หน้าแรก นิทานชาดก สุชาตาชาดก
สะใภ้เศรษฐี


ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวันเมืองสาวัตถี ทรงปรารภนางสุชาดาน้องสาวของนางวิสาขาซึ่งเป็นลูกสะใภ้ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เรื่องมีอยู่ว่า...

     นางสุชาดาสำคัญตนว่าเป็นลูกสาวของตระกูลใหญ่ จึงไม่ยอมก้มหัวให้กับใคร ๆ ในครอบครัวสามีแม้กระทั่งปู่และย่า เที่ยวดุด่าเฆี่ยนตีทาสรับใช้ในเรือนของสามีอยู่เป็นประจำ ต่อมาวันหนึ่ง พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์เข้าไปฉันที่บ้านของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ขณะที่กำลังแสดงธรรมอยู่นั่นเอง ได้ยินเสียงเอะอะโวยวาย จึงตรัสถามท่านเศรษฐี เมื่อเศรษฐีกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว พระองค์จึงรับสั่งให้เรียกนางมาเข้าเฝ้า และตรัสถามนางว่า " สุชาดา ภรรยามี ๗ จำพวก เธอเป็นภรรยาจำพวกไหน " นางสุชาดาไม่ทราบจึงกราบทูลว่า " ข้าพระองค์ไม่ทราบว่าพระองค์ตรัสหมายถึงอะไร โปรดอธิบายด้วยเถิดพระเจ้าข้า "

     พระพุทธเจ้าจึงตรัสแสดงภรรยา ๗ จำพวกว่า " สุชาดา ภรรยาจำพวกที่ ๑ มีจิตคิดประทุษร้ายสามี มิได้ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สามี รักใคร่ในชายอื่น ดูหมิ่นล่วงเกินสามี ขวนขวายเพื่อจะฆ่าสามี นี่เรียกว่า วธกาภริยา ภรรยาเสมือนดังเพชฌฆาต

     ภรรยาจำพวกที่ ๒ สามีได้ทรัพย์มามอบให้ภรรยาเก็บรักษาไว้ แต่ภรรยาไม่รู้จักเก็บรักษา ปรารถนาแต่จะใช้ทรัพย์นั้นให้หมดไป นี่เรียกว่า โจรีภริยา ภรรยาเสมือนดังโจร

     ภรรยาจำพวกที่ ๓ เกียจคร้านทำงาน กินจุ มักโกรธ มักดุด่า กดขี่คนใช้ นี่เรียกว่า อัยยาภริยา ภรรยาเสมือนดังเจ้านาย

     ภรรยาจำพวกที่ ๔ โอบอ้อมอารี ทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลทุกเมื่อ ตามรักษาสามีเหมือนแม่รักษาลูก รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ไว้ นี่เรียกว่า มาตาภริยา ภรรยาเสมือนดังมารดา

     ภรรยาจำพวกที่ ๕ มีความเคารพสามี มีความละอายใจ ทำตามความพอใจสามี คล้ายน้องสาวเคารพพี่ชาย นี่เรียกว่า ภคินีภรรยา ภรรยาเสมือนดังน้องสาว

     ภรรยาจำพวกที่ ๖ เห็นหน้าสามีย่อมร่าเริงยินดี คล้ายกับเพื่อนรักมาเยี่ยมเยือนบ้าน รักษาชื่อเสียงวงศ์ตระกูล มีศีลมีวัตรปฏิบัติต่อสามี นี่เรียกว่า สขีภริยา ภรรยาเสมือนดังเพื่อน

     ภรรยาจำพวกที่ ๗ เป็นคนที่ไม่มีความขึงโกรธ ถึงจะถูกคุกคามก็ไม่มีจิตคิดประทุษร้าย อดกลั้นต่อสามี เอาใจสามีเก่ง นี่เรียกว่า ทาสีภริยา ภรรยาเสมือนดังทาส

     สุชาดา ภรรยา ๓ จำพวกแรกต้องตกนรก ส่วนภรรยา ๔ จำพวกหลังไปเกิดในเทวโลกชั้นนิมมานรดี ภรรยา ๗ จำพวกนี้ เธอจะเป็นจำพวกไหน "

     เมื่อพระพุทธองค์เทศนาเรื่องภรรยา ๗ จำพวกจบเท่านั้น นางสุชาดาได้เป็นพระโสดาปัตติผลทันที จึงกราบทูลว่า " ข้าพระองค์ขอเป็นทาสีภริยา ภรรยาเสมือนดังทาส พระเจ้าข้า" ถวายบังคมขอขมาพระพุทธเจ้าแล้วก็ไป

     เมื่อกลับถึงวัดเชตวันพวกภิกษุพากันสนทนาถึงนางสุชาดาที่เป็นหญิงสะใภ้ผู้ดุร้าย พอได้ฟังธรรมของพระพุทธองค์แล้วกลับเป็นหญิงเรียบร้อยไปได้

      พระพุทธเจ้าเพื่อคลายความสงสัยของพวกภิกษุได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า...

     กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าพรหมทัต เมืองพาราณสี พอเจริญวัยได้ไปศึกษาศิลปะที่เมืองตักกสิลา เมื่อพระราชบิดาสวรรคตแล้วก็ได้ขึ้นครองราชย์สืบมา พระองค์ทรงปกครองบ้านเมืองโดยธรรม แต่พระมารดาเป็นผู้มักโกรธดุร้าย ชอบด่าข้าทาสบริวารอยู่เสมอ พระองค์คิดหาวิธีจะตักเตือนพระมารดาแต่ก็ยังหาไม่ได้

     วันหนึ่ง พระองค์เสด็จไปสวนหลวงพร้อมด้วยพระมารดา มีบริวารแวดล้อมไปด้วยคณะใหญ่ พวกข้าทาสบริวารพอได้ยินเสียงนกต้อยตีวิดร้องก็พากันปิดหูพร้อมกับบ่นว่า " เจ้านกบ้า เสียงไม่ไพเราะก็ยังร้องอยู่ได้ ไม่อยากฟัง" ลำดับนั้นได้ยินเสียงนกดุเหว่าร้องสำเนียงไพเราะก็พากันชื่นชมว่า " เสียงเจ้าช่างไพเราะจริงๆ ร้องต่อไปเรื่อยๆ อย่าได้หยุดนะ" พระองค์คิดว่าได้โอกาสตักเตือนพระมารดาแล้ว จึงตรัสเป็นพระคาถาว่า

     " ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายที่สมบูรณ์วรรณะ มีเสียงอันไพเราะ น่ารักน่าชม
       แต่พูดจาหยาบกระด้าง ย่อมไม่เป็นที่รักของใครๆ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
       พระองค์ก็ได้เห็นมิใช่หรือว่า นกดุเหว่าสีดำตัวนี้มีสีไม่สวย ลายพร้อยไปทั้งตัว
       แต่เป็นที่รักของสัตว์ทั้งหลายจำนวนมาก เพราะร้องด้วยเสียงอันไพเราะ
       เพราะฉะนั้น บุคคลควรพูดคำอันสละสลวย คิดก่อนพูด พูดพอประมาณไม่ฟุ้งซ่าน
       ถ้อยคำของผู้ที่แสดงเป็นอรรถเป็นธรรม เป็นถ้อยคำอันไพเราะ เป็นถ้อยคำที่เป็นภาษิต "

พระมารดาได้สดับแล้วก็กลับได้สติ จำเดิมแต่วันนั้นมาก็กลายเป็นคนเพียบพร้อมด้วยมารยาทอันดีงามไม่ดุด่าว่าร้ายใครๆ ครองชีวิตโดยธรรมเสด็จไปตามยถากรรม


นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
สะใภ้ที่ดีควรเลือกทำตามภรรยา ๔ จำพวกหลัง และควรเป็นคนเจรจาด้วยคำไพเราะอ่อนหวามเหมือนกับเสียงนกดุเหว่าที่ใครๆ ก็ลุ่มหลงอยากฟัง

* เรื่องที่ ๙ ในปทุมวรรค หน้า ๑๔๗ - ๑๕๕ พระสูตรและอรรถกถาแปล ขุททกนิกายชาดก เล่มที่ ๓ ภาคที่ ๔

ที่มา : หนังสือนิทานชาดก เล่มที่ ๒ โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม (เสนาซุย)
[ เปิดอ่าน ครั้ง ]
Share |

  บอกบุญ ~ ประชาสัมพันธ์