ค้นหาในเว็บไซต์ :

หมวด ๖ - ฉักกะ


(๒๔๙)  คารวะ หรือ คารวตา ๖ (ความเคารพ, การถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะพึงใส่ใจและปฏิบัติด้วยความเอื้อเฟื้อ หรือโดยความหนักแน่นจริงจัง, การมองเห็นคุณค่าและความสำคัญแล้วปฏิบัติต่อบุคคลหรือสิ่งนั้นโดยถูกต้อง ด้วยความจริงใจ — reverence; esteem; attention; appreciative action)

๑. สัตถุคารวตา (ความเคารพในพระศาสดา —reverence for the Buddha)

๒. ธัมมคารวตา (ความเคารพในธรรม — reverence for the Buddha)

๓. สังฆคารวตา (ความเคารพในสงฆ์ — reverence for the Order)

๔. สิกขาคารวตา (ความเคารพในการศึกษา — reverence for the Training)

๕. อัปปมาทคารวตา (ความเคารพในความไม่ประมาท — reverence for earnestness)

๖. ปฏิสันถารคารวตา (ความเคารพในปฏิสันถาร — reverence for hospitality)

ธรรม ๖ อย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแห่งภิกษุ.

A.III.330    องฺ.ฉกฺก.๒๒/๓๐๓/๓๖๘.



(๒๕๐)  จริต หรือ จริยา ๖ (ความประพฤติปกติ, ความประพฤติซึ่งหนักไปทางใดทางหนึ่ง อันเป็นปกติประจำอยู่ในสันดาน, พื้นเพของจิต, อุปนิสัย, พื้นนิสัย, แบบหรือประเภทใหญ่ๆ แห่งพฤติกรรมของคน — intrinsic nature of a person; characteristic behavior; character; temperament)

ตัวความประพฤติเรียกว่า จริยา บุคคลผู้มีความประพฤติอย่างนั้นๆ เรียกว่า จริต

๑. ราคจริต (ผู้มีราคะเป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปทางรักสวยรักงาม — one of lustful temperament) กรรมฐานคู่ปรับสำหรับแก้ คือ อสุภะและกายคตาสติ

๒. โทสจริต (ผู้มีโทสะเป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปทางใจร้อนหงุดหงิด — one of hating temperament) กรรมฐานที่เหมาะ คือ พรหมวิหารและกสิณ โดยเฉพาะวัณณกสิณ

๓. โมหจริต (ผู้มีโมหะเป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปทางเขลา เหงาซึมเงื่องงง งมงาย — one of deluded temperament) กรรมฐานที่เกื้อกูล คือ อานาปานสติ และพึงแก้ด้วยมีการเรียน ถาม ฟังธรรม สนทนาธรรมตามกาลหรืออยู่กับครู

๔. สัทธาจริต (ผู้มีศรัทธาเป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปทางมีจิตซาบซึ้ง ชื่นบาน น้อมใจเลื่อมใสโดยง่าย — one of faithful temperament) พึงชักนำไปในสิ่งที่ควรแก่ความลื่อมใส และความเชื่อที่มีเหตุผล เช่น พิจารณาอนุสติ ๖ ข้อต้น

๕. พุทธิจริต หรือ ญาณจริต (ผู้มีความรู้เป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปในทางใช้ความคิดพิจารณา — one of intelligent temperament)

๖. วิตกจริต (ผู้มีวิตกเป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปทางนึกคิดจับจดฟุ้งซ่าน — one of speculative temperament) พึงแก้ด้วยสิ่งที่สะกดอารมณ์ เช่น เจริญอานาปานสติ หรือเพ่งกสิณ เป็นต้น

Md 359,453; Nd 138; Vism. 101    ขุ.ม.๒๙/๗๒๗/๔๓๕; ขุ.จู.๓๐/๔๙๒/๒๔๒; วิสุทธิ. ๑/๑๒๗.



(๒๕๑) เจตนา หรือ สัญเจตนา ๖ หมวด (ความจงใจ, ความตั้งใจ, ความจำนง, ความแสวงหาอารมณ์ — volition; choice; will)

๑. รูปสัญเจตนา (ความจำนงรูป — volition concerning visible objects; choice of forms; will directed to forms)

๒. สัททสัญเจตนา (ความจำนงเสียง — volition concerning audible objects; choice of sounds; will directed to sounds)

๓. คันธสัญเจตนา (ความจำนงกลิ่น — volition concerning odorous objects; choice of odors; will directed to odors)

๔. รสสัญเจตนา (ความจำนงรส — volition concerning sapid objects; choice of odors; will directed to sapid)

๕. โผฏฐัพพสัญเจตนา (ความจำนงโผฏฐัพพะ — volition concerning tangible objects; choice of tangible; objects; will directed to bodily impressions)

๖. ธัมมสัญเจตนา (ความจำนงธรรมารมณ์ — volition concerning ideational objects; choice of ideas; will directed to mental objects)

หกอย่างนี้ เรียกเต็มตามศัพท์ว่า เจตนากาย หรือ สัญเจตนากาย ๖ (กองเจตนา หมวดเจตนา — bodies of choice; classes of volition)

D.III.244; S.III.64; Vbh.102.     ที.ปา.๑๑/๓๑๐/๒๕๕; สํ.ข.๑๗/๑๑๖/๗๔; อภิ.วิ.๓๕/๑๕๙/๑๓๒



(๒๕๒) ตัณหา ๖ (ความทะยานอยาก — craving)

๑. รูปตัณหา (อยากได้รูป — craving for forms)

๒. สัททตัณหา (อยากได้เสียง — craving for sounds)

๓. คันธตัณหา (อยากได้กลิ่น — craving for odors)

๔. รสตัณหา (อยากได้รส — craving for tastes)

๕. โผฏฐัพพตัณหา (อยากได้โผฏฐัพพะ — craving for tangible objects)

๖. ธัมมตัณหา (อยากได้ธรรมารมณ์ — craving for mental objects)

หกอย่างนี้ เรียกเต็มตามศัพท์ว่า ตัณหากาย ๖ (กองตัณหา, หมวดตัณหา — bodies or classes of craving)

D.III.244,280; S.II.3; Vbh.102.     ที.ปา.๑๑/๓๑/๓๑๑/๒๕๖; ๔๒๕/๓๐๓; สํ.นิ.๑๖/๑๐/๓; อภิ.วิ.๓๕/๑๕๙/๑๓๒. (***) ทวาร ๖   ดู  (๗๗) ทวาร ๖



(๒๕๓)  ทิศ ๖ (บุคคลประเภทต่างๆ ที่เราต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ทางสังคม ดุจทิศที่อยู่รอบตัว — directions; quarters)

๑. ปุรัตถิมทิศ (ทิศเบื้องหน้า คือ ทิศตะวันออก ได้แก่ มารดาบิดา เพราะเป็นผู้มีอุปการะแก่เรามาก่อน — parents as the east or the direction in front)

ก. บุตรธิดาพึงบำรุงมารดาบิดา ผู้เป็นทิศเบื้องหน้า ดังนี้

๑) ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ

๒) ช่วยทำการงานของท่าน

๓) ดำรงวงศ์สกุล

๔) ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท

๕) เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน

In five ways a child should minister to his parents as the eastern quarter (saying to himself) :

a) Having been supported by them I will support them in my turn.

b) I will bo their work for them.

c) I will keep up the honor and the traditions of my family.

d) I will make myself worthy of my heritage.

c) I will make offerings, dedicating merit to them after their death.

ข. บิดามารดาย่อมอนุเคราะห์บุตรธิดา ดังนี้

๑) ห้ามปรามจากความชั่ว

๒) ให้ตั้งอยู่ในความดี

๓) ให้ศึกษาศิลปวิทยา

๔) หาคู่ครองที่สมควรให้

๕) มอบทรัพย์สมบัติให้ในโอกาสอันสมควร

In five ways his parents, thus served as the eastern quarter, show their love for him:

a) They keep him back form evil.

b) they train him in virtue.

c) They have him taught arts and sciences.

d) They arrange for his marriage to a suitable wife.

c) They hand over his inheritance to him in due time.

๒. ทักขิณทิศ (ทิศเบื้องขวา คือ ทิศใต้ ได้แก่ ครูอาจารย์ เพราะเป็นทักขิไณยบุคคล ควรแก่การบูชาคุณ — teachers as the south or the dierction in the right)

ก. ศิษย์พึงบำรุงครูอาจารย์ ผู้เป็นทิศเบื้องขวา ดังนี้

๑) ลุกต้อนรับ

๒) เข้าไปหา (เพื่อบำรุง คอยรับใช้ ปรึกษา และรับคำแนะนำ เป็นต้น)

๓) ใฝ่ใจเรียน (คือ มีใจรัก เรียนด้วยศรัทธา และรู้จักฟังให้เกิดปัญญา)

๔) ปรนนิบัติ ช่วยบริการ

๕) เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ (คือ เอาจริงเอาจัง ถือเป็นกิจสำคัญ)

In five ways a pupil should minister to gis teachers as the southern quarter;

a) by rising to receive them.

b) by waiting upon them.

c) by eagerness to learn.

d) by personal service.

c) by attentively learning the and sciences.

ข. ครูอาจารย์ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ ดังนี้

๑) ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดี

๒) สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง

๓) สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง

๔) ยกย่องให้ปรากฏในหมู่คณะ

๕) สร้างเครื่องคุ้มภัยในสารทิศ (สอนฝึกให้รู้จักเลี้ยงตัวรักษาตนในอันที่จะดำเนินชีวิตต่อไปด้วยดี)

In five ways his teachers, thus served as the southern quarter, show their love for him:

a) They train him so that he is well-trained.

b) They teach him in such a way that he understands and remembers well what he has been taught.

c) They thoroughly instruct him in the lore of every art.

d) They introduce him to his friends and companions.

e) They provide for his safety and security in every quarter.

๓. ปัจฉิมทิศ (ทิศเบื้องหลัง ทิศตะวันตก ได้แก่ บุตรภรรยา เพราะติดตามเป็นกำลังสนับสนุนอยู่ข้างหลัง — wife and children as the west or the direction behind)

ก. สามีบำรุงภรรยา ผู้เป็นทิศเบื้องหลัง ดังนี้

๑) ยกย่องให้เกียรติสมกับฐานะที่เป็นภรรยา

๒) ไม่ดูหมิ่น

๓) ไม่นอกใจ

๔) มอบความเป็นใหญ่ในงานบ้านให้

๕) หาเครื่องประดับมาให้เป็นของขวัญตามโอกาส

In five ways a husband should serve his wife as the western quarter:

a) by honoring her.

b) by being courteous to her.

c) by being faithful to her.

d) by handing over authority to her.

e) by providing her with ornaments.

ข. ภรรยาย่อมอนุเคราะห์สามี ดังนี้

๑) จัดงานบ้านให้เรียบร้อย

๒) สงเคราะห์ญาติมิตรทั้งสองฝ่ายด้วยดี

๓) ไม่นอกใจ

๔) รักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้

๕) ขยันไม่เกียจคร้านในงานทั้งปวง

In five ways his wife, thus served as the western quarter, shows her love for him:

a) The household affairs are to be well managed.

b) She should be hospitable and helpful to friends and relations of both hers and his.

c) She should be faithful to him.

d) She should take care of the goods he brings home.

e) She should be skilful and industrious in all her duties.

๔. อุตตรทิศ (ทิศเบื้องซ้าย ทิศเหนือ ได้แก่ มิตรสหาย เพราะเป็นผู้ช่วยให้ข้ามพ้นอุปสรรคภัยอันตราย และเป็นกำลังสนับสนุน ให้บรรลุความสำเร็จ — friends and companions as the north or the direction in left)

ก. บุคคลพึงบำรุงมิตรสหาย ผู้เป็นทิศเบื้องซ้าย ดังนี้

๑) เผื่อแผ่แบ่งปัน

๒) พูดจามีน้ำใจ

๓) ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

๔) มีตนเสมอ ร่วมสุขร่วมทุกข์กัน

๕) ซื่อสัตย์จริงใจต่อกัน

In five ways a clansman should serve his friends and associates as the northern quarter:

a) by generosity

b) by kind words.

c) by gelping them and acting for their welfare.

d) by putting them on equal terms.

c) by being sincere to them.

ข. มิตรสหายย่อมอนุเคราะห์ตอบ ดังนี้

๑) เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาป้องกัน

๒) เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อน

๓) ในคราวมีภัย เป็นที่พึ่งได้

๔) ไม่ละทิ้งในยามทุกข์ยาก

๕) นับถือตลอดถึงวงศ์ญาติของมิตร

In five ways his friends and associates, thus served as the northern quarter, show their love for him:

a) They protect him when he is careless.

b) They guard his property when he is careless.

c) They are a refuge for him when he is in danger.

d) They do not leave him in his troubles.

e) They show due respect to other members of his family.

๕. เหฏฐิมทิศ (ทิศเบื้องล่าง ได้แก่ คนรับใช้และคนงาน เพราะเป็นผู้ช่วยทำการงานต่างๆ เป็นฐานกำลังให้ — servants and workmen as the nadir)

ก. นายพึงบำรุงคนรับใช้และคนงาน ผู้เป็นทิศเบื้องล่าง ดังนี้

๑) จัดการงานให้ทำตามความเหมาะสมกับกำลังความสามารถ

๒) ให้ค่าจ้างรางวัลสมควรแก่งานและความเป็นอยู่

๓) จัดสวัสดิการดี มีช่วยรักษาพยาบาลให้ยามเจ็บไข้ เป็นต้น

๔) ได้ของแปลกๆ พิเศษมา ก็แบ่งปันให้

๕) ให้มีวันหยุดและพักผ่อนหย่อนใจตามโอกาสอันควร

In five ways a master should serve his servants and workmen as the lower quarter:

a) by assigning them work according to their strength.

b) by giving them due food and wages.

c) by caring for them in sickness.

d) by sharing with them unusual luxuries.

c) by giving them holidays and leave at suitable times.

ข. คนรับใช้และคนงานย่อมอนุเคราะห์นาย ดังนี้

๑) เริ่มทำการงานก่อนนาย

๒) เลิกงานทีหลังนาย

๓) ถือเอาแต่ของที่นายให้

๔) ทำการงานให้เรียบร้อยและดียิ่งขึ้น

๕) นำเกียรติคุณของนายไปเผยแพร่

In five ways his servants and workmen, thus served as the lower quarter, show their love for him:

a) They get up to work before him.

b) They go to rest after him.

c) They take only what is given to them.

d) They do their work well.

e) They spread about his praise and good name.

๖. อุปริมทิศ (ทิศเบื้องบน ได้แก่ สมณพราหมณ์ คือ พระสงฆ์ เพราะเป็นผู้สูงด้วยคุณธรรม และเป็นผู้นำทางจิตใจ — monks as the zenith)

ก. คฤหัสถ์ย่อมบำรุงพระสงฆ์ ผู้เป็นทิศเบื้องบน ดังนี้

๑) จะทำสิ่งใด ก็ทำด้วยเมตตา

๒) จะพูดสิ่งใด ก็พูดด้วยเมตตา

๓) จะคิดสิ่งใด ก็คุดด้วยเมตตา

๔) ต้อนรับด้วยความเต็มใจ

๕) อุปถัมภ์ด้วยปัจจัย ๔

In five ways a clansman should serve monks and Brahmins as the upper quarter:

a) by kindly acts.

b) by kindly words.

c) by kindly thoughts.

d) by keeping open house to them.

e) by supplying them with their material needs.

ข. พระสงฆ์ย่อมอนุเคราะห์คฤหัสถ์ ดังนี้

๑) ห้ามปรามจากความชั่ว

๒) ให้ตั้งอยู่ในความดี

๓) อนุเคราะห์ด้วยความปรารถนาดี

๔) ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง

๕) ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง

๖) บอกทางสวรรค์ คือทางชีวิตที่มีความสุขความเจริญให้

In six ways the monks, thus served as the upper quarter, show their love for him:

a) They keep him back from evil.

b) They encourage him to do good.

c) They feel for him with kindly thoughts.

d) They teach him what he has not heard before.

e) They correct and clarity what he has learnt.

f) They show him the way to heaven.

ผู้ปฏิบัติดังกล่าวนี้ชื่อว่า ปกปักรักษาทั่วทุกทิศให้เป็นแดนเกษมสุขปลอดภัย

D.III.189. 192     ที.ปา.๑๑/๑๙๘-๒๐๔/๒๐๒-๒๐๖ (***)  ธรรมคุณ ๖   ดู (๒๙๔) ธรรมคุณ ๖ (***)  ธาตุ ๖   ดู (๑๔๗) ธาตุ ๖ (***)  บัญญัติ ๖   ดู (๒๘) บัญญัติ ๒, ๖



(๒๕๔)  ปิยรูป สาตรูป ๖ x ๑๐ (สิ่งที่มีสภาวะน่ารักน่าชื่นใจ เป็นทีเกิดและเป็นที่ดับของตัณหา — delightful and pleasurable things)

หมวด ๑  ดู (๒๖๒) อายตนะภายใน ๖

หมวด ๒  ดู (๒๖๓) อายตนะภายนอก ๖

หมวด ๓  ดู (๒๕๕) วิญญาณ ๖

หมวด ๔  ดู (๒๕๘) สัมผัส ๖

หมวด ๕  ดู (๑๑๒) เวทนา ๖

หมวด ๖  ดู (๒๕๗) สัญญา ๖

หมวด ๗  ดู (๒๕๑) สัญเจตนา ๖

หมวด ๘  ดู (๒๕๒) ตัณหา ๖

หมวด ๙ ได้แก่ วิตก ๖ คือ รูปวิตก คันธวิตก รสวิตก โผฏฐัพพวิตก ธัมมวิตก (ความตริตรึกเกี่ยวกับรูป ฯลฯ —thought conception concerning visual forms, etc.)

หมวด ๑๐ ได้แก่ วิจาร ๖ คือ รูปวิจาร สัททวิจาร คันธวิจาร รสวิจาร โผฏฐัพพวิจาร ธัมมวิจาร (ความตรองเกี่ยวกับรูป ฯลฯ — thought concerning visual forms, etc.)

D.II.308; M.1.62.     ที.ม.๑๐/๒๙๗/๓๔๓; ม.มู.๑๒/๑๔๗/๑๒๐



(๒๕๕) วิญญาณ ๖ (ความรู้แจ้งอารมณ์ — consciousness; sense-awareness)

๑. จักขุวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางตา รู้รูปด้วยตา, เห็น — consciousness)

๒. โสตวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางหู คือ รู้เสียงด้วยหู, ได้ยิน — ear-consciousness)

๓. ฆานวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางจมูก คือ รู้กลิ่นด้วยจมูก, ได้กลิ่น — nose-consciousness)

๔. ชิวหาวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางลิ้น คือ รู้รสด้วยลิ้น, รู้รส — tongue-consciousness)

๕. กายวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางกาย คือ รู้โผฏฐัพพะด้วยกาย, รู้สึกสัมผัส — body-consciousness)

๖. มโนวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางใจ คือ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ, รู้ความนึกคิด — mind-consciousness)

D.III.243; Vbh.180    . ที.ปา.๑๑/๓๐๖/๒๕๕; อภิ.วิ.๓๕/๑๒๐/๑๐๕ (***) เวทนา ๖   ดู (๑๑๒) เวทนา ๖.



(๒๕๖) สวรรค์ ๖ (ภพที่มีอารมณ์อันเลิศ, โลกที่มีแต่ความสุข, เทวโลก, ในที่นี้หมายเฉพาะสวรรค์ขึ้นกามาพจร คือ ชั้นที่ยังเกี่ยวข้องกับกาม ซึ่งเรียกเต็มว่า ฉกามาพจรสวรรค์ หรือ กามาวจรสวรรค์ ๖ — the six heavens of the sense-sphere) เรียงจากชั้นต่ำขึ้นไปดังนี้

๑. จาตุมมหาราชิกา (สวรรค์ที่ท้าวมหาราช ๔ หรือท้าวจตุโลกบาล ปกครอง — The realm of the Four Great Kings คือ ท้าวธตรฐ จอมคนธรรพ์ ครองทิศตะวันออก; ท้าววิรูฬหก จอมกุมภัณฑ์ ครองทิศใต้; ท้าววิรูปักษ์ จอมนาคครองทิศตะวันตก; ท้าวกุเวร หรือ เวสสวัณ จอมยักษ์ ครองทิศเหนือ)

๒. ดาวดึงส์ (แดนที่อยู่แห่งเทพ ๓๓ มีท้าวสักกะ หรือพระอินทร์เป็นจอมเทพ บางทีเรียกไตรตรึงส์ — the realm of the Thirty-three Gods)

๓. ยามา (แดนที่อยู่แห่งเทพผู้ปราศจากทุกข์ มีท้าวสุยามเป็นผู้ปกครอง — the realm of the Yama Gods)

๔. ดุสิต (แดนที่อยู่แห่งเทพผู้เอิบอิ่มด้วยสิริสมบัติของตน มีท้าวสันดุสิตเป็นจอมเทพ — the realm of the satisfied gods) ถือกันว่าเป็นที่อุบัติของพระโพธิสัตว์ในพระชาติสุดท้ายก่อนจะเป็นพระพุทธเจ้า และเป็นที่อุบัติของพระพุทธมารดา

๕. นิมมานรตี (แดนที่อยู่แห่งเทพผู้มีความยินดีในการเนรมิต มีท้าวสุนิมมิต เป็นจอมเทพ ถือกันว่า เทวดาชั้นนี้ ปรารถนาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ย่อมนิรมิตได้เอง — the realm of the gods who rejoice on their own creations)

๖. ปรนิมมิตวสวัตตี (แดนที่อยู่แห่งเทพผู้ยังอำนาจให้เป็นไปในสมบัติที่ผู้อื่นนิรมิตให้ คือ เสวยสมบัติที่เทพพวกอื่นนิรมิตให้ มีท้าววสวัตตีเป็นจองเทพ — the realm of gods who lord over the creation of others)

คำอธิบายที่แสดงไว้นี้ มาในคัมภีร์รุ่นหลัง เช่น อภิธัมมัตถวิภาวินี เป็นต้น

ดู (๓๓๗) ภูมิ ๓๑.

S.V.423; Comp.138     สํ.ม.๑๙/๑๖๘๑/๕๓๑; สังคห.๒๕. (***) สัญเจตนา ๖   ดู (๒๕๑) เจตนา ๖



(๒๕๗) สัญญา ๖ (ความกำหนดได้หมายรู้, ความหมายรู้อารมณ์, ความจำได้หมายรู้ — perception)

๑. รูปสัญญา (ความหมายรู้รูป เช่นว่า ดำ แดง เขียว ขาว เป็นต้น — perception of form)

๒. สัททสัญญา (ความหมายรู้เสียง เช่นว่า ดัง เบา ทุ้ม แหลม เป็นต้น — perception of sound)

๓. คันธสัญญา (ความหมายรู้กลิ่น เช่นว่า หอม เหม็น เป็นต้น — perception of smell)

๔. รสสัญญา (ความหมายรู้รส เช่นว่า หวาน เปรี้ยว ขม เค็ม เป็นต้น — perception of taste)

๕. โผฏฐัพพสัญญา (ความหมายรู้สัมผัสทางกาย เช่นว่า อ่อน แข็ง หยาบ ละเอียด ร้อน เย็น เป็นต้น — perception of tangible objects)

๖. ธัมมสัญญา (ความหมายรู้อารมณ์ทางใจ เช่นว่า งาม น่าเกลียด เที่ยง ไม่เที่ยง เป็นต้น — perception of mind-objects)

D.III.244; A.III.413     ที.ปา.๑๑/๓๐๙/๒๕๕; องฺ.ฉกฺก.๒๒/๓๓๔/๔๖๑



(๒๕๘) สัมผัส หรือ ผัสสะ ๖ (ความกระทบ, ความประจวบกันแห่งอายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ — contact; sense-impression)

๑. จักขุสัมผัส (ความกระทบทางตา คือ ตา + รูป + จักขุวิญญาณ — eye-contact)

๒. โสตสัมผัส (ความกระทบทางหู คือ หู + เสียง + โสตวิญญาณ —  ear-contact)

๓. ฆานสัมผัส (ความกระทบทางจมูก คือ จมูก + กลิ่น + ฆานวิญญาณ — nose-contact)

๔. ชิวหาสัมผัส (ความกระทบทางลิ้น คือ ลิ้น + รส + ชิวหาวิญญาณ — tongue-contact)

๕. กายสัมผัส (ความกระทบทางกาย คือ กาย + โผฏฐัพพะ + กายวิญญาณ — body-contact)

๖. มโนสัมผัส (ความกระทบทางใจ คือ ใจ + ธรรมารมณ์ + มโนวิญญาณ — mind-contact)

D.III.243; S.II.3.     ที.ปา.๑๑/๓๐๗/๒๕๕; สํ.นิ.๑๖/๑๒/๔



(๒๕๙)  สารณียธรรม ๖ (ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความให้ระลึกถึง, ธรรมเป็นเหตุที่ระลึกถึงกัน, หลักการอยู่ร่วมกัน — states of conciliation; virtues for fraternal living) สารณียธรรม ก็ใช้

๑. เมตตากายกรรม (ตั้งเมตตากายกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ช่วยเหลือกิจธุระของผู้ร่วมคณะด้วยความเต็มใจ แสดงกิริยาอาการสุภาพ เคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง — to be amiable in deed, openly and in private)

๒. เมตตาวจีกรรม (ตั้งเมตตาวจีกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ช่วยบอกแจ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ สั่งสอน แนะนำตักเตือนด้วยความหวังดี กล่าววาจาสุภาพ แสดงความเคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง — to be amiable in word, openly and in private)

๓. เมตตามโนกรรม (ตั้งเมตตามโนกรรม ในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือตั้งจิตปรารถนาดี คิดทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กัน มองกันในแง่ดี มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน — to be amiable in thought, openly and in private)

๔. สาธารณโภคี (ได้ของสิ่งใดมาก็แบ่งปันกัน คือ เมื่อได้สิ่งใดมาโดยชอบธรรม แม้เป็นของเล็กน้อย ก็ไม่หวงไว้ผู้เดียว นำมาแบ่งปันเฉลี่ยเจือจาน ให้ได้มีส่วนร่วมใช้สอยบริโภคทั่วกัน — to share any lawful gains with virtuous fellows) ข้อนี้ ใช้ อัปปฏิวิภัตตโภคี ก็ได้

๕. สีลสามัญญตา (มีศีลบริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ มีความประพฤติสุจริตดีงาม ถูกต้องตามระเบียบวินัย ไม่ทำตนให้เป็นที่น่ารังเกียจของหมู่คณะ — to keep without blemish the rules of conduct along with one’s fellows, openly and in private)

๖. ทิฏฐิสามัญญตา (มีทิฏฐิดีงามเสมอกันเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ มีความเห็นชอบร่วมกัน ในข้อที่เป็นหลักการสำคัญที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น สิ้นทุกข์ หรือขจัดปัญหา — to be endowed with right views along with one’s fellows, openly and in private)

ธรรม ๖ ประการนี้ มีคุณคือ เป็น สารณียะ (ทำให้เป็นที่ระลึกถึง — making others to keep one in mind) เป็น ปิยกรณ์ (ทำให้เป็นที่รัก — endearing) เป็น ครุกรณ์ (ทำให้เป็นที่เคารพ — bringing respect) เป็นไปเพื่อ ความสงเคราะห์ (ความกลมกลืนเข้าหากัน — conducing to sympathy or solidarity) เพื่อ ความไม่วิวาท (to non—quarrel) เพื่อ ความสามัคคี (to concord; harmony) และ เอกีภาพ (ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน — to unity)

D.III.245; A.III.288-9     ที.ปา.๑๑/๓๑๗/๒๕๗; องฺ.ฉกก.๒๒/๒๘๒-๓/๓๒๑-๓. (***) อนุตตริยะ ๖   ดู (๑๒๖) อนุตตริยะ ๖ (***)  อบายมุข ๖   ดู (๑๙๔) อบายมุข ๖.



(๒๖๐) อภิญญา ๖ (ความรู้ยิ่งยวด — superknowledge; ultra-conscious insight)

๑. อิทธิวิธา หรือ อิทธิวิธิ (ความรู้ที่ทำให้แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ — magical powers)

๒. ทิพพโสต (ญาณที่ทำให้มีหูทิพย์ — divine ear)

๓. เจโตปริยญาณ (ญาณที่ให้กำหนดใจคนอื่นได้ — pentration of the minds of others; telepathy)

๔. ปุพเพนิวาสานุสสติ (ญาณที่ทำให้ระลึกถึงชาติได้ — remembrance of former existences; retrocognition)

๕. ทิพพจักขุ (ญาณที่ทำให้มีตาทิพย์ — divine eye)

๖. อาสวักขยญาณ (ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นไป — knowledge of the exhaustion of all mental intoxicants)

ห้าข้อแรกเป็นโลกียะ (โลกียอภิญญา)   ข้อท้ายเป็นโลกุตตระ.

ดู (๑๐๕) วิชชา ๓; (๒๘๒) วิชชา ๘.

D.III.281; A.III.280.     ที.ปา.๑๑/๔๓๑/๓๐๗; องฺ.ฉกฺก.๒๒/๒๗๓/๓๑๑



(๒๖๑) อภิฐาน ๖ (กรรมที่เด่นยิ่งกว่ากรรมอื่นๆ, ฐานะอันยิ่งยวด, ฐานอันหนัก, ความผิดพลาดสถานหนัก — major wrong doings; great mistakes)

อภิฐาน ๕ ข้อแรก ตรงกับ อนันตริยกรรม ๕ คือ มาตุฆาต ปิตุฆาต อรหันตฆาต โลหิตุปบาท และ สังฆเภท   เพิ่มข้อ ๖ คือ

๖. อัญญสัตถุทเทส (ถือศาสดาอื่น คือ ถือถูกอยู่แล้ว กลับไพล่ทิ้งไปถือผิด — professing the doctrines of an alien teacher; adopting another teacher)

อภิฐานนี้ ในบาลีที่มาเดิม เรียกว่า อภัพพฐาน (ฐานะที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ คือ ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ไม่อาจจะกระทำ คือ เป็นไปไม่ได้ที่จะทำ — acts which are incapable of being committed by a person possessed of right views; impossibilities)

ดู (๒๓๓) อนันตริยกรรม ๕.

A.III.439; Kh.VI.10; Sn.231.      องฺ.ฉกฺก.๒๒/๓๖๕/๔๙๐/; ขุ.ขุ.๒๕/๗/๗; ขุ.สุ.๒๕/๓๑๔/๓๖๙.



(๒๖๒) อายตนะภายใน ๖ (ที่เชื่อมต่อให้เกิดความรู้, แดนต่อความรู้ฝ่ายภายใน — internal sense-fields) บาลีเรียก อัชฌัตติกายตนะ

๑. จักขุ (จักษุ, ตา — the eye)

๒. โสตะ (หู — the ear)

๓. ฆานะ (จมูก — the nose)

๔. ชิวหา (ลิ้น — the tongue)

๕. กาย (กาย — the body)

๖. มโน (ใจ — the mind)

ทั้ง ๖ นี้ เรียกอีกอย่างว่า อินทรีย์ ๖ เพราะเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตนแต่ละอย่าง เช่น จักษุเป็นเจ้าการในการเห็น เป็นต้น

D.III.243; M.III.261; Vbh.70.      ที.ปา.๑๑/๓๐๔/๒๕๕; อภิ.วิ.๓๕/๙๙/๘๕.



(๒๖๓) อายตนะภายนอก ๖ (ที่เชื่อมต่อให้เกิดความรู้, แดนต่อความรู้ฝ่ายภายนอก — external sense-fields) บาลีเรียก พาหิรายตนะ

๑. รูปะ (รูป, สิ่งที่เห็น หรือ วัณณะ คือสี — form; visible objects)

๒. สัททะ (เสียง — sound)

๓. คันธะ (กลิ่น — smell; odor)

๔. รสะ (รส — taste)

๕. โผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย, สิ่งที่ถูกต้องกาย — touch; tangible objects)

๖. ธรรม หรือ ธรรมารมณ์ (อารมณ์ที่เกิดกับใจ, สิ่งที่ใจนึกคิด — mind-objects)

ทั้ง ๖ นี้ เรียกทัวไปว่า อารมณ์ ๖ คือ เป็นสิ่งสำหรับให้จิตยึดหน่วง

D.III.243; M.III.216; Vbh.70  ที.ปา.๑๑/๓๐๕/๒๕๕; ม.อุ.๑๔/๖๒๐/๔๐๐; อภิ.วิ.๓๕/๙๙/๘๕.






จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย