น ตามหลักของความพอใจ (Pleasure Principle) เช่น เด็กหิวก็จะร้องไห้ เพื่อตอบสนองความต้องการ  
อีโก้ (Ego) เป็นส่วนของบุคลิกภาพที่ทำหน้าที่ประสาน Id และ Superego ให้แสดงบุคลิกภาพออกมาให้เหมาะสมกับความเป็นจริง และเหมาะสมกับสังคม Ego จึงขึ้นอยู่กับหลักความเป็นจริง (Reality Principle) มีการใช้ความคิด ใช้เหตุผล ใช้สติปัญญา และการรับรู้ที่เหมาะสม  Ego เป็นส่วนที่อยู่ในระดับจิตสำนึกเป็นส่วนใหญ่
ซูเปอร์อีโก้ (Superego) เป็นส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรม จรรยา มโนธรรม บรรทัดฐานของสังคม ค่านิยม และวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ที่ผลักดันให้มนุษย์มีพฤติกรรมต่างๆ ทีเกี่ยวข้องกับความดีงาม คุณธรรม จริยธรรม ที่ได้มาจากการอบรม สั่งสอน เลี้ยงดู โดยเด็กจะรับเอาค่านิยม บรรทัดฐานทางศีลธรรม ที่พ่อแม่สอนมาไว้ในตนเอง  Superego ขึ้นอยู่กับหลักแห่งคุณธรรมจริยธรรม (Moral Principle) ทำหน้าที่ควบคุม Id และมี Ego เป็นตัวกลางที่ประสานการทำงานระหว่าง Id กับ Superego
สำหรับทฤษฎีการพัฒนามนุษย์นั้น Freud เชื่อว่าได้รับอิทธิพลจากความพอใจในการได้รับการตอบสนองของมนุษย์และสัมพันธุ์กับพลังเพศ ซึ่ง Freud แบ่งการพัฒนาของบุคลิกภาพและการพัฒนามนุษย์ออกเป็น 5 ขั้น (Stage of Psychosexual Development)  ได้แก่
1. ขั้นปาก (Oral Stage) เป็นระยะการพัฒนาของทารกตั้งแต่แรกเกิดถึง 1 ปี (หรือ 1.5 ปี) วัยนี้ความพึงพอใจของทารกอยู่ที่ปาก (Erogeneous Zone) ทารกมีความสุขกับการดูด กลืน กิน กัด เคี้ยว เป็นต้น ระยะนี้เด็กจึงแสวงหาความสุขจากปาก ถ้าเด็กพอใจเด็กก็จะพัฒนาผ่านระยะนี้ไปได้ด้วยดี ถ้าเด็กไม่รู้สึกพอใจก็มีปัญหาในการพัฒนาผ่านระยะนี้ เช่นชอบดูดนิ้วมือแม้ว่าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วและอาจมีบุคลิกอื่นๆที่ไม่เหมาะสมด้วย
ดังนั้นเมื่อพ่อแม่ปู่ย่าตายายหรือผู้ปกครองเลี้ยงดูเอาใจใส่ทารกดี ให้ความรักความอบอุ่นแก่ทารกพอเพียง เมื่อทารกหิวร้องไห้ ก็ได้รับการตอบสนองอย่างพอใจ คือได้ดูดนม ได้อุ้มและได้รับความรักความสนใจ ทารกเกิดความรู้สึกดี มีความสุขและพึงพอใจ ทารกจะเกิดความรักและความไว้วางใจต่อคนรอบข้างและผู้อื่นและต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน ยอมรับตนเองและผู้อื่น และสามารถรักตนเองและผู้อื่นได้
ในทางตรงข้าม หากความต้องการของทารกไม่ได้รับการตอบสนองที่เหมาะสม เช่นถ้าทารกหิวและร้องให้จนเหนื่อยหรือเป็นเวลานานโดยไม่ได้ดูดนมหรือได้ดูนมไม่เพียงพอ หรือถูกปล่อยให้ร้องไห้โดยไม่ได้รับความสนใจ ไม่ได้รับการอุ้มสัมผัสที่อบอุ่นและด้วยความรักจากพ่อแม่ หรือทารกถูกบังคับให้หย่านมเร็วเกินไปก่อนวัยอันควร ซึ่งส่งผลให้เกิดความคับข้องใจขึ้น (Frustration) จะทำให้เด็กพัฒนาความไม่ไว้วางใจ (Distrust) มีความรู้สึกไม่ดีเกี่ยวกับตนเองและเกลียดชังสภาพแวดล้อม และเกิดภาวะการพัฒนาติดตรึงอยู่กับที่ (Fixation) คืออยู่กับระยะพัฒนาทางปาก เกิดเป็นบุคลิกภาพระยะปากขึ้น (Oral Personality) คือชอบดูดนิ้วหรือดูดดินสอปากกา สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เสพยาเสพติด ชอบเคี้ยวหมากฝรั่ง กินจุกกินจิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเครียด มีบุคลิกภาพชอบพูดมาก เสียดสี นินทา ว่าร้าย เยาะเย้ย ถากถาง เหน็บแนม ก้าวร้าว ชอบว่าผู้อื่น ชอบพูดเสียงดัง ใส่ร้ายป้ายสี บ้าอำนาจ คิดว่าตนเองเก่ง ไม่ยอมใคร หรือชอบทำตัวเป็นจุดเด่นโดยการใช้ปากหรือพูด
2. ขั้นทวารหนัก (Anal Stage) อายุประมาณ 1 หรือ 1.5 ปี ถึง 3 ปี เด็กมีบริเวณที่ก่อให้เกิดความพึงพอใจที่ทวารหนัก (Erogeneous Zone) เด็กจึงแสวงหาความสุขจากอวัยวะทวารหนัก พึงพอใจต่อการขับถ่าย และพึงพอใจต่อการควบคุมการขับถ่ายด้วยตนเอง เด็กเริ่มเป็นตัวของตัวเอง มีความพึงพอใจในความสามารถของตนเองในการกลั้นอุจจาระและขับถ่ายอุจจาระ พ่อแม่ไม่ควรแสดงความรังเกียจต่อการถ่ายอุจจาระของทารก เพราะจะทำให้ทารกเกิดความสับสน และขัดแย้งในใจ พ่อแม่ไม่ควรเข้มงวดเกินไปในการฝึกการขับถ่ายของทารกให้เป็นเวลาหรือเป็นที่เป็นทาง พ่อแม่จึงควรยืดหยุ่นให้ และถ้าความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกดี เด็กพอใจการขับถ่าย เด็กจะพัฒนาไปในทางที่ดี มีอารมณ์มั่นคง อ่อนโยน และเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง
แต่ถ้าหากพ่อแม่เข้มงวดและบังคับลูกในเรื่องการขับถ่ายมากเกินไป เช่นเข้มงวดเรื่องสถานที่ขับถ่ายและเวลาที่ลูกขับถ่าย หรือเข้มงวดในเรื่องการใช้กระโถน ทำให้ทารกเกิดความความข้องจิต วิตกกังวล และไม่พึงพอใจในการขับถ่าย ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกไม่ดี เด็กรู้สึกขัดแย้ง รู้สึกไม่เป็นอิสระ เกิดภาวะติดตรึงอยู่กับความต้องการทางทวารหนัก (Fixation) เกิดเป็นบุคลิกภาพระยะทวารหนัก (Anal Personality) เช่นเด็กที่ติดอยู่กับการกลั้นอุจจาระไม่ยอมขับถ่าย เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่อาจเป็นคนท้องผูกบ่อยๆ มีบุคลิกภาพเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียวเป็นต้น ส่วนเด็กที่ติดอยู่กับความพอใจในการถ่ายอุจจาระ เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ อาจมีบุคลิกภาพเป็นคนไม่เป็นระเบียบ รกรุงรัง ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย เด็กที่ติดอยู่กับความเข้มงวดของพ่อแม่ในเรื่องความสะอาด อาจโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่รักความสะอาดมากเกินไป เข้มงวด เจ้าระเบียบ ไม่ยืดหยุ่น เป็นคนจู้จี้จุกจิก และหึงหวงมากเกินไป เด็กที่ติดอยู่กับความไม่พอใจในเรื่องความเข้มงวดของพ่อแม่เกี่ยวกับการขับถ่าย อาจโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดื้อรั้น ชอบต่อต้าน ถ้าเด็กยึดติดอยู่กับขั้นนี้รุนแรงมากเกินไป อาจกลายเป็นคนที่ชอบทำร้ายผู้อื่น ชอบทำให้ผู้อื่นเจ็บปวด หรือชอบร่วมเพศท่าแปลกๆหรือชอบทำให้คู่นอนเจ็บปวด (Sadism) หรือชอบใช้อุปกรณ์ต่างๆในการมีเพศสัมพันธ์
3. ขั้นอวัยวะเพศ (Phallic Stage) ระยะนี้เริ่มตั้งแต่อายุ 3 – 5 หรือ 6 ปี ในขั้นนี้ อวัยวะที่ทำให้เด็กมีความสุขและพอใจคืออวัยวะเพศ (Erogeneous Zone)  เด็กแสวงหาความสุขและความพึงพอใจจากอวัยวะเพศ เด็กสนใจอวัยวะเพศ บางคนอาจแสดงออกด้วยการจับต้องอวัยวะเพศ หรือพอใจกับการลูบคลำอวัยวะเพศ  เริ่มแรกอาจสนใจอวัยวะเพศของตนเอง ต่อไปสนใจความแตกต่างระหว่างเพศของตนกับเพศตรงข้าม  เด็กชายอาจเกิดความวิตกกังวลกลัวว่าจะถูกตัดอวัยวะเพศ (Castration Anxiety) และคิดว่าเด็กหญิงคงถูกตัดองคชาต (Penis) ไป เด็กหญิงบางคนก็อาจคิดว่าเดิมตนคงมีองคชาตและถูกตัดไป และรู้สึกอิจฉาเด็กชายที่มีองคชาติ (Penis Envy) หรือรู้สึกต่ำต้อยที่ตนเองไม่มีองคชาตเหมือนกับเด็กชาย
Freud คิดว่าเมื่อเด็กอายุ 4-5 ปี พลัง Libido บางส่วนเคลื่อนที่ออกจากตนไปอยู่ที่พ่อแม่ที่เป็นเพศตรงข้ามกับตน ทำให้เด็กชายรักใคร่และหวงแหนแม่ และเป็นปฎิปักษ์กับพ่อ เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ปมอิดิปุส” (Oedipus Complex)  ขณะที่เด็กหญิงรักใคร่และหวงแหนพ่อ รู้สึกอิจฉาและเป็นปฏิปักษ์กับแม่ เรียก “ปมอีเลคต้า” (Electra Complex) 
นอกจากปม Oedipus Complex  แล้วเด็กชายเริ่มเรียนรู้ว่าพ่อมีอำนาจเหนือตัวเขา ความรู้สึกปฏิปักษ์กับพ่อเพราะต้องการแย่งชิงความรักจากแม่ค่อยๆ หมดไป หันมาเป็นมิตรและเลียนแบบพ่อ (Identification) นำเอาบทบาทและบุคลิกของพ่อซึ่งเป็นเพศชายมาไว้ในตัว (Introject)  และเลียนแบบบทบาทที่เหมาะสมกับตน ทำให้ปม Oedipus Complex ค่อยๆหายไป (Resolusion of Oedipal Complex) ต่อมา Superego ของเด็กจะเริ่มพัฒนา รับเอาค่านิยม คุณธรรม มโนธรรม และบรรทัดฐานทางสังคมของทั้งพ่อและแม่มาไว้ในตัว 
ในขณะที่เด็กหญิง นอกจากจะเกิด Electra Complex แล้ว ต่อมารู้สึกว่าพ่อไม่สามารถให้องคชาตแก่ตนได้ และเกิดความรู้สึกว่าแม่เป็นผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าตน ซึ่งแม่ก็ไม่มีองคชาตเช่นกัน ทำให้รู้สึกว่าตนเป็นเพศเดียวกับแม่ หันมาเลียนแบบแม่ ทำให้ปม Electra Complex ค่อยๆหมดไป (Resolusion of Electra Complex) และเมื่อ Superego เริ่มพัฒนาขึ้น เด็กหญิงก็รับเอาค่านิยม คุณธรรม มโนธรรม และบรรทัดฐานทางสังคมของทั้งพ่อและแม่มาไว้ในตัว
ถ้าการพัฒนาการทางบุคลิกภาพเป็นไปด้วยดี เด็กจะแสดงบทบาทที่เหมาะสมตามเพศของตนเอง และเมื่อโตขึ้นจะมีเจตคติที่ดีในเรื่องเพศ 
แต่ถ้าการพัฒนาการเป็นไปอย่างไม่เหมาะสม จะเกิดการติดตรึงอยู่ที่ระยะอวัยวะเพศ (Fixation)  เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่อาจมีบุคลิกภาพผิดปกติไปหรือไม่สมบูรณ์เช่น เพศชายมีอวัยวะเพศแข็งตัวยากหรือไม่แข็งตัว (Impotence)  เพศหญิงมีความรู้สึกเย็นชาทางเพศ (Frigidity) หรือเกิดการรักร่วมเพศ (Homosexuality) หรือชอบอวดอวัยวะเพศ (Exhibitionism) เป็นต้น
การพัฒนาขั้นอวัยวะเพศมีความสำคัญมากในการพัฒนาบุคลิกภาพ พ่อแม่ไม่ควรตำหนิหรือเข้มงวดกับเด็กมากเมื่อเด็กจับต้องอวัยวะเพศ  เด็กควรได้รับชี้แจงและสั่งสอนเรื่องเพศตามความเหมาะสมกับวัยและการอยากรู้อยากเห็นของเขา หากพ่อแม่ตำหนิและเข้มงวดกับเด็กมากเกินไป จะทำให้เด็กรู้สึกผิดที่เล่นอวัยวะเพศตนเอง หรือตำหนิตนเอง และรู้สึกขัดแย้งในตนเอง เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่อาจไม่กล้าทำสิ่งใหม่ๆ ไม่กล้าถาม และอาจตีค่าตัวเองต่ำ 
ดังนั้นพ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการแสดงบทบาททางเพศ ให้ความรัก ความอบอุ่น และความเอาใจใส่แก่เด็ก และควรมีเวลาใกล้ชิดกับเด็กมากขึ้น ให้ข้อมูลทางเพศ  ให้เหตุผล ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับค่านิยมทางสังคมที่เหมาะสมเกี่ยวกับเพศ และสร้างเจตคติที่ดีในเรื่องเพศแก่เด็ก ทำให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องเพศถูกต้อง มีสัมพันธภาพที่ดีในการอยู่ร่วมกันระหว่างเพศเดียวกันและระหว่างเพศต่างกัน  เด็กยอมรับความรู้สึกของตนเอง และแสดงความรู้สึกออกมาได้เหมาะสมกับบทบาททางเพศของตน และตามบรรทัดฐานของสังคม
4. ขั้นแฝง (Latency Stage) ระยะนี้เริ่มตั้งแต่ อายุ 6 – 11 หรือ 12 ปี ในขั้นนี้ไม่ปรากฏอวัยวะที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายที่ทำให้เกิดความพึงพอใจ เสมือนเป็นระยะแฝงของพลัง Libido  เด็กแสวงหาความสุขจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว เด็กจึงเริ่มพัฒนาชีวิตสังคมนอกบ้านมากขึ้น เด็กมุ่งไปที่พัฒนาการด้านสังคมและด้านสติปัญญา พร้อมที่จะเรียนรู้การมีเหตุผล การรับรู้ผิดชอบชั่วดี เด็กพึงพอใจในการติดต่อกับเพื่อนร่วมวัยและสิ่งแวดล้อมรอบตัว เรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้ากับเพื่อนๆ ในโรงเรียนหรือข้างบ้าน  หากเด็กมีการพัฒนาในวัยก่อนหน้านี้อย่างเหมาะสม เด็กจะมีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับเพื่อนๆ  เด็กได้เรียนรู้ค่านิยม ทัศนคติ และปรับตัวเตรียมพร้อมเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ แต่ถ้าหากเด็กมีการพัฒนาก่อนหน้านี้ไม่ดี และ/หรือพ่อแม่ไม่ค่อยอนุญาติให้เด็กได้เล่นกับเพื่อนๆ เด็กอาจมีสัมพันธภาพและปรับตัวได้ไม่ดีเมื่อโตขึ้น
5. ขั้นสนใจเพศตรงข้าม (Genital Stage) ระยะนี้เริ่มตั้งแต่อายุ 12 ปีเป็นต้นไป เป็นระยะที่เด็กเข้าสู่วัยรุ่นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่และวัยชรา โดยมีความพึงพอใจอยู่ที่อวัยวะเพศ (Erogoneous Zone)  มีความพึงพอใจคบหาสมาคมกับเพื่อนต่างเพศ   เด็กที่เข้าสู่วัยรุ่นจะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายทั้งหญิงและชาย เติบโตเป็นลักษณะของอวัยวะเพศผู้ใหญ่ และมีความสามารถในการสืบพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ มีความต้องการตามสัญชาตญาณทางเพศ มีแรงจุงใจที่จะเกิดความรัก ต้องการเป็นตัวของตัวเอง ต้องการเป็นอิสระจากพ่อแม่ ในขณะเดียวกับก็ต้องการได้รับความอบอุ่น แต่ก็ยังต้องการดูแลเอาใจใส่จากพ่อแม่ทางจิตใจ  เมื่อบุคคลมีวุฒิภาวะทางเพศอย่างสมบูรณ์แล้ว จะเกิดความพึงพอใจทางด้านเพศ มีการแสวงความสุขทางเพศระหว่างชายหญิง บุคคลที่มีการพัฒนาการทางบุคลิกภาพอย่างปกติ ไม่มีการติดตรึง (Fixation) ก็จะสามารถมีชีวิตทางสังคมที่ถูกต้องเหมาะสมคือมีครอบครัว และสามารถแสดงบทบาททางเพศ และบทบาทของพ่อแม่ได้อย่างเหมาะสม
นอกจาก Freud ตั้งทฤษฎีบุคลิกภาพ (Personality Theory) และทฤษฎีการพัฒนาการที่สัมพันธ์กับพลังเพศแล้ว (Psychosexual Development) Freud ยังได้พูดถึงวิธีที่บางคนแสดงออกมาเมื่อเกิดความวิตกกังวลและความคับข้องใจขึ้น โดยบุคคลนั้นหาเหตุผลหรือวิธีการต่างๆมาเพื่อแก้ตัวเองเมื่อเกิดมีปํญหาขึ้นหรือเมื่อได้กระทำผิด กลไกต่างๆที่บุคคลเหล่านั้นใช้ป้องกันตนสรุปได้ดังนี้คือ ป้ายความผิดให้ผู้อื่น (Projection), หาเหตุผลต่างๆนาๆเข้าข้างตนเอง (Rationalization), แสดงปฏิกิริยาตรงข้าม (Reaction Formation), ไม่ตัดสินใจใดๆ (Ambivalence), หลบหนี (Avoidance), เก็บไว้ (Repression), กดไว้ (Suppression), ถดถอย (Regression), ชดเชย (Substitution), ติดตรึงไว้ (Fixation), แยกตัว (Isolation), แทนที่ (Displacement), เลียนแบบ (Identification), สร้างวิมานในอากาศหรือฝันเฟื่อง (Fantasy) เป็นต้น
จึงนับว่า Sigmund Freud เป็นผู้ที่วิเคราะห์คน จิตคน บุคลิกภาพคน และการพัฒนาของคน ซึ่งแพทย์ได้ใช้ประโยชน์จากทฤษฎีของ Freud มาจนถึงทุกวันนี้
ลูกสาวของ Sigmund Freud (ค.ศ. 1895-1982 หรือ พ.ศ. 2438-2525) ชื่อ Anna Freud เป็นนักจิตวิเคราะห์เด็ก (Child Psychoanalysis) ที่เก่งมากอีกคนหนึ่ง แต่ขณะที่ Sigmund Freud เน้นการทำงานของ Id ลูกสาวของ Freud เน้นการวิเคราะห์การทำงานของ Ego และอาจกล่าวได้ว่า Anna Freud เป็นผู้ให้กำเนิดลกศิษย์ที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งชื่อ Erik Homburger Erikson (Erik H. Erikson) (ค.ศ. 1902-1994 หรือ พ.ศ. 2445-2537) เพราะเป็นผู้ตั้งทฤษฎี การพัฒนาบุคลิกภาพทางจิตวิทยาสังคม (Psychosocial Development)
Erik H. Erikson เกิดที่ Frankfurt am Main ประเทศเยอรมันนีเมื่อ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1902 (พ.ศ. 2445) พ่อแม่เชื้อสายยิวมาจากประเทศเดนมาร์ก พ่อชื่อ Waldemar Isidor Salomonsen อาชีพ stockbroker แม่ชื่อ Karla Abrahamsen มาจาก Copenhagen, Denmark เมื่อแรกเกิด Erik H. Erikson จึงชื่อ Erik Salomonsen พ่อแยกทางกับแม่ตั้งแต่ก่อน Erik จะเกิด แม่ได้ย้ายไปอยู่เมือง Karlsruhe ฝึกเป็นพยาบาล และได้แต่งงานกับกุมารแพทย์เชื้อสายยิวชื่อ Theodor Homburger ในปี ค.ศ. 1904 Erik Salomonsen จึงเปลี่ยนชื่อเป็น Erik Homburger ในปี ค.ศ. 1909 ในช่วงวัยรุ่น Erik เดินทางท่องในยุโรป เรียนวาดรูปในเยอรมันนีและอิตาลี เมื่ออายุประมาณ 25 ปี ได้มาทำงานวาดรูป (Portraits) และเป็นครูสอนศิลปและประวัติศาสตร์ที่โรงเรียนเด็กเล็กแห่งหนึ่งสำหรับเด็กอเมริกันและอังกฤษในเมือง Vienna (ค.ศ. 1927-1933) ร่วมกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนชื่อ Peter Blos, Dorothy Burlingham โรงเรียนนี้บริหารโดย Dorothy Burlingham และ Eva Rosenfeld ซึ่งทั้งสองคนเป็นเพื่อนสนิทกับ Anna Freud ลูกสาวของ Sigmund Freud โรงเรียนนี้ใช้วิธีการสอนแบบ Montessori Method ซึ่งมีการทำวิเคราะห์ทางจิตของเด็กเพื่อดูการพัฒนาการของเด็ก Erik จึงได้ฝึกการวิเคราะห์ทางจิต (Psychoanalysis) กับ Anna Freud. Erik สนใจมาก จึงได้เรียนการทำวิเคราะห์ทางจิตที่ Vienna Psychoanalytic Institute ภายใต้การฝึกของ Anna Freud
ต่อมาในปี ค.ศ. 1930 Erik แต่งงานกับ Joan Mowat Serson เชื้อสายแคนาดาซึ่งสนใจเรื่องการศึกษา, ศิลปและการแกะสลักมากและเป็นผู้มีส่วนร่วมในการศึกษาและเขียนหนังสือเกี่ยวกับจิตวิเคราะห์กับ Erik ในเวลาต่อมา Erik ได้ประสพการณ์การวิเคราะห์ทางจิตจากโรงเรียนที่เขาสอน, จากสถาบัน Vienna Psychoanalytic Institute ที่เขาฝึก, จากลูก 3 คนของเขา (Kai, Jon, Sue) จากตัวเขาเอง และจากการศึกษาวิจัยทางจิตวิเคราะห์เด็กอีกหลายชุมชนต่อมา เช่นหลังจากที่เขาได้อพยพไปสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1933 เขาได้ศึกษาเด็กชาวอินเดียแดงเผ่า Sious (หรือ Sioux) ใน South Dakota และเผ่า Yorok(หรือ Yoron) ใน Northern California เป็นต้น และที่สหรัฐอเมริกานี้ในปี ค.ศ. 1939 เขาได้เปลี่ยนชื่อเป็น Erik Homburger Erikson เมื่อเขาได้เปลี่ยนสัญชาติเป็นอเมริกัน Erik เสียชีวิตในวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1994 (พ.ศ. 2537) ที่ Cape Cod, Massachusetts สหรัฐอเมริกา
ปี ค.ศ. 1933 (พ.ศ. 2476) Erik จบการศึกษาจาก Vienna Psychoanalytic Institute ได้รับประกาศนียบัตรครูจาก Montessori Teachera Association และ Diploma จาก Vienna Psychoanalytic Society ก็พอดีกับ Hitler และนาซี (Nasi) ได้ครองอำนาจในประเทศเยอรมันนี ครอบครัวเขาถึงได้อพยพไปเมือง Boston ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่นี่เขาเป็นนักจิตวิเคราะห์คนแรก, ได้รับเชิญให้สอนที่โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Medical School) (1933-1936), ได้รักษาเด็กโดยวิธีวิเคราะห์ทางจิตวิทยา (Child Psychoanalysis), ทำวิจัยกับ Harvard Medical School (1934-1935), Institute of Human Relations, และ Yale School of Medicine (1936-1939), San Francisco Psychoanalytic Institute, Institute of Child Felfare, University of California at Berkeley (1939-1951), Austen Riggs Center, Stockbridge, Massachusetts (1951-1960), Center for Advanced Studies of the Behavioral Sciences, Massachusetts General Hospital, Judge Baker Guidance Center, และเป็น Visiting Professor University of Pittsburgh School of Medicine (1951-1960), เป็นศาสตราจารย์ทางพัฒนาการมนุษย์ (Professor of Human Development) และสอนวิชาจิตเวชศาสตร์ (Psychiatry) จนเกษียณที่ Harvard University (1960-1970) แล้วย้ายมาอยู่ที่ San Francisco เขียนตำรา (เขาเขียนหนังสือทั้งหมด 14 เล่มในชีวิต) และเป็นที่ปรึกษา และทำงานแผนกจิตเวช (Psychiatry) โรงพยาบาล Mount Zion และเป็นที่ปรึกษา Medical Programs ของ University of California ต่อมาปี ค.ศ. 1987 เข้าย้ายไปอยู่เมือง Cambridge, Massachusetts ในบั้นปลายชีวิตเขาอยู่บ้านพักดูแลคนชรา (Nursing Home) ที่ Harwich, Cape Cod, Massachusetts ซึ่งเขามีบ้านพักฤดูร้อนที่เมืองใกล้ๆชื่อ Cotuit
ศาสตราจารย์ Erik H. Erikson ยืนยันว่าเขาเป็นนักจิตวิทยาสาขา Freud (เรียก Freudian) ที่จริงถ้าจะให้ถูกยิ่งขึ้นเขาเป็น Freud ยุคใหม่ (Neo-Freudian) นักจิตวิทยาต่อมาเห็นว่าเขาเน้นเรื่อง Ego (Ego Psychologist) (ขณะที่ Freud เน้นเรื่อง Id) เขาได้เสนอการพัฒนามนุษย์และการพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์ว่าสัมพันธ์กับจิตวิทยาสังคม (Psychosocial Development) (ขณะที่ Sigmund Freud ได้เสนอมาก่อนหน้านี้ว่าสัมพันธ์กับพลังเพศคือ Psychosexual Development และแบ่งเป็น 5 ขั้น)
ในปี ค.ศ. 1950 ระหว่างที่อยู่ California เขาได้เขียนหนังสือเล่มแรกๆของเขาชื่อ Childhood and Society (พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Norton, New York, 1950) ซึ่งเป็นหนังสือที่มีชื่อมากที่สุดเล่มหนึ่ง เพราะเขาได้เสนอทฤษฎีการพัฒนามนุษย์และบุคลิกภาพที่สัมพันธ์กับจิตวิทยาสังคม (Psychosocial Development) ในหนังสือนี้ได้แบ่งการพัฒนามนุษย์และบุคลิกภาพออกเป็น 8 ขั้น (Eight Stages of Psychosocial Development) ซึ่งหลังจากเขาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1994 แล้วภรรยาม่ายของเขา Joan Serson Erikson ได้เสนอเพิ่ม ขั้นที่ 9 ขึ้นคือขั้นวัยชราภาพ (Old Age) ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตจากชราภาพ แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังมักกล่าวถืงทฤษฎี 8 ขั้นของเขา หนังสือ Childhood and Society ของเขาเป็นหนังสือที่เขาใช้เป็นพื้นฐานในการเขียนหนังสือเล่มต่อๆไปอีกหลายเล่มของเขา นอกจากนี้เขายังได้ศึกษาวิเคราะห์ชีวประวัติของบุคคลสำคัญของโลกเช่น มาร์ติน ลูเธอ (Martin Luther) และมหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi) และเขียนหนังสือ Young Man Luther. A Study in Psychoanalysis and History (1962) และ Gandhi’s Truth: On the Origin of Militant Nonviolence (1969) (ทั้งสองเล่มพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Norton, New York เช่นเดียวกัน) หนังสือเล่มหลังนี้เขาได้รับรางวัล Pulitzer Prize, และ U.S. National Book Award ด้วย อนึ่งในบั้นปลายชีวิตของ Erik H. Erikson นั้นผลงานของเขาจะเกี่ยวข้องคุณธรรมและจริยธรรมทางจิตใจ (Ethical and Moral Responsibilities) ในโลกสมัยใหม่ (Modern World) เพราะในในโลกสมัยใหม่มีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคมมากมาย (Social Injustice)
ศาสตราจารย์ Erik H. Erikson จึงเป็นนักจิตวิเคราะห์สมัยใหม่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่ง เขายังได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปราชญ์ นักคิด นักเขียน นักค้นคว้า ครูบาอาจารย์ และที่ปรึกษาหลายสถาบันและหลายมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ทฤษฎีที่ทำให้เขามีชื่อเสียงมาก คือทฤษฎีการพัฒนามนุษย์และบุคลิกภาพ 8 ขั้นที่สัมพันธ์และได้รับอิทธิพลจากจิตสังคม (Eight Stages of Human and Psychosocial Development) ขั้นการพัฒนาทั้ง 8 ได้แก่


ขั้น (Stage) พัฒนาการ (Development) อายุ (Age) ผล (Outcome)
1 ความเชื่อใจ (Trust) หรือ ความไม่เชื่อใจ (Mistrust) 0-1 ปี หรือวัยทารก (Infancy) (อาจ 0-1.5 ปี) ความหวัง (Hope)
2 ความเป็นตัวเอง (Autonomy) หรือ ความรู้สึกระอายและไม่แน่ใจหรือสงสัย (Shame and Doubt) 1-3 ปี หรือวัยเด็กเล็ก (Early Childhood)
(อาจ 1.5 หรือ 2-3 ปี) พลังปรารถนา (Will)
3 ความริเริ่ม (Initiative) หรือ ความรู้สึกผิด (Guilt) 3-6 ปี หรือวัยวิ่งเล่น (Play Age) บางคนเรียกวัยก่อนเข้าโรงเรียน (Preschool Age)
(อาจ 3-5 ปี) จุดประสงค์ของชีวิต (Purpose in Life)
4 สร้างผลิตผลมาก (Industry) และ ความรู้สึกต่ำกว่าหรือด้อยกว่า (Inferiority) 6-12 ปี หรือวัยเข้าโรงเรียน (School Age)
(อาจ 7-10 ปี) ความสามารถ (Competence)
5 ความเป็นตัวตนเฉพาะตัว (Identity) หรือ สับสนในบทบาท (Role Confusion) ช่วงวัยรุ่น (Adolescence)
(อาจ 12-18 หรือ 10-17 ปี) เป็นตัวตนเฉพาะตัว (Identity) (บางคนเรียก Fidelity)
6 ความมีสัมพันธภาพผูกพัน (Intimacy) หรือ การแยกตัว (Isolation) ช่วงผูใหญ่ตอนต้น (Young
or Early Adulhood)
(อาจ 18-30 หรือ 35 หรือ 40 ปี) ความรัก (Love)
7 สร้างสรรค์ผู้สืบทอด (Generativity) หรือ หยุด/ไม่เปลี่ยน (Stagnation) ช่วงผู้ใหญ่ตอนกลาง (Adulthood or Middle Adulthood)
(อาจ 35-60 หรือ 40-65 ปี) สร้างสรรค์ผู้สืบทอด/มีความเป็นพ่อแม่ (Generativity/Parenthood) บางคนเรียกการเลี้ยงดู (Care)
8 บูรณการ (Integrity) หรือ รู้สึกหมดหวังแพ้พ่าย (Despair) ช่วงผู้ใหญ่ตอนปลาย (Late or Later Adulthood)
(อาจ >65 ปี) ปราชญ์ (Wisdom)


ขั้นที่ 1 วัยทารก (Infancy) อายุ 0-1 ปี เป็นระยะการพัฒนาการความไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจพื้นฐาน (Basic Trust VS Basic Mistrust) วัยนี้ถ้าได้รับความรักความอบอุ่นดี ทารกก็จะพัฒนาความรัก ความไว้วางใจผู้อื่น พูดง่ายๆก็คือ เมื่อทารกได้รับความไว้วางใจ และความรัก เด็กก็รู้จักให้ความไว้วางใจและความรักแก่ผู้อื่น ความไว้วางใจจัดเป็นหน้าที่แรกของ Ego เด็กที่ได้รับความเอาใจใส่ ทะนุถนอม และมีความสุข เด็กก็จะมองโลกในแง่ดี มีเจตคติในทางที่ดี ไว้วางใจผู้อื่น มีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น เชื่อถือตนเองและผู้อื่นมากขึ้น จิตใจหนักแน่น ในทางตรงข้าม ถ้าทารกถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับความรักความอบอุ่น ไม่ได้รับการเอาใจใส่เหลียวแล ทารกจะพัฒนาความไม่ไว้วางใจแก่ผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม ไม่ให้ความรักแก่ผู้อื่น และมองโลกในแง่ร้าย ใน 1 ขวบปีแรกนี้การพัฒนาของเด็กเป็นแบบพื้นฐานความไว้วางใจต่อผู้อื่นและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทารกจะรู้สึกว่าโลกนี้สดสวย มีความสุข และมีความหวัง (Hope) แต่ถ้าทารกใน 1 ขวบปีแรกถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับการสัมผัสโอบอุ้ม มีชีวิตยากลำบาก ถูกปล่อยให้หิวและร้องไห้เป็นเวลานาน การพัฒนาจะเป็นไปในทางลบ คือไม่ไว้ใจผู้อื่น ไม่เชื่อใจสิ่งแวดล้อม รู้สึกว่าโลกโหดร้าย ชีวิตไม่มีความหวัง ซึ่งอาจมีผลไปจนถึงเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่และอาจติดตัวจนไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งมีผลต่อการทำงานและการปรับตัวในสังคม ดังนั้นทารกที่เลี้ยงโดยผู้อื่น มักจะไม่ได้รับความรักและการดูแลเท่ากับที่ได้รับความรักจากพ่อแม่ ซึ่งทารกสามารถรู้สึกและสัมผัสได้ว่าความรักจากพ่อแม่แตกต่างจากผู้อื่น
ขั้นที่ 2 วัยเด็กเล็ก (Early Childhood) อายุ 1-3 ปี เป็นระยะที่การพัฒนาการเป็นหรือไม่เป็นตัวของตัวเอง หรือพัฒนาไปเป็นแบบความรู้สึกอับอายและสงสัย (Autonomy VS Shame and Doubt) ระยะนี้เด็กเริ่มโตขึ้น หัดเดิน วิ่ง และทำกิจกรรมด้วยตนเอง เด็กมีความสนใจรอบๆตัว อยากทดลองทำสิ่งที่สนใจ และเด็กเริ่มรู้สึกว่าตนเป็นคนละคนกับพ่อแม่ ทำให้เกิดการพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองขึ้น ดังนั้นถ้าเด็กมีโอกาสได้ทำเอง หรือได้รับอนุญาตให้ทำ และได้รับการสนับสนุนและให้กำลังใจ เด็กเกิดความเชื่อมั่นในตนเองในสิ่งที่ตนได้ทำ เกิดการพัฒนาเป็นตัวของตัวเอง และเกิดพลังปรารถนา (Will) เป็นตัวของตัวเอง ในทางตรงกันข้าม ถ้าเด็กถูกพ่อแม่ปกป้องมากเกินไป ไม่มีโอกาสได้ทำกิจกรรม เพราะถูกห้ามไว้ เช่นจะหัดเดินหรือวิ่ง ก็ถูกอุ้มตลอดเวลา หรือถูกดุด่าว่ากล่าวเมื่อเด็กสนใจคิดจะทดลองทำโน่นทำนี่ทำสิ่งที่สนใจอย่างพื้นฐานง่ายๆ (Basic Skill) เพราะพ่อแม่กลัวเด็กจะเป็นอันตราย หรือกลัวเด็กทำของเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีข้าวของเสียหาย และเด็กถูกดุว่ารุนแรงหรือถูกลงโทษ ทำให้เด็กรู้สึกสับสน อับอาย ไม่เกิดการพัฒนาเป็นตัวของตัวเอง อาจเกิดความไม่แน่ใจในความสามารถของตัวเอง เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่อาจกลายเป็นคนที่ต้องคอยพึ่งพิงผู้อื่นตลอดเวลา
ขั้นที่ 3 วัยวิ่งเล่น (Play Age) อายุ 3-6 ปี เป็นระยะการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ความคิดริเริ่ม หรือในอีกทางหนึ่งอาจเกิดความรู้สึกผิดในตัวเอง (Initiation VS Guilt) เด็กวัยนี้มีความอยากรู้อยากเห็น ชอบสงสัย ชอบซักถาม ถามโน่นถามนี่ อยากทำโน่นทำนี่ตามที่เด็กสนใจ อยากศึกษาทดลองและทำกิจกรรมด้วยตนเอง เพื่อเป็นผู้ที่ดำรงชีวิตอย่างเชี่ยวชาญบนโลกนี้ ผู้ใหญ่ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้ซักถาม พูดคุยกันอย่างสบายใจกันเอง ซึ่งช่วยการพัฒนาการของวัยนี้และช่วยพัฒนาสติปัญญาของเด็กด้วย ถ้าเด็กไต่ถามแล้วถูกดุด่าว่ากล่าว เด็กจะรู้สึกผิด ต่อไปเด็กไม่กล้าคิด ไม่กล้าถาม และอาจเป็นคนไม่กล้ามีความคิดริเริ่ม
วัยนี้เด็กเริ่มเรียนรู้ได้ว่าสิ่งของทุกอย่างตกลงสู่พื้นโลก เริ่มเรียนรู้จากธรรมชาติ และจากสิ่งประดิษฐ์บนโลก เด็กอาจหัดข้ามถนน หัดขี่จักรยาน เล่นเกม เล่นกีฬา ถ้าพ่อแม่ให้ความสนับสนุนเด็ก ให้กำลังใจ และเข้าใจในตัวเด็ก เด็กจะเป็นคนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และมีความเชื่อมั่นในตนเอง ซึ่งส่งเสริมต่อเนื่องมาจากระยะอายุ 1-3 ปีด้วย การพัฒนาในช่วงวัยนี้ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกว่าชีวิตมีจุดประสงค์ (Purpose in Life) ในทางตรงข้าม ถ้าเด็กไม่ได้รับอนุญาติให้ทำ หรือไม่ได้รับการสนับสนุน แต่กลับถูกห้ามปราม และพ่อแม่ไม่เข้าใจในสิ่งที่เด็กอยากคิดอยากทำ กลับถูกดุด่าว่ากล่าว เด็กเกิดความสับสน และเกิดความไม่แน่ใจในความสามารถของตัวเองว่ามีความสามารถทำสิ่งที่อยากทำได้สำเร็จหรือไม่ หรือหากมีความผิดพลาดหรือความเสียหายเกิดขึ้น ถ้าเด็กถูกดุรุนแรงและหรือถูกลงโทษ เด็กจะรู้สึกคับข้องจิต (Frustration) รู้สึกผิดที่ได้ทำ (Guilt) อาจขาดการควบคุมตนเอง ก้าวร้าว ขาดความเชื่อมั่น ขาดความกล้าหาญ และทำให้การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์หยุดชงัก ซึ่งอาจเสียการตัดสินถูกผิดด้วย ผู้ใหญ่จึงมีความสำคัญมากในการช่วยให้เด็กพัฒนาผ่านระยะนี้ไปได้ด้วยดี ผู้ใหญ่ยังสามารถทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็กได้เรียนรู้เพื่อการพัฒนา ผู้ใหญ่อาจฝึกความรับผิดชอบของเด็กโดยการให้งานง่ายๆแก่เด็กทำ เช่นจัดโต๊ะอาหาร แต่งตัวเอง เก็บของให้เรียบร้อย เป็นต้น เด็กที่ทำได้ดีจะรู้สึกว่าตนมีความสามารถและมีความรับผิดชอบ วัยนี้เด็กยังเรียนรู้ได้ถึงเรื่องความซื่อสัตย์ ซื่อตรง ความยุติธรรม และมโนธรรมด้วย
ขั้นที่ 4 วัยเข้าโรงเรียน (School Age) อายุ 6-12 ปี เป็นระยะการพัฒนาความขยันหมั่นเพียรมานะอดทนในการทำงาน หรือในอีกทางหนึ่งอาจทำให้เกิดความรู้สึกต่ำต้อยด้อยค่า (Industry VS Inferiority) วัยนี้เป็นช่วงที่เด็กเข้าโรงเรียน เรียนหนังสือ เรียนรู้ ได้รับมอบหมายงานให้ทำ หรือได้รับการบ้านให้ทำ เด็กพยายามทำงานที่ได้รับมอบหมาย เช่นหัดเขียนหนังสือ หัดคิดเลข ซึ่งงานและการเรียนรู้เหล่านี้ เด็กต้องใช้ความมานะพยายามและความอดทนรวมทั้งความเพียรพยายามในการทำงานให้สำเร็จตามที่ได้รับมอบหมาย หรือตามที่ต้องรับผิดชอบ เด็กที่ทำได้สำเร็จ หรือได้รับกำลังใจ ได้รับความเอาใจใส่สนใจ หรือได้รับความช่วยเหลือบ้างจากพ่อแม่ผู้ปกครองในการที่จะทำกิจกรรมให้สำเร็จ เด็กจะเกิดการพัฒนาความขยันหมั่นเพียรและความมานะอดทนขึ้น เด็กเกิดความเชื่อมันในตนเอง เกิดความภาคภูมิใจและความมั่นใจ ในทางตรงข้าม เด็กที่ทำไม่สำเร็จ หรือไม่ได้รับการสนับสนุนและไม่ได้รับกำลังใจให้ทำกิจกรรมให้สำเร็จลุล่วง เด็กเกิดความไม่มั่นใจในตนเองขึ้น ไม่อยากทำ เบื่อหน่าย หรือรู้สึกว่าตนไม่มีความสามารถ ทำให้ไม่กล้าทำกิจกรรมที่ได้รับมอบหมาย และอาจรู้สึกว่ามีปมด้อยและต่ำต้อยกว่าผู้อื่น
เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็อาจเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ขาดความเชื่อมั่น ถ้าเป็นนักธุรกิจก็อาจเป็นนักธุรกิจประเภทไม่กล้าตัดสินใจ ดังนั้นผู้ใหญ่ควรช่วยให้เด็กพัฒนาผ่านวัยนี้ไปได้ด้วยดี เด็กที่ทำไม่ได้ดีหรือมีความไม่แน่ใจ ก็อาจถามเสมอว่า ตนทำถูกไหม? หรือทำได้ดีไหม?
ถ้าเด็กผ่านวัยนี้ได้ดี เด็กมีความพอใจ เด็กจะพัฒนาความรับผิดชอบด้วย มีเหตุผลมากขึ้น และร่วมมือกับผู้อื่นในการทำกิจกรรมใดๆ ขณะเดียวกันก็มีเด็กบางคนพัฒนาความเป็นอิสระมากขึ้น ซึ่งอาจแสดงออกโดยการไม่เชื่อฟัง หรือดื้อ
ขั้นที่ 5 วัยรุ่น (Adolescence) อายุ 12-18 ปี เป็นระยะการพัฒนาแสวงหาเอกลักษณ์ของตน หรือในทางตรงข้ามเกิดความสับสนในบทบาทของตนเอง (Identity VS Role Confusion) วัยนี้เด็กเติบโตเข้าสู่วัยรุ่น ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงเป็นหนุ่มสาว และเริ่มเข้าสู่สังคมผู้ใหญ่ เด็กอาจรู้สึกสับสนวางตัวไม่ถูก ไม่รู้จะวางตัวอย่างไร จะแสดงตนเป็นเด็กหรือเป็นผู้ใหญ่ และมีบุคลิกอย่างไหนหรือลักษณะไหนดี จะแสดงตนตามเพศของตนในลักษณะอย่างไรดี เด็กกำลังค้นหาเอกลักษณ์ของตนเอง เป็นตัวตนเฉพาะตัว (Identity) เด็กมีความสนใจในตนเองมากเป็นพิเศษ สนใจความสวยความงาม แต่บางคนรู้สึกปรับตัวลำบาก ปรับตัวไม่ได้ หรือมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหา ดังนั้นถ้าผู้ใหญ่เข้าใจว่าเด็กกำลังอยู่ในวัยนี้ พยายามส่งเสริม สนับสนุน ประคับประคอง ให้กำลังใจ ให้เด็กแสดงออกได้ในทางที่ถูก เด็กก็จะพัฒนาได้สมบูรณ์ วางตัวเป็นตัวของตัวเอง ได้เอกลักษณ์ของตนเอง เหมาะสมกับเพศของตนและสังคม ถ้าเด็กพัฒนาระยะต่างๆก่อนหน้านี้มาดี ก็ช่วยส่งเสริมให้ค้นพบตัวเองได้ดีขึ้น รู้ความสามารถ รู้ความถนัด และความต้องการของตน แต่ในทางตรงข้าม ถ้าเด็กพัฒนาผ่านระยะก่อนหน้านี้ทั้งหมดไม่ดี และไม่ได้รับการช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุน หรือได้กำลังใจในการสร้างเอกลักษณ์ของตัวเอง เด็กจะสับสน ปรับตนเองไม่ได้ ไม่รู้ความสามารถของตนเอง ไม่รู้ความถนัดและความต้องการของตน อาจเกิดเป็นบุคลิกที่ไม่สมบูรณ์ ทำตัวไม่เหมาะสม ไม่เข้าใจบทบาทของตนเอง แสดงตนไม่เหมาะกับเพศของตนและสังคม ไม่แน่ใจว่าจะแสดงตนอย่างไรดี และยังอาจเกิดการติดเพื่อนและตามเพื่อนมาก
ขั้นที่ 6 ผู้ใหญ่ตอนต้น (Young or Early Adulthood) อายุประมาณ 18-30 หรือ 35 ปี หรือระยะวัยผู้ใหญ่ตอนต้น เป็นระยะการพัฒนาที่ก่อให้เกิดความผูกพันกับผู้อื่นและสังคม หรือในอีกทางหนึ่งเกิดการแยกตัว (Intimacy VS Isolation) ระยะนี้เป็นระยะที่เริ่มออกไปประกอบอาชีพ มีบทบาทและหน้าที่การงาน และมีความผูกพันกับผู้อื่นและสังคม มีเพี่อน มีกลุ่มเพื่อน มีความรัก (Love) มีคนรัก แต่งงานมีครอบครัว บุคคลที่พัฒนาระยะก่อนหน้านี้มาดีจะช่วยให้ผ่านระยะนี้ได้ดี ซึ่งถ้าผ่านระยะนี้ได้ดี เด็กมีความพอใจ เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง มีความมั่นคงในจิตใจ สามารถสร้างความผูกพันใกล้ชิดกับผู้อื่นและเกิดมนุษย์สัมพันธ์ดีกับผู้อื่น แต่ในทางตรงกันข้าม บุคคลที่ผ่านระยะนี้ไม่ดี ไม่รู้จักบทบาทของตนเอง ไม่มีความผูกพันที่ดีกับผู้อื่นและสังคม เกิดการหย่าร้างได้ง่าย ไม่พอใจในหน้าที่การงานหรืออาชีพตน เกิดความอิจฉาริษยาผู้อื่น และเกิดการขัดแย้งกับผู้อื่นง่าย เกิดการแยกตัวออกจากผู้อื่นและสังคม ไม่ชอบผูกพันกับผู้อื่นและสังคม ชอบอยู่คนเดียว (Isolation) และอาจรู้สึกต่อต้านสังคมและผู้อื่น
ขั้นที่ 7 ผู้ใหญ่ตอนกลาง (Middle Adulthood) อายุประมาณ 35 – 60 ปี (หรือ 40-60 หรือ 65 ปี) หรือระยะวัยผู้ใหญ่ตอนกลาง เป็นระยะของการสร้างสรรค์ผู้สืบทอด หรือในอีกทางหนึ่งเกิดการหยุดกับที่ (Generativily VS Stagnation) หรือบางตำราว่าเป็นระยะสร้างสรรค์ กับอีกทางหนึ่งคือการเห็นแก่ตัว (Generativily VS Self Absorbition) ระยะนี้เป็นระยะที่เป็นผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่การงานเติบโตขึ้น มีความรับผิดชอบมากขึ้นต่อตนเอง ครอบครัว องค์กร ผู้อื่น และสังคม รวมทั้งต่อประเทศชาติและส่วนรวม
ระยะนี้เป็นระยะที่บุคคลมีครอบครัวและลูกหลานสืบสกุล มีความขยันหมั่นเพียร กระตือรือร้น และทำมีหน้าที่อบรมบ่มนิสัยลูกหลานให้เติบโตขึ้นเป็นคนดีมีศิลธรรม ขยันหมั่นเพียร และมีความรับผิดชอบเช่นกัน ในทางตรงข้าม บุคคลที่มีการพัฒนาระยะนี้ไม่ดี เกิดความไม่พึงพอใจ ไม่สมหวัง หยุดอยู่กับที่ ไม่เปลี่ยนแปลง เกิดนิสัยเห็นแก่ตัวขึ้น และไม่สามารถอบรมบ่มนิสัยลูกหลานให้ได้ดี และยังอาจขาดความรับผิดชอบต่อส่วนรวมและสังคม
ขั้นที่ 8 ผู้ใหญ่ตอนปลาย (Late Adulthood) อายุประมาณ 60 ปี (หรือ 65 ปี) ขึ้นไป หรือระยะวัยผู้สูงอายุ เป็นระยะที่เกิดการพัฒนาสร้างสรรค์อย่างบูรณการ หรือถ้าพัฒนาในอีกทางหนึ่งอาจเกิดความรู้สึกสิ้นหวัง หมดหวังท้อแท้ (Integrity VS Despair) บุคคลที่ผ่านการพัฒนาระยะนี้ได้ดี มักเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องจากผู้อื่นและสังคม ว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ เป็นปราชญ์สังคม (Wisdom) มองโลกด้วยสายตาเป็นจริง มีผลงานน่ายกย่อง ช่วยเหลือผู้อื่นและสังคม เป็นคนดีมีศิลธรรม มีความภาคภูมิใจ มีความสุข มีความมั่นคงทางจิตใจ มีความพึงพอใจในชีวิต รู้จักตนเอง รู้จักชีวิต รู้สึกว่าใช้ชีวิตคุ้มค่า เกิดมาคุ้มค่า และ รู้สึกว่าประสบความสำเร็จในชีวิต มีความสงบสุข อยากทำประโยชน์ให้กับสังคม แต่ในทางตรงข้าม บุคคลที่มีการพัฒนาระยะนี้ไม่ดี จะมีความไม่พอใจในชีวิต รู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง โดดเดี่ยว เหงา ว้าเหว่ รู้สึกเสียใจและไม่พอใจอดีตและปัจจุบัน ไม่พอใจชีวิต ไม่มีความสุข รู้สึกว่าได้ทำผิดมาในชีวิต และไม่ได้บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคม
ทั้ง Sigmund Freud และ Erik H. Erikson ทำให้เราเข้าใจเรื่องการพัฒนามนุษย์และการพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์อย่างดี บุคคลที่พัฒนาในทางบวกก็ได้นำความเจริญและประโยชน์มาสู่ทั้งตนเอง ครอบครัว ส่วนรวม สังคม และประเทศชาติ ขณะที่บุคคลที่พัฒนาในทางลบก็นำปัญหาและความเสียหายมาสู่ทั้งตนเอง ส่วนรวม และประเทศชาติเช่นกัน ความเข้าใจในเรื่องของการพัฒนาคน บุคลิกภาพและพฤติกรรมของคนจึงมีความสำคัญมากต่อสังคม
โลกพัฒนามาได้จนถึงทุกวันนี้ก็เพราะมนุษย์ช่วยกันพัฒนาและนำความเจริญมาสู่มนุษยชาติและสู่โลกของเรา แต่ในบางครั้งบางช่วงของโลก การพัฒนาต้องสะดุดลง เกิดสงคราม และความเสียหายเกิดขึ้น ซึ่งเราทราบได้จากการศึกษาประวัติศาสตร์ แม้แต่ในบางช่วงของชีวิตเราก็อาจต้องพบกับบุคคลบางคนที่มีการพัฒนาชีวิตบกพร่อง เช่น พัฒนากลายเป็น คนที่คดโกง โกหกมดเท็จ นักเลงอันธพาล คนที่ชอบเอาเปรียบผู้อื่น คอร์รับชั่น ขโมย เบียดบังของส่วนรวมไปเป็นส่วนตัว รีดไถผู้อื่น เห็นแก่ตัว ทำงานเอาหน้า จิตใจต่ำช้า พูดจาโฮกฮาก หยาบคาย กร่าง ชอบพูดดูถูกดูแคลน พูดจาทับถมผู้อื่น พูดจาไม่มีสกุลรุนชาติ ชอบปั้นน้ำเป็นตัว พูดให้คนเข้าใจผิด ใส่ร้ายป้ายสี ใส่ไคร้ผู้อื่น ให้ข้อมูลผิดๆหรือไม่ครบถ้วน ชอบพูดให้เกิดความแตกแยก ชอบข่มเหงร่างกายและจิตใจผู้อื่น กระตุ้นให้คนทะเลาะกันตีกัน หรือกระตุ้นให้คนกลุ่มหนึ่งทำร้ายคนอีกกลุ่มหนึ่ง กระตุ้นให้คนเลวทำร้ายคนดี ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ชอบทำสิ่งเลวๆต่อสังคมและประเทศชาติ มีปมด้อย มีความเชื่อที่ผิดปกติ เช่น เชื่อว่าทำดีไม่ได้ดีเพราะอัปรีย์กินหัว แต่ทำชั่วได้ดี
ระยะ 5-10 ปีที่ผ่านมานี้ เกิดบุคคลที่มีการพัฒนาในบุคลิกภาพและความคิดบกพร่องเกิดขึ้นมากมาย บางคนได้ทำให้ประเทศชาติเสียมากหรือทำให้ประเทศเกิดปัญหามาก จึงเป็นที่น่าสนใจที่นักวิชาการ นักจิตวิทยา จิตแพทย์ จะได้เข้ามาศึกษาวิจัยบุคคลเหล่านี้ เหมือนกับที่ Sigmund Freud และ Erik H. Erikson ได้ทำมา เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้บุคคลเหล่านี้เกิดการพัฒนาบกพร่อง เพื่อให้ประเทศชาติหาทางแก้ไขในอนาคตเมื่อได้ทราบถึงสาเหตุที่ทำให้การพัฒนามนุษย์บกพร่องมาก ในทางวิชาการนั้น คงมีมากมายหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่พบบ่อยและน่าจะเป็นไปได้มากที่สุด คือ สาเหตุที่ผู้ปกครองไม่มีเวลาให้กับลูกหลานและเด็กๆ ทำให้ลูกหลานขาดการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอน จึงเกิดการพัมนาผิดๆขึ้น ดังนั้นจึงไม่น่าสงสัยเลย ถ้ามีใครคนหนึ่งออกมาวิเคราะห์ว่า เป็นสาเหตุจาก เป็นลูกของพระยา ขี้ข้าเลี้ยงและขี้ข้าอบรมสั่งสอนด้วย

   




การพัฒนาชีวิตที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือการเจริญไตรสิกขา อันได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา อันเป็นไปเพื่อการพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง ส่วนจิตวิทยาหรือทฤษฎีต่างๆที่คิดขึ้นโดยปุถุชน เป็นวิธีการแก้ปัญหาชั่วคราวและไม่แน่นอนว่าจะได้ผลจริง เป็นเพียงการคาดเดาเอาของเจ้าของทฤษฎีนั้นๆตามประสบการณ์หรือข้อมูลตัวเลขที่ไม่อยู่บนพื้นฐานของหลักความจริงของชีวิตที่เป็นสากลที่เรียกว่าปฏิจจสมุปปาทอันเป็นทฤษฎีพิเศษที่มีอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น


• ธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ (ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต วัดเทพศิรินทร์) (2440 - 2514)

• ขอเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมบุญสมทบทุนถมดินถวายวัด ณ วัดท่าทองน้อย หลวงพ่อโต (ซำปอกง) ต.ศรีภิรมย์ อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก

• อภัยทาน

• "ผู้ระมัดระวังอยู่ย่อมไม่ก่อเวร" (สมเด็จพระสังฆราชเจ้า)

• บรรยายธรรมแก่นักเรียน สอนนั่งสมาธิ โดย #พระอาจารย์ต้น #ธรรมนาวา #dhammanava ๒๒/๐๗/๒๕๖๕

• yaa3

RELATED STORIES




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย