สับสนกับคำต่อไปนี้ครับ เมตตาช่วยอธิบายให้ด้วย

 asd    

คำค่อไปนี้ได้ยินบ่อยแต่ไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริง สับสนครับว่าแต่ละคำมีความหมายว่าอย่างไรหรือต่างกันอย่างไร เป็นคำที่เกี่ยวกับพระ สับสนครับ ได้โปรดเมตตาเรียงลำดับความสำคัญให้ด้วย คือคำว่า ภิกษุ สมณะ นักบวช สามเณร พระ นักพรต (หากคำถามที่ถามมาไม่เกี่ยวข้องกันกรุณาตัดออกไปให้ด้วย หรือคำไหนขาดไปขอให้เพิ่มเติมให้ด้วยครับ) เผื่อต่อไปจะได้เข้าใจที่ถูกต้อง และขอเป็นคำตอบที่เข้าใจง่ายๆครับ กราบขอบพระคุณครับ   




ภิกษุ-สมณะ-พระ-สงฆ์


คำว่า"ภิกษุ-สมณะ-พระ-สงฆ์" ที่ดูเหมือนเป็นคำธรรมดาที่ใช้เรียกนักบวชได้เหมือนๆ กันนั้น แต่จริงๆ แล้ว แต่ละคำมีที่มาและความหมายต่างกัน ดังที่ รศ.ดนัย ไชยโยธา ได้เขียนไว้ในหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสน์ ดังนี้


๐ ภิกษุ-ภิกขุ

ภิกษุ เป็นคำภาษาสันสกฤต ส่วนภิกขุ เป็นคำภาษาบาลี เป็นนักบวชชายในพระพุทธศาสนา แปลตามคำศัพท์ว่า ผู้ขอ คือ สละโลก สละเคหสถาน และสละทรัพย์สมบัติ เพื่ออุทิศตนศึกษาปฏิบัติและเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ดำรงชีวิตอยู่ด้วยปัจจัยที่ผู้อื่นให้ คนจำนวนมากในสมัยพุทธกาลได้ออกบวชถือเพศบรรพชิต มิได้ประกอบอาชีพ อยู่ได้ด้วยปัจจัยที่ผู้เลื่อมใสนำมาให้ ก็ถือว่าเป็นผู้ขอเหมือนกัน แต่ไม่เรียกว่าภิกษุ เรียกว่า ดาบส บ้าง มุนี บ้าง ฤาษี บ้าง ส่วนไทยใช้คำเรียกนักบวชชายในพระพุทธศาสนา เช่น พระภิกษุ พระสงฆ์ พระภิกษุสงฆ์


๐ สมณะ

คำว่า สมณะ เป็นคำภาษาบาลี แปลว่า ผู้สงบ ประเทศอินเดียในสมัยพุทธกาล เรียกนักบวชในลัทธิหรือศาสนานั้นโดยทั่วไปว่า สมณะ ชาวอินเดียที่ไม่นับถือพระพุทธศาสนา เรียกพระพุทธเจ้าว่า สมณโคดม ซึ่งหมายถึงนักบวชแห่งตระกูลโคตมะ

คำว่า สมณะ ตามความหมายดั้งเดิม หมายถึง ผู้ที่ต้องมีความสงบ น่าเลื่อมใส น่าศรัทธา มีวัตรปฏิบัติควรแก่การนับถือ แต่ความหมายของคำว่า สมณะ ในพระพุทธศาสนามีความลึกซึ้งกว่าความหมายเดิมมาก เพราะผู้ที่จะได้ชื่อว่าเป็นสมณะนั้น ต้องเป็นพระอริยบุคคล ตัดกิเลสตัณหา ระงับบาปกรรมได้ทั้งสิ้นทั้งปวงแล้ว


๐ พระ

คำว่า "พระ" หากไม่มีคำนำหน้าหรือตามหลัง หมายถึง พระภิกษุในพระพุทธศาสนา มาจากคำบาลีว่า "วร&" แปลว่า"ประเสริฐ" โดยมีตัวอย่างต่างๆ ในการใช้ ดังนี้

๑. ใช้กับของคำสำคัญ ของสูง ของอันเป็นที่เคารพบูชา เช่น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

๒. ใช้ประกอบหน้าคำอื่นแสดงความยกย่อง ดังนี้

๒.๑ เทพเจ้าหรือเทวดาผู้เป็นใหญ่ เช่น พระอิศวรหรือพระศิวะ พระนารายณ์หรือพระวิษณุ พระพิรุณ

๒.๒ พระเจ้าแผ่นดิน หรือของที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายชั้นสูง เช่น พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ พระเจ้าอยู่หัว

๒.๓ สมณศักดิ์ชั้นราชาคณะ เช่น พระราชเวที พระเทพเมธี พระธรรมปัญญาบดี พระพรหมมุนี

๒.๔ นักบวช เช่น พระแดง พระจันทร์ พระวิมล

๒.๕ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระภูมิ พระเครื่อง

๒.๖ อิสสริยยศเจ้านาย เช่น พระรามคำแหง พระนเรศวร พระเทียรราชา


๐ สงฆ์

พระสงฆ์เป็นหนึ่งในพระรัตนตรัย หมายถึง ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วสั่งสอนผู้อื่นให้รู้ตาม คุณสมบัติของผู้ที่จะได้ชื่อว่า "พระสงฆ์" ต้องผ่านการบวชโดย วิธีใดวิธีหนึ่งใน ๓ วิธีดังต่อไปนี้

(๑) การบวชโดยพระพุทธเจ้าประทานให้เอง เรียก เอหิภิกขุอุปสัมปทา

(๒) การบวชโดยการรับไตรสรณคมน์ เรียก ติสรณคมนูปสัมปทา

(๓) การบวชที่คณะสงฆ์ยอมรับเข้าหมู่ โดยมติเอกฉันท์ เรียก ญัตติจตุตถกรรมวาจาอุปสัมปทา

พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนามี ๒ ประเภท ดังต่อไปนี้

๑. สมมติสงฆ์ แปลว่า พระสงฆ์โดยสมมติ หมายถึง บุรุษที่มีอายุ ๒๐ ปีครบบริบูรณ์ ผ่านการอุปสมบทถูกต้องตามหลักการญัตติจตุตถกรรมวาจาอุปสัมปทา สมมติสงฆ์แบ่ง ออกเป็น ๒ ประเภท ดังนี้

๑.๑ สมมติสงฆ์ในแง่พระวินัย หมายเอาพระภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ต่ำกว่านั้นไม่นับว่าเป็นสงฆ์ การกำหนดจำนวนแบ่งตามกิจกรรมแต่ละอย่างที่สงฆ์จะพึงกระทำ ดังนี้

- พระภิกษุ ๔ รูป เรียกว่า สงฆ์จตุวรรค ทำอุโบสถกรรมได้ คือ การประชุมกันฟังสวดสิกขาบท หรือศีล ๒๒๗ ข้อ เพื่อตรวจสอบความบริสุทธิ์ทุกกึ่งเดือน

- พระภิกษุ ๕ รูป เรียกว่า สงฆ์ปัญจวรรค ทำปวารณาได้ คือ การยอมตนให้พระภิกษุอื่นว่ากล่าวตักเตือนได้

- พระภิกษุ ๑๐ รูป เรียกว่า สงฆ์ทสวรรค ทำการอุปสมบทกุลบุตรได้

- พระภิกษุ ๒๐ รูป เรียกว่า สงฆ์วีสติวรรค ทำกิจกรรมได้ทุกชนิด

๑.๒ สมมติสงฆ์ในแง่พระธรรม หมายเอาพระภิกษุ แม้เพียงรูปเดียวที่ผ่านการอุปสมบทโดยถูกต้อง

๒. อริยสงฆ์ แปลว่า พระสงฆ์ที่เป็นพระอริยบุคคล หมายถึง ผู้บรรลุธรรมตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปจนถึงพระอรหันต์เป็นที่สุด พระอริยสงฆ์นี้กำหนดเอาคุณธรรมเป็นตัวกำหนดคฤหัสถ์ผู้บรรลุธรรมตั้งแต่พระ โสดาบันขึ้นไปก็นับเป็นพระอริยสงฆ์ได้ แต่เดิมเรียกว่าสาวกสงฆ์



......................................................

คัดลอกมาจาก ::
ผู้จัดการออนไลน์ 4 กันยายน 2549 16:25 น.

http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=7693


• "ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะกรรม" (หลวงตามหาบัวฯ)

• ปุญฺญํ สุขํ ชิวิตสงฺขยมฺหิ บุญนำสุขมาให้ในเวลาสิ้นชีวิต

• วัดวังผาแดง ต.นาสวน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี

• เพลง พระรัตนตรัย - เปาวลี พรพิมล

• บาปอย่างไร ?

• บำเพ็ญบุญอุทิศให้อดีตเจ้าอาวาส งานประจำปี และทอดผ้าป่าสามัคคี ณ วัดศรีทวี (๒๖ เม.ย. ๒๕๖๗)

RELATED STORIES




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย